ThaiPublica > Events > ThaiPublica Forum พลังการเปิดเผยข้อมูล พลังความโปร่งใส (5) : “สฤณี อาชวานันทกุล” ความโปร่งใสเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการพัฒนาทุกอย่าง

ThaiPublica Forum พลังการเปิดเผยข้อมูล พลังความโปร่งใส (5) : “สฤณี อาชวานันทกุล” ความโปร่งใสเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการพัฒนาทุกอย่าง

23 กันยายน 2015


เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2558 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้ร่วมกันจัดเสวนาเรื่อง "การเปิดเผยข้อมูล พลังความโปร่งใส โอกาส-อนาคต ประเทศไทย"
เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2558 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้ร่วมกันจัดเสวนาเรื่อง “การเปิดเผยข้อมูล พลังความโปร่งใส โอกาส-อนาคต ประเทศไทย”

เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2558 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ได้ร่วมกันจัดเสวนาเรื่อง “การเปิดเผยข้อมูล พลังความโปร่งใส โอกาส-อนาคต ประเทศไทย” โดยมีวิทยากร นายวิชา มหาคุณ กรรมการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) นายวิริยะ รามสมภพ นิติกรชำนาญการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร.) นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล คณะบรรณาธิการ สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า และ กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด และนายธิปไตร แสละวงศ์ นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) โดยมีผู้ดำเนินรายการ นายพงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ ณ KTC POP

ในตอนที่ 4 นายวิริยะ รามสมภพ ได้สรุปชัดเจนว่า พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารไม่มีปัญหา แต่หน่วยงานรัฐปกปิด กลัวการตรวจสอบ กลัวความผิดของตัวเอง จากนั้นนางสาวสฤณีได้กล่าวต่อว่า หลายๆ ท่านก็ได้พูดไปในหลายๆ ประเด็นแล้วที่คิดอยากมาแลกเปลี่ยน ก็จะเพิ่มใน 3 ประเด็น

ประเด็นแรก คำว่าพลังงานของข้อมูลหรือพลังของความโปร่งใสคืออะไร จริงๆ หลายท่านพยายามอธิบาย แต่ตัวเองมองง่ายๆ เลย ถ้าไม่มีการเปิดเผยข้อมูลไม่มีทางที่จะเกิดการแก้ปัญหาอะไรก็แล้วแต่ที่เป็นประโยชน์สาธารณะได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคอร์รัปชันหรือโครงการพัฒนาอะไรก็แล้วแต่ ไม่มีทาง

ทีนี้ ในอดีตที่ผ่านมาใครที่เป็นคนเปิดเผยข้อมูล ก็ต้องยอมรับว่าอาจจะด้วยความเป็นรัฐ ก็คือมีประเด็นเรื่องความมั่นคง เรื่องการพยายามกุมแนวทางหรือทิศทางนโยบายให้อยู่ในมือตัวเอง ก็จะอย่างที่หลายท่านได้พูดไปแล้ว อาจจะไม่ค่อยอยากให้ประชาชนเข้ามามีส่วนเข้ามาอะไรมาก บางคนอาจจะมองในแง่ลบนะ รัฐบางคนก็อาจจะมองว่าประชาชนเข้ามาก็ไม่รู้เรื่องหรอก ไม่มีทางช่วยเราตัดสินใจอะไรได้ เราตัดสินใจไปแล้ว

มันก็เกิดเป็นโลกทัศน์แบบหนึ่ง ที่ค่อนข้างจะอยากให้อำนาจอยู่ในมือตัวเอง และข้อมูลตัวเองเป็นคนใช้ ก็ไม่ได้คิดการเปิดเผยข้อมูลเป็นค่าตั้งต้นหรือเป็นค่า Default ค่าตั้งต้นของรัฐก็คือเราเป็นคนมีอำนาจ มีข้อมูล ข้อมูลเราใช้ ใครจะขอก็ต้องมาขอ ก็จะเห็นว่า พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารราชการก็อาจจะนับว่าก้าวหน้าแล้ว แต่ถ้าดูภาพที่คุณธิปไตรฉาย เราอาจจะเคยก้าวหน้าแต่ว่าวันนี้ไม่แล้ว เพราะว่าคนอื่นเขาไปไกลมาก

ตัวกฎหมายหลักยังเป็นกฎหมายที่เราต้องเป็นคนไปขอ ประชาชนหรือสื่อมวลชนหรือใครก็ตาม ต้องเป็นคนที่เดินไปที่หน่วยงานและบอกว่าเราจะขอข้อมูลอะไร แล้วบางทีพอมีการดึงเรื่องก็ต้องมีการกระบวนการต่างๆ มากมายตามมา เพราะฉะนั้นจะเห็นว่า คิดว่าถึงแม้วันนี้จะไม่มีใครปฏิเสธเรื่องพลังของความโปร่งใสพลังของข้อมูล เพราะว่าจะเป็นต้นทางของการแก้ปัญหา โลกทัศน์ก็ยังเป็นปัญหาอยู่ คิดว่าโลกทัศน์ของรัฐหน่วยงานราชการยังเป็นปัญหาอยู่มาก

โลกทัศน์ที่อาจจะเป็นปัญหาเหมือนกันก็คือโลกทัศน์ของสังคมไทย ต้องยอมรับว่าวัฒนธรรมไทยเราไม่ใช่สังคมของข้อมูลข่าวสาร ตอนนี้อาจจะมีทิศทางแบบนั้นเพราะเรามีโซเซียลมีเดีย เรามีการแชร์ข้อมูลต่างๆ นานา เรามีนักสืบพันทิป ซึ่งจะเห็นว่าหลายกรณีที่เกิดเป็นกระแสสังคมขึ้นมาก็เป็นเพราะว่ามีการทำงานของประชาชนธรรมดา ที่พยายามจะเอาข้อมูลออกมาแลกเปลี่ยนและตีความ คุยกัน แต่กระนั้นก็ตาม โดยรวมเรายังไม่ใช่สังคมที่เวลาเกิดประเด็นอะไรแล้วจะมองหาข้อมูล เราเป็นสังคมที่ยังยึดติดกับแนวคิดของผู้เชี่ยวชาญของผู้รู้ เวลาเกิดเรื่องอะไร เราจะบอกว่าใครรู้เรื่องนี้บ้าง ไปคุยกับคนที่รู้เรื่องนี้ แทนที่จะคิดว่าข้อมูลนี้อยู่ตรงไหน แทนที่จะวิ่งไปหาแหล่งว่า ต้นทางปฐมภูมิมันอยู่ตรงไหนบ้าง เพราะฉะนั้น คิดว่าตัวสังคมเราเองก็ยังไม่ใช่สังคมแห่งข้อมูลข่าวสาร

ดังนั้น การที่จะมีหลายๆ ฝ่ายร่วมกันผลักดัน ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชนหรือประชาชน ถ้าผลักดันโครงการต่างๆ ที่ดันไปสู่แนวคิดของ open data นี่ คิดว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนเกิดการตื่นตัวมากขึ้น แล้วก็ถ้าเกิดการตื่นตัวมากขึ้น ก็อาจจะเรียกร้องหาผู้เชี่ยวชาญน้อยลง

ทีนี้ เพราะต้องยอมรับว่าข้อมูลก็มีประเด็นอีกว่า ข้อมูลมันคือข้อมูลอะไร คิดว่าหัวใจของคำว่า open data ก็คือข้อมูล บางท่านก็พูดไปแล้ว ลักษณะสำคัญคือเป็นข้อมูลที่เปิดเองไม่ต้องให้ใครฟ้อง จริงๆ ต้องเป็นข้อมูลดิบ raw data หมายความว่าไม่ได้ผ่านการตีความจากใครก็ตาม เพื่อให้อะไร ก็เพื่อให้เปิดมีการใช้แบบนี้อย่างแพร่หลายที่สุด อย่างเช่น ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง ให้ท่านเปิดว่าหน่วยงานนี้ซื้ออะไรด้วยราคาเท่านั้น ไม่ใช่ผ่านการตีความมาก่อนว่ามันถูกหรือแพง ก็เปิดเผยแล้วให้ประชาชนตัดสินใจเอาเอง แล้วถ้ามันเป็นข้อมูลในลักษณะ machine processable แล้วก็เป็นลักษณะที่มีรูปแบบมาตรฐานที่ชัดเจน อีกอย่างก็คือเปิดอย่างทั่วถึง ไม่ใช่ว่าต้องขอลงทะเบียน ไม่ใช่ว่าใครจะเอาข้อมูลนี้ต้องมาลงทะเบียนก่อนนะ อันนี้ไม่ต้อง หลักการของ open data ก็คือเปิดเลย ไม่มีกรรมสิทธิ์ ไม่มีลิขสิทธิ์

นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล
นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล

ถ้าเป็นลักษณะเข้าข่ายพวกนี้ ก็จะเปิดทางให้นำไปสู่การสร้างระบบนิเวศน์ หรือ ecosystem ที่อยู่แวดล้อม open data ได้ เพราะเราจะเห็นในประสบการณ์ของประเทศที่ทำพวกนี้ว่า ตัวละครที่สำคัญไม่ได้มีแต่รัฐ ไม่ได้มีแต่สื่อ ไม่ได้มีแต่ผู้เชี่ยวชาญ ไม่ได้มีแต่ประชาชน แต่มีคนอื่นๆ อีก เช่น โปรแกรมเมอร์ จริงๆ หลายคน ไม่ว่าจะอยู่ในหมวกอะไร หมวกหนึ่งก็คือประชาชน เพราะฉะนั้น เราจะเห็นว่าข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง ใครที่สนใจว่าตกลงมันถูกมันแพงอย่างไร ก็อาจจะลองสร้าง เขียนโปรแกรม ลองไปกูเกิลมา ไปดึงข้อมูลจากกูเกิลมา เทียบราคาของสิ่งนี้ที่มีราคาตลาดอยู่ เอามาแสดงเป็นข้อมูลให้เพื่อนประชาชนได้ทำความเข้าใจมากขึ้น อันนี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง

เพราะฉะนั้น ข้อมูลถ้าเปิดออกมาแล้วเป็นลักษณะของข้อมูลดิบ แล้วอย่างที่บอกว่าตรงตามมาตรฐานของ open data ในระดับสากล จะเอาไปใช้ทำอะไรได้มหาศาลมาก เพราะฉะนั้น คิดว่าความสำคัญตรงนี้อยู่ที่โลกทัศน์ โลกทัศน์เราต้องเป็นโลกทัศน์ที่เชื่อว่าข้อมูลที่เปิดดีกว่าข้อมูลที่ปิด รัฐเปิดข้อมูลไปให้ประชาชน ใครอาจจะไม่เข้าใจก็ไม่เป็นไร มันต้องมีคนที่เข้าใจ แล้วมาทำให้คนอื่นเข้าใจ นี่เป็นโลกทัศน์ที่สำคัญ สังคมเองก็จะได้ตื่นตัวมากขึ้น

ประเด็นสุดท้ายที่อยากจะพูดถึงนิดหนึ่ง ลำพัง open data มันพอ open data ก็คือข้อมูลที่เปิดในลักษณะที่เข้าข่ายสากล ก็มีอยู่ 6-7 ข้อที่พูดไปแล้ว มันต้องไปให้ถึงคำว่า open government ซึ่งเป็นกระแสที่เรียกว่าถ้าเรามองดูกระแสทั่วโลกว่าประชาชนในหลายๆ ประเทศทั่วโลกต้องการอะไร เราจะเห็นว่าหลายๆ ประเทศมีปัญหา แม้แต่ประเทศที่อยู่ในระบอบประชาธิปไตยมานานเขาก็ไม่ได้มีความสุขกับรัฐ เขาก็รู้สึก หลายประเทศ ว่าทำไมนักการเมืองไม่ได้ตอบสนอง หลายๆ ประเทศก็มีความรู้สึกที่อยากจะเรียกร้องมากขึ้น อยากจะให้มีพลังงานของพลเมืองมากขึ้น กระแสหนึ่งก็คือเรียกร้อง open government

open government คืออะไร มันไม่ใช่เรื่องที่แค่ว่าอยากให้รัฐทำข้อมูลสำคัญให้เป็นข้อมูลสาธารณะ แต่จริงๆ มีหลักการ 3 ข้อใหญ่ ข้อแรก เป็นรัฐที่เปิดรับการตรวจสอบ เป็นรัฐที่โปร่งใส open data ก็เป็นหัวใจสำคัญหนึ่ง ข้อที่ 2 คือ ให้ประชาชนมีส่วนร่วม หัวใจหนึ่งก็คือรัฐจะทำโครงการพัฒนาอะไร อย่างที่คุณธิปไตรยกตัวอย่าง ชัดเจน ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม ต้องไม่มีอีกแล้วที่ประชาชนอยู่ดีๆ ก็พบว่ามีโรงงานอะไรไม่รู้อยู่ข้างๆ

ตัวเองเคยไปฟัง มีส่วนร่วม 2 ชุมชนที่เปิดเวทีที่เขาใช้คำว่าเวทีรับฟังความคิดเห็น ต้องเรียนว่าเป็นเวทีที่สะท้อนโลกทัศน์ที่ปิดแคบมากๆ เลย เป็นเวทีที่มีท่านที่บอกว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญมาแล้วอธิบายเป็นภาษาวิทยาศาสตร์ ซึ่งไม่มีทางที่ใครจะเข้าใจได้ด้วยนะ ตัวเองอาจจะไม่ได้จบสายวิทยาศาสตร์อาจจะเข้าใจไม่ได้ แต่มันยากมากที่จะทำความเข้าใจว่าที่ท่านพูดๆ มาว่าโรงงานมันปล่อยสาร สาร สาร อะไร มันคืออะไร ความหมายมันแปลว่าอะไร แล้วมาตรการตัวอย่างคืออะไร แล้วก็ไม่ได้เปิดให้มีการซักถาม ไม่ได้มีการเปิดโอกาสให้มีการรับฟังความคิดเห็นจริงๆ อันนี้ก็เป็นกฎหมายที่ไทยควรจะมี ยังไม่เคยมี ก็คือกฎหมายประชาพิจารณ์ เพราะฉะนั้น หลักการข้อ 2 คือการมีส่วนร่วม ทุกเรื่องให้ประชาชนมีส่วนร่วม

หลักการข้อที่ 3 เขาใช้คำว่า empowerment คือการเพิ่มพลังพลเมือง การเพิ่มพลังพลเมืองในที่นี้ก็คือต้องบอกว่าเรามาอยู่ในยุคที่เทคโนโลยีเอื้อให้ขบวนการเรื่องความโปร่งใส เรื่องข้อมูลข่าวสาร ไปได้ไกลมาก ลองคิดภาพว่าถ้าเราไม่มีอินเทอร์เน็ต เรามีแต่คอมพิวเตอร์ สุดท้ายใครจะเห็นใจคุณบรรยง ที่ PDF ล้านหน้า ก็ไม่มีวิธีอื่นก็ต้องบอกคุณบรรยงว่าเอาอันนี้ไป PDF ล้านหน้า เพราะมันไม่มีวิธีอื่น แต่วันนี้เรามีทางเลือก เรามีอินเทอร์เน็ต เรามีรูปแบบการส่งไฟล์การแชร์กันที่เชื่อมกันทั่วโลก เพราะฉะนั้น ประโยชน์ตรงนี้ แล้วมันก็เป็นประโยชน์ของรัฐอีกในการลดค่าใช้จ่าย ในการเพิ่มประสิทธิภาพที่หลายท่านพูดถึง

ดังนั้น ในส่วนนี้ การใช้เทคโนโลยีเข้ามาจัดการข้อมูลมันเป็นประโยชน์ของรัฐด้วยของประชาชนด้วย เพราะฉะนั้น เขาใช้คำว่า empowerment ในความหมายที่ว่าการดำเนินงานต่างๆ ของรัฐ นอกจากจะให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมแล้ว ยังต้องช่วยเสริมสร้างและสนับสนุนกลไกที่ประชาชนเป็นคนคิด

เสวนาพลังความโปร่งใส

ยกตัวอย่างเช่น สมมติว่า กทม. ซึ่งวันนี้เราก็ทราบว่ามีปัญหาเยอะมาก เอาแค่ระดับเมืองที่เราอยู่ กทม. เปิดข้อมูลเลยว่ารถเมล์วิ่งไปวิ่งมา สายไหนไม่ตรงเวลาบ้าง ผิดเวลาไปกี่นาที หรือว่าปัญหาท่อแตกท่อซึมเกิดที่จุดไหนอะไรยังไงบ้าง และก็เรื่องร้องเรียนต่างๆ เปิดให้เป็นสาธารณะ แล้วเกิดมีประชาชนคนกรุงเทพฯ บอกว่าข้อมูลนี้มีประโยชน์นะ อยากจะไปพัฒนาแอปพลิเคชันให้คนร้องเรียนแล้วเชื่อมโยงข้อมูลได้ชัดเจนมากขึ้น ส่งเรื่องไปที่ กทม. ได้เร็วมากขึ้น กทม. ก็ต้องสนับสนุน จึงเป็นที่มาของหลายๆ เมือง วันนี้หลายๆ ประเทศ เทศบาลเองเขาก็จะตั้งเป็นทีมขึ้นมามาช่วยเชื่อม ไม่ใช่แค่ปล่อยข้อมูลไปแล้วก็บอกว่าประชาชนไปจัดการกันเอง ฉันไม่ยุ่ง ไม่ใช่ เราก็มีทีมคอยสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง แล้วใครจะมาเอาข้อมูลไปต่อยอด โดยเฉพาะในทางที่จะช่วยปรับปรุงบริการสาธารณะ เขายินดีสนับสนุน บางทีก็ให้เงิน บางทีก็ไปเชื่อมโปรแกรมเมอร์มาช่วย

เพราะฉะนั้น คิดว่าสุดท้ายเราต้องมองว่า open data มันไม่ใช่เป็นกระแสที่อยู่โดดๆ แต่คิดว่ามันเป็นกระแสที่อยู่ในกระแสโลกก็ว่าได้ กระแสของประชาคมโลก กระแสของประชาชนทั่วโลกที่อยากที่จะมีอำนาจมากขึ้น มีอำนาจการต่อรองมากขึ้น มีพลังมากขึ้นในการจัดการแก้ปัญหาของตนเอง แล้วก็เรียกร้องให้ผู้แทนและเจ้าหน้าที่รัฐโปร่งใส เพราะฉะนั้นคิดว่า open data เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้นในกระแสที่สุดท้ายคิดว่ามันก็ต้องไปสู่จุดนี้ก็คือ open government ก็คือรัฐที่เปิดเผยโปร่งใสให้ประชาชนมีส่วนร่วมแล้วก็เพิ่มพลังงานของภาคประชาชน

อย่างไรก็ตาม คิดว่าความโปร่งใสเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการพัฒนาทุกอย่าง แล้วก็วันนี้สังคมไทยมาถึงจุดที่เรียกว่า เราคงจะเห็นร่วมกันได้แล้วว่าทุกสถาบันของเราต้องโปร่งใสมากขึ้น สถาบันไหนที่ไม่พัฒนาเรื่องนี้ ไม่มีความโปร่งใสมากขึ้น ก็มีความสุ่มเสียงที่จะสะสมปัญหาต่างๆ เอาไว้ แล้วสุดท้ายมันก็อาจจะระเบิดขึ้นมาแค่นั้นเอง เพราะฉะนั้น ความโปร่งใสเป็นหัวใจของการพัฒนาเท่านั้นเอง

แล้วก็มีผู้พิพากษาศาลสูงสหรัฐอเมริกา ชื่อว่า Louis Brandeis ซึ่งตัดสินคดีที่มีความก้าวหน้าหลายๆ เรื่อง แกก็เป็นนักรณรงค์เรื่องความโปร่งใส เรื่องการเปิดเผยข้อมูล เป็นคนแรกๆ เมื่อเป็น 100 ปีที่แล้ว แกก็พูดประโยคหนึ่ง เกือบ 100 ปีที่แล้ว ซึ่งก็คิดว่าเป็นประโยคที่ดีมากเลย แล้วก็สรุปใจความของเรื่องนี้ แกบอกว่า แสงแดดคือยาฆ่าเชื้อโรคที่ดีที่สุด แล้วเช่นเดียวกัน โคมไฟที่มีแต่แสงสว่างในบางครั้งก็ดีกว่าตำรวจ อันนี้คือทำไมเราต้องมาพูดเรื่องนี้กัน แล้วก็สุดท้ายสังคมไทยก็คือคนไทยทุกคนนั่นแหละ ประชาชนทุกคนก็จะต้อง… คือคิดว่าความตื่นตัวมันมีมากขึ้น แต่ว่าจะทำอย่างไรให้พัฒนา คืออาจจะต้องเปลี่ยนความคิด อาจจะเปลี่ยนวัฒนธรรม เปลี่ยนโลกทัศน์ มาเน้นเรื่องข้อมูลข่าวสาร

เพราะฉะนั้น สถาบันหลายอย่าง อย่างเช่นการศึกษาก็สำคัญ เวลาสอนหนังสือก็จะชอบบอกลูกศิษย์ ลูกศิษย์บางทีก็จะชอบมาถามว่าอาจารย์ ไปเห็นมันมีความเห็นมากมาย ไม่รู้จะแยกแยะอย่างไร ข้อมูลมันมีทุกทาง ก็บอกว่ามันก็ยากนะ แต่ว่าสิ่งแรกที่ควรทำก็คือต้องเลิก คือปิดรูปคนพูดไปก่อน ลืมไปเลยว่าคนที่พูดคำนี้ คนที่ให้ข้อมูลนี้คือใคร เพราะฉะนั้น ก้าวแรกเราต้องข้ามพ้นจากคนที่ร้องหาคนดี ร้องหาผู้เชี่ยวชาญ หรือร้องหาใครก็แล้วแต่ที่เราถือว่าเป็นคนที่เขามีอำนาจ มีความรู้มากกว่าเรา แล้วก็เริ่มมาดูว่าเราจะหาวิธีเพิ่มพลังให้ตัวเราเอง เพิ่มความรู้ให้ตัวเราเอง แล้วกระจายความรู้ให้เพื่อนๆ ได้อย่างไร ซึ่งตรงนี้การเปิดเผยข้อมูลก็คือหัวใจ

ป้ายคำ :