ThaiPublica > เกาะกระแส > DIB Talk ธุรกิจคิดต่าง: “วรวิทย์ ศิริพากย์” CEO ปัญญ์ปุริ ธุรกิจที่ตอบโจทย์การดีไซน์ชีวิตตัวเองได้

DIB Talk ธุรกิจคิดต่าง: “วรวิทย์ ศิริพากย์” CEO ปัญญ์ปุริ ธุรกิจที่ตอบโจทย์การดีไซน์ชีวิตตัวเองได้

7 ธันวาคม 2015


วันที่ 28 พฤศจิกายน 2558 ที่ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มีการจัดเสวนา Do it Better Talk (DIB Talk) ครั้งที่ 3 โดยบริษัท ป่าสาละ จำกัด เป็นการเสนอความคิดของคนที่อยากทำให้โลกดีขึ้น ด้วยธุรกิจคิดต่าง (Do it Better by Unconventional Business) โดยมีวิทยากร ได้แก่ณัฐพงศ์ เทียนดี จากสถานีโทรทัศน์ออนไลน์ SpokeDark.TV, สายสิริ ชุมสาย ณ อยุธยา จากโรงแรมบ้านท้องทราย เกาะสมุย, แสงเดือน ชัยเลิศ จาก Elephant Nature Park จ. เชียงใหม่,วรวิทย์ ศิริพากย์ จากปัญญ์ปุริ (Panpuri) และ ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์ จาก ชูใจ กะ กัลยาณมิตร

วรวิทย์ ศิริพากย์" CEO ปัญญ์ปุริ
วรวิทย์ ศิริพากย์” CEO ปัญญ์ปุริ

จากตอนที่ 4“แสงเดือน ชัยเลิศ” เล่าถึงบทบาทการทำงานของตนที่ช่วยในการอนุรักษ์ช้าง ตอนที่ 5 “วรวิทย์ ศิริพากย์” CEO ปัญญ์ปุริ ได้เล่าถึงธุรกิจสปา ที่จัดจำหน่าย “luxury goods” ที่ใส่ใจกับความยั่งยืนในแง่ของคุณภาพผลิตภัณฑ์ ไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังสร้างงานให้กับผู้หญิงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกด้วย

วรวิทย์เท้าความสมัยยังเป็นเด็กว่า ตั้งแต่สมัยเรียนเซนต์คาเบรียลเป็นเด็กเรียนดี ชอบนั่งฟังเลคเชอร์ พอสอบชิงทุนไปเรียนมัธยมปลายที่ประเทศแคนาดา ชีวิตก็เริ่มเปลี่ยนแปลง เปิดโลกทัศน์ จากเดิมอยู่กรุงเทพฯ เลิกเรียนก็ไปสยาม เรียนพิเศษ เที่ยวกับเพื่อน แต่ไปอยู่แคนาดานั้นไปอยู่กลางป่า อยู่กับธรรมชาติ ได้มุมมองเรื่องธรรมชาติ

จากนั้นเรียนต่อปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์ที่แคนาดาด้วย ในช่วงที่เรียนอยู่เป็นช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งพอดี ผมได้เริ่มฝึกงานแล้ว ได้กลับมาทำงานที่เมืองไทยสักพัก ซึ่งทุกคนก็ถามว่ากลับมาทำไมในช่วงนี้ หางานไม่ได้หรอก ด้วยความกบฏในตัวเองตั้งแต่เด็กๆ ผมมองกลับกัน รู้สึกว่ามันมีท้าทายอยู่ ในขณะที่ทุกอย่างล่มสลาย ผมว่ามันน่าจะมีอะไรให้เราเรียนรู้ เลยกลับมาทำงานเป็น management consultant กับบริษัทยักษ์ใหญ่อเมริกาแห่งหนึ่งที่มีสาขาในประเทศไทย สมัยนั้น management consultant หรือ investment banker จะเต็มประเทศไทยไปหมด เพราะต้องเข้ามาช่วยกอบกู้หลายๆ เรื่อง

ทำได้สักพักทางเจ้านายคงเห็นเราอยากใช้วิทยายุทธ์มากกว่านี้ ก็ถูกย้ายไปทำงานที่นิวยอร์ก เป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับตำแหน่ง junior ที่ไปทำงานออฟฟิศใหญ่ที่นิวยอร์ก ก็จับพลัดจับผลูอีกเช่นกัน ช่วงนั้นปี 2544 ก็ได้ลูกค้าของบริษัทที่ผมทำโปรเจกต์อยู่ ซึ่งอยู่ในเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์พอดี ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ 9/11 เราได้ย้ายไปทำงานที่ตึกของลูกค้า ซึ่งวันที่เครื่องบินชนตึกผมก็อยู่ในตึกเวิลด์เทรดด้วย แต่ก็รอดออกมาได้ เพราะจากที่เคยทำงานที่ชั้น 63 วันนั้นมาประชุมชั้น 5 พอดี ซึ่งตอนนั้นก็ยังไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น

พอรอดชีวิตออกมาได้ assumption เปลี่ยนหมดเลย จากที่ผมเคยเป็น cooperate citizen ไม่เคยคิดว่าจะทำธุรกิจของตัวเองได้เลย ถ้าทำงานต่อก็เป็นไปตาม traditional path เลย คือบริษัทส่งทุนให้เรียน MBA กลับมาทำงานต่อ จาก path ที่วางไว้ก็เปลี่ยนไปหมด ตอนนั้นอายุ 25 ปีพอดี จากที่ไม่เคยคิดว่าความตายใกล้กับเราได้ขนาดนั้น ก็รู้สึกว่าตายได้เลยวันนี้พรุ่งนี้ ที่ผ่านมายังไม่เคยได้ทำอะไรที่อยากทำมากๆ จริงๆ หรือว่า passion หลายๆ อย่างที่ทิ้งมันไว้ เพราะคิดว่าพรุ่งนี้ค่อยทำก็ได้ แต่ก็ยังไม่เปลี่ยนสุดเท่าไหร่ ยังมีอีกนิดหนึ่งก็ยังทำงานที่บริษัทอยู่ แถวๆ time sqaure หลังจากเหตุการณ์ 9/11 ก็มีเรื่องเชื้อโรคแอนแทรกซ์ เป็นการปล่อยเชื้อโรคชีวภาพ ซึ่งอยู่ห่างจากออฟฟิศของผมประมาณ 3 บล็อก ก็คิดว่าถ้าเดินออกจากที่ทำงาน สูดอากาศเข้าไปคงตายอีกเหมือนกัน

จึงทำให้ทบทวนชีวิตตัวเองว่า มีอีกหลายอย่างที่ไม่ได้ทำ และอยากทำอะไรก็ทำไป ก็เลยลาออก ช่วงนั้นนอกจากสมัคร MBA ที่บริษัทให้สมัครเรียนไป ผมก็แอบไปสมัครเรียน MBA เองที่อิตาลีไว้ ซึ่งเป็นการเรียนเกี่ยวกับการบริหารจัดการสินค้าฟุ่มเฟือย ช่วงนั้นสนใจในฐานะผู้บริโภคเลย เพราะชีวิต consultant ทำงานหนักมาก เรียกว่าทำงานตั้งแต่ 7 โมงเช้าถึงเที่ยงคืนแทบทุกวัน เวลาที่เหลืออันน้อยนิดก็ปรนเปรอตัวเองนิดหนึ่ง อย่างตอนที่ผมอยู่นิวยอร์ก ร้านที่เข้าบ่อยๆ คือ Sephora ที่ใกล้กับสถานีรถไฟกลับบ้าน ซื้อเจลอาบน้ำก็สบายใจ เพราะมีเวลาแค่นั้น ก็เริ่มสนใจมาตั้งแต่บัดนั้น และจริงๆ ผมชอบเรียนด้านศิลปะด้วย ตอนมัธยมปลาย สองวิชาที่ทำได้ดีที่สุด คือ fine art วาดรูป กับเศรษฐศาสตร์ สุดท้ายกลัวไม่มีอะไรกิน ผมเลยเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ เก็บ passion ไว้ว่าอยากทำอะไรเกี่ยวกับศิลปะบ้าง

‘พอได้เห็นว่ามีโปรแกรมเรียนธุรกิจแต่ว่าบริหารอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์และศิลปะ ก็รู้สึกว่ามันใช่แล้ว และโชคดีที่ได้ทุน ผมรู้สึกว่าพอประตูบานหนึ่งปิด มันมีอีกประตูเปิดรอเราอยู่ ก็เลยรู้สึกว่าต้องไปแล้ว เพราะมี message บางอย่างที่ต้องตามไป ถือว่าเป็นจุดผันของชีวิตจุดที่สอง”

วรวิทย์เล่าถึงจุดกำเนิดของปัญญ์ปุริว่า ตอนที่เรียน MBA ที่อิตาลี ได้ทำวิจัยหนึ่งที่เอาโมเดลของ Michael Porter จาก Harvard Business School มาดูว่า ประเทศใด อุตสาหกรรมใด จะเป็นอุตสาหกรรมหลักได้ ด้วยความเป็นคนไทยก็เลือกประเทศไทย เลือกธุรกิจสปา ย้อนกลับไปเมื่อ 15 ปีก่อน ธุรกิจสปาแทบจะเพิ่งเกิดมาและ service product ยังไม่มีชื่อเสียง เริ่มมี service มาบ้าง เอามาวิเคราะห์แล้วคิดว่าธุรกิจนี้มันไปได้ มันมีอะไรหลายๆ อย่างที่ทำให้เป็นธุรกิจหลักของประเทศได้ ก็ทำ study research เก็บไว้ในหัว หลังจากเรียนจบ ไปฝึกงานมาแล้ว ผ่านการทำงานที่เป็น luxury goods ด้วย เช่น Gucci หรือ YOOX ที่เป็น internet retailer ของ luxury ที่ใหญ่ที่สุดของยุโรป ก็กลับไปสู่วงจรเดิม ทำงานหนักมากๆ เลยรู้สึกว่าสร้างบริษัทของตัวเองดีกว่าถ้าจะทำงานหนักขนาดนั้น

พอกลับมาเมืองไทย มีโอกาสได้ไปใช้สปา สิ่งหนึ่งที่ผมประหลาดใจมาก ที่มีดังๆ จะมีอยู่ไม่กี่ชื่อ แต่ไม่มีใครใช้ผลิตภัณฑ์ไทยเลย เป็นสปาของไทยที่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มาจากยุโรปหมด ซึ่งตอนนั้นผมสวมหมวกคนยุโรปกลับมาเมืองไทย ก็ไม่รู้สึกตื่นเต้นกับของพวกนี้ เพราะรู้สึกว่ามันเป็นของที่เราเห็นอยู่แล้วทุกวันตอนที่เราเรียนและทำงานอยู่ เกิดคำถามใหญ่มาก อาจจะเป็นความเป็น consultant ในตัว ว่าทำไมถึงไม่มีผลิตภัณฑ์ของไทยไปอยู่ในระดับ luxury หรือห้าดาวได้ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการคิดที่จะสร้างปัญญ์ปุริ

วรวิทย์ ศิริพากย์
วรวิทย์ ศิริพากย์

ซึ่งจริงๆ มีหลายโจทย์มาก ผลิตภัณฑ์ของไทยจริงๆ เราทำอะไรได้ดีหลายอย่างมาก เทียบกับตัวเองตอนไปทำงานที่นิวยอร์กด้วย จริงๆ คนไทยทำงานสู้ฝรั่งได้เลย ถ้าเอา excel มานั่งประชันกัน ทำ financial model ผมว่าคนเอเชียสู้ตาย เผลอๆ เขาต้องเรียกคนเอเชียมาทำ แต่พอพรีเซนต์คนเอเชียไม่ได้เลย พูดง่ายๆ คือเราพรีเซนต์ตัวเองไม่ได้ แพกเกจตัวเองไม่ได้ แต่ความรู้เต็มเปี่ยม

เหมือนกับผลิตภัณฑ์สปาที่ผมมองเห็น จริงๆ บ้านเรามีของดีมากมาย เรามีศาสตร์การดูแลรักษาตัวเอง รักษาผิวพรรณ มาเป็นร้อยๆ พันๆ ปี แต่วิธีการแพกเกจอาจจะยังไม่ได้หรือเปล่า หรือการพัฒนาคุณภาพ อาจจะยังไปไม่สุดหรือเปล่า พอมาตอบโจทย์พวกนี้รวมกัน ทั้งคุณภาพผลิตภัณฑ์ ทั้ง packaging และ branding เป็นเรื่องสำคัญ ผมก็เอาองค์ประกอบพวกนี้มารวมกัน และมองว่ามันน่าจะเกิดปัญญ์ปุริขึ้นมาได้

ปัญญ์ปุริเกิดมาได้อย่างไร ตั้งใจจะส่งออกตั้งแต่วันแรก เพราะว่า หนึ่ง อาจจะถูกสอนมาว่าต้องใช้ความถนัดของเรา รู้สึกว่าการที่เราไปอยู่ต่างประเทศนานๆ 10 กว่าปี เราเข้าใจวัฒนธรรมคนอื่น และเราน่าจะเอามาประยุกต์ใช้ และยังอยากเดินทางท่องเที่ยวอยู่ ตอนนั้นดีไซน์ชีวิตให้ตัวเองมากกว่า เพราะรู้สึกว่าถ้าดีไซน์ธุรกิจให้มันตรงกับชีวิต หรือความอยากที่เราอยากให้เป็นได้ คงจะดี

“ผมเชื่อเสมอว่าชีวิตออกแบบได้ ฉะนั้น เราอยากให้ชีวิตเราเป็นอย่างไรก็ออกแบบให้เป็นเช่นนั้น ธุรกิจก็เช่นกัน วันนั้นก็เลยสร้างปัญญ์ปุริขึ้นมา และตั้งใจจะส่งออก และเรามีของดีมากมาย แต่ของดีของเราต้องผ่านการตีความอีกระดับหนึ่ง ให้คนต่างชาติเข้าใจได้ ก็เลยเป็นที่มาของคำว่าปัญญ์ปุริ มาจากคำบาลีสันสกฤต ปัญญะ คือปัญญา ความตื่น ความสว่างของจิต ปุริ เป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์ในอินเดียที่ชาวฮินดูไปชำระร่างกายจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ ภาษาอังกฤษก็ใกล้กับคำว่า purify และมันจะเกี่ยวกับการตื่น ความสว่างของจิต ความสว่างที่มาจากภายใน ซึ่งแอบมีความเป็นปรัชญา มีศาสนาปนเข้าไปนิดๆ หน่อยๆ ผมว่ามันก็เป็นความลึกในแบบของ brand ตะวันออกที่เป็นได้ เพราะตอนเรานึกถึง brand ตะวันตก เราจะนึกถึงนักวิทยาศาสตร์เดินออกมาจากห้องแล็บ และมีโมเลกุลขึ้นมาสักอย่าง มันเป็นเรื่องของภายนอก แต่พอมาเป็นศาสตร์ตะวันออก เราอาจจะเอาวิทยาศาสตร์ไปเทียบสู้กับเขาไม่ได้ แต่เรามีมิติทางด้าน spiritual มิติทางด้าน mental เข้ามา ซึ่งผมว่าเป็นจุดขายที่ดีมากด้วย”

คอนเซปต์ของแบรนด์ของปัญญ์ปุริคือ Conscious Luxury แปลไทยว่า ความหรูหราที่มีสติ อาจเป็นความเป็นพุทธที่ถูกปลูกฝัง อย่างคำพูดที่ผมคิดหลายๆ ครั้งว่า เราสนุกกับชีวิต หรือเราสามารถ consume ใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเองเป็นได้ โดยไม่ต้องทำให้คนอื่นเดือดร้อน ผมว่าเป็นเรื่องที่เราถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กอยู่แล้ว หรือมันอาจใกล้กับความเกรงใจของเราก็ได้ ผมรู้สึกว่าเราต้องเกรงใจคนอื่น เอาใจเขามาใส่ใจเรา บางทีเราอาจยังขาดการเกรงใจคนอื่นในด้านสิ่งแวดล้อม ว่าทำไมเราถึงยืมสิ่งแวดล้อมมาจากลูกหลานของเรา ยืมสิ่งแวดล้อมมาจากคนรอบข้าง แล้วทำไมเราไม่คืนเขาไปในสภาพที่เหมือนเดิมหรือดีกว่า ถ้าหากเรามีโอกาสทำอะไรได้ แม้แต่ในธุรกิจเอง ผมว่าเราก็ควรจะทำ

สำหรับการจัดการความย้อนแย้งของสติ รักษ์สิ่งแวดล้อม หรือทำเพื่อสังคม กับของหรูหรา หรือใช้เพื่อปรนเปรอตัวเอง วรวิทย์กล่าวว่า “ขั้นแรก ถ้าเราคิดว่าการใช้สินค้าฟุ่มเฟือยเป็นการขัดแย้งกับสิ่งแวดล้อม ก็อาจจะมองได้ในมุมหนึ่ง แต่ผมกลับมองว่า ถ้าเราทำอะไรที่มีสติอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าเราจะใช้ชีวิตหรือไลฟ์สไตล์แบบไหน เรารับผิดชอบกับมันได้ แล้วถ้าจะเอาที่จับต้องได้จริงๆ การที่ทำธุรกิจในแบบ luxury จริงๆ ผมว่ามีที่ทางให้เล่นมากมาย ถ้าเอาแบบจับต้องได้เลย คือ price point สมมติว่า การที่เรามี price point ที่ดี มี margin ที่ดี ทำให้เรามีสเปซในการที่จะไปสรรหา เช่น การที่เราจะขายสบู่ก้อนละ 500 บาท มันทำให้เราไปหาส่วนผสมที่ตอบโจทย์ทางด้านสิ่งแวดล้อมได้ และขบวนการทางสิ่งแวดล้อมที่เราต้องจัดการ ซึ่งต้องยอมรับว่ามีต้นทุนในการที่จะต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมได้ มันมีต้นทุนอยู่ ผมว่าการทำธุรกิจ luxury มีที่ให้เล่นตรงนี้ อยู่ที่ว่าเราจะเลือกหรือเปล่า”

วรวิทย์ ศิริพากย์

วรวิทย์กล่าวถึงการทำให้กลุ่มลูกค้ารับรู้แนวคิดนี้ว่า ลูกค้าของเราเป็นลูกค้าเฉพาะกลุ่มอยู่แล้ว กลุ่มลูกค้าที่บริโภคสินค้าเหล่านี้เป็น niche market และเป็น niche brand โชคดีที่ลูกค้าเข้าใจในสิ่งที่เราพยายามสื่อสาร ย้อนกลับไปที่เรื่องสบู่ที่เป็นจุดเริ่มต้นของหลายๆ อย่าง ย้อนความกลับไปอีกตั้งแต่ปี 2546 ตอนที่ปัญญ์ปุริก่อตั้ง ทุกแบรนด์สปาและแบรนด์เครื่องหอมที่เกิดในช่วงนั้นในเมืองไทย ทุกคนจะต้องมีสบู่หมดเลย เป็นสบู่ตัดมือ สบู่ก้อน อะไรก็ว่าไป ผมจำได้ว่าเราพูดกับตัวเอง ผมพูดกับพนักงานและลูกค้าเราว่า เราจะยังไม่ทำสบู่ก้อน เพราะ ข้อที่หนึ่ง เรายังทำให้ดีกว่าคนอื่นไม่ได้ ข้อที่สอง ในด้านสิ่งแวดล้อม ผมคิดว่ายังไม่ตอบโจทย์อะไรหลายๆ อย่าง จนวันหนึ่งที่เราพร้อม เราหาส่วนผสมที่มาจากเกษตรอินทรีย์มาทำสบู่ได้เราถึงเริ่มทำ ใส่คอนเซปต์เข้าไปเต็มที่ ไม่ว่าจะในด้านส่วนผสม ด้าน packaging จนมันกลายเป็นสบู่ที่แตกต่างมากจริงๆ ซึ่งราคาก็เวอร์มาก ในช่วงนั้นสบู่ออกมาราคา 450 บาท ตอนเมื่อเกือบ 10 ปีก่อน ถือว่าราคาแพงมาก แต่ก็ได้รับการตอบรับอย่างดีในหลายๆ มุมมอง ในด้านยอดขายเอง และการสร้างชื่อเสียงให้แบรนด์ ก็เป็นจุดเล็กๆ ที่เริ่มต้น

วรวิทย์ยังเล่าถึงการทำวิจัยในการผลิตสินค้าใหม่ ด้วยการย้อนความถึงว่า ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และหากใครอยากเป็นเจ้าของธุรกิจ มันแยกเจ้าของตัวธุรกิจจากธุรกิจที่สร้างขึ้นมาไม่ออกเลย มันจะมีความสอดคล้องกันไปโดยปริยาย จริงๆ ส่วนตัวเป็นคนแพ้น้ำหอมและสารสังเคราะห์หลายๆ อย่าง ฉะนั้น ตั้งแต่สมัยที่ตนอยู่แคนาดา จะพยายามหาอะไรที่เป็นธรรมชาติมาใช้ ซึ่งหาได้ แต่ไม่ค่อยเจออะไรในแนวตะวันออกเท่าไหร่ ถ้าไปซื้อของพืชพรรณตะวันออกจากฝรั่งก็จะปลอมๆ ก็จะชอบใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มาเรื่อยๆ พอมาทำผลิตภัณฑ์ของตัวเองจึงรู้ว่าต้องใช้ essential oil เป็นต้น ซึ่งไม่ใช่สารสังเคราะห์ เป็นสารที่มาจากธรรมชาติ หรือว่าพวกสารสกัดที่เรานำมาใช้ อยากให้เป็นธรรมชาติ คิดง่ายๆ ไม่ได้มีอะไรมากมายว่าทำให้ตัวเองใช้ ทำให้พ่อแม่พี่น้อง คนรัก คนรอบๆ ข้างของเราใช้ มันเลยมีความรับผิดชอบไปโดยปริยาย ว่าคงไม่เอาของที่ไม่ดี ของที่ไม่อยากใช้ มาให้ตัวเองใช้หรือพ่อแม่ใช้ ก็เริ่มจากตรงนั้น

จนเมื่อ 15 ปีก่อน จริงๆ สิ่งที่ผลิตจากเกษตรอินทรีย์หายากมาก มีราคาแพง และในประเทศไทยผลิตได้ส่วนใหญ่จะเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรคือเอาไว้กิน เป็นพืชผัก ผลไม้ แต่ว่าส่วนผสมเครื่องสำอางที่มาจากเกษตรอินทรีย์นั้นหาไม่ได้ ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ แบรนด์ของตนก็เป็นแบรนด์แรกๆ เลยที่พูดเรื่องนี้ ซึ่งที่เมืองนอกมีแล้ว และกระตุ้น supplier ให้นำเข้าส่วนผสมเหล่านี้เข้ามา ด้วยการบอกว่าต้องการจะใช้ ซึ่งต้องใช้พลังเหมือนกัน เพราะเขานำเข้ามาและขายให้คนเดียว มันไม่ได้ economy of scale ต้องล็อบบี้หลายอย่างมาก จนโน้มน้าวได้ว่า คุณลองเถอะ มันน่าจะเกิดวงจรอะไรบางอย่างได้

“เราก็เริ่มทำตั้งแต่จุดเล็กๆ นั้น และมันก็เกิดวงจรได้หลายๆ อย่างจริงๆ ไม่เฉพาะในส่วนผสมที่มาจากเครื่องสำอางเอง แม้แต่ packaging เราก็บอก supplier เราว่าต้องการใช้กระดาษที่ไม่ถูกฟอกขาวด้วยคลอรีนนะ เราไม่ต้องการใช้หมึกที่เป็นหมึกสังเคราะห์ เราต้องการใช้น้ำหมึกมาจากถั่วเหลือง หลายๆ อย่างมันเป็นโจทย์ที่ยาก แต่เราสนุกกับการทำโจทย์ที่ยาก มันมีมิติทางด้านธุรกิจด้วย ผมรู้สึกว่าเราจะต้องสร้างมิติบางอย่างที่ทำให้ถูกเลียนแบบได้ยากด้วย ผมมองว่านอกจากเราใส่ใจสิ่งแวดล้อมแล้ว การที่เราทำอะไรให้ยากขึ้น มันอาจจะยากในขั้นแรก แต่หากเราทำสำเร็จเราจะเป็นคนแรกที่ทำ และคนที่ตามมาก็ตามได้ยาก”

วรวิทย์เผยว่า ตอนเด็กๆ อยากเป็น NGO “คิดแบบเด็กๆ สมัยก่อนผมรู้สึก NGO เท่ รู้สึกว่าคนที่สามารถทำงานเพื่อคนอื่นได้ หรือทำเพื่อประเด็นทางสังคมที่ใหญ่กว่าตัวเอง มันเป็นเรื่องที่น่ายกย่อง และรู้สึกว่าถ้าเราทำอะไรอย่างให้คนอื่นรู้สึกมันน่าทำ แต่ไม่มีโอกาสได้ทำ full time ก็จะมีโอกาสได้ทำในฐานะอาสาสมัคร หรือตอนที่เลือกทำธุรกิจได้ก็คิดว่าเราต้องใส่ความรับผิดชอบหลายๆ อย่างและคุณค่าบางอย่างที่เราเชื่อเข้าไปในธุรกิจ เพราะอย่างที่ผมเรียนว่าธุรกิจกับชีวิต โดยเฉพาะคนที่เป็นผู้ประกอบการ มันเชื่อมกันโดยปริยาย ถ้าเราเป็นพนักงานบริษัท บางทีอาจจะยากในการที่จะชักจูงใจเจ้าของบริษัทหรือคนอื่น แต่ว่าพอเรามีโอกาสได้ทำเอง ถ้าเราเลือกได้ แล้วมันยั่งยืนกับธุรกิจด้วย”

“ผมบอกก่อนนะว่า ผมไม่ใช่นักอุดมคติที่เกิดมาแล้วก็อยากรักษาสิ่งแวดล้อมเลย ผมว่ามันอาจจะเกิดจากความเห็นแก่ตัวของตัวเองก็ได้ ทุกอย่างมันเกิดจากอีโก้ของตัวเองทั้งนั้น ผมรู้สึกว่าถ้าผมอยากจะ consume อย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ แล้วผม consume อย่างไร้สติ ต่อไปผมจะ consume ไม่ได้ ผมอาจจะคิดจากเรื่องง่ายๆ แค่นั้น”

“ธุรกิจมันตอบโจทย์การดีไซน์ชีวิตตัวเองได้ด้วย อย่างที่ผมเรียนไปว่ามันเป็น competitive advantage อันหนึ่ง ให้ทุกคนได้ อย่างปัจจุบันหากใครอยากทำผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกก็ยังไม่ใช่เรื่องง่ายที่สุดอยู่ดี มีส่วนผสมให้เลือกเยอะมาก แต่ราคาก็ยังแพงอยู่ ฉะนั้น ถ้าคุณทำผลิตภัณฑ์ mass มากๆ มันก็อาจยาก เพราะต้นทุนจะสูงมาก การที่เราอยู่ใน luxury positioning มาตั้งแต่ต้น มันช่วยให้เราทำเรื่องพวกนี้ได้”

ขณะนี้ปัญญ์ปุริเป็นที่ปรึกษาให้ผู้หญิงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้สำหรับการออกแบบผลิตภัณฑ์ และค่อยๆ ไปช่วยพัฒนาศักยภาพ ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งรูปแบบของบทบาท NGO ซึ่งวรวิทย์บอกว่า มันเป็นสิ่งที่ทำในเวลาว่าง อาจมาจากความเชื่อและ passion ส่วนตัว ตามคำพูดที่ว่า คนตัวเล็กๆ ก็ทำได้

“จริงๆ ผมไม่ได้เข้าไปทำงานในฐานะ CEO ของปัญญ์ปุริเสมอไป ผมมีความรู้สึกว่าผมเข้าไปในฐานะคนไทยคนหนึ่งเท่านั้นเอง จริงๆ ทำงานกับคุณอาร์ท (วีระพงษ์ ประภา) ใน Oxfam ด้วย ว่าการที่เรานั่งดูข่าวเฉยๆ อยู่บ้าน เห็นความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วเรารู้สึกว่าเราอยากจะทำอะไรบางอย่างได้ พอมีโปรเจกต์นี้เข้ามา มันช่วยพัฒนาและช่วยสร้างอาชีพให้กลุ่มแม่บ้านที่อาจจะได้รับผลกระทบหรือสูญเสียจากเหตุการณ์นั้น ก็รู้สึกว่ามันเป็นส่วนเล็กๆ ที่เราทำได้ ดีกว่านั่งดูทีวีอยู่บ้านเฉยๆ เอาเวลามาช่วยคนอื่นบ้าง”

วรวิทย์กล่าวว่า การหาจุดเส้นชัยที่คิดว่ามันใช่แล้ว มันยากสำหรับตัวเอง รู้สึกว่าได้ขยับบาร์หรือขยับเส้นของตัวเองขึ้นไปทุกวัน แต่ในขณะเดียวทุกวันก็รู้สึกว่าได้ดีไซน์หรือกำหนดชีวิตตัวเองได้ ก็ถือว่าพอใจ เพราะตื่นมายังอยากไปทำงานอยู่ และงานที่ทำมันมีโอกาสสร้างแรงบันดาลใจได้ และช่วยเหลือสังคมได้ในระดับหนึ่ง หรือในเวลาส่วนตัวยังเจียดเวลาไปช่วยคนอื่นได้