ThaiPublica > จับเท็จ: ประเด็น > หยองลูกหยี ยืนยันรักษาสิทธิ์

หยองลูกหยี ยืนยันรักษาสิทธิ์

5 สิงหาคม 2014


ปูมหลัง

กรณีการคัดค้านการเลือกตั้งของกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. นั้น สืบเนื่องมาจากที่นางสาวยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรีได้ประกาศยุบสภาในวันที่ 9 ธันวาคม 2556 แต่ยังคงดำรงตำแหน่งนายกรักษาการณ์เพื่อไม่ให้เกิดสภาวะสุญญากาศทางการเมือง  อีกทั้งยังประกาศให้มีการเลือกตั้งในอีก 2 เดือนถัดมา คือวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ในขณะที่ทางกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. นั้นเรียกร้องให้การปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้ง จึงดำเนินการชุมนุมปิดกรุงเทพฯ (SHUT DOWN BKK) เพื่อแสดงอารยะขัดขืน ซึ่งผู้ที่เห็นด้วยไม่ว่าจะเป็นประชาชน นักศึกษา นักวิชาการ นักการเมือง และเหล่าศิลปิน นักแสดง ต่างตบเท้าเข้าร่วมชุมนุม พร้อมทั้งประกาศ “ไม่เอาการเลือกตั้ง” ที่กำลังจะถูกจัดขึ้น

การคัดค้านการเลือกตั้งของกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้ยุติเพียงแค่การเชิญชวนให้ไม่ออกไปเลือกตั้ง แต่ยังบานปลายถึงขั้นมีการเชิญชวน ปลุกระดมให้เข้าขัดขวางการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และเข้าปิดล้อมเขตเลือกตั้งเพื่อมิให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นได้ เรียกกระแสต่อต้านจากขั้วตรงข้าม และกลุ่มผู้ไม่เห็นด้วย ด้วยให้เหตุผลว่าเป็นการกระทำที่ “ขัดขวาง” ระบอบประชาธิปไตย

 

บทวิเคราะห์: การใช้สิทธิ “เลือกตั้ง” เป็นหน้าที่

 

หน้าที่พลเมือง มาตรา 72

 

ตามรัฐธรรมนูญปี 50 ได้กำหนด “หน้าที่” ของประชาชนชาวไทยไว้ใน หมวด 4 ตามมาตรา 72 การไปเลือกตั้งถือเป็นหน้าที่ต้องพึงปฏิบัติ หากละเว้นจะทำให้ต้องเสียสิทธิบางประการตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งสิทธิ์ที่เสียไปมี 4 ประการด้วยกัน ตามที่ระบุไว้ตามมาตรา 26 ในพระราชบัญญัติประกอบการเลือกตั้งฯ ดังนี้

  1. สิทธิยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น
  2. สิทธิร้องคัดค้านการเลือกตั้งกำนันและผู้ใหญ่บ้าน
  3. สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ส.ว. ผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น
  4. สิทธิสมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้านตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่

สำหรับผู้รับราชการแล้วอาจเสียสิทธิ์มากกว่าประชาชนธรรมดา ซึ่งขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของแต่ละหน่วยงาน  อย่างไรก็ตามนอกจากสิทธิ์ที่ต้องเสียตามกฎหมายมิได้บัญญัติโทษอื่นๆ เพิ่มเติมทั้งทางแพ่ง หรือทางอาญา

 

กฎหมายเกี่ยวกับการคัดค้านการเลือกตั้ง

 

สรุป

เรื่อง ผิด หรือ ไม่ ในการไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เป็นที่ถกเถียงมาโดยตลอด ตามความเห็นของนักกฎหมายมองว่า ลักษณะของกฎหมายที่ต้องมี “สภาพบังคับ” การกำหนดว่าการไปใช้สิทธิเลือกตั้งเป็น “หน้าที่” ตามกฎหมายแล้วนั้น ถือเป็นข้อบังคับหนึ่งที่เรา (ในแง่นี้ต้องใช้ว่า) “ควร” ปฏิบัติตาม เพราะหากละเว้นการทำหน้าที่จะต้องได้รับ “ผลเสีย” แก่ตนเอง คือ เสียสิทธิอันควรจะมีบางประการไป และสิทธิที่เสียไปนี้เอง คือผลลงโทษ ของการละเว้นหน้าที่

 โดยบทบัญญัตินี้มิได้เป็นข้อบังคับโดยเด็ดขาด ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณในการตัดสินใจของแต่ละบุคคล เพราะสำหรับผู้ที่มองว่าสิทธิที่เราจะเสียไปเป็นสิ่งสำคัญ เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่สำหรับเขา โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการลงสมัครรับเลือกตั้ง เป็นผู้แทนของประชาชน ไม่ว่าจะเป็น ส.ส. ส.ว. หรือตำแหน่งอื่นใดที่กฎหมายห้ามหากไม่ไปใช้สิทธิทำหน้าที่ในการเลือกตั้ง

ดังนั้นการไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจึงมีความผิด คำกล่าวของนายจงรวย หรือ หยอง ลูกหยี ที่ว่า “ถ้ามีการเลือกตั้งก็ต้องไปเลือก เราต้องรักษาสิทธิ์ เพราะว่าถ้าไม่เลือกเราก็มีความผิด…” จึงอยู่ในเกณฑ์เป็น “จริง”

ป้ายคำ :