ThaiPublica > จับเท็จ: ประเด็น > ผลประโยชน์ทับซ้อน: การบินไทย-แอร์เอเชีย

ผลประโยชน์ทับซ้อน: การบินไทย-แอร์เอเชีย

5 กันยายน 2014


 

บริบท

ในการสัมภาษณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ชี้แจงโต้ข้อกล่าวหาในประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกรณีแทรกแซงองค์กรอิสระ การขายหุ้นของกลุ่มบริษัทชินคอร์ปให้บริษัทสัญชาติสิงคโปร์อย่างเทมาเส็ก กรณีทุจริตปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยหรือเอ็กซิมแบงก์ ให้กับรัฐบาลพม่า ฯลฯ

 

รวมทั้งชี้แจงกรณีการเอื้อประโยชน์แก่สายการบินแอร์เอเชียที่ บริษัทชินคอร์ปเข้าถือหุ้นกว่าครึ่งหนึ่ง โดยการลดสายการบินภายในประเทศของการบินไทย เพื่อเปิดตลาดในประเทศให้แก่แอร์เอเชียจนเป็นผลให้บริษัทการบินไทย จำกัด(มหาชน) ขาดทุน ซึ่งพ.ต.ท.ทักษิณ ตอบโต้ว่าไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ทุกสายการบินที่เป็นสายการบินราคาถูกนั้นมีการแข่งขันกันอย่างเสรี การปรับเส้นทางการบินของการบินไทยเป็นไปตามกลไกธุรกิจ ไม่เกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อนแต่อย่างใด

 

บทวิเคราะห์

เห็นได้ว่าปัจจุบันการบินไทยประสบภาวะขาดทุนอย่างต่อเนื่อง จนเมื่อไตรมาตรแรกของปี 2557 ถูกจัดในอยู่ใน “ภาวะวิกฤต” ซึ่งหลายๆ ฝ่ายวิเคราะห์ว่าสาเหตุที่การบินไทยประสบปัญหานั้นสืบเนื่องมาจากทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน การแข่งขันด้านการตลาด สภาวะทางการเมืองของประเทศไทย และการที่กลุ่มการเมืองเข้าไปแทรกแซงการบริหารงาน

 

เมื่อย้อนกลับไปประมาณ 13 ปีที่ผ่านมา ในสมัยรัฐบาลทักษิณ 1 นั้นผลประกอบการของการบินไทยเติบโตทำกำไรได้อย่างงดงาม แต่เมื่อย่างเข้ารัฐบาลทักษิณ 2 ปัญหาการเมือง ผนวกกับข่าว “คาว” ว่ามีการเอื้อประโยชน์ให้กับสายการบินต้นทุนต่ำ (Low Cost) น้องใหม่ อย่างแอร์เอเชีย ที่มีบริษัทชินคอร์ป ถือหุ้นอยู่ราว 51% โดยบอร์ดบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (ทอท.) ที่มีเครือญาติของ พล.ต.ท.ทักษิณ บริหารงานอยู ได้อนุมัติให้มีการลดค่าบริการท่าอากาศยานกรุงเทพฯ และภูมิภาค รวมทั้งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้กับบริษัท ไทยแอร์เอเชียจำกัด

 

ผลการดำเนินงานการบินไทยในแต่ละรัฐบาล

 

เป็นผลให้ผลกำไรในการดำเนินงานของการบินไทยในช่วงปี 2548 ดิ่งลงจาก 11,444 ล้านบาท ในปี 2547 มาอยู่ที่ 4,869 ล้านบาท ในปีถัดมา ซึ่งเป็นปีที่มีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ต่อต้านการบริหารงานของรัฐบาลทักษิณ แม้จะยังไม่ประสบภาวะขาดทุน แต่ภายใน 1 ปี ตัวเลขผลกำไรหายไปกว่าครึ่ง

 

อย่างไรก็ตามแม้สถานการณ์ทางการเมืองจะเป็นหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการ แต่ได้มีการนำเสนอข่าวจากหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ และหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 28 พฤศจิกายน 2546 ได้ลงข่าวในทำนองว่า ทอท. ลดค่าใช้สนามบินรับแอร์เอเชีย และลงข่าวผลการประชุมของบอร์ด ทอท.ว่ามีการอนุมัติให้ ทอท.สนับสนุนบริษัทแอร์เอเชียที่กลุ่มชินคอร์ปถือหุ้นอยู่ 51% เข้ามาดำเนินธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำ และแก้ไขข้อบังคับ ทอท.ว่าด้วยอัตราค่าภาระการใช้ท่าอากาศยาน ทรัพย์สิน บริการ และความสะดวกในกิจการของ ทอท. สำหรับท่าอากาศยานกรุงเทพ และภูมิภาค โดยลดค่าบริการลง ซึ่งในบอร์ด ทอท. นั้นมีญาติของ พ.ต.ท.ทักษิณ รวมอยู่ ตามรายงานข่าวคือ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์

 

และมีการปราศรัย ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 6-7 มิถุนายน 2547 โดยการปราศรัยของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ พรรคประชาธิปัตย์ มีเนื้อพาดพิงถึง พ.ต.ท.ทักษิณ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ว่ามีการเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจครอบครัว ทั้งสิ้น 14 กรณี ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ กรณีการเอื้อประโยชน์ให้สายการบินแอร์เอเชีย

 

ในปีเดียวกัน พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ยื่นฟ้องนายจุรินทร์ และหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ในข้อหาหมิ่นประมาท และเรียกค่าเสียหาย 500 ล้านบาท ซึ่งคำตัดสินของศาลในวันที่ 17 ธันวาคม 2555 นั้นได้พิจารณา "ยกฟ้อง" จำเลยทั้งหมด โดยให้เหตุผลว่าคำพูดของนายจุรินทร์มีมูลที่ทำให้นายจุรินทร์เชื่อว่าเป็นความจริง ไม่ใช่การสร้างเรื่องขึ้นมาใส่ร้ายพ.ต.ท.ทักษิณ เช่นกันเมื่อมีการอุทธรณ์คดีนี้ต่อ ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายกฟ้องโดยเห็นว่า การกล่าวของนายจุรินทร์ทั้ง 14 เรื่องอยู่บนพื้นฐานข้อมูลซึ่งมีรายละเอียดข้อเท็จจริง บุคคล และเอกสารที่เกี่ยวข้องประกอบ

 

อีกทั้งคณะกรรมการป้องกันปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้รับคดีนี้ไว้ในการไต่สวน เป็นการตอกย้ำว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มีพฤติการณ์เอื้อประโยชน์ให้แก่ธุรกิจครอบครัว ซึ่งอาจเป็นอีกหนึ่งชนวนสำคัญที่ทำให้ผลกำไรของการบินไทยลดลง แม้จะยังไม่อยู่ในภาวะขาดทุนดังเช่นปัจจุบันก็ตาม

 

สรุป

จากผลการตัดสินของศาลอาญาจังหวัดเชียงใหม่ โดยเห็นว่า การกล่าวของนายจุรินทร์ทั้ง 14 เรื่องอยู่บนพื้นฐานข้อมูลซึ่งมีรายละเอียดข้อเท็จจริง บุคคล และเอกสารที่เกี่ยวข้องประกอบ และการที่ ป.ป.ช. รับคำร้องกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด จนเป็นเหตุให้รัฐเสียประโยชน์ ผนวกกับผลกำไรของการบินไทยที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วงเวลาดังกล่าว แม้ยังไม่ถึงขั้นขาดทุน แต่ก็ทำให้คำกล่าวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ว่า “ไม่มี กำไรการบินไทยไม่เคยถอย มีหรือ ขาดทุน-ถอย…ไปเอามากางดูได้เลย” อยู่ในเกณฑ์ “ก้ำกึ่ง”

ป้ายคำ :