บริบท
เหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นหนึ่งในชนวนเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการรัฐประหารในปี 2549 โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ซึ่งอ้างเหตุควบคุมสถานการณ์ความไม่สงบที่มีทีท่าจะบานปลายออกไป จากการบริหารงานของ พ.ต.ท.ทักษิณ
โดยวันที่ 30 มีนาคม 2545 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เสนอยุบศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และกองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหารที่ 43 (พตท. 43) ซึ่งรัฐบาลมีคำสั่งนายกรัฐมนตรียุบ ศอ.บต. และ พตท. 43 เมื่อวันที่ 30 เมษายน ปีเดียวกัน การปรึกษาหารือกับผู้นำชุมชนท้องถิ่นก็ได้ถูกยกเลิกไปด้วย ความไม่พอใจต่อการละเมิดดังกล่าวได้นำไปสู่ความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2547 และ 2548
เหตุการณ์ล้อมปราบกลุ่มมุสลิมที่เข้าโจมตีจุดตรวจหน้ามัสยิสกรือเซะ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 ที่มัสยิดกรือเซะ ต.ตันหยงลูโละ อ.เมือง จ.ปัตตานี และเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจากทั้ง 2 เหตุการณ์รวม 117 ราย ถือเป็นเหตุสะเทือนขวัญครั้งใหญ่สำหรับประชาชน 3 จังหวัดชายแดนใต้ และยิ่งเป็นการสร้างภาพลบของเจ้าหน้าที่รัฐในสายตาชาวบ้าน
เว็บไซต์ The Nation ได้รายงานข่าวสรุปยอดผู้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2549 ก่อนการรัฐประหารประมาณ 2 สัปดาห์ ว่ามีจำนวนผู้เสียชีวิตกว่า 1,400 ราย จากสถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2547
เมื่อพล.อ.สุรยุทธ์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีจากการเสนอชื่อโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) จึงมีการลงพื้นที่ พร้อมด้วย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธาน คมช. เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2549 และอีกครั้งเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2549 พบกับผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้นำศาสนา และผู้นำชุมชนใน พื้นที่จังหวัดภาคใต้ เพื่อพูดคุยหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบดังกล่าว
วิเคราะห์ข้อมูล
กรณีตากใบ เกินกว่าเหตุหรือไม่
วันที่ 25 ต.ค.2547 เหตุการณ์สลายผู้ชุมนุมที่หน้า สภอ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อเจ้าหน้าที่ทำการสลายการชุมนุม และควบคุมตัวผู้ชุมนุมได้ จากนั้นจึงทำการเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมไปควบคุมสอบสวนต่อที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี มีรายงานระบุว่ามีผู้เสียชีวิตระหว่างการสลายการชุมนุม 6 ราย และในการเคลื่อนย้ายไปยังค่ายอิงคยุทธบริหารฯ เนื่องจากรถของเจ้าหน้าที่มีไม่เพียงพอ ผู้ชุมนุมจึงอยู่ในสภาพแออัด ถูกจัดเรียงทับกันหลายชั้น ด้วยระยะเวลากว่า 5 ชั่วโมงในการเดินทาง จึงทำให้มีผู้ชุมนุมเสียชีวิตเพิ่มอีก 78 ราย เนื่องจากขาดอากาศหายใจ และสภาพร่างกายอ่อนแอ และไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลอีก 1 ราย รวมมีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้จำนวน 85 ราย
กรณีนี้ทำให้หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยว่าเจ้าหน้าที่กระทำการเกินว่าเหตุ จึงได้ตั้ง "คณะกรรมการอิสระขึ้นไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์อำเภอตากใบ จ.นราธิวาส" โดยมี นายพิเชต สุนทรพิพิธ เป็นประธาน ซึ่งผลสรุปว่าการเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จนทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากนั้น เป็นการปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง และขาดความรับผิดชอบของผู้บังคับบัญชาระดับต่างๆ ของทหารที่ควบคุมสถานการณ์ในวันนั้น (รายงานฉบับเต็ม)
สรุป
จากผลการไต่สวนของคณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริง กรณีมีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ อ.ตากใบ ผลการไต่สวนพบว่า เจ้าหน้าขาดความรับผิดชอบ และพกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งกรณีตากใบนี้มีผู้ถูกเจ้าหน้าที่ยิงเสียชีวิต ขณะสลายการชุมนุม และเสียชีวิตจากการถูกมัดมือไพล่หลัง นำไปเรียงซ้อนกันเป็นชั้น ขณะถูกเคลื่อนย้ายไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร รวมทั้งสิ้น 85 ราย
ดังนั้น ข้อความที่ พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวว่า “การดำเนินการต่อกรณีตากใบนั้นได้ดำเนินการทั้งในส่วนของผู้ที่ก่อเหตุและผู้ที่ได้ดำเนินการในลักษณะที่ปราบปรามจนทำให้มีผู้เสียชีวิตเกิดขึ้นโดยที่ไม่จำเป็น” จึงอยู่ในเกณฑ์ที่ “เป็นจริง”