สงครามความขัดแย้งทางความคิดระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ กับรัฐบาล และกระทรวงการคลัง นับวันยิ่งทวีความรุ่นแรงมากขึ้น
โดย “นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาแสดงความคิดเห็นขัดแย้งเรื่องนโยบายดอกเบี้ยกับแบงก์ชาติ และบอกความในใจว่า “คิด” ไล่ผู้ว่าแบงก์ชาติพ้นตำแหน่ง แสดงถึงความไม่พอใจในการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยของแบงก์ชาติอย่างตรงไปตรงมา และล่าสุดออกมาแฉแต่เช้า (2 พ.ค. 2557) ว่า แบงก์ชาติไม่เคยประสานนโยบายอย่างที่พูด
ในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน “ดร.โกร่ง” หรือ ดร. วีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) และประธานคณะกรรมการ ธปท. (บอร์ด ธปท.) ก็ใช้ทำเนียบเป็นฐานที่มั่นแถลงเปิดใจ ห่วงปัญหาความร้าวฉานของผู้ว่าแบงก์ชาติกับรัฐมนตรีคลัง
ขณะที่ “ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ผู้ว่าแบงก์ชาติ ยังคงนิ่ง เพราะตกอยู่ในฐานะเป็นฝ่ายตั้งรับ และดูเหมือนว่าอาจจะเพลี่ยงพล้ำได้ หากไม่เคลื่อนไหวโดยสุขุมคัมภีรภาพ
สงครามความขัดแย้งเรื่องดอกเบี้ยและค่าเงินบาท ระหว่างทำเนียบรัฐบาลกับวังบางขุนพรหมครั้งนี้ต้องบอกว่าไม่ธรรมดา น่าจะเป็นละครฉากใหญ่ที่ต้องเกาะติดเลยทีเดียว
แต่หากเหลียวหลังไปดูประวัติศาสตร์ความขัดแข้งระหว่างแบงก์ชาติกับรัฐบาลจะพบว่า ตั้งแต่ก่อตั้งแบงก์ชาติเมื่อปี 2485 หรือตลอดกว่า 70 ปีที่ผ่านมา ปัญหาความขัดแย้งระหว่างแบงก์ชาติกับกระทรวงคลังมีให้เห็นเป็นระยะ แต่ในกรณีที่มีความขัดแย้งรุนแรงจนนำไปสู่การแตกหัก ผลที่เกิดขึ้นคือ รัฐบาลสั่ง “ปลด” ผู้ว่าแบงก์ชาติพ้นจากตำแหน่ง แต่มีบางกรณีเท่านั้นที่ผู้ว่าแบงก์ชาติแสดงการคัดค้านรัฐบาลด้วยการ “ลาออก” เพื่อประกาศจุดยืนของธนาคารกลาง
ทั้งนี้ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 ที่ใช้มาจนถึงเดือนสิงหาคม 2551 เป็นกฎหมายเดิมที่ให้อำนาจรัฐมนตรีคลังเสนอแต่งตั้งและปลดผู้ว่าการแบงก์ชาติได้ โดยไม่ต้องระบุเหตุผลหรือข้อหา ต่างจากกฎหมายแบงก์ชาติปัจจุบันที่มีการปรับปรุงแก้ไขเรื่องที่มาของผู้ว่าการแบงก์ชาติ ที่ต้องมาจากการสรรหา และกำหนดวาระดำรงตำแหน่งผู้ว่าการแบงก์ชาติไว้คราวละ 5 ปี
ส่วนการพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการแบงก์ชาติใน พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 ฉบับปรับปรุงล่าสุด 2551 มาตรา 28/19 ของกฎหมายแบงก์ชาติปัจจุบัน ในกรณีถูกปลดซึ่งระบุในมาตรา 28/19 (4) ยังคงให้อำนาจรัฐมนตรีคลังเสนอคณะรัฐมนตรีปลดผู้ว่าการแบงก์ชาติได้เหมือนเดิม แต่จะต้องมีเหตุผลในการสั่งปลด คือ มีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรง หรือทุจริตต่อหน้าที่
และนอกจากรัฐมนตรีคลังจะสั่งปลดได้ตามมาตรา 29/19 (4) แล้ว ในมาตรา 28/19 (5) ได้ให้อำนาจคณะกรรมการแบงก์ชาติสามารถเสนอรัฐมนตรีคลังสั่งปลดผู้ว่าการแบงก์ชาติได้ด้วย หากผู้ว่าการแบงก์ชาติมีความผิดบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถ
อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายแบงก์ชาติฉบับเก่าจะทำให้การแต่งตั้งและปลดผู้ว่าทำได้ง่ายกว่าปัจจุบัน แต่ช่วงกว่า 70 ปีที่ผ่านมา มีปัญหาความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างแบงก์ชาติกับกระทรวงการคลังจนถึงขั้นมีการ “ปลด” ผู้ว่าแบงก์ชาติเพียง 4 คน จากทั้งหมด 20 คน
ทั้งนี้ หากนับการดำรงตำแหน่งแต่ละครั้ง จะมีผู้ว่าการแบงก์ชาติดำรงตำแหน่งมาแล้ว 22 คน แต่มี 3 คน ที่ดำรงตำแหน่ง 2 ครั้ง หรือ 2 สมัย คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย นายเสริม วินิจฉัยกุล นายเล้ง ศรีสมวงศ์
สำหรับผู้ว่าแบงก์ชาติที่ถูกปลดออกจากตำแหน่ง 4 คน คือ
1. นายโชติ คุณะเกษม ผู้ว่าการแบงก์ชาติ คนที่ 6 ถูกปลดโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี ในกรณีนี้ไม่ใช่สาเหตุจากความขัดแย้งทางนโยบาย แต่เป็นข้อหาพัวพันกรณีจ้างฝรั่งพิมพ์ธนบัตร
ทั้งนี้ เมื่อนายโชติได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการแบงก์ชาติ (24 ก.ค. 2510 – พ.ค. 2502) ยังได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลังเมื่อปี 2502 พร้อมกันอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย ดังนั้น ธนบัตรชนิดราคา 100 บาท ที่ประกาศออกใช้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2502 จึงเป็นธนบัตรชนิดเดียวที่มีลายเซ็นของนายโชติ คุณะเกษม ทั้งในตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง และผู้ว่าการแบงก์ชาติ
2. นายนุกูล ประจวบเหมาะ ผู้ว่าการแบงก์ชาติคนที่ 10 ถูกปลดในสมัยนายสมหมาย ฮุนตระกูล เป็นรัฐมนตรีคลัง โดยมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งเรื่องนโยบาย อาทิ นโยบายคุ้มเข้มสินเชื่อ และการเสนอตั้งสถาบันประกันเงินฝาก
ในจังหวะเวลาที่นายนุกูลเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการแบงก์ชาติ เป็นช่วงที่ประเทศกำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ราคาน้ำมันแพง เงินฟ้อสูง ทำให้แบงก์ชาติดำเนินนโยบายการเงินเข้มงวดเพื่อควบคุมสินเชื่อ และเมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2524 แบงก์ชาติประกาศปรับลดค่าเงินบาทจาก 21 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 23 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
นอกจากนายนุกูลจะเผชิญปัญหาด้านเศรษฐกิจแล้ว ยังมีปัญหาเร่งด่วนต้องแก้ไขเกี่ยวกับบริษัทเงินทุนที่มีฐานะอ่อนแอ และประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ทำให้แบงก์ชาติต้องแก้วิกฤติการณ์ด้วยการเพิกถอนใบอนุญาตบริษัทเงินทุน และใช้มาตรการ “โครงการ 4 เมษายน 2527” เพื่อแก้ไขปัญหาสถาบันการเงิน โดยมีบริษัทเงินทุนเข้าร่วมโครงการ 25 บริษัท
ขณะเดียวกัน แบงก์ชาติได้เสนอแนวคิดจัดตั้งสถาบันประกันเงินฝากเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้ฝากเงิน แต่นายสมหมายไม่เห็นด้วย และเก็บเรื่องเข้ากรุเงียบหายไป
ชนวนความขัดแย้งดังกล่าวรุนแรงมากขึ้นจนนำไปสู่การแตกหัก โดยนายสมหมายเสนอ “ปลด” นายนุกูลออกจากการเป็นผู้ว่าการแบงก์ชาติ เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2527 ด้วยเหตุผลสั้นๆ ว่า เนื่องจากนายนุกูลอยู่ในตำแหน่งมาครบ 4 ปีแล้ว จึงเห็นสมควรให้ผู้เหมาะสมมาดำรงตำแหน่งสืบแทน
อาจกล่าวได้ว่า นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเงินไทย ที่รัฐมนตรีคลังปลดผู้ว่าแบงก์ชาติเพราะขัดแย้งเชิงนโยบาย
3. นายกำจร สถิรกุล ผู้ว่าการแบงก์ชาติคนที่ 11 ถูกปลดในสมัยนายประมวล สภาวสุ เป็นรัฐมนตรีคลัง โดยสาเหตุของการปลดครั้งนี้มาจากปัญหาความขัดแย้งเรื่องอัตราดอกเบี้ย
การประกาศปรับลดค่าเงินบาทครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2527 จาก 23 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 27 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และประกาศใช้อัตราแลกเปลี่ยนระบบตระกร้าเงิน แทนการผูกติดกับดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ภาคส่งออก ท่องเที่ยว และการลงทุนในประเทศได้รับอานิสงจนทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว แต่ตามมาด้วยปัญหาเงินเฟ้อ ผู้ว่าแบงก์ชาติจึงปรับโครงสร้างดอกเบี้ยให้สูงขึ้นเพื่อสกัดเงินเฟ้อ แต่นายประมวลไม่เห็นด้วยกับแนวทางของแบงก์ชาติ จึงปลดนายกำจรพ้นตำแหน่งผู้ว่าการแบงก์ชาติ
อดีตผู้บริหารแบงก์ชาติที่อยู่ในยุคนั้นเล่าให้ฟังว่า นายประมวลไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องนโยบายการเงินและเศรษฐกิจมหาภาคดีพอ ซึ่งในสถานการณ์ที่เงินเฟ้อสูง จำเป็นต้องใช้นโยบายดอกเบี้ยสูง แต่นายประมวลไม่เห็นด้วยจนกลายเป็นความขัดแย้ง และนำไปสู่การปลดนายกำจร แต่สุดท้ายนายประมวลก็หลุดจากเก้าอี้รัฐมนตรีคลังไปด้วย เพราะถูกโจมตี และนักลงทุนไม่เชื่อมั่น
“เป็นครั้งแรกที่รัฐมนตรีคลังสั่งปลดผู้ว่าแบงก์ชาติแล้วรัฐมนตรีคลังก็อยู่ไม่ได้ ต้องหลุดออกจากตำแหน่งด้วย เพราะไม่รู้เรื่องนโยบายการเงิน จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์กดดันให้ต้องลาออกไปด้วย” อดีตผู้บริหารแบงก์ชาติท่านหนึ่งกล่าว
4. ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล หรือ “หม่อมเต่า” ผู้ว่าการแบงก์ชาติคนที่ 16 ถูกปลดในสมัย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นรัฐมนตรีคลัง โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2544 โดยไม่ระบุเหตุผล แต่เป็นที่เข้าใจกันว่าสาเหตุมาจากความขัดแย้งเชิงนโยบายตั้งแต่เรื่องค่าเงินบาท ที่หม่อมเต่ามีแนวคิดปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด แต่รัฐบาลต้องการให้ดูแล นอกจากนี้ รัฐบาลต้องการให้แบงก์ชาติผ่อนคลายเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ แต่แบงก์ชาติกลับเข้มงวด และที่สำคัญคือเรื่องดอกเบี้ย
แต่ปัญหาความขัดแย้งเรื่องดอกเบี้ยในยุคของหม่อมเต่าตรงกันข้ามกับปัจจุบัน โดยในสมัยหม่อมเต่านั้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับ 1.5% ซึ่งรัฐบาลมีความเห็นว่าเป็นอัตราที่ต่ำเกินไป ต้องการให้ปรับขึ้นเพราะต้องการให้ธนาคารพาณิชย์ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก แต่หม่อมเต่าไม่ดำเนินการตามและยังมีจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (อีเมล์) จากแบงก์ชาติส่ถึงนักลงทุนต่างประเทศเพื่อชี้แจงเรื่องดอกเบี้ยและขอความคิดเห็นเรื่องอัตราดอกเบี้ยด้วย
การกระทำดังกล่าวของแบงก์ชาติทำให้เชื่อได้ว่า นั่นคือฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ ดร.สมคิดเสนอปลดหม่อมเต่าพ้นตำแหน่งผู้ว่าการแบงก์ชาติ และเสนอแต่งตั้ง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล หรือ “หม่อมอุ๋ย” เป็นผู้ว่าการแบงก์ชาติ และหลังจากหม่อมอุ๋ยเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าแบงก์ชาติเพียงไม่กี่วัน ก็ประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบายถึง 1% คือ จาก 1.5% เป็น 2.5%
ปรากฏการดังกล่าวยิ่งทำให้ทุกคนเชื่อว่า หม่อมเต่าถูกปลดเพราะขัดแย้งเรื่องดอกเบี้ยมากกว่าสาเหตุอื่น แต่ภายหลังหม่อมเต่าเปิดใจว่า “สาเหตุที่ถูกปลดเพราะไม่สนองนโยบายการปล่อยสินเชื่อให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)”
นั่นคือ 4 ผู้ว่าแบงก์ชาติที่ถูกรัฐบาล “ปลด” พ้นจากตำแหน่ง โดยมีเพียงคนเดียวที่ถูกปลดด้วยเหตุผลอื่นที่ไม่ใช่เรื่องความขัดแย้งเชิงนโยบาย
ปัญหาความขัดแย้งเชิงนโยบายระหว่างแบงก์ชาติกับรัฐบาลไม่ได้จบลงที่ผู้ว่าแบงก์ชาติต้องถูกปลดเสมอไป ในบางกรณีอย่างที่เขียนไว้ข้างต้นคือ ผู้ว่าแบงก์ชาติแสดงความกล้าหาญ ด้วยการประกาศ “ลาออก” เพื่อแสดงจุดยืนของแบงก์ชาติ ซึ่งในอดีตมี 2 ผู้ว่าแบงก์ชาติที่ขัดแย้งกับรัฐบาลแล้วต้องลาออกด้วยเหตุผลดังกล่าว คือ
1. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ผู้ว่าแบงก์ชาติพระองค์แรก และเป็นผู้ว่าการ 2 สมัย โดยขัดแย้งกับรัฐบาลและขอลาออกในสมัยแรก เนื่องจากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดภาวะเงินเฟ้อในปี 2489 แบงก์ชาติจึงเสนอต่อรัฐบาลให้ขายทองคำทุนสำรองส่วนที่มีอยู่ในประเทศไทยจำนวน 2.9 ล้านกรัม เป็นเงินบาท ด้วยวิธีประมูลราคา เพื่อดูดซับสภาพคล่องส่วนเกิน แต่รัฐบาลมีนโยบายแบ่งขายให้ประชาชนโดยไม่มีการประมูลราคา ซึ่งคณะกรรมการแบงก์ชาติไม่เห็นด้วย พระองค์และคณะกรรมการแบงก์ชาติจึงลาออกทั้งคณะ เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2489 แต่ภายหลังได้ทรงกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งอีกสมัยหนึ่ง
2. หม่อมหลวงเดช สนิทวงศ์ ผู้ว่าแบงก์ชาติคนที่ 4 ได้ลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าแบงก์ชาติเมื่อวันที่ 29 ก.พ. 2495 เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลที่ต้องการให้แบงก์ชาติปรับอัตราแลกเปลี่ยนเงินปอนด์จาก 51 บาทต่อปอนด์ มาเป็น 45 บาทต่อปอนด์ และกลับมาควบคุมการจ่ายเงินตราต่างประเทศอีก เนื่องจากขณะนั้นฐานะดุลการชำระเงินเกินดุล
เพราะฉะนั้น เมื่อเหลียวหลังย้อนอดีตดูความสัมพันธ์ร้าวฉานระหว่างแบงก์ชาติกับกระทรวงการคลังแล้ว อาจมีคำถามว่า หากแลไปข้างหน้า ภายใต้อุณหภูมิความขัดแย้งที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยผู้ว่าแบงก์ชาติหรือไม่และอย่างไร
ต้องติดตามตอนต่อไป