ThaiPublica > Events > ThaiPublica Forum 2015 ครั้งที่ 2: ความจริงใหม่ เมื่อประเทศไทยไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป “Wake up call-Consumer Power” (1)

ThaiPublica Forum 2015 ครั้งที่ 2: ความจริงใหม่ เมื่อประเทศไทยไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป “Wake up call-Consumer Power” (1)

30 ตุลาคม 2015


สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าครบรอบ 4 ปี กำลังขึ้นสู่ปีที่5 ได้จัดสัมมนา ThaiPublica Forum 2015 ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ “ความจริงใหม่ เมื่อประเทศไทยไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป: โลกเเปลี่ยน…เศรษฐกิจไทยเปลี่ยน?” โดยมีวิทยากรนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)และ ประธานสมาคมธนาคารไทย ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิแอดไวเซอร์ จำกัด นายปพนธ์ มังคละธนะกุล เจ้าของบริษัทล้มยักษ์ จำกัด และนายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา บรรณาธิการ สำนักพิมพ์ openbooks เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2558

ThaiPublica Forum 2015 ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ “ความจริงใหม่ เมื่อประเทศไทยไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป: โลกเปลี่ยน… เศรษฐกิจไทยเปลี่ยน?”
ThaiPublica Forum 2015 ครั้งที่ 2 “ความจริงใหม่ เมื่อประเทศไทยไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป: โลกเปลี่ยน…เศรษฐกิจไทยเปลี่ยน?”

ภิญโญ: ที่คุณเศรษฐพุฒิบอกว่าประเทศไทยไม่เหมือนเดิมนั้น ไม่เหมือนเดิมอย่างไร แล้วอะไรที่เปลี่ยนไปในประเทศไทย

เศรษฐพุฒิ: จริงๆ วิดีโอที่ฉายก็แสดงให้เห็นในหลายประเด็น สอดคล้องกับภาพว่าเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนแปลงอะไรไป แต่ลองถามคุณผู้ฟังดีกว่าว่า ในความรู้สึกเราจะเห็นรัฐบาลที่ผ่านทุกยุคทุกสมัยมาเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ผลที่ได้รับไม่ค่อยได้แบบที่คาดการณ์ เหมือนเศรษฐกิจมีอาการคล้ายๆ ดื้อยา ใส่เข้าไป ใส่เข้าไป แต่อัตราการเติบโตต่างๆ ก็ไม่เกิดขึ้น เป็นอะไรที่เรารู้สึก ซึ่งจริงๆ ก็มีที่มาที่ไปของมัน

ที่มาที่ไปก็คือว่าเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกวันนี้เจอปัญหาเชิงโครงสร้างที่เปลี่ยนแปลงไป การที่จะแก้ แก้แบบเดิมๆ ไม่ได้ ผมขอยกตัวอย่าง เรานึกภาพเศรษฐกิจมันผลิตได้เท่าไร หรือจีดีพีผลผลิตมวลรวมของประเทศได้เท่าไร ก็ขึ้นอยู่กับว่าเรามีคน มีแรงงานกี่คน แรงงานผลิตได้เท่าไร ประสิทธิภาพเป็นเท่าไร เช่นเดียวกันการเติบโตก็จะมาว่าการผลิตแรงงานจะเติบโตเท่าไร และประสิทธิภาพโตแค่ไหน ถ้าดูแค่มิตินี้มันสะท้อนว่าสภาพเศรษฐกิจไทยตอนนี้ต่างไปจากเดิมมาก อัตราการเติบโตของแรงงานไทยเดิมในทศวรรษก่อนอยู่ที่ 1.2% ตอนนี้เหลือประมาณ 0.2% ประสิทธิภาพแรงงานตกไปประมาณ 0.6% แค่นี้มันสะท้อนแล้วว่าอัตราการเติบโตของไทยหายไป 1.6% จากเดิมที่เคยโต 5% ก็จะตกมาอยู่ที่ 3% กว่าๆ

นอกจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งเรื่องพื้นฐานก็คือ การเข้าสู่สังคมสูงวัย ก็ดันเจอเรื่องอื่นๆ ด้วย เรื่องการค้าโลก เรื่องเกี่ยวกับความกดดันในแง่ของรายได้ครัวเรือน หนี้ครัวเรือนที่สูง ซึ่งก็จะทำให้อัตราการเติบโตเฉลี่ยของไทยนั้นต่ำไปกว่าเดิม

ภิญโญ: คุณอภิสิทธิ์ ที่บอกว่าประเทศไทยไม่เหมือนเดิม ประเทศไทยเปลี่ยนอย่างไร

อภิสิทธิ์: คือผมคิดว่าเราต้องดูทั้งปัจจัยภายนอก ปัจจัยภายใน ข้างนอกส่วนจะที่เปลี่ยนแปลง คือเปลี่ยนแปลงไปแล้วและมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของไทย 1. คือ เทคโนโลยี ซึ่งเป็นตัวเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตคนทั้งโลก ทำให้เกิดการเชื่อมโยง การติดต่อการสื่อสาร ส่งผลต่อการใช้ชีวิต รายจ่าย และรายได้ของคน 2. กติกาของโลกในเรื่องของการค้า จะไม่มาดูเฉพาะเรื่องการกีดกันในด้านภาษีอีกต่อไป ตอนนี้ไทยก็เผชิญอยู่หลายเรื่อง การบินบ้าง แรงงานบ้าง ค้ามนุษย์ ประมง สารพัด และจะมีแต่เพิ่มขึ้นไม่มีลดลง 3. การเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งในแง่หนึ่งมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น เราเคยคาดหวังว่าหมดยุคสงครามเย็นโลกก็จะมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้น แต่ทุกวันนี้เราจะเห็นว่าตรงกันข้าม ความขัดแย้งรูปแบบเก่าๆ เรื่องเชื้อชาติ ศาสนา รุนแรงมาก แล้วก็มีเรื่องการก่อการร้าย นี่คือปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่อประเทศไทยทั้งหมด ซึ่งยังไม่พูดถึงเรื่องว่าจะต้องแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร เพราะว่ามันส่งผลกระทบต่อยุทธศาสตร์ของไทยด้านการค้า การรวมตัวทางเศรษฐกิจ

ส่วนภายในผมคิดว่ามีสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปโดยที่ผมไม่แน่ใจว่าเรารู้ตัวหรือไม่รู้ตัว หรือรู้ตัวแต่ไม่ยอมรับ หรือเป็นเพราะประเด็นการสนทนาเราเอาภาพจำเก่าๆ มาเป็นตัวชี้ เหมือนเมื่อสักครู่ที่บอกว่าทำไมตอนหลังดูเหมือนเศรษฐกิจดื้อยาขึ้นเรื่อยๆ จริงๆ กระตุ้นเศรษฐกิจ ถ้าได้ผลก็คือเฉพาะช่วงหลังเกิดวิกฤติจริงๆ เท่านั้นเอง สามารถกระเตื้องขึ้นมาได้เฉพาะหน้า เพราะปัญหาเชิงโครงสร้างเยอะมาก

ถามว่ามีอะไรบ้างที่ไทยต้องคิด อันดับแรก ไทยก็เหมือนอีกหลายประเทศที่อยู่ในระดับรายได้ปานกลาง แม้ว่าจะอยู่ในระดับบนของรายได้ปานกลาง ก็คือไทยยังไม่สามารถถีบตัวเองให้พ้นจากจุดนี้ได้ ซึ่งเราหวังพึ่งทรัพยากรธรรมชาติ หรือแรงงานที่ถูกก็ไม่ได้แล้ว ขณะเดียวกันเราไม่ได้สร้างในเรื่องของทักษะความสามารถในการวิจัยพัฒนา ที่จะนำไปสู่การใช้นวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อน

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี

สอง เศรษฐกิจของไทยมีโครงสร้างที่หลากหลาย แต่เราก็ยังอยู่ในภาพจำเก่าๆ ทุกวันนี้บางคนยังบอกไทยเป็นประเทศที่ภาคการเกษตรเสมือนใหญ่มาก แต่จริงๆ ตอนนี้คิดเป็นรายได้ก็ดี คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกก็ดี อาจจะอยู่ที่ประมาณ 10% แต่เราคิดอยู่เสมอว่าตรงนี้คือฐานใหญ่ แต่เกษตรกรก็ยังคงเป็นกลุ่มก้อนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ

เพราะฉะนั้น ไทยจึงมีเศรษฐกิจที่มีความหลากหลายและมีความเหลื่อมล้ำมากขึ้นเรื่อยๆ รวมไปถึงข้อเท็จจริงที่ว่าเศรษฐกิจสีเทาหรือไม่เป็นทางการเขาก็เคยประเมินว่าไทยเป็นอีกแห่งหนึ่งที่มีเศรษฐกิจสีเทาใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ผลที่เห็นในปัจจุบันก็คือ พอจะเริ่มกวาดล้างธุรกิจสีเทา มันก็กระเทือนการหมุนเวียนของเงินจริงๆ แสดงให้เห็นว่าหากไทยยังอยู่กับโครงสร้างเก่า ไทยจะขยับอะไรยาก เพราะเราก็ไม่ยอมรับสีดำสีเทาอีกต่อไป เราจะกวาดล้างตรงนี้ แต่เรายังไม่มีอะไรที่มาทดแทน

เรากำลังจะเป็นสังคมสูงวัย นี่แหละ บนเวทีนี้จะเป็นภาระอันใหญ่หลวงกับสังคมในอีก 10-15 ปีข้างหน้า โดยที่เรายังไม่ได้สร้างระบบสวัสดิการ หรือระบบการออมที่ดีเพียงพอ

และเพิ่มเติมอีกนิด ยังไงเราก็จะกลายเป็นสังคมเมืองมากขึ้น เพราะโดยสภาพของโครงสร้างเศรษฐกิจโลกทุกวันนี้มันวิ่งเข้าหาเมือง การเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่มีเครือข่าย มีการค้ามีการแลกเปลี่ยน มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีความรู้นั้นเป็นจุดสำคัญ

และสุดท้ายก็ต้องบอกว่า คนไทยไม่เหมือนเดิม ทุกวันนี้พฤติกรรมคนรุ่นใหม่ไม่ต้องพูดถึงอยู่แล้วเขาก็มีความแตกต่าง แม้แต่ตัวเราเองที่มีอายุมากขึ้นแล้วก็ต้องเปรียบเทียบดูว่าทุกวันนี้การใช้ชีวิตของเราเทียบกับ 10 ปีที่แล้วแตกต่างกันอย่างไร เอาแค่เฉพาะการก้มหน้าดูจอ ไปห้ามเด็กไม่ให้ดูจอเกิน 3 ชั่วโมง แต่ผู้ใหญ่ทำผมว่าไม่ต่ำกว่า 5 ชั่วโมง อันนี้คือสิ่งที่เป็นความเป็นจริง

เพราะฉะนั้น ทั้งหมดสำหรับผมคือว่า มันทำให้ทุกภาคส่วนต้องมาปรับตัว แน่นอนภาคเอกชนต้องปรับเพื่อการอยู่รอด เพื่อการแข่งขัน ภาครัฐก็หมายความว่านโยบายสาธารณะต้องมีการปรับเปลี่ยน วิธีการในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะต้องมีการปรับเปลี่ยน

ภิญโญ: สักครู่จะกลับมาคุยว่านักการเมืองปรับเปลี่ยนอย่างไร เพราะดูเหมือนว่ามีคนอยากให้นักการเมืองปรับเปลี่ยนเยอะ ต่อไปขอไปที่คุณบุญทักษ์ คุณบุญทักษ์อยู่กับแบงก์มานาน เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างไรในอุตสาหกรรมธนาคารไทยบ้าง เกิดอะไรขึ้นบ้างตอนนี้

บุญทักษ์: จริงๆ แล้วแบงก์ไม่ได้เป็น Real Sector แบงก์เป็น Supporting Sector แต่ก็เป็นส่วนที่เข้าถึงและเกี่ยวข้องกับทั้งธุรกิจและบุคคล เพราะฉะนั้นก็มีเรื่องของการเปลี่ยนแปลง อันนี้เป็นสิ่งที่เราใช้ตอนที่ทำแผน 5 ปีของสมาคมธนาคารในปีนี้ 2558 ก็พยายามคาดการณ์ล่วงหน้าว่าอะไรที่จะเกิดขึ้นในช่วง 5 ปีข้างหน้า แล้วระบบแบงก์เราจะทำอย่างไรที่จะตอบสนองความเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลง อันนี้เป็นเรื่องพื้นฐานนะครับ

เรื่องดิจิทัลก็อย่างที่ท่านนายกฯ อภิสิทธิ์พูดถึง มันเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ที่เราเห็นง่ายๆ ก็คือ ตอนนี้ปัจจุบันผมแทบจะไม่เคยบริโภคข่าวสารทางทีวีแล้ว ผมบริโภคข่าวสารทางดิจิทัลมากกว่า เพราะผมสามารถเลือกอ่านได้ในเวลาที่ผมอยากอ่าน ในปริมาณที่อยากอ่าน ไม่ใช่เพราะถูกบังคับในเวลาต่างๆ

ผู้บริโภคของระบบแบงก์ก็ยิ่งเปลี่ยนแปลงไปมาก ตัวเลขที่เห็นถอยหลังไป 4 ปีน่ากลัวมาก มีสถิติว่าประเทศในเอเชียจริงๆ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม อันนี้เป็นอีกประเด็นหนึ่งของปัญหา ก็คือ กลุ่มเอเชียที่พัฒนาแล้ว คือ ญี่ปุ่น เกาหลี รวมไปถึงออสเตรเลีย เขาใช้อินเทอร์เน็ตแบงกิงประมาณ 90% ส่วนของไทยอยู่กลุ่มเดียวกับประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เราใช้ประมาณ 28% นี่คือโตจาก 10% จากเมื่อ 4 ปีที่แล้ว

นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)และ ประธานสมาคมธนาคารไทย
นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) และประธานสมาคมธนาคารไทย

ส่วนโมบายแบงกิงตอนนี้อยู่ประมาณ 28% เช่นกัน จากเดิมอยู่ที่ 5% คือโมบายแบงกิงนั้นไทยโต 5 เท่า ในขณะที่อินเทอร์เน็ตแบงกิงโตเพียง 2 เท่า ในสปีดระดับนี้ผมคิดว่าอีกสักพักการทำธุรกรรมการเงินทั้งหมดจะมาอยู่บนมือถือ อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องดิจิทัล

อีกเรื่องที่ผมคิดว่าน่าสนใจก็คือเรื่องของผู้บริโภค ซึ่งผมว่าอำนาจของผู้บริโภค (Consumer Power) จะมีมากขึ้น สังเกตไหมครับ อย่างที่ประเทศไทยประสบปัญหาเรื่องประมงไอยูยู เรื่องแรงงานทาส ร้านแมคโดนัลด์ในอเมริกาเขาขึ้นป้ายว่าเขาไม่ได้ซื้อปลาที่จับในประเทศไทยที่ใช้แรงงานทาส แล้วผู้บริโภคก็บอยคอต หรือจะซื้ออาหารในแมคโดนัลด์ก็เพราะเขาไม่ได้ซื้อปลาจากประเทศไทย

เมื่อ 20 ปีก่อนหน้านั้น การกีดกันทางการค้าเป็นเรื่องของรัฐบาล ตั้งกำแพงภาษี หรืออะไรต่างๆ แต่ในสมัยใหม่นั้นไม่ใช่แล้ว มันกลายเป็นเรื่องของผู้บริโภค เขาบอกว่าเขาจะไม่บริโภคอันนี้ จากประเทศนี้ ที่ทำอย่างนี้อย่างนี้ ซึ่งอันนี้อำนาจของผู้บริโภคก็จะมีมากขึ้นๆ เช่นเดียวกันการคุ้มครองผู้บริโภคก็มีมากขึ้น แบงก์ขายผลิตภัณฑ์ให้ผู้บริโภคเยอะมาก โดยเฉพาะบริษัทบางครั้งเราขายผลิตภัณฑ์ตอนเขากำไรดีเขาก็บอกว่าเขาเข้าใจเรื่อง Hedging แต่เมื่อเขาขาดทุนเขาบอกว่าเขาไม่รับรู้ตอนที่เราขายเขา อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เปลี่ยนไปเยอะมาก ดังนั้นเรื่องความรู้เรื่องทางการเงิน (Financial Literacy) จึงต้องทำ

สมาคมธนาคารไทย

TMB-1

เรื่องหลายๆ ส่วนที่เป็นข้อดีกับเรา ก็คือผมคิดว่า AEC กำลังจะเปิด และ AEC จริงๆ ก็เป็นทั้งประโยชน์และหน้าที่ของประเทศไทย ประโยชน์ก็คือ เพื่อนบ้านเหล่านี้เขาชื่นชมประเทศไทย เขาบริโภคสินค้าไทย บริโภคบริการไทย ขณะเดียวกันก็เป็นหน้าที่เราที่จะช่วย อย่างน้อยในภาคส่วนของธนาคาร ถ้าเป็นไปได้ช่วยเขาในการพัฒนาระบบ Payment System ต่างๆ ระบบของธนาคารต่างๆ เป็นหน้าที่ของเราด้วย

จากปัจจัยภายนอกเหล่านี้ ในสไลด์ถัดไปของแบงก์ก็ออกมาว่ามี 5 ธีม Initiatives ที่จะต้องทำ ใน 5 Initiatives นี้ ก็แบ่งเป็น Initiatives เล็กออกเป็น 13 อัน แบ่งเป็น 5 กลุ่มได้ กลุ่มแรกก็คือเรื่อง Digitization and Next Generation Payments Infrastructure ที่เราจะทำ ตอนนี้เราเลือกทำเรื่องการชำระเงินระหว่างบริษัทกับบริษัท บริษัทกับลูกค้า และระหว่างลูกค้ากับลูกค้า

พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าเราสามารถลดการใช้เงินสด ลดการใช้เช็ค ข้อมูลมาพร้อมกับการ Payment ประเทศจะประหยัดได้ปีละ 1 แสนล้าน คิดเป็น 1% ของจีดีพี นี่คือสิ่งที่เราพยายามผลักดันที่จะทำออกมา

เรื่องที่สองก็คือ Financial Inclusion และ เรื่อง Supporting Real Sector คือประเทศไทยการเข้าถึงแหล่งเงินอย่างทั่วถึง ในภาคเงินฝากใช้ได้อยู่ที่ประมาณ 80% เข้าถึงบริการของธนาคารในเรื่องเงินฝาก แต่เรื่องเครดิตมีเพียง 30% ที่เข้าถึง อีก 70% ต้องใช้เครดิตนอกระบบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องของ SMEs อันนี้เราจะทำอย่างไรที่จะพัฒนาตรงนี้ขึ้นมาให้ได้ เพราะ SMEs จ้างงาน 80% ของประเทศ

อันที่ 3 คือจะเห็นผู้บริโภคจะมีอำนาจเพิ่มขึ้นๆ เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญมากก็คือแบงก์ต้องตระหนักว่าเรามีการประกอบธุรกิจในทุกหัวมุมเมือง เราจะมีส่วนในการช่วยสังคม (contribution back to society) อย่างไร เราขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน หากไม่ดูแลในเรื่อง Financial literacy มันน่าจะดูไม่ดีเท่าไร

ถัดมา สิ่งที่ผมคิดว่าสำคัญ คือ AEC ซึ่งกำลังจะเกิดผมคิดว่าเป็นทั้งโอกาสและหน้าที่อย่างที่พูด และสุดท้ายคือกฎหมายต่างๆ คือกฎหมายในเมืองไทยมันไม่รองรับการประกอบธุรกิจ ไม่รองรับขีดความสามารถทางการแข่งขัน เช่น กฎหมายเรื่องหลักประกันธุรกิจ ผมรอมา 18 ปี ตั้งแต่หนุ่มๆ ดีใจวันนี้ที่ผ่านมาแล้ว ก็จะมีผลบังคับใช้ประมาณกลางปี 2559 ซึ่งทำให้เอาสินค้าคงคลังมาเป็นหลักประกันได้ ทำให้ SMEs สามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ได้

เพราะตอนนี้ทั่วโลกมีกฎหมายนี้ตั้งแต่ผมยังหนุ่มๆ อยู่อเมริกา มีมาตั้งแต่ 30-40 ปีที่แล้ว ในเอเชียมีหมด กัมพูชายังมีเลย แต่ไทยเพิ่งมีบังคับใช้ในกลางปีหน้า หรือกฎหมายต่างๆ หลายๆ เรื่องมันขัดแย้งกันหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งพอเราจะไปทำเรื่องดิจิทัล กฎหมายที่จะมารองรับดิจิทัลต้องทำออกมาเป็นอีกเยอะมาก ไม่เช่นนั้นมันก็จะบังคับให้เรากลับไปใช้ระบบปกติอยู่ดี แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือเราไม่สามารถจะแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้

ในที่สุด ทั้งหมดทั้งปวงที่บอกให้เรามีความสามารถทางการแข่งขันก็ต้องมีเป้าหมาย คือ ให้ประชากรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งเราก็พูดอยู่ตลอดเวลาว่าอยากจะหลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง (middle-income trap) แต่ถ้าเราอยากจะหลุดจากกับดับรายได้ปานกลางในอีก 15-20 ปี เศรษฐกิจประเทศต้องโตประมาณ 7% ต่อปี ซึ่งถ้าโตต่ำกว่านั้นเราคงหลุดจากกับดักนี้ในชาติหน้าจริงๆ ครับ

ภิญโญ: ทิ้งเรื่องชาติหน้าไว้เท่านี้ก่อนนะครับ ผมขอไปที่คุณปพนธ์ คุณบุญทักษ์ทิ้งเรื่อง SMEs เรื่องสตาร์ทอัพไว้เยอะ คุณปพนธ์เคยอยู่แบงก์มาก่อน แล้วก็เห็นความเปลี่ยนแปลงของแบงก์ แล้วก็หนีไปช่วย SMEs ช่วยสตาร์ทอัพ แล้วเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

นายปพนธ์ มังคละธนะกุล เจ้าของบริษัทล้มยักษ์ จำกัด
นายปพนธ์ มังคละธนะกุล เจ้าของบริษัทล้มยักษ์ จำกัด

ปพนธ์: หากย้อนกลับไปสัก 15-20 ปี ที่ไทยกำลังเติบโตคู่กับสิงคโปร์ พวกเสือทั้งหลาย ที่เราบอกว่าเราเป็นเสือตัวต่อไป แต่ปรากฏว่าทำไมเสือตัวอื่นนำเราไปหมดแล้วแต่ไทยยังอยู่กับที่ ผมมองว่าเนื่องจากบริบทมันเปลี่ยนไปหมดแล้ว สถานการณ์ข้างนอกเอง สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไปหมดแล้ว ภายในเราไม่ได้เปลี่ยนตัวเองให้ตามไปด้วย

สมมติผมเปรียบเปรยว่าเรากำลังแข่งฟุตบอลอยู่ เราวิ่งไปกับพวกนั้นกำลังจะไปแข่งพรีเมียร์ลีกแล้ว แต่ขณะเดียวกัน อุปกรณ์ ความอำนวยสะดวกทั้งหลายเราไม่มีระดับพรีเมียร์ลีก ยกตัวอย่างเช่น พวกนั้นเขาไปถึงการเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ เขาไปหมด ประสิทธิภาพในระบบเศรษฐกิจเขาค่อนข้างถึงกันหมดแล้ว ขณะที่ในเรื่องของความโปร่งใสของข้อมูลอะไรต่างๆ แล้ว เนื่องจากพอเชื่อมโยงแล้วมันก็ไปกันได้หมด เครื่องมือทางการเงินก็มีความหลากหลายที่จะสนับสนุน SMEs แต่ของไทยหยุดนิ่งหมด 20 ปีที่ผ่านมาเราไม่ได้มีการพัฒนาอะไรเพิ่มขึ้นสักเท่าไร

ในทางกลับกัน ตัวผู้เล่นเองที่อยู่ตรงนั้น mindset หรือทัศนคติของเราเองก็ยังมองตัวเองเป็นในอดีต เราไม่เคยมองไปข้างหน้า อย่างเช่น ยังเน้นการผลิตเน้นปริมาณอยู่เราไม่ได้เน้นเรื่องคุณภาพ เรายังใช้สิ่งที่เราเคยใช้มาตลอด 15 ถึง 20 ปี คือเราใช้แรงงานถูกเป็นตัวแข่งขัน เราใช้คนที่มีอยู่เยอะ ต้นทุนถูกในการแข่งขันอยู่ตลอดเวลา เราไม่เคยใช้ประโยชน์ของด้านอื่นเข้ามา

ฉะนั้น ถ้าเกิดว่าเราจะไปจากนี้ไปผมว่าต้องทำ 2 ส่วน อย่างแรก คือ ในแง่ของเครื่องมือเครื่องไม้ เราต้องไประดับเดียวกันหมด ซึ่งผมเห็นแผนงานที่ไม่ว่าจะเป็นของ สมาคมธนาคารเองหรือของรัฐบาลที่ทําอยู่ในการจะเชื่อมการทำดิจิทัลทั้งหมดของระบบ การเชื่อมโยงข้อมูลของการค้าขายไปซึ่งกันและกัน ระบบแบงกิงการชำระเงิน จ่ายเงินผ่านระบบพวกนี้ทั้งหมด มันจะทำให้ความคล่องตัวและประสิทธิภาพสูงขึ้น

เมื่อไปถึงแล้วก็จะนำไปสู่เรื่องถัดไปก็คือว่า เครื่องมือที่จะสามารถสนับสนุนธุรกิจก็จะมีหลากหลายขึ้น จากในอดีตที่เราใช้อยู่แค่เฉพาะ SMEs ที่จะพึ่งการเข้าถึงแบงก์อย่างเดียว เป็นธนาคารพาณิชย์ มันจะมีความหลากหลายขึ้น ข้อมูลวันนี้ก็คือว่า SMEs มีอยู่ประมาณ 2.5 ล้านรายอย่างต่ำ มีเพียง 5 ถึง 6 แสนรายเท่านั้นที่เข้าถึงระบบธนาคารพาณิชย์แล้วเกิดอะไรขึ้นกับคนอีกประมาณ 2 ล้านรายที่เหลือ คนที่เหลือพวกนั้นเขาต้องหาทางอื่น

คราวนี้สิ่งที่เราขาดก็คือเราขาดเครื่องมือเครื่องไม้เข้าไป ซึ่งต่างประเทศมีหมดแล้ว การที่มีกฎหมายรับประกัน ก็จะทำให้ SMEs บางส่วนสามารถเข้าไปถึงธนาคารพาณิชย์ได้ แต่ผมมองว่าตรงนั้นไม่เพียงพอเพราะว่าธนาคารพาณิชย์ยังไงก็มีวิธีการจัดการแบบธนาคารพาณิชย์เพราะจะหากำไรจากส่วนต่างของดอกเบี้ย แต่ธุรกิจหลายๆ อย่างไม่ได้มีความมั่นคงขนาดนั้น มีธุรกิจที่เรียกว่าสตาร์ทอัพ เป็นธุรกิจที่กำลังไปในแนวทางใหม่ มีความเสี่ยงสูงกว่านั้น

เพราะฉะนั้น เครื่องหมายเครื่องมือทางการเงินอื่นๆ ก็ต้องมีเข้ามาด้วย ซึ่งเราก็พูดถึงเรื่องธุรกิจร่วมลงทุน (Venture Capital) ซึ่งได้ยินมาผมว่า 15 ปีเป็นอย่างต่ำก็ไม่เคยเกิด

เพราะฉะนั้น พวกนี้ต้องเกิดขึ้นมา แต่ผมหวังว่าพอเราเปลี่ยนเครื่องไม้เครื่องมือพวกนั้นซึ่งทำให้ข้อมูลชัดเจนขึ้น ก็สามารถทำให้พื้นที่ของคนที่จะเข้ามาลงทุนง่ายขึ้น

เมื่อเครื่องไม้เครื่องมือดีแล้วตัวผู้เล่นเองคือผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นรายเล็กหรือรายใหญ่ก็ต้องเปลี่ยนเหมือนกัน ผมว่าเปลี่ยนอย่างแรกคือเปลี่ยนทัศนคติก่อน อันดับแรก คือ ต้องเน้นเรื่องคุณภาพอย่าเน้นในเรื่องปริมาณ เราแข่งเรื่องปริมาณไม่ได้แล้ว เพราะว่าต้นทุนสูงกว่าชาวบ้านเขา เราต้องแข่งที่คุณภาพอย่างเดียว และถ้าแข่งที่คุณภาพได้จะนำไปสู่เรื่องถัดไป คือว่าพอมีเรื่องคุณภาพ ประสิทธิภาพก็ต้องตามมา ถ้าประสิทธิภาพไม่ดีคุณภาพก็ไม่เกิด

ถัดไปก็คือ ถ้าจะเน้นก็คือเรื่องของความโปร่งใส ต้องเลิกคิดว่าวันนี้ข้อมูลของตัวเองไม่มีการแบ่งปันให้คนอื่นไม่เปิดเผยให้คนอื่น ไม่โปร่งใส ตราบใดที่เราไม่โปร่งใสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนอื่นก็ไม่มา ผมว่าประมาณ 3-4 ประเด็นนี้ มันต้องทำควบคู่กันไปเพราะว่าเราหยุดการพัฒนาในเชิงโครงสร้างทั้งหมดมา 10 กว่าปีแล้ว

ภิญโญ: อาจารย์เศรษฐพุฒิต่อ เราก็คุยว่าโลกมันเปลี่ยนประเทศไทยเปลี่ยนเศรษฐกิจไทยเปลี่ยน จริงๆ เพราะสิ่งเหล่านี้เปลี่ยนเรารู้ว่ามันเป็นจริง นักเศรษฐศาสตร์ไทยซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายสำคัญเขาเปลี่ยนวิธีคิดหรือไม่

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิแอดไวเซอร์ จำกัด
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิแอดไวเซอร์ จำกัด

เศรษฐพุฒิ: เศรษฐศาสตร์ก็แล้วแต่คน เหมือนไปถามใครบางคนก็บอกว่าเปลี่ยนบางคนก็บอกว่าไม่เปลี่ยน แต่ผมอยากจะขอแบ่งปันความรู้สึกจากที่ฟังผู้ร่วมสัมมนาพูดพอสมควร ผมว่าถ้าคนไปฟังไม่ว่าจะเป็นนักเศรษฐศาสตร์หรือใครประเด็นซ้ำๆ จะโผล่ขึ้นมา ว่าต้องแข่งด้วยคุณภาพ ต้องเพิ่มประสิทธิภาพ อย่าไปแข่งด้วยปริมาณ อะไรพวกนี้ แล้วคำถามก็คือ เหมือนทุกคนรู้กันอยู่ว่าต้องทำพวกนี้ คุยที่ไหนไม่ว่าจะเป็นนักเศรษฐศาสตร์หรือใครพูดเหมือนกันหมด แต่ถามว่าแล้วทำไมของพวกนี้ถึงไม่เกิดขึ้น

ผมว่าไม่มีคำตอบที่ชัดนะ แต่มีอย่างหนึ่งที่ผมรู้สึก คือว่า บ้านเราเหมือนอยู่จุดที่เรียกว่ากำลังเปลี่ยน ตอนที่เราเห็นว่ามีปัญหา ประสิทธิภาพไม่เพิ่ม คุณภาพไม่เพิ่ม สิ่งที่เรารู้สึกปกติก็คือว่า รัฐควรทำอะไร ไปคิดว่ารัฐจะต้องจัดการ ซึ่งความคิดแบบนี้อาจจะเหมาะกับยุคสมัยเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว เมื่อสมัยก่อนที่รัฐมีประสิทธิภาพ เข้มแข็งมาก มองกลับไปผมว่า 40 ปีก็พอเห็นภาพ ว่าภาครัฐมีประสิทธิภาพอยู่ประมาณแบบนี้ คนเก่งๆ มาอยู่ที่ภาครัฐ เอกชนตอนนั้นยังไม่ค่อยเห็นบริษัทที่เป็นผู้นำที่จะไปแข่งขันกับโลก ไม่ค่อยมี

คือตอนนี้ภาพมันเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง แต่ว่าความรู้สึกของเราหลายครั้งเมื่อเจอปัญหาความรู้สึกแรกมักบอกว่า รัฐควรทำอะไร ? ตอนนี้เราก็รู้ว่าพึ่งรัฐไม่ได้ มันต้องหันกลับมาพึ่งตัวเองแต่เหมือนกับว่ายังปล่อยความคิดความรู้สึกนี้ไม่ได้ หลายเรื่องที่คุยจริงๆ ก็เป็นเรื่องที่เอกชนสามารถทำเองได้เลยไม่ต้องคอย ซึ่งผมว่าตรงนี้จริงๆ แล้วเป็นจุดที่สำคัญอันหนึ่ง มันต้องรับรู้แล้วว่าสภาพศักยภาพของรัฐมีจำกัดหลายอย่าง ไปหวังเขาไม่ได้ คือผมมี message หนึ่ง อะไรที่ทำเองได้ก็ทำไปเลย ความหมายก็คือเอกชนทำเองไปเลย จับมือกับนักวิชาการได้ก็ทำไปเลย คือถ้าจะไปหวังพึ่งภาครัฐ ผมว่ามันจะอยู่ในสภาวะชะลอๆ อยู่

ภิญโญ: ถ้าพูดถึงภาครัฐก็ขอกลับมาที่อดีตนายกฯ รัฐเปลี่ยนไหมและรู้ไหมว่าโลกเปลี่ยน

อภิสิทธิ์: รัฐเปลี่ยนในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมาในทางที่แย่ลง ผมคิดว่าคือต้องพูดกันตรงไปตรงมาว่า การบริหารจัดการภาครัฐวิ่งไม่ทันความเปลี่ยนแปลง และที่ทั้งสามท่านพูดนั้นสะท้อนอยู่แล้วว่าเศรษฐกิจทั้งของโลกและของประเทศ ที่วิ่งได้มันวิ่งโดยภาคเอกชน วิ่งโดยการแข่งขัน วิ่งโดยนวัตกรรมการคิดค้น ซึ่งเรายังอยู่ในสังคมที่ไปคาดหวังภาครัฐว่าจะต้องเป็นตัวนำในเรื่องนี้ ซึ่งไม่ใช่

10 กว่าปีที่ผ่านมา พอเจอปัญหาในการทุจริต ปัญหาประชานิยม มันไปตอกย้ำสิ่งที่ผิดทั้งหมดที่เกี่ยวกับรัฐซึ่งจะต้องมีการปฏิรูปครั้งใหญ่ เมื่อสักครู่ผมฟังพูดว่าเปลี่ยนทัศนคติหลายครั้ง ยุคนี้จริงๆ ต้องเรียกว่าปรับทัศนคติ

เพราะฉะนั้น ถามว่าอะไรที่ทำให้หลุดพ้นจากตรงนี้ ในแง่ของภาครัฐ ในแง่ของการเมือง มันต้องมาจากการเรียนรู้ทางสังคม เพราะว่าในกระบวนการประชาธิปไตยไม่ว่าจะไม่สมควรอย่างไรก็ตาม มันก็สะท้อนแนวความคิดหรือความคาดหวังของสังคม ถ้าสังคมคาดหวังว่ารัฐจะหยิบยื่นให้เขาก็จะเลือกคนที่สัญญาว่าจะหยิบยื่นทุกอย่างให้ คนไปแข่งอย่างอื่นก็สู้ไม่ได้ แต่ถ้าหากเราเริ่มเรียนรู้แล้วว่าบทบาทรัฐมันไม่ใช่ ไม่ใช่ว่าอยากช่วยชาวนาคุณต้องไปค้าข้าวเอง เราเริ่มเรียนรู้ว่าการแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ใช่คนวิ่งมาร้องว่าช่วยกระตุ้น เอางบประมาณออกเร็วขึ้น งบประมาณเป็นสัดส่วนเท่าไรของรายได้ประชาชาติ หรือวิ่งหาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เหล่านี้เป็นสูตรสำเร็จทั้งนั้นก็ยังพูดกันอยู่อย่างนี้ มันไม่ใช่

ถามว่าบทบาทรัฐต้องมีไหม ต้องมี ผมกลับมองว่าบทบาทรัฐมีความสำคัญมากขึ้นด้วยซ้ำ เพียงแต่ไม่ใช่รูปแบบที่เราคิด

ถามเป็นรูปธรรมเลยว่าเมื่อสักครู่ที่เรานั่งดูกันอยู่ว่าประเทศไทยเปลี่ยนแล้ว 1. ภาคการเกษตร ทำอย่างไรภาคการเกษตรเราไม่ใช่รอฟ้ารอฝนอีกต่อไป ถ้าเรายังคาดหวังว่าจะทำนาหรือไม่ทำนาขึ้นอยู่กับว่ามีน้ำในเขื่อนเท่าไร ผลผลิตต่อไร่เราต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั้งทั้งที่เราเป็นผู้ส่งออกใหญ่ที่สุด เราไปไม่ได้ ถามว่ารัฐต้องทำอะไร รัฐต้องเป็นตัวนำในการกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของเทคโนโลยีการเกษตร จะใช้ระบบน้ำหยด จะปรับระบบการถือครองที่ดิน หรือจะปรับระบบการค้าขายความสัมพันธ์ระหว่างเกษตรกรและพ่อค้า ไปจนถึงปลายทางที่ตลาด จะทำอย่างไร นี่คือบทบาทของรัฐ

ถามว่าตัวอย่างนี้เอง 10 กว่าปีที่ผ่านมา เคยได้ยินกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตรทำอะไรบ้างในสิ่งที่ผมพูดเมื่อสักครู่ นี่คือตัวอย่างนะครับที่มันเป็นปัญหา ในขณะที่ผมเคยพูดไว้คำว่าบริษัทที่ทำธุรกิจการเกษตรขนาดใหญ่เขามีบทบาทตรงนี้ชัดเจน เพียงแต่ผลตอบแทนมันไปที่เขามันไม่ได้ลงไปที่เกษตรกรมากอย่างที่เราอยากเห็น นี่คือสิ่งที่รัฐจะต้องก้าวเข้ามา

ในแง่ของอุตสาหกรรม ประเด็นก็คือ ถ้าเราจะก้าวให้พ้นการเป็นประเทศรายได้ปานกลาง มันก็คือต้องเพิ่มทักษะกับการศึกษา การศึกษากับทักษะมันไม่ใช่แบบที่เราชอบมาพูดกันคือการศึกษาในระบบเท่านั้น เรากำลังต้องพูดถึงการเรียนรู้และการให้คนมีทักษะที่ตรงกับความต้องการสังคม

ยกตัวอย่างเป็นรูปธรรมที่สุดคือกรณีภาษาอังกฤษ คนไทยเรียนภาษาอังกฤษน้อยไหม ต้องบอกว่าไม่น้อยนะครับ ผมเชื่อว่าทุกคนที่นั่งในห้องนี้เรียนภาษาอังกฤษไม่ต่ำกว่า 12 ถึง 15 ปี แต่ทำไมเรายังถูกมองว่าเป็นคนที่ยังไม่สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ เพราะเราถูกสอนให้รู้ภาษาแต่ไม่ได้ถูกสอนให้ใช้ภาษา นี่คือความแตกต่าง ก็เหมือนกับที่บอกว่าต้องสอนศีลธรรมมากขึ้นเราควรจะดี มันไม่ใช่ครับ รู้ทั้งนั้นแหละครับศีล 5 ข้อ อะไรผิดถูก แต่ทำหรือเปล่า ปฏิบัติหรือเปล่า อะไรเป็นตัวปลูกฝัง วิธีการเรียนรู้มันต้องเปลี่ยน อันนี้ก็เป็นจุดสำคัญที่ต้องทำ

ทีนี้ ในแง่บทบาทรัฐในส่วนอื่นก็คือ กติกาเรื่องทำให้เกิดนวัตกรรม การใช้ความรู้เป็นตัวขับเคลื่อนมันต้องมีระบบวิจัย ซึ่งนอกจากเราใช้เงินวิจัยน้อยแล้ว งานวิจัยของเราที่นำมาใช้ได้จริงก็น้อยลงไปอีกเมื่อเทียบเป็นสัดส่วนแล้ว กติกาตรงนี้ก็ต้องปรับ ต้องปรับกติกาในเรื่องของการมีความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อมาแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้วย มีประเด็นซึ่งไม่ใช่เฉพาะประเทศเรา ที่เจริญแล้วก็ยังตั้งคำถามมากว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิด จะทำอย่างไร ภาคการเงินที่เมื่อสักครู่ฟังท่านพูดเราดีใจมากว่าท่านมีหน้าที่สนับสนุน real sector แต่วันนี้ต้องบอกเลยว่าภาคการเงินของโลกซึ่งมูลค่ามหาศาล ถามว่าจริงๆ แล้วสนับสนุน real sector สักเท่าไร

กติกาตรงนี้คือจุดที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง ในแง่ของชีวิตคน เศรษฐกิจไทยเดินไม่ได้หากไม่มีแรงงานต่างด้าว ยังไม่ได้ยินใครยอมรับความจริงตรงนี้เลยนะครับ มีแต่ยังมีความคิดว่าจะตั้งข้อรังเกียจ ไม่ให้สิทธิ์ ไม่ให้มีแรงงานต่างด้าวเข้ามาเพิ่มขึ้นได้อย่างไร ลองวันนี้แรงงานต่างด้าวกลับหมดสิครับ ท่านว่าเราจะอยู่ยังไง ไปร้านอาหารก็ต้องเสิร์ฟเอง มันไม่มีทางหรอกครับ เราก็ยังมีกติกาที่ไม่เอื้อต่อการให้มีแรงงานต่างด้าวเข้ามาแล้วบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ประเด็นเหล่านี้ทั้งหมดมันคือสิ่งที่จะต้องมาเป็นตัวนำว่าภาครัฐจะจัดการอย่างไร แล้วมันก็กลับไปที่การเมืองว่า เมื่อไหร่การเมืองจะแข่งขันกันในเรื่องเหล่านี้ ไม่ใช่การเมืองเป็นเรื่องอื่นไปหมด ผมถึงบอกว่านักการเมืองก็จะอ้างไปอีกว่าอยู่ที่ประชาชนเลือก แล้วคำตอบสุดท้ายก็อยู่ที่การเรียนรู้ของสังคม

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี(ซ้าย)นายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา บรรณาธิการ สำนักพิมพ์ openbooks(ขวา)
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี (ซ้าย) นายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา บรรณาธิการ สำนักพิมพ์ openbooks (ขวา)

สักครู่ที่คุยๆ กันอยู่ที่ผมชื่นชมงานวันนี้ที่จัดขึ้นก็คือผมคิดว่าอยากจะทำให้ประเทศไทยตื่นขึ้นใช่ไหมว่ามันเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ภาษาอังกฤษเขาก็ต้องบอกว่า wake up call แต่ประเทศไทย wake up call มาหลายเรื่องแล้วที่ผ่านมา แต่เราเก่งอะไรครับ เราเก่งกดปุ่ม snooze เราเหมือนอยากจะตื่นเหมือนกันแต่ว่าอีกสัก 15 นาทีก็แล้วกัน แล้วเราก็กดแล้วเราก็หลับต่อ เดี๋ยวก็ตื่นขึ้นมาอีกแล้วก็ขออีกหน่อย แต่ว่ามันไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้น วันนี้ผมว่าเป็นเรื่องที่ดีที่มาพูดกัน แล้วรายละเอียดมันจะเยอะมาก

เมื่อสักครู่ผมฟังเรื่องธนาคาร ผมเป็นห่วงอะไรรู้ไหม อีกหน่อยท่านจะทำอย่างไรกับสาขาท่าน เมื่อไม่มีคนใช้บริการ แต่ว่ามันจะมีคนใช้ดิจิทัลไม่เป็น แล้วท่านจะเก็บสาขาไว้ไหม แล้วถ้าท่านไม่เก็บสาขาแล้วพนักงานของท่านจะไปไหนหมด

แล้วจริงๆ อีกประเด็นเดียวเพราะว่าเป็นเรื่องที่ต้องพูดด้วย โครงสร้างและความคาดหวังของคนรุ่นใหม่ โครงสร้างสังคม มันไม่เหมือนกับรุ่นที่อยู่บนเวทีนี้ รุ่นที่อยู่บนเวทีนี้มีมนุษย์เงินเดือนหลายคน แต่ว่าเด็กรุ่นใหม่ไม่มีใครอยากเป็นมนุษย์เงินเดือน และเขาก็คิดว่าบริการต่างๆ ที่มันเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต จะสินค้าหรือบริการที่คนต้องการ ต่างคนต่างไปคิดค้นทำ เขาไม่มีความคาดหวังอีกต่อไปว่าจะเติบโตในองค์กรใหญ่ๆ ไม่มีแล้วครับ ถามว่าอยากทำงานอะไร อยากทำร้านกาแฟ อยากทำบริษัทอะไรที่เกี่ยวกับ e-commerce ก่อนอายุ 30 ถ้าโชคดี ประสบความสําเร็จขายเข้าตลาดหุ้น รวยไม่รู้กี่ล้าน แล้วก็ไปทำอย่างอื่น องค์กรที่เป็นองค์กรใหญ่ๆ ในปัจจุบันจะทำอย่างไร จะหาคนมาทำงานอย่างไร ของเหล่านี้ผมไม่เคยได้ยินเราพูดกันเลยในสังคม ถึงเวลาที่จะต้องมาทำให้มันเป็นประเด็นสาธารณะ และภาคการเมืองมีประเด็นสาธารณะเหล่านี้เป็นตัวบีบให้กระบวนการทางการเมืองตอบสนอง แต่ถ้าเรายังไม่เชื่อที่จะให้กระบวนการของสังคมมาเป็นตัวบีบกระบวนการทางการเมือง มันก็ไม่เกิด

ถ้าคิดว่ามีใครสักคนมาบอกได้ว่ารัฐบาลต้องทำอย่างนี้อย่างนี้ไปเรื่อยๆ สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิด มันต้องให้สังคมเป็นตัวเรียกร้องกดดันเองในที่สุดว่า ประเด็นเหล่านี้คือประเด็นที่เป็นนโยบายสาธารณะที่จะต้องมาถกกันแล้ว แล้วก็แก้ไขเพื่อปรับโครงสร้าง

คือผมคิดอย่างนี้นะครับว่า ถ้าเรากลับวิธีคิด ยกตัวอย่างนะครับ เพราะว่าที่ผ่านมาผมก็คุยกับภาคเอกชนมาหลายปี ผมก็เคยเตือนเขาเสมอ อย่างที่อาจารย์เศรษฐพุฒิพูด บางทีไปเจอเขา เขาบอกว่าอยากได้กฎหมาย แล้วเขาจะได้อย่างนั้นเขาจะได้อย่างนี้ ผมจะเตือนเขาเสมอว่าคุณแน่ใจนะ ถ้าคุณได้กฎหมายแล้วคุณจะมานั่งบ่นกับผมว่ากฎหมายนี้ทำให้คุณทำอะไรไม่ได้สักอย่าง คุณจะมานั่งบ่นกับผมว่ากระทรวงออกกฎกระทรวงอะไรก็ไม่รู้ คุณจะมานั่งบ่นกับผมว่ากฎหมายเหล่านี้ใช้มา 10 ปีแล้วนะมันไม่แก้ จะทำอย่างไร

ผมคิดว่าหลายเรื่องเราต้องปรับ ในระบบกฎหมายจริงก็ต้องปรับ ปรับก็คือว่า เราไปคิดว่าโลกมันจะหยุดอยู่กับที่ หรือเปลี่ยนแปลงช้าๆ ต่อไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น บางอย่างมันต้องให้หมดอายุในตัวของมันเอง หรือบางอย่างต้องเปลี่ยนกลับข้อสันนิษฐานเสียว่าคุณทำได้ ไม่ใช่ต้องรอให้กฎหมายบอกว่าคุณทำได้ คุณทำเองคุณทำได้ แล้วกฎหมายอาจจะมีวิธีการที่จะมารองรับทีหลัง แบบนี้เป็นต้น ถึงจะเปลี่ยนแปลงด้วยความรวดเร็ว

ป้ายคำ :