ThaiPublica > คอลัมน์ > การจัดการสิ่งแวดล้อมแบบองค์รวมจากมุมมองทางภูมิสถาปัตยกรรม: ชุมชนโบราณ การจัดการภูมิทัศน์ และงานภูมิสถาปัตยกรรม (ตอนที่ 2)

การจัดการสิ่งแวดล้อมแบบองค์รวมจากมุมมองทางภูมิสถาปัตยกรรม: ชุมชนโบราณ การจัดการภูมิทัศน์ และงานภูมิสถาปัตยกรรม (ตอนที่ 2)

27 สิงหาคม 2018


ลัษมณ ไมตรีมิตร
นักศึกษาปริญญาเอกทางด้านภูมิสถาปัตยกรรม University of Illinois at Urbana-Champaign

หลังจากทางกรุงเทพมหานครเปิดใช้งานสวนสาธารณะชุมชนป้อมมหากาฬไปเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา เรื่องความเหมาะสมในการไล่รื้อชุมชนโบราณแห่งนี้เพื่อให้ กทม. ได้เข้าไปปรับปรุงภูมิทัศน์ก็กลับเป็นประเด็นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ข้อมูลจากสื่อส่วนใหญ่แสดงความผิดหวังกับ “สวนสาธารณะ” ตามที่ กทม. เรียกขาน เพราะเป็นแค่การปรับพื้นที่ให้โล่งเตียน ไม่มีการออกแบบวางแผนถึงการใช้งานจริง และยังขาดการส่งเสริมคุณค่าทางสังคมและประวัติศาสตร์ตามที่ควรจะเป็น

แม้การจัดการที่ทางกรุงเทพมหานครดำเนินการจะไม่เหมาะสม แต่แนวทางการแก้ปัญหาที่เสนอแนะโดยภาคเอกชนก็ยังมีหลายจุดที่ควรได้รับการพิจารณาถึงความเป็นไปได้ บทความชิ้นนี้ ขอมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อแนวทางการจัดการของแต่ละฝ่ายที่ผ่านมา รวมถึงนำเสนอมุมมองต่อการแก้ปัญหาจากแนวคิดทางภูมิสถาปัตยกรรม โดยผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะมีส่วนช่วยในการจุดประกายอนาคตของการจัดการสิ่งแวดล้อมในเมืองกรุงเทพมหานครเพื่อรักษาไว้ซึ่งคุณค่าทั้งทางวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม

ชุมชนป้อมมหากาฬ: ชุมชนโบราณในเขตพื้นที่อนุรักษ์

ชุมชนป้อมมหากาฬเป็นชุมชนดั้งเดิมที่อาศัยอยู่บนพื้นที่แคบๆ ระหว่างคลองคูเมืองกับกำแพงพระนคร ตัวชุมชนตั้งอยู่ ณ จุดบรรจบของคลองคูเมืองเดิมและคลองแสนแสบที่เชื่อมต่อไปยังพื้นที่ทางตะวันออกของเมืองกรุงเทพฯ กับป้อมมหากาฬซึ่งเป็นหนึ่งในสองป้อมปราการสุดท้ายของเกาะรัตนโกสินทร์ พื้นที่ส่วนนี้ถูกนิยามใหม่เป็นพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์โบราณสถานตามแผนแม่บทกรุงรัตนโกสินทร์ปี 2537 ส่งผลให้ชุมชนซึ่งไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินสาธารณะต้องย้ายออกตามคำสั่งของกรุงเทพมหานครเพื่อหลีกทางให้กับการอนุรักษ์โบราณสถานป้อมมหากาฬและกำแพงเมืองเก่า คนบางส่วนในชุมชนได้ลุกขึ้นต่อต้านการไล่รื้อจากทาง กทม. โดยความช่วยเหลือของหลายฝ่าย เช่น องค์กรทางวิชาชีพสถาปนิก นักวิชาการทางด้านประวัติศาสตร์ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือจากกลุ่มอาสาสมัครทางผังเมือง แต่ในท้ายที่สุด เดือนเมษายนที่ผ่านมา กทม. ก็ได้ดำเนินการรื้อถอนขั้นสุดท้าย และเปลี่ยนพื้นที่ชุมชนแห่งนี้เป็นสวนสาธารณะตามที่ปรากฏ

การรื้อถอนอาคารบ้านเรือนในเขตพื้นที่ชุมชนป้อมมหากาฬ ที่มาภาพ: https://news.thaipbs.or.th/content/271857

ความผิดพลาดในการจัดการภูมิทัศน์เพื่อการอนุรักษ์โบราณสถาน

การจัดการเปลี่ยนพื้นที่ชุมชนเป็นสวนสาธารณะในลักษณะที่เห็นตามสื่อต่างๆ คือ พื้นที่โล่งประกอบไปด้วยทางเดินและพื้นหญ้า เปิดมุมมองให้เห็น “ความสวยงามโดดเด่นของโบราณสถาน” เป็นวิธีการจัดการมรดกทางวัฒนธรรมที่ไม่สัมพันธ์กับบริบททางสังคมและสิ่งแวดล้อมของกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน

สวนสาธารณะป้อมมหากาฬหลังจากที่ได้รับการจัดภูมิทัศน์ใหม่โดยทางกรุงเทพมหานครแล้ว
ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/TeamSatarana/photos/pcb.514848102294508/514845965628055/?type=3&theater

การอนุรักษ์ป้อมมหากาฬและชิ้นส่วนกำแพงเมืองไว้เป็นสัญลักษณ์ของความรุ่งเรืองในอดีต เป็นแนวคิดที่พัฒนามาจากความหลงใหลในชิ้นงานศิลปะ ซึ่งสืบทอดมายังการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมในฐานะ “ศิลปวัตถุ” ที่มักใช้การจัดพื้นที่ว่างโดยรอบอาคารนั้นๆ เพื่อส่งเสริมการรับรู้คุณค่าทางกายภาพของสิ่งก่อสร้างเพียงอย่างเดียว ดังที่เห็นได้จากการจัดการพื้นที่ “สวนสาธารณะ” หลายแห่งในกรุงเทพมหานครที่เกิดขึ้นเพื่อเหตุผลนี้ เช่น สวนสันติชัยปราการ และวงเวียนอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

การจัดภูมิทัศน์สวนสาธารณะสันติชัยปราการที่เน้นการรับรู้ตัวป้อมพระสุเมรุ
ที่มาภาพ: https://www.bangkoktourist.com/index.php/top-attractions/index?top_id=280

สวนสันติชัยปราการเป็นสวนสาธารณะเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ป้อมพระสุเมรุที่ล้มเหลวในการรักษาสภาพแวดล้อมพื้นที่ตลิ่งที่โดดเด่นด้วย “ต้นลำพู” อันเป็นที่มาของชื่อ “บางลำพู” ที่ตั้งของสวนสาธารณะแห่งนี้ การจัดการภูมิทัศน์ในสวนสาธารณะแห่งนี้จึงเป็นตัวอย่างของสวนสาธารณะที่ขาดมิติทางสิ่งแวดล้อม ในขณะที่สวนหย่อมวงเวียนใหญ่เป็นอีกตัวอย่างของการใช้การจัดภูมิทัศน์ที่สวยงาม แต่ขาดการคำนึงถึงมิติทางสังคม โดยพื้นที่สีเขียวรอบพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทำหน้าที่เพียงส่งเสริมการรับรู้ตัวประติมากรรมเท่านั้น แต่ไม่ทำหน้าที่ของสวนสาธารณะที่ควรรองรับการใช้งานของคน เพราะการเข้าถึงพื้นที่ไม่ได้ถูกออกแบบไว้ก่อน โดยหลายฝ่ายกังวลว่าอุโมงค์ที่ออกแบบมาให้ประชาชนใช้เดินลอดพื้นผิวการ
จราจรหนาแน่นสูงของวงเวียนใหญ่ไปสู่สวนสาธารณะจะกลายเป็นพื้นที่อันตรายและเสี่ยงต่ออาชญากรรมตามที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

การจัดภูมิทัศน์โดยรอบพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
ที่มาภาพ: https://th.wikipedia.org/wiki/วงเวียนใหญ่

จากตัวอย่างของความผิดพลาดที่ยกมา “การจัดการภูมิทัศน์” ที่ภาครัฐหยิบมาใช้การอนุรักษ์และส่งเสริมโบราณสถานป้อมมหากาฬนี้ จึงเป็นแค่การทำทางเดินโค้งไปมาและลานสนามหญ้าที่ต้องการการบำรุงรักษาสูง แต่ขาด “การออกแบบทางภูมิสถาปัตยกรรม” ที่คำนึงถึงมิติทางสังคมและสิ่งแวดล้อมอันเป็นแนวคิดพื้นฐานที่นอกเหนือไปจากส่งเสริมความงดงามของโบราณสถาน ตามที่แผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ ได้วางแนวทางไว้

ความท้าทายของแนวคิดอนุรักษ์ชุมชน

เมื่อการรักษาไว้ซึ่งอดีตที่สวยงามของกรุงเทพฯ ตามแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ เป็นเพียงการส่งเสริมคุณค่าทางกายภาพที่ประกอบด้วยอาคารทางประวัติศาสตร์ แต่ไม่รวมถึงการมีอยู่ของ “คน” ชุมชนป้อมมหากาฬซึ่งเป็นหนึ่งในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการอนุรักษ์จึงลุกขึ้นต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิในการอยู่อาศัยในพื้นที่ดั้งเดิม แต่แนวทางที่สนับสนุนการมีอยู่ของชุมชนป้อมมหากาฬในพื้นที่อนุรักษ์แห่งนี้ยังขาดการคำนึงถึงผลกระทบในระยะยาวบางประเด็นที่เคยเกิดขึ้นแล้วในพื้นที่อนุรักษ์อื่นๆ โดยมีจุดที่อาจเป็นปัญหา 3 ประการดังที่จะนำเสนอต่อไปนี้

ประการที่ 1: การรักษาชุมชนไว้ แต่เปลี่ยนให้กลายเป็นชุมชนเพื่อการถูกเยี่ยมชมภายใต้คำนิยามของการเป็นพิพิธภัณฑ์ ย่อมทำให้ “ความแท้ (authenticity)” ของการเป็นชุมชนลดน้อยลง และในท้ายที่สุดก็อาจจะมีสภาพไม่ต่างจากชุมชนอนุรักษ์อื่นๆ ที่ผันตัวไปเป็นแค่ Disneyland ของประวัติศาสตร์ ที่กิจกรรมต่างๆ ภายในชุมชนเกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนความต้องการของนักท่องเที่ยวมากกว่าจะเป็นกิจกรรมที่เกิดตามธรรมชาติของการอยู่อาศัย รวมไปถึงอาคารบ้านเรือนที่ต้องถูกรักษาไว้ให้คงสภาพ “เก่า” เพื่อยืนยัน “ภาพ” ความเป็นมาอันยาวนานของชุมชน แทนที่จะมีการปรับปรุงให้ทันสมัยเพื่อสร้างความสะดวกสบายให้ผู้ใช้งานหลักคือผู้อยู่อาศัยตามลักษณะที่ “บ้าน” ควรจะเป็น ตัวอย่างของพื้นที่ที่สูญเสียความเป็นชุมชนให้กับการท่องเที่ยวมีให้เห็นทั่วไป กรณีที่เกิดขึ้นที่ชุมชนชาวประมง (Jetty) ที่มีอยู่หลายแห่งในเมือง Gorge Town รัฐปีนัง

รวมไปถึงปัญหาการย้ายออกจากพื้นที่และการเข้ามาแทนที่โดยคนจากภายนอกชุมชนที่ทางวิชาการเรียกว่า Gentrification เมื่อการอยู่อาศัยถูกรบกวนจากกิจกรรมการท่องเที่ยว คนในพื้นที่บางส่วนเลือกที่จะย้ายออกจากชุมชน โดยคนที่ย้ายเข้ามาแทนที่คนดั้งเดิมมักเป็นไปในรูปแบบการเข้ามาเพื่อเหตุผลทางธุรกิจ เช่น ร้านขายของที่ระลึก หรือที่พักแบบ Homestay เพื่อเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามา “ทดลองสัมผัสบรรยากาศและกิจกรรมของชุมชน” ซึ่งแพ็คเกจการท่องเที่ยวต่างๆ นี้สร้างรายได้ให้คนในชุมชนดั้งเดิมมากพอที่พวกเขาจะไปสร้างชุมชนแห่งใหม่ที่เหมาะกับวิถีชีวิตในสภาพสังคมปัจจุบันมากกว่า เช่น ในกรณีของตลาดน้ำอัมพวา

การเปลี่ยนแปลงของตลาดน้ำอัมพวาที่ความเป็นชุมชนถูกคุกคามโดยการท่องเที่ยว
ที่มาภาพ: https://www.posttoday.com/social/local/310707

ประการที่ 2: การเปิดให้พื้นที่บางส่วนของชุมชนเป็นพื้นที่สาธารณะในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์ก็ดี หรือแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมก็ดี โดยมีเป้าหมายเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวหรือผู้มาเยี่ยมชม ด้วยหวังว่าจะสร้างความเข้มแข็งและความภูมิใจในอัตลักษณ์ของพื้นที่ อาจเป็นการเปลี่ยนรูปแบบพื้นที่ชุมชนในอีกแง่มุมหนึ่ง เมื่อการรบกวนจากคนนอกเพิ่มสูงขึ้นจนเจ้าของพื้นที่รู้สึกอึดอัด พื้นที่สาธารณะส่วนนี้ก็จะหมดความหมายลงและไม่สามารถเชื่อมความเป็นชุมชนได้อีกต่อไป โดยชาวบ้านอาจจะปรับตัวสร้างพื้นที่ส่วนกลางของกลุ่มขึ้นมาใหม่และปฏิเสธการใช้งานพื้นที่สาธารณะร่วมกับผู้มาเยี่ยมชม กรณีนี้มีตัวอย่างให้เห็นในพื้นที่อนุรักษ์ที่แปรเปลี่ยนไปเป็นพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวหลายแห่ง เช่น เมืองหลวงพระบาง ที่พื้นที่สาธารณะของชุมชนถอยหนีไปจากถนนหรือวัดที่เคยเป็นพื้นที่ส่วนกลางหลักแต่เดิม และย้ายเข้าไปอยู่ตามตรอกซอกซอยที่ได้รับการรบกวนจากคนนอกหรือนักท่องเที่ยวน้อยกว่า

นักท่องเที่ยวที่รบกวนวิถีชีวิตในพื้นที่สาธารณะของชุมชนดั้งเดิมในเมืองหลวงพระบาง
ที่มาภาพ: http://sea-globe.com/19355-2-luang-prabang-tourism/

นอกจากนี้ พื้นที่ส่วนกลางหรือพื้นที่สาธารณะของชุมชนโดยธรรมชาติมักเป็นพื้นที่ปิด การที่ชุมชนยินยอมให้คนภายนอกเข้าใช้งานพื้นที่ส่วนนี้ได้เป็นเพียงการเปลี่ยนให้พื้นที่นั้นมีลักษณะเป็นพื้นที่กึ่งปิด-กึ่งเปิด(semi-public) เท่านั้น เพราะ “ความเป็นเจ้าของ (ownership)” ที่ชาวชุมชนมีต่อพื้นที่ส่วนกลางของพวกเขา ทำให้พื้นที่สาธารณะของชุมชนแตกต่างจากพื้นที่สาธารณะที่สร้างโดยรัฐ การที่ชุมชนจะทำหน้าที่เป็นพื้นที่สาธารณะที่เปิดกว้างให้คนภายนอกแวะมาเยี่ยมเยียนได้ตลอดจึงเป็นได้แค่ชั่วคราว เช่น กิจกรรมที่เกิดขึ้นในระหว่างการต่อสู้กับการขอพื้นที่คืนจากภาครัฐ เป็นเพียงกิจกรรมเฉพาะกิจที่ไม่ใช่การใช้พื้นที่แบบยั่งยืนของชุมชน ในทางเดียวกัน เหตุผลเดียวกันนี้อธิบายความล้มเหลวของพื้นที่บริเวณด้านทิศเหนือของชุมชนป้อมมหากาฬที่ถูกเวนคืนโดย กทม. เพื่อนำไปสร้างเป็นสวนหย่อมขนาดเล็กที่ไม่มีคนภายนอกเข้าใช้งาน เนื่องจากพื้นที่ส่วนนั้นยังผูกติดอยู่กับชุมชนป้อมมหากาฬ การรับรู้พื้นที่ว่าเป็นพื้นที่เปิดสาธารณะจึงถูกจำกัด การใช้งานจากคนภายนอกจึงไม่อาจเกิดขึ้นได้ โดยส่วนมากนั้นผู้ใช้งานหลักก็คือคนในชุมชนเอง

ประการที่ 3: การอนุรักษ์ตัว “ชุมชนและอาคารบ้านเรือน” ถูกมองภายใต้กรอบแนวคิดเดียวกับการอนุรักษ์ “โบราณสถาน” คือการรักษาไว้ซึ่งสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วในอดีต เมื่อต้องเปรียบเทียบระหว่าง “ชุมชนชานพระนครแห่งสุดท้าย” กับ “ป้อมปราการและกำแพงเมืองเก่ากรุงเทพฯ ชิ้นสุดท้าย” แน่นอนว่าคุณค่าของป้อมปราการอันเป็นตัวแทนของความยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ ในอดีตย่อมได้รับเอกสิทธ์มากกว่าการรักษาเอกลักษณ์วิถีชีวิตและการตั้งถิ่นฐานของชาวบ้าน อันเป็นประวัติศาสตร์ที่ได้รับความสำคัญรองลงมาเสมอในกรอบแนวคิดชาตินิยมที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

ในแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาชุมชนบ้านไม้โบราณป้อมมหากาฬ ของ รศ.ชาตรี ประกิตนนทการ เรียกชุมชนแห่งนี้ว่า “ชุมชนบ้านไม้โบราณป้อมมหากาฬ” ให้คุณค่าและความหมายกับชุมชนที่มีการตั้งถิ่นที่อยู่อาศัยที่พัฒนาไปตามสภาพของพื้นที่และเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคม โดยมีตัวสถาปัตยกรรมบ้านไม้โบราณเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่ยืนยันการมีตัวตนของชุมชนนี้ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของกรุงเทพมหานคร การดำเนินการปกป้องชุมชนภายใต้กรอบแนวคิดนี้ ได้เน้นไปที่การขึ้นทะเบียนบ้านไม้โบราณหลายหลังเป็นโบราณสถานด้วยกระบวนการอนุรักษ์สถาปัตยกรรม และการยกย่องคุณค่าของชุมชนป้อมมหากาฬให้มีลักษณะโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ เช่น “ชุมชนชานกำแพงพระนครแห่งสุดท้าย” หรือ “ชุมชนต้นกำเนิดลิเกแห่งแรกในสยาม” ซึ่งการยกระดับคุณค่าชุมชนในลักษณะของการอนุรักษ์ “โบราณสถาน” ทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างการอนุรักษ์ “บ้านโบราณ” หรือ “ป้อมมหากาฬ” ขึ้น การเลือกอนุรักษ์ทางใดทางหนึ่ง หมายถึงการลดคุณค่าของอีกสิ่งหนึ่งที่ยืนอยู่ตรงข้าม ยิ่งทำให้การประนีประนอมในการแก้ปัญหาระหว่างมุมมองของนักอนุรักษ์ทั้ง 2 ฝ่ายที่พยายามจะรักษา “วัตถุ” คนละชิ้นเกิดขึ้นได้ยากหรือเป็นไปไม่ได้เลย

การจะต่อสู้ให้ประวัติศาสตร์ทางเลือกมีบทบาทในสังคมเทียบเท่าประวัติศาสตร์ชาติขึ้นมาในระยะเวลาช่วงสั้นๆ นั้นเป็นไปได้ยาก การที่จะให้รัฐเลือกรักษาชุมชนนี้ไว้บดบังความสง่างามของป้อมและกำแพงเมืองจึงเป็นไปไม่ได้ นอกจากนี้ การอนุรักษ์ที่เน้นไปที่ตัวสถาปัตยกรรมของชุมชนยังอาจส่งผลทางอ้อมเป็นการหยุดพลวัตของภูมิทัศน์ทางประวัติศาสตร์ของชุมชนในกรุงเทพมหานครที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามบริบททางเวลา ทางออกที่เหมาะสมจึงอาจไม่ใช่การตัดสินว่าป้อมมหากาฬที่เป็นตัวแทนของรัฐสำคัญกว่า หรือชุมชนป้อมมหากาฬภายใต้การสนับสนุนของภาคเอกชนสำคัญกว่า แต่อาจเป็นการจัดการพื้นที่ภายใต้การประนีประนอมระหว่างทั้งสองขั้วด้วยการออกแบบทางภูมิสถาปัตยกรรมเหมาะสม

การอนุรักษ์โบราณสถานในทางภูมิสถาปัตยกรรม

การจัดการทางภูมิสถาปัตยกรรมสนใจความสัมพันธ์ของพื้นที่อนุรักษ์กับองค์ประกอบอื่นๆ โดยพิจารณาสิ่งที่จะรักษาไว้ในบริบทที่กว้างขึ้น ทั้งในมิติทางสิ่งแวดล้อมและทางสังคม กระบวนการทางภูมิสถาปัตยกรรมนี้เริ่มตั้งแต่การตีความความสำคัญของพื้นที่ใหม่อีกครั้ง โดยหากใช้มุมมองทางภูมิสถาปัตยกรรมพิจารณาความสำคัญของพื้นที่ป้อมมหากาฬ จะเห็นลักษณะเฉพาะทางกายภาพของที่ตั้ง คือ “จุดบรรจบ” ระหว่างคลองคูเมืองชั้นในกับคลองแสนแสบที่ขุดขึ้นเพื่อเชื่อมเกาะรัตนโกสินทร์กับเมืองที่ขยายออกทางด้านตะวันออกของกรุงเทพฯ ที่ทำให้เกิดชุมชนมีความสามารถในการติดต่อกับชุมชนอื่น และตำแหน่งของ “ช่องประตูเมือง” ที่ทำหน้าที่เชื่อมระหว่างพื้นที่ภายในและภายนอกกำแพงเกาะรัตนโกสินทร์ ชุมชนที่เกิดขึ้นจึงทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างความเป็นรัฐภายในเกาะรัตนโกสินทร์กับชุมชนเกษตรกรรมโดยรอบที่อยู่ห่างออกไป เหตุผลดังกล่าวนี้ทำให้เกิดลักษณะพิเศษทางวัฒนธรรมที่มีความหลากหลาย มีการผสมผสานอิทธิพลจากแหล่งอื่น เช่น การทำกรงนกเขาที่ได้รับอิทธิพลจากทางมลายู วัฒนธรรมบันเทิงที่มักอยู่ในแหล่งที่มีคนหมู่มาก เช่น คณะลิเก และการทำหัตถกรรมที่แสดงให้เห็นว่ามีตลาดในการขายสินค้า

เมื่อลักษณะทางกายภาพส่งผลถึงลักษณะทางวัฒนธรรมของพื้นที่ป้อมมหากาฬ จึงอาจกล่าวได้ว่าพื้นที่แห่งนี้มีความสำคัญในเชิงภูมิวัฒนธรรม (cultural landscape) การจะรักษาไว้ซึ่งคุณค่าของพื้นที่ควรเป็นการอนุรักษ์องค์ประกอบโดยรวม คือ ป้อมมหากาฬ ช่องประตูและกำแพงเมือง คลองคูเมืองเดิมและชุมชนที่ยังมีกิจกรรม ทั้งหมดนี้เป็นการรักษาภูมิทัศน์ที่มีเอกลักษณ์ของพื้นที่ซึ่งแตกต่างจากการรักษาอาคารแล้วจัดภูมิทัศน์ใหม่เพื่อส่งเสริมการรับรู้สถาปัตยกรรม นี่เป็นประเด็นทางภูมิสถาปัตยกรรมที่สนับสนุนว่าการอนุรักษ์ชุมชนนี้ไว้จะเป็นการรักษาบริบทที่ช่วยสะท้อนภาพความสำคัญของป้อมปราการและกำแพงเมือง รวมถึงความสำคัญของคลองคูเมืองต่อการตั้งถิ่นฐานของชาวกรุงเทพฯ

นอกจากนี้ ตัวชุมชนเองยังแสดงให้เห็นภาพของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานจากการสัญจรทางน้ำมาเป็นการใช้ถนนที่มีผลกระทบต่อการตั้งบ้านเรือน จากที่ชุมชนมีความสำคัญเพราะเป็นศูนย์กลางการติดต่อของคนหลากหลายกลุ่มทั้งทางน้ำและทางบก กลับกลายเป็นเพียงชุมชนเก่าที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เศษเหลือจากการพัฒนาเมือง ซึ่งทางชุมชนเองก็ตระหนักดีในข้อนี้และยอมรับต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ดังจะเห็นได้จากการที่คนภายในชุมชนเองก็ขยับขยายออกไปตั้งถิ่นฐานในพื้นที่อื่นที่เอื้อต่อการดำเนินชีวิตในบริบทของกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงไปตามกาลและเวลานี้เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ทางสังคมของพื้นที่เมืองกรุงเทพฯ ที่มีชุมชนป้อมมหากาฬเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญ

การออกแบบทางภูมิสถาปัตยกรรมของพื้นที่บริเวณป้อมมหากาฬควรทำหน้าที่ถ่ายทอดเป้าหมายการอนุรักษ์ตามแผนแม่บทฯ ที่เน้นความยิ่งใหญ่ทางการเมืองของกรุงเทพฯ ในอดีตผ่านการรักษาตัวโบราณสถานไว้ และเชื่อมเข้ากับแนวทางของกลุ่มอนุรักษ์ชุมชนที่เน้นความมีชีวิตและประวัติศาสตร์ทางสังคมของชุมชนป้อมมหากาฬ โดยการสร้างการรับรู้ถึงความสัมพันธ์ขององค์ประกอบทั้งหลายที่กล่าวมาแล้วนั้นไม่จำเป็นต้องดำเนินตามแนวทาง City Beautiful Movement ที่เน้นแต่เพียงตัวโบราณสถาน (monument) หรือการเปลี่ยนภาพชุมชนให้สวยงามตามวิธีการที่เรียกว่า romanticizing แต่ควรเป็นการรักษาภาพความจริง และสอดแทรกเครื่องมือในการรับรู้ความสำคัญของพื้นที่ เช่น การเพิ่มเส้นทางเดินที่พานักท่องเที่ยวผ่านเข้าไปในชุมชน การออกแบบใช้งานพื้นที่ว่างในกรุงเทพมหานครอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นการพัฒนาสาธารณูปโภคเพื่อการงานของคนในพื้นที่ร่วมไปกับการจัดการเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกด้วย ตัวอย่างการออกแบบที่ประสบความสำเร็จและอาจนำมาเป็นตัวอย่างคือเส้นทางการศึกษาประวัติศาสตร์ในเกาะฮ่องกง หรือ Hong Kong Heritage Trails

ตัวอย่างการพยายามที่จะอนุรักษ์ประวัติศาสตร์หลักและประวัติศาสตร์ทางเลือกไว้ด้วยกันภายใต้บริบททางสังคม ผ่านการออกแบบใช้ Heritage Trails สำหรับนักท่องเที่ยวที่ฮ่องกง
ร่วมกับการสร้างอาคารสาธารณะเพื่อเก็บรักษาและจัดแสดงรายละเอียดที่สำคัญของเส้นทาง
ที่มาภาพ: http://www.amo.gov.hk/en/trails_pingshan.php

การนำแนวคิดทางภูมิสถาปัตยกรรมเข้ามาใช้ในกรณีการอนุรักษ์ป้อมมหากาฬนี้ จึงเป็นการอนุรักษ์ประวัติศาสตร์พื้นที่มากกว่าแค่ตัว “วัตถุ” หรือ “คน” เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เกิดความขัดแย้งขึ้น โดยในการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมต้องไม่ใช่แค่การปรับภูมิทัศน์เพื่อส่งเสริมการรับรู้คุณค่าของโบราณสถานเช่นที่ กทม. ได้จัดทำ และไม่ใช่การเปลี่ยนพื้นที่ชุมชนโบราณเป็นพื้นที่จัดแสดงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชาวบ้าน โดยมองว่าเป็นความสวยงามของวัฒนธรรมพื้นถิ่น แต่ต้องเป็นการจัดการสภาพแวดล้อมเพื่อการอนุรักษ์คุณค่าทางประวัติศาสตร์ในบริบททางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ โดยใช้การออกแบบทางภูมิสถาปัตยกรรมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ที่จะทำการอนุรักษ์นี้กับภาพรวมของเมืองที่เปลี่ยนแปลงจากอดีตมาจนปัจจุบัน และที่สำคัญคือ ทำให้พื้นที่ป้อมมหากาฬนี้มีความสำคัญในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของเกาะรัตนโกสินทร์ แตกต่างจากการพยายามสร้างเอกสิทธิ์ของพื้นที่ ไม่ว่าจะด้วยการสร้างความสำคัญของป้อมกำแพงเมืองพระนคร “แห่งสุดท้าย” หรือ “ชุมชนชานพระนคร “เพียงแห่งเดียว” ที่เหลืออยู่

ป้ายคำ :