ThaiPublica > คนในข่าว > “โรเบิร์ต ฟรานซิส เพรโวสต์” พระคาร์ดินัลอเมริกันได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปาองค์ที่่ 267

“โรเบิร์ต ฟรานซิส เพรโวสต์” พระคาร์ดินัลอเมริกันได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปาองค์ที่่ 267

9 พฤษภาคม 2025


ที่มาภาพ:เพจ FB Vatican News

“Habemus Papam” “เรามีพระสันตะปาปาแล้ว”

คาร์ดินัล โดมินิค ม็องแบร์กติ คาร์ดินัลสังฆานุกร (Protodeacon) ได้ประกาศต่อประชาชนที่ลานหน้ามหาวิหารนักบุญเปโตรว่า “Annuntio vobis gaudium magnum; Habemus Papam”(I announce to you a great joy;we have a Pope) “ข้าพเจ้าขอประกาศให้ท่านทราบด้วยความยินดีอย่างยิ่ง เรามีพระสันตะปาปาแล้ว”

คาร์ดินัลม็องแบร์กติ ประกาศให้กรุงโรมและทั่วโลกทราบถึงการเลือกพระสันตะปาปาองค์ที่ 267 ของศาสนจักรคาทอลิกคือ “คาร์ดินัล โรเบิร์ต เพรโวสต์ ” และเลือกพระนามว่า “เลโอ ที่ 14”( Leo XIV)

เมื่อเวลา 18.09 น.ของวันพฤหัสบดีที่ 8 พฤษภาคม 2568 ในอิตาลี ได้มีควันสีขาวลอยออกมาจากปล่องไฟของวัดน้อยซิสติน ซึ่งเป็นเครื่องหมายว่าผลการเลือกตั้งพระสันตะปาปาองค์ใหม่ ในการลงคะแนนรอบที่ 4(จากที่เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม) ออกมาแล้ว และมีพระสันตะปาปาองค์ใหม่อย่างเป็นทางการ

“สันติสุขจงมีแก่ทุกท่าน” พระดำรัสแรกของสมเด็จพระสันตะปาปาเลโอที่ 14 ขณะปรากฏพระองค์ครั้งแรก ณ ระเบียงมหาวิหารนักบุญเปโตร วาติกัน ในช่วงเย็นวันพฤหัสบดี

ขณะที่สมเด็จพระสันตะปาปาเลโอที่ 14 อำนวยพรต่อฝูงชนในจัตุรัสเซนต์ปีเตอร์ พระองค์ได้สรรเสริญพระสันตะปาปาฟรานซิสผู้ล่วงลับ โดยเรียกร้องให้ฝูงชนจดจำมรดกแห่งความสามัคคีของพระสันตะปาปาผู้ล่วงลับ ก่อนที่จะมีพระดำรัสถึงวิสัยทัศน์สำหรับคริสตจักรคาธอลิก

“เราต้องร่วมกันเพื่อเป็นคริสตจักรที่เผยแพร่พระกิตติคุณ คริสตจักรที่สร้างความสัมพันธ์และพูดคุยกัน” สมเด็จพระสันตะปาปาเลโอที่ 14 ทรงมีพระดำรัสเป็นภาษาอิตาลีให้ผู้คน “แสดงความเมตตาต่อผู้อื่น” “และสนทนาด้วยความรัก”

พระสันตะปาปาเลโอที่ 14 ได้รับเลือกเพียงสองวันหลังจากที่พระคาร์ดินัล 133 องค์มารวมตัวกันในคอนเคลฟ(Conclave) หรือการประชุมลับของพระคาร์ดินัลเพื่อเลือกตั้งพระสันตะปาปาพระสันตปาปาองค์ใหม่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพระองค์สร้างความประทับใจให้กับบรรดาพระคาร์ดินัลสมาชิกได้อย่างรวดเร็วในระหว่างการประชุมลับนี้ คาดว่าพระองค์จะสานต่อการปฏิรูปของพระสันตะปาปาฟรานซิส

พระสันตะปาปาองค์ก่อนพระองค์ คือ พระสันตะปาปาฟรานซิสและพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ได้รับการเปิดเผยในตอนเย็นของวันที่สองของคอนเคลฟ ในขณะที่สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ซึ่งเป็นพระสันตะปาปาที่ดำรงตำแหน่งประมุขนานที่สุดในยุคปัจจุบัน ได้รับเลือกในวันที่สามในปี 1978

ที่มาภาพ:เพจ FB Vatican News

ในเช้าวันรุ่งขึ้นหลังจากได้รับเลือกให้เป็นพระสันตะปาปาองค์ที่ 267 สมเด็จพระสันตะปาปาเลโอที่ 14 ทรงประกอบพิธีมิสซาพร้อมกับคณะพระคาร์ดินัลผู้เลือกตั้งในโบสถ์ซิสติน โดยทรงเตือนพวกเขาว่า “เราต้องเป็นพยานถึงศรัทธาอันเปี่ยมด้วยความยินดีในพระคริสต์” และทรงเตือนว่าหากขาดศรัทธา ชีวิตก็จะไร้ความหมาย

พิธีมิสซาสถาปนาสมเด็จพระสันตปาปาเลโอที่ 14 จะจัดขึ้นในวันที่ 18 พฤษภาคม

สังฆราชแห่งโรมประกาศกำหนดการสถาปนาพระสันตปาปาที่ได้รับการเลือกตั้งใหม่ รวมถึงพิธีมิสซาเพื่อเริ่มต้นสมณสมัยการดำรงตำแหน่งของพระองค์ จะจัดขึ้นที่จัตุรัสเซนต์ปีเตอร์ในวันอาทิตย์ที่ 18 พฤษภาคม เวลา 10.00 น. ตามเวลากรุงโรม

สมเด็จพระสันตะปาปาเลโอที่ 14 ก่อนที่จะได้รับเลือกมีชื่อเดิมว่า โรเบิร์ต ฟรานซิส เพรโวสต์ เคยดำรงตำแหน่งสมณมนตรีแห่งสมณกระทรวงเพื่อบรรดาพระสังฆราช (Prefect of the Dicastery for Bishops)

พระสันตะปาปาองค์แรกของคณะออกัสติเนียน ลีโอที่ 14 เป็นพระสันตะปาปาองค์ที่สองจากทวีปอเมริกา ต่อจากพระสันตะปาปาฟรังซิส ซึ่งแตกต่างจากฮอร์เก มาริโอ เบร์โกกลิโอ (พระนามเดิมของพระสันตะปาปาฟรังซิส) โรเบิร์ต ฟรังซิส เพรโวสต์ อายุ 69 ปี มาจากทางตอนเหนือของทวีปอเมริกา แม้เคยเป็นธรรมทูตในเปรูหลายปีก่อนจะได้รับเลือกเป็นเจ้าคณะออกัสตินถึงสองสมัยติดต่อกัน

  • “โป๊ปฟรานซิส” ประมุขคริสตจักรโรมันคาทอลิกจากละตินอเมริกาพระองค์แรก สิ้นพระชนม์
  • พระสันตะปาปาออกัสติเนียน องค์แรก
    พระสังฆราชาแห่งโรมองค์ใหม่ประสูติเมื่อวันที่ 14 กันยายน ค.ศ. 1955 ในเมืองชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ เป็นบุตรของหลุยส์ มาริอุส เพรโวสต์ ซึ่งมีเชื้อสายฝรั่งเศสและอิตาลี และมิลเดรด มาร์ติเนซ ซึ่งมีเชื้อสายสเปน เขามีพี่น้องสองคนคือหลุยส์ มาร์ตินและจอห์น โจเซฟ

    เพรโวสต์ใช้ชีวิตวัยเด็กและวัยรุ่นอยู่กับครอบครัว และศึกษาที่ที่สามเณราลัยหรือบ้านเณรเล็กคณะออกัสตินเนียน (Minor Seminary of the Augustinian Fathers) จากนั้นจึงศึกษาต่อมหาวิทยาลัยวิลลาโนวา (Villanova University) ในรัฐเพนซิลเวเนีย ซึ่งในปี 1977 ได้รับปริญญาด้านคณิตศาสตร์และศึกษาปรัชญาด้วย

    ที่มาภาพ:เพจ FB Vatican News

    ในวันที่ 1 กันยายนของปีเดียวกันนั้น เพรโวสต์ได้เข้าเป็นสามเณรของคณะนักบุญออกัสติน (Order of Saint Augustine หรือ O.S.A.) เมืองเซนต์หลุยส์ ในเขตปกครองที่ชื่อว่า Our Lady of Good Counsel เมืองชิคาโก และทำพิธีปฏิญาณตนครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 กันยายน 1978, ในวันที่ 29 สิงหาคม 1981 ก็ได้กล่าวปฏิญาณถวายตัวตลอดชีวิต

    เพรโวสต์ได้รับการศึกษาด้านเทววิทยาจากสหภาพเทววิทยาคาทอลิกในเมืองชิคาโก (Catholic Theological Union in Chicago), เมื่ออายุได้ 27 ปี เจ้าคณะได้ส่งไปกรุงโรมเพื่อศึกษาเกี่ยวกับกฎหมายศาสนจักรที่มหาวิทยาลัยสันตะสำนักของนักบุญโทมัส อไควนัส (Angelicum:Pontifical University of Saint Thomas Aquinas)

    ในกรุงโรม เพรโวสต์ได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 1982 ณ วิทยาลัยออกัสติเนียนแห่งนักบุญมอนิกา (Augustinian College of Saint Monica) โดยพระอัครสังฆราชฌอง จาโดต์ (Archbishop Jean Jadot) ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งประธานสำนักงานเลขานุการเพื่อผู้ที่ไม่ใช่คริสตชน (pro-president of the Secretariat for Non-Christians) ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นสมณกระทรวงเพื่อศาสนสัมพันธ์(Dicastery for Interreligious Dialogue)ในปัจจุบัน

    สมเด็จพระสันตะปาปาเรียนจบปริญญาโทในปี 1984 และในปีถัดมา ขณะที่กำลังทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก ท่านได้ถูกส่งไปทำงานที่ศูนย์แพร่ธรรมคณะออกัสติเนียน เมืองชูลูคานัส (Chulucanas) แคว้นปิอูรา(Piura) ประเทศเปรู (1985–1986)

    ในปี 1987 ได้สอบวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกในหัวข้อ “บทบาทของเจ้าอาวาสท้องถิ่นในคณะออกัสติน” (The Role of the Local Prior in the Order of Saint Augustine) และได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการฝ่ายกระแสเรียก และผู้อำนวยการฝ่ายธรรมทูตของคณะออกัสติน แขวงมารดาผู้แนะนำ (Augustinian Province of “Mother of Good Counsel” )ในโอลิมเปียฟิลด์ส รัฐอิลลินอยส์ (สหรัฐอเมริกา)

    พันธกิจในเปรู
    ปีถัดมา สมเด็จพระสันตะปาปาเลโอที่ 14เข้าร่วมงานเผยแผ่ศาสนาใน ตรูฮิโย ซึ่งอยู่ในเปรูเช่นกัน โดยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโครงการฝึกอบรมร่วมสำหรับผู้สมัครตำแหน่งนักบุญออกัสตินเนียนจากเขตปกครองของชูลูคานัส, อิกิโตส และอาปูริมัก(Chulucanas, Iquitos, and Apurímac)

    ตลอดระยะเวลา 11 ปี โป๊ป เลโอที่ 14 ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส (1988–1992) ผู้อำนวยการฝ่ายอบรม (1988–1998) อาจารย์ผู้สอนสมาชิกที่ถวายตัว (1992–1998) ผู้ช่วยพระสังฆราชฝ่ายตุลาการ (1989–1998) ในเขตอัครสังฆมณฑลตรูฮิโย (Archdiocese of Trujillo) ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านกฎหมายศาสนจักร, ปิตาจารย์วิทยา, และเทววิทยาศีลธรรมที่สามเณรใหญ่ สามเณรใหญ่(Major Seminary) “นักบุญคาร์ลอสและนักบุญมาร์เซโล”( San Carlos y San Marcelo) ในขณะเดียวกัน ยังได้รับความไว้วางใจให้เป็นจิตตาธิการของกลุ่มคริสตชนมารดาพระศาสนจักร( Our Lady Mother of the Church) ซึ่งต่อมาได้สถาปนาเป็นวัดของนักบุญริตา(1988–1999) ในเขตชานเมืองที่ยากจนของเมือง และเป็นผู้ดูแลวัดแม่พระแห่งมอนเซอร์รัต (Our Lady of Monserrat) ตั้งแต่ปี 1992 ถึง 1999

    ในปี 1999 โป๊ป เลโอที่ 14ได้รับเลือกเป็นเจ้าคณะแขวงของคณะออกัสติเนียนแห่ง Mother of Good Counsel ในชิคาโก และอีกสองปีครึ่งต่อมา จากการสมัชชาของคณะได้เลือกให้เป็นเจ้าคณะแขวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่สองในปี 2007

    ที่มาภาพ:เพจ FB Vatican News

    ในเดือนตุลาคม 2013 โป๊ป เลโอที่ 14 กลับไปยังแขวงออกัสติเนียนในเมืองชิคาโก โดยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการอบรมที่อารามนักบุญออกัสติน เป็นที่ปรึกษาอันดับหนึ่ง และผู้ช่วยเจ้าคณะ ซึ่งเป็นตำแหน่งสุดท้ายที่ทำอยู่จนกระทั่งพระสันตะปาปาฟรังซิสแต่งตั้งให้เป็นผู้บริหารอัครสังฆมณฑล(Apostolic Administrator ) ชิกลาโยแห่งเปรู (Peruvian Diocese of Chiclayo) เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2014 และทรงเลื่อนตำแหน่งให้เป็นพระสังฆราชเกียรตินามแห่งซูฟาร์ (Titular Bishop of Sufar)

    สมเด็จพระสันตะปาปาเข้าสู่สังฆมณฑลเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน โดยมีพระสมณทูตเจมส์ แพทริก กรีน ได้แต่งตั้งให้เป็นพระสังฆราชเพียงหนึ่งเดือนหลังจากนั้น ในวันที่ 12 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันฉลองพระแม่กัวดาลูเป (Our Lady of Guadalupe) ณ อาสนวิหารพระนางมารี

    คำขวัญประจำสังฆมณฑลของเพรโวสต์คือ “In Illo uno unum”(ในพระองค์ผู้เดียวเท่านั้น) ซึ่งเป็นคำที่นักบุญออกัสตินทรงเทศนาในสดุดีบทที่ 127 เพื่ออธิบายว่า “แม้ว่าเราซึ่งเป็นคริสชนนจะมีจำนวนมาก แต่ในพระคริสต์เจ้าพระองค์เดียว เราเป็นหนึ่งเดียวกัน”

    พระสังฆราชแห่งชิกลาโย เปรู(Bishop of Chiclayo, Peru, from 2015 to 2023)
    เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2015 สมเด็จพระสันตะปาปาได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระสังฆราชแห่งชิกลาโย (Bishop of Chiclayo) จากพระสันตะปาปาฟรังซิส ในเดือนมีนาคม 2018 ได้รับเลือกเป็นรองประธานคนที่สองของสภาพระสังฆราชแห่งเปรู และยังดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาเศรษฐกิจและประธานคณะกรรมาธิการด้านวัฒนธรรมและการศึกษา(Economic Council and president of the Commission for Culture and Education)อีกด้วย

    ในปี 2019 พระสันตะปาปาฟรังซิสทรงแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกของสมณกระทรวงเพื่อพระสงฆ์( Congregation for the Clergy)เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2019 และวันที่ 21 พฤศจิกายน 2020 ทรงแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกของสมณกระทรวงเพื่อบรรดาพระสังฆราช(Congregation for Bishops) ก่อนหน้านั้น ในวันที่ 15 เมษายน 2020 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บริหารอัครสังฆมณฑลคัลลาโอ (Diocese of Callao) ของเปรู

    ที่มาภาพ:เพจ FB Vatican News

    สมณมนตรีแห่งสมณกระทรวงเพื่อบรรดาพระสังฆราช (Prefect of the Dicastery for Bishops)
    วันที่ 30 มกราคม 2023 พระสันตะปาปาฟรังซิสทรงเรียกโป๊ปเลโอที่ 14 ไปกรุงโรมเพื่อดำรงตำแหน่งสมณมนตรีแห่งสมณกระทรวงเพื่อบรรดาพระสังฆราช และประธานคณะกรรมาธิการแห่งสันตะสำนักเพื่อประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกา โดยได้รับการเลื่อนฐานันดรเป็นพระอัครสังฆราช

    เป็นพระคาร์ดินัลปี 2024 (Created Cardinal in 2024)
    พระสันตะปาปาฟรังซิสทรงแต่งตั้งให้เป็นพระคาร์ดินัลพระสงฆ์(Cardinal in the Consistory ) วันที่ 30 กันยายน 2024 ซึ่งเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการวันที่ 28 มกราคม 2024

    ในฐานะสมณมนตรีแห่งสมณสภา(Dicastery) โป๊ปเลโอที่ 14 ได้เข้าร่วมในการเดินทางอภิบาลในต่างประเทศครั้งสุดท้ายของพระสันตะปาปา และเข้าร่วมการสมัชชาสมัยแรกและสมัยที่สองของการประชุมสมัชชาใหญ่ของบรรดาพระสังฆราช สามัญครั้งที่ 16 เรื่อง“การก้าวเดินไปด้วยกันในชีวิตและพันธกิจของพระศาสนจักร” ซึ่งจัดขึ้นในกรุงโรมตั้งแต่วันที่ 4 ถึง 29 ตุลาคม 2023 และตั้งแต่วันที่ 2 ถึง 27 ตุลาคม 2024 ตามลำดับ

    ขณะเดียวกัน ในวันที่ 4 ตุลาคม 2023 พระสันตะปาปาฟรังซิสทรงแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกของสมณสภาต่าง ๆ เพื่อการประกาศพระวรสาร (แผนกการประกาศพระวรสารครั้งแรกและพระศาสนจักรที่เกิดขึ้นใหม่ Section for First Evangelization and New Particular Churches) สำหรับข้อความเชื่อ สำหรับพระศาสนจักรต่าง ๆ ฝ่ายตะวันออก สำหรับพระสงฆ์ สำหรับสถาบันชีวิตผู้ถวายตัวและและเพื่อชีวิตการแพร่ธรรม(Institutes of Consecrated Life and Societies of Apostolic Life) สำหรับวัฒนธรรมและการศึกษา สำหรับข้อกฏหมาย และคณะกรรมาธิการนครรัฐวาติกัน

    ในที่สุด วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2025 พระสันตะปาปาฟรังซิสทรงเลื่อนตำแหน่งให้เป็นพระคาร์ดินัลพระสังฆราช และปกครองเขตปกครองรอบกรุงโรมอัลบาโน (Suburbicarian Church of Albano)

    สามวันต่อมา วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2025 ได้เป็นประธานในพิธีบูชาขอบพระคุณในนามพระสันตะปาปาฟรังซิส ณ จัตุรัสนักบุญเปโตร นครรัฐวาติกัน ในโอกาส Jubilee of the Armed Forces ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญครั้งที่สองของปีศักดิ์สิทธิ์แห่งความหวัง

    ระหว่างที่อดีตพระสันตะปาปาฟรังซิสเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเจเมลี พระคาร์ดินัลเพรโวสต์ ได้เป็นประธานสวดสายประคำเพื่อสุขภาพของพระสันตะปาปาฟรังซิสที่จัตุรัสนักบุญเปโตรวันที่ 3 มีนาคม 2025

    ที่มาภาพ:เพจ FB Vatican News

    ผู้นำเปรูชี้ช่วงเวลาประวัติศาสตร์สำหรับเปรูและโลก

    ในพระดำรัสแรกในตำแหน่งพระสันตะปาปา โปีปเลโอที่ 14 เปลี่ยนจากการพูดภาษาอิตาลีเป็นภาษาสเปน ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายภาษาในยุโรปที่พูดได้ เพื่อกล่าว
    ส่งสารต่อ “สังฆมณฑลอันเป็นที่รัก” ของพระองค์ในเมืองชิกลาโย

    ในวันพฤหัสบดีประธานาธิบดีดีน่า โบลูอาร์เต้แห่งเปรูได้สะท้อนความรู้สึกดังกล่าว โดยชี้ว่าการเลือกพระองค์ขึ้นเป็นพระสันตะปาปาว่าเป็น “ช่วงเวลาประวัติศาสตร์สำหรับเปรูและโลก”

    “ในดินแดนของเรา พระองค์หว่านความหวัง เดินเคียงข้างผู้ยากไร้ที่สุด และแบ่งปันความสุขของประชาชนของเรา … พระองค์เลือกที่จะเป็นคนหนึ่งในพวกเรา ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางพวกเรา และพกพาศรัทธา วัฒนธรรม และความฝันของประเทศนี้ไว้ในใจ” ประธานาธิบดีโบลูอาร์เต้กล่าว

    ในสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวว่า ข่าวการแต่งตั้งพระสันตะปาปาองค์ใหม่ว่าเป็น “เกียรติอย่างยิ่ง” สำหรับอเมริกา และเสริมว่าเขารอคอยที่จะได้พบกับพระสันตะปาปาองค์ใหม่ ด้านเจดี แวนซ์ รองประธานาธิบดี ซึ่งเปลี่ยนมานับถือนิกายโรมันคาธอลิกในปี 2019 โพสต์ข้อความบน X ว่า “ผมแน่ใจว่าชาวอเมริกันที่เป็นคาทอลิกและคริสเตียนคนอื่นๆ หลายล้านคนจะสวดภาวนาให้กับผลงานที่ประสบความสำเร็จของเขาในการเป็นผู้นำคริสตจักร”

    ที่มาภาพ:เพจ FB Vatican News

    10 เรื่องควรรู้เกี่ยวกับสมเด็จพระสันตะปาปาลีโอที่ 14
    การเลือกพระองค์แสดงถึงความต่อเนื่องของตำแหน่งพระสันตะปาปาของพระสันตะปาปาฟรานซิสผู้ล่วงลับ และพระองค์คาดว่าจะทรงดำเนินการปฏิรูปคริสตจักรตามแนวทางของพระสันตะปาปาฟรานซิสต่อไป รวมทั้งมุ่งเน้นที่ความยากจนและผู้คนที่ถูกกีดกัน

    สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่ที่เป็นชาวอเมริกา

    1. พระองค์เป็นพระคาร์ดินัลอเมริกันที่ “เป็นอเมริกันน้อยที่สุด”
    โป๊ปเลโอที่ 14 ประสูตในชิคาโก แต่ภายในวาติกัน ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระองค์อาศัยและทำงานในที่สุด พระองค์ถูกมองว่าเป็นพระคาร์ดินัลอเมริกันที่ “เป็นชาวอเมริกันน้อยที่สุด”

    พระองค์ทำงานในเมืองตรูฮิโย ประเทศเปรูเป็นเวลาหนึ่งทศวรรษ และต่อมาได้รับแต่งตั้งให้เป็นบิชอปแห่งชิกลาโย ซึ่งเป็นอีกเมืองหนึ่งของเปรู โดยทรงดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2014 ถึงปี 2023

    พระองค์สามารถพูดภาษาสเปนและอิตาลีได้อย่างคล่องแคล่ว ซึ่งพระองค์ได้มีพระดำรัสทั้งสองภาษาต่อสาธารณชนครั้งแรกที่จัตุรัสเซนต์ปีเตอร์

    2. สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสยกย่องพระองค์เป็นอย่างดี
    คริสโตเฟอร์ แลมบ์ ผู้สื่อข่าว CNN ประจำวาติกัน กล่าวว่า สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสผู้ล่วงลับ “ทรงเคารพและคำนึงถึงพระองค์มาก” “เห็นได้ชัดว่าสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงมองเห็นบางสิ่งบางอย่างในตัวพระองค์ ทรงเห็นว่าพระองค์เป็นผู้นำที่มีความสามารถ”

    แลมบ์ได้พบกับสมเด็จพระสันตปาปาลีโอที่ 14 พระองค์ใหม่เมื่อครั้งที่พระองค์ยังทรงดำรงตำแหน่งพระคาร์ดินัล และพระองค์ตรัสว่าพระองค์ดูเหมือนเป็น “บุคคลที่มีความรอบคอบและรอบคอบมาก” โดยรวมแล้ว พระองค์ดูเป็นคนเรียบง่าย

    3. พระองค์ทรงเป็นสมาชิกของคณะนักบวชออกัสติเนียน
    สมเด็จพระสันตะปาปาเลโอทรงเป็นสมาชิกของคณะนักบวชออกัสติเนียนซึ่งมีอยู่ทั่วโลก พระองค์ทรงเป็นผู้นำคณะนักบวชมานานกว่าทศวรรษในฐานะเจ้าคณะแขวง

    พระสันตปาปาองค์ใหม่ทรงมีพระดำรัสแรกของพระองค์ ว่าพระองค์เป็นบุตรชายของนักบุญออกัสติน และทรงยกคำพูดอันโด่งดังของนักบุญมาอ้างว่า … “สำหรับท่าน ข้าพเจ้าเป็นบาทหลวง กับท่าน ขาพเจ้าก็เป็นคริสเตียน” ซึ่งสะท้อนถึงความคิดที่ว่าผู้คนในลำดับชั้นของคริสตจักร ไม่ว่าจะเป็นผู้นำหรือสมาชิกทั่วไป ต่างก็เดินไปด้วยกัน

    4. พระองค์มีประสบการณ์ความเป็นผู้นำที่แข็งแกร่ง
    พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงแต่งตั้งเพรโวสต์ให้ดำรงตำแหน่งสมณมนตรีแห่งสมณกระทรวง ซึ่งมีหน้าที่ประเมินและคัดเลือกบิชอปและเสนอการแตั้งตั้งบิชอปใหม่

    พระองค์ยังทรงดำรงตำแหน่งคณะกรรมาธิการแห่งสันตะสำนัก เพื่อประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกา (Pontifical Commission for Latin America)อีกด้วย

    “ตั้งแต่ยังเด็ก พระองค์ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้นำ” เอลีส อัลเลน นักวิเคราะห์ของซีเอ็นเอ็นประจำวาติกันกล่าว “พระองค์ถูกมองว่าเป็นคนที่นิ่งและคงที่ เที่ยงธรรม และชัดเจนมากว่าพระองค์คิดว่าจะต้องทำอะไร … แต่พระองค์ไม่ทรงใช้อำนาจมากเกินไปในการพยายามทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น”

    5. มุ่งเน้นที่การเผยแผ่ศาสนา
    “ข้าพเจ้ายังถือว่าตัวเองเป็นมิชชันนารี งานของข้าพเจ้าเหมือนกับคริสเตียนทุกคน คือเป็นมิชชันนารีเพื่อเผยแพร่พระกิตติคุณทุกที่ที่ไป” โป๊ปเลโอที่ 14 กล่าวในการสัมภาษณ์กับ Vatican News ไม่นานหลังจากที่รับบทบาทผู้นำในกรุงโรม

    ครั้งหนึ่งพระองค์เคยกล่าวในการสัมภาษณ์ว่าช่วงเวลาของพระองค์ในเปรูเป็นประสบการณ์ชีวิตที่หล่อหลอมตัวพระองค์มากที่สุด

    “แม้ว่าพระองค์จะมาจากตะวันตก แต่พระองค์เป็นคนที่ใส่ใจความต้องการของคริสตจักรทั่วโลกมาก” อัลเลนกล่าว “เมื่อพูดถึงคนที่เคยใช้เวลามากกว่าครึ่งหนึ่งของงานในคริสตจักรของพระองค์ในต่างประเทศในฐานะผู้เผยแผ่พระศาสนาในเปรู”

    6. พระองค์ยังเป็นพลเมืองเปรูด้วย
    พระสันตะปาปาลีโอทรงเป็นพลเมืองทั้งของสหรัฐอเมริกาและเปรู พระสันตะปาปาซึ่งประสูติในอเมริกาทรงได้รับสัญชาติเปรูเมื่อเดือนสิงหาคม 2015 ตามทะเบียนการย้ายถิ่นฐานแห่งชาติของเปรู

    7. พระสันตะปาปาทรงใช้พระนามว่าเลโอเพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นที่มีต่อคนยากจน
    พระสันตะปาปาองค์สุดท้ายที่ทรงใช้พระนามว่าเลโอ คือ พระสันตะปาปาเลโอที่ 13 ทรงเป็นพระสันตะปาปาที่ทรงอยู่เคียงข้างคนยากจนและยืนหยัดเพื่อคนงาน

    สมเด็จพระสันตะปาปาลีโอที่ 13 ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งระหว่างปี ค.ศ. 1878 ถึงปี ค.ศ. 1903 ทรงให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อสิทธิของคนงานและหลักคำสอนทางสังคมของนิกายโรมันคาธอลิก ดังนั้น การที่ทรงใช้พระนามดังกล่าวสำหรับพระสันตะปาปาองค์ใหม่จึงถือเป็นการแสดงออกที่ชัดเจน

    8. พระองค์ถูกมองว่าเป็นผู้รวมความเป็นหนึ่งที่ยึดมั่นในแนวทางสายกลาง
    สมเด็จพระสันตะปาปาลีโอที่ 14 เห็นด้วยกับพระสันตะปาปาฟรานซิสในการกำหนดทิศทางของคริสตจักรและกระบวนการในการส่งเสริมคริสตจักรทั่วโลกที่รวมทุกคนไว้ด้วยกันมากขึ้น แต่คาดว่าเพระองค์จะเป็นผู้นำในแบบของตัวเอง

    คาดว่าสมเด็จพระสันตะปาปาลีโอที่ 14 จะโน้มเอียงไปทางก้าวหน้ามากขึ้นในประเด็นทางสังคม เช่น การอพยพและความยากจน แต่มีแนวโน้มจะเห็นด้วยกับผู้ที่ยึดมั่นในแนวทางสายกลางมากขึ้นในประเด็นทางศีลธรรมของหลักคำสอนของนิกายโรมันคาธอลิก

    การที่ได้เสียงข้างมากสองในสามในคณะคาร์ดินัลส์ แสดงว่าพระองค์ได้รับความชื่นชอบในวงกว้าง แม้แต่ในกลุ่มสมาชิกสายกลางหรืออนุรักษ์นิยมก็ตาม

    9. พระองค์เรียนคณิตศาสตร์ที่ วิลลาโนวา
    สมเด็จพระสันตะปาปาลีโอที่ 14 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาคณิตศาสตร์จากมหาวิทยาลัย วิลลาโนวา ในเพนซิลเวเนีย และได้รับประกาศนียบัตรด้านเทววิทยาจาก Catholic Theological Union of Chicago

    ในที่สุดพระองค์ถูกส่งไปโรมเพื่อศึกษาเกี่ยวกับกฎหมายศาสนจักร และต่อมาในได้สอนกฎหมายศาสนจักรในสามเณราลัยที่ตรูฮิโย ปะเทศเปรู

    10. พระองค์เป็นแฟนตัวยงของเทนนิส
    “ข้าพเจ้าถือว่าตัวเองเป็นนักเทนนิสสมัครเล่น” สมเด็จพระสันตะปาปาลีโอที่ 14กล่าวในการสัมภาษณ์กับคณะออกัสติเนียน ไม่นานหลังจากที่ได้เป็นพระคาร์ดินัล “ตั้งแต่ที่ออกจากเปรู ข้าพเจ้ามีโอกาสฝึกซ้อมน้อยมาก ดังนั้นจึงตั้งตารอที่จะได้ลงสนามอีกครั้ง”

    พระองค์ยังกล่าวอีกว่าในเวลาว่าง ชอบอ่านหนังสือ เดินเล่น และเดินทางไปยัง “สถานที่ใหม่ๆ และหลากหลาย”

    เรียบเรียงจาก

  • Leo XIV is the new Pope
  • Pope Leo XIV to Cardinals: ‘We are to bear witness to our joyful faith in Christ’
  • Inaugural Mass of Pope Leo XIV to be held on May 18
  • Biography of Pope Leo XIV, born Robert Francis Prevost
  • 10 things to know about Robert Prevost, who is now Pope Leo XIV
  • Robert Prevost elected as first American pope and takes the name Leo XIV