ttb analytics มองปัจจัยนโยบายการค้าของทรัมป์ จะซ้ำเติมความผันผวนของค่าเงินบาทในปี 2568 ให้สูงยิ่งขึ้น แนะผู้ประกอบการปรับกลยุทธ์ให้ความสำคัญกับสกุลเงินท้องถิ่น
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics มองค่าเงินบาทในปี 2568 จะเผชิญกับความผันผวนสูงขึ้นกว่าช่วงหลังวิกฤติโควิด-19 ที่สูงอยู่ก่อนแล้ว จากบริบทเศรษฐกิจไทยที่เปลี่ยนไป ขณะที่ผลกระทบจากนโยบายของทรัมป์ โดยเฉพาะการกีดกัดทางการค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยซ้ำเติมความผันผวนของค่าเงิน แนะการบริหารความเสี่ยงค่าเงิน ผ่านการใช้เงินสกุลท้องถิ่นจะช่วยเตรียมพร้อมในการรองรับผลกระทบของความผันผวนได้บางส่วน เนื่องจากสกุลเงินภูมิภาคส่วนใหญ่จะเคลื่อนไหวสอดคล้องกัน ประกอบกับโครงสร้างการค้าของไทยที่ส่วนใหญ่มีสัดส่วนการค้าขายในภูมิภาคที่สูง นอกจากนี้ ในปัจจุบันการสนับสนุนการใช้เงินสกุลท้องถิ่นของทางการมีความชัดเจนมากขึ้น ตลอดจนมีเครื่องมือและระบบการจัดการที่พร้อมมากขึ้นสำหรับการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการค้าระหว่างประเทศ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการกลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาสมัยที่ 2 ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มาพร้อมกับนโยบายกีดกันทางการค้ารอบใหม่ ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของสินทรัพย์ทางการเงินโลกอย่างมีนัย โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน ซึ่งภาพดังกล่าวคาดว่าจะมีต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยเปิดปี 2568 ค่าเงินบาทปรับอ่อนค่าแตะระดับ 34.80 บาท ก่อนทยอยกลับมาเคลื่อนไหวทิศทางแข็งค่าแตะระดับต่ำสุด 33.60 บาท ขณะที่ปัจจุบันเคลื่อนไหวใกล้เคียงระดับ 33.66 บาท (ข้อมูล ณ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568) เคลื่อนไหวตามพัฒนาการและความคาดหวังของประเด็นการขึ้นภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ทั้งนี้ ความผันผวนของค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในช่วงนี้ ไม่ได้เป็นผลมาจากปัจจัยนโยบายของทรัมป์ทั้งหมด แต่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงหลังวิกฤตโควิด-19 ที่ค่าเงินผันผวนสูงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จากความเสี่ยงของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ความสัมพันธ์กับเศรษฐกิจจีนที่เพิ่มมากขึ้น และศักยภาพการเติบโตเศรษฐกิจไทยที่เปราะบางมากขึ้นจากนโยบายกีดกันทางการค้าที่กำลังเกิดขึ้น โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ทั้งนี้ พบว่าโครงสร้างประเทศคู่ค้าในปัจจุบันเปิดโอกาสในการใช้เงินสกุลท้องถิ่นมากขึ้น จากข้อมูลการค้าปี 2567 ไทยมีสัดส่วนมูลค่าการค้ากับประเทศในภูมิภาคในเอเชียถึงร้อยละ 67.2 ซึ่งมีกลุ่มอาเซียนอยู่ในสัดส่วนร้อยละ 20 ขณะที่สัดส่วนกับสหรัฐฯ มีเพียงร้อยละ 12.3 สวนทางกับสัดส่วนสกุลเงินที่ใช้ในการค้าระหว่างประเทศประมาณ 3 ใน 4 ที่ยังคงใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ในการชำระค่าสินค้า อย่างไรก็ดี ทิศทางการใช้เงินสกุลท้องถิ่นมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นจากปี 2563 ที่มีสัดส่วนร้อยละ 18.3 เป็นร้อยละ 18.7 ในปี 2567 โดยในกลุ่มอาเซียนมีการเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 23.9 เป็นร้อยละ 24.2 นอกจากนี้ กลุ่มประเทศที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีความร่วมมือกับธนาคารกลางของประเทศเหล่านั้น พบว่า มีสัดส่วนการใช้ที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน อาทิ มาเลเซีย ที่พบว่ามีสัดส่วนการใช้เงินบาทและเงินริงกิตเพิ่มมากขึ้นจากร้อยละ 14.9 เป็นร้อยละ 17.5
โดยสรุป การกลับมาของทรัมป์สร้างความไม่แน่นอนให้กับตลาดการเงินโลกและเพิ่มความผันผวน ซึ่งซ้ำเติมค่าเงินบาทที่ผันผวนสูงอยู่แล้วตั้งแต่หลังวิกฤตโควิด-19 ดังนั้น ผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับค่าเงินไม่ว่าจะเป็นผู้นำเข้า ผู้ส่งออก ผู้ลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศ หรือผู้ที่มีหนี้ในสกุลเงินต่างประเทศ ควรติดตามข้อมูลข่าวสารด้านเศรษฐกิจการเงินอย่างใกล้ชิด และใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเหมาะสม ทั้งในรูปแบบ FX Forward และ Options ตลอดจนการใช้สกุลเงินภูมิภาค ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญในการป้องกันความเสี่ยง เนื่องจากสกุลเงินภูมิภาคส่วนใหญ่จะเคลื่อนไหวสอดคล้องกัน ประกอบกับโครงสร้างการค้าของไทยที่ส่วนใหญ่มีสัดส่วนการค้าในภูมิภาคที่สูง นอกจากนี้ ในปัจจุบันการสนับสนุนการใช้เงินสกุลท้องถิ่นของทางการมีความชัดเจนมากขึ้น ตลอดจนมีเครื่องมือและระบบการจัดการที่พร้อมมากขึ้นสำหรับการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการค้าระหว่างประเทศ