ThaiPublica > เกาะกระแส > คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แนะ เมนูกู้แหล่งน้ำ “ขนมจีนน้ำยาปลาหมอคางดำ”

คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แนะ เมนูกู้แหล่งน้ำ “ขนมจีนน้ำยาปลาหมอคางดำ”

12 กรกฎาคม 2024


ผศ.ดร.นันทิภา พันธุ์สวัสดิ์ ภาควิชาผลิตภัณฑ์ประมง คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ภาควิชาผลิตภัณฑ์ประมง คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แนะนำเมนูเด็ด “ขนมจีนน้ำยาปลาหมอคางดำ” ทำง่าย ด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน เชิญชวนร่วมด้วยช่วยกัน “กู้แหล่งน้ำ” โดยนำปลาหมอคางดำมาปรุงเป็นอาหาร อร่อย ได้คุณค่าทางโภชนาการโปรตีนจากเนื้อปลา

ผศ.ดร.นันทิภา พันธุ์สวัสดิ์ ภาควิชาผลิตภัณฑ์ประมง คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดอย่างหนักของปลาหมอคางดำที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดขณะนี้ และการตื่นตัวในการจับลดจำนวนปลาหมอคางดำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ แล้วนำไปกำจัดทิ้ง นำไปทำอาหารสัตว์ ปุ๋ย หรือปรุงเป็นอาหาร ซึ่งกรณีหลังยังมีผู้บริโภคที่ไม่กล้ารับประทานปลาชนิดนี้ เนื่องจากมีการนำเสนอว่าเป็นปลาต่างถิ่นและเป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ (Alian Species) ทำให้เกิดความไม่มั่นใจในการบริโภคปลาหมอคางดำ ซึ่งสามารถรับประทานได้ ใช้ปรุงอาหารได้เหมือนปลาทั่วไป รังสรรค์ได้หลากหลายเมนู

วันที่ 10 กรกฎาคม 2567 ภาควิชาผลิตภัณฑ์ประมง จัดกิจกรรมชวนชิมเมนูจากปลาหมอคางดำ โดย อ.ดร.สหภพ ดอกแก้ว ภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ได้นำเสนอหนึ่งใน “เมนูกู้แหล่งน้ำ” นำปลาหมอคางดำมาปรุงเป็นอาหารเมนูคุ้นเคย  “ขนมจีนน้ำยาปลาหมอคางดำ” ซึ่งอุดมด้วยสมุนไพรไทยและคุณค่าทางโภชนาการโปรตีนจากเนื้อปลาให้ผู้สนใจได้ทดลองชิม ร่วมกับการบอกเล่าเรื่องราวของปลาหมอคางดำ เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับปลาชนิดนี้ให้มากขึ้น ซึ่งเมนูน้ำยาปลาหมอคางดำ ได้รับการตอบรับจากบุคลากร นิสิต และบุคคลทั่วไปเป็นอย่างดี และเสียงสะท้อนส่วนใหญ่บอกว่าก็ไม่ต่างจากน้ำยาปลาปกติ

สำหรับเมนูขนมจีนปลาหมอคางดำเสิร์ฟ 100 ที่  ใช้ปลาหมอคางดำประมาณ 10 กิโลกรัม ตัดแต่งควักไส้และนำไปนึ่ง แกะเนื้อ จะได้เนื้อสุกประมาณ 2 กิโลกรัม โขลกหรือปั่นผสมกับเครื่องแกง กะทิ ต้ม ปรุงรสให้กลมกล่อม สำหรับปลาหมอคางดำที่มาจากแหล่งน้ำกร่อยจะไม่มีกลิ่นดิน ส่วนปลาจากแหล่งน้ำจืดอาจมีกลิ่นเฉพาะตัวตามธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม เมนูขนมจีนน้ำยา ปรุงรสเข้มข้นด้วยสมุนไพรไทย จึงลดอุปสรรคด้านกลิ่นรสของปลาน้ำจืดได้

ดร.สหภพ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากขนมจีนน้ำยาปลาหมอคางดำที่ทำได้ไม่ยากและสามารถปรุงให้มีเครื่องเทศและรสชาติหลากหลายถูกใจทุกภาคของประเทศไทยแล้ว ในกิจกรรมครั้งต่อไป มีแผนนำเสนอขนมจีน 4 น้ำ คือ น้ำยากะทิ น้ำยาป่า น้ำยาไตปลา น้ำยาเขียวหวาน โดยใช้ปลาหมอคางดำเป็นวัตถุดิบหลัก รวมถึงเมนูอาหารอื่นๆ ที่ครัวเรือนสามารถนำไปปรับใช้ได้ เช่น ปลาแดดเดียว ปลาหวาน ปลาส้ม ปลาทอดกรอบ ปลากวน น้ำพริก หรือปลาร้า รวมถึงเมนูอาหารต่างๆ ที่ทำได้ไม่ยาก

ด้าน ผศ.ดร.นันทิภา กล่าวย้ำว่า การร่วมด้วยช่วยกันบริโภคปลาหมอคางดำ อาจเป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยลดปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำตามแหล่งน้ำธรรมชาติอย่างมีนัยสำคัญ เช่นเดียวกับกรณีหอยเชอรี่ที่เคยระบาดอย่างหนักเมื่อหลายปีที่ผ่านมา