ThaiPublica > เกาะกระแส > ชาวแม่สะเรียงคัดค้านบริษัทเอกชนยื่นเรื่องขอสัมปทานบัตรทำเหมืองแร่หินปูน

ชาวแม่สะเรียงคัดค้านบริษัทเอกชนยื่นเรื่องขอสัมปทานบัตรทำเหมืองแร่หินปูน

20 สิงหาคม 2023


ศรีนาคา เชียงแสน รายงาน

อำเภอแม่สะเรียง เมืองแห่งขุนเขาและสายน้ำที่อยู่ทางทิศใต้ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน พื้นที่ส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 90 เป็นภูเขาสลับซับซ้อนและป่าทึบ เนื้อที่รวมกันทั้งหมด 2,497.2 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 18.9 ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นอำเภอชายแดนที่มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศพม่าทางทิศตะวันตกตลอดแนวระยะทาง 166 กิโลเมตร มีแม่น้ำสาละวินกั้น เขตแดนระยะทาง 101 กิโลเมตร มีสันเขาขุนแม่ลอง เสาหินดอยผาตั้ง เป็นเส้นกั้นเขตแดนทางบกระยะทาง 65 กิโลเมตรสภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นป่าเขาทุรกันดาร พื้นที่ราบลุ่มที่เหมาะสมกับการตั้งชุมชน และทำการเกษตรส่วนใหญ่อยู่ในตำบล แม่ยวม ตำบลแม่คง ตำบลบ้านกาศ และตำบลแม่สะเรียง มีพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 800-1,200 เมตร(Highland) มีภูมิอากาศที่หนาวเย็นตลอดปี มีแม่น้ำไหลผ่านจำนวน 3 สาย ได้แก่ แม่น้ำยวม แม่น้ำแม่สะเรียง และแม่น้ำสาละวิน (แม่น้ำคง) ที่ไหลจากทิเบต ประเทศจีน

ชื่ออำเภอแม่สะเรียงตั้งขึ้นตามชื่อสายน้ำสายหลักที่ไหลเอื่อยผ่านกลางเมือง เดิมมีชื่อว่า “เมืองยวม” มีประวัติศาสตร์เก่าแก่มาแต่ครั้งโบราณกาล เคยเป็นที่ตั้งชุมชนมาไม่น้อยกว่า 600 ปี และเป็นเมืองหน้าด่านที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของอาณาจักรล้านนา ปัจจุบันจัดเป็นอำเภอที่มีความสำคัญ ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน เนื่องจากมีที่ตั้งอยู่ห่างจากตัวจังหวัด (อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน) มากถึงประมาณ 164 กิโลเมตร จึงเป็นที่ตั้งของหน่วยงานราชการในระดับจังหวัดหลายแห่ง เช่น ศาลจังหวัด อัยการจังหวัด เรือนจำอำเภอ คลังจังหวัด ที่ดินจังหวัด ขนส่งจังหวัดด่านศุลกากร ด่านตรวจคนเข้าเมือง สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ท่าอากาศยานเป็นต้น รวมทั้งยังเป็นศูนย์กลางทางการค้าและพาณิชย์สำหรับอำเภออื่นๆ ที่อยู่ข้างเคียง เช่น อำเภอแม่ลาน้อย อำเภอสบเมย

ด้วยข้อจำกัดด้านภูมิประเทศที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าเขา จึงทำให้ชุมชนเมืองของแม่สะเรียงกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ราบเป็นส่วนใหญ่ วิถีชีวิตของชาวแม่สะเรียงค่อนข้างเรียบง่าย ไม่เร่าร้อน ไม่เร่งรีบ วิถีชีวิตที่นี่ค่อย ๆ เคลื่อนไหวไหลไปเอื่อย ๆ ราวสายน้ำในแม่น้ำแม่สะเรียงที่ไหลผ่านการเมือง แม่สะเรียงจึงเป็นเมืองในฝันที่น่าอยู่น่าไปเที่ยว และเป็นเมืองที่น่าประทับจับสำหรับผู้ไปเยือนเสมอมา

สภาพพื้นที่ที่จะมีการขอปทานบัตร

ฝันร้ายกลางฤดูฝน

ปกติชาวอำเภอแม่สะเรียงก็เลือกจะใช้ชีวิตอย่างสงบสุข เรียบง่าย ไม่ค่อยมีเรื่องราวใดมากระทบให้เดือดเนื้อร้อนใจมากนัก แต่แล้วราวกลางเดือนพฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมาอยู่ๆ ก็มีข่าวสารแจ้งผ่านจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอนผ่านมาทางกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำในชุมชนว่ากำลังมีบริษัทเอกชนรายหนึ่ง ได้ยื่นเรื่องขอสัมปทานบัตรทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง เนื้อที่ 132 ไร่ 0 งาน 97 ตารางวา ในพื้นที่ป่าชุมชนดอยหัวช้าง ในพื้นที่บ้านโป่งดอยช้าง ม.13 ต.บ้านกาศ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน พื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นพื้นที่เหมืองหินเก่า ถูกอ้างว่าเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม แต่ข้อเท็จจริงคือป่าบริเวณนี้ได้ฟื้นตัวเป็นป่าเต็งรังที่มีความอุดมสมบูรณ์ และปัญหาสำคัญคือเป็นพื้นที่ซึ่งตั้งอยู่ในเขตที่ราบลุ่มสำหรับทำการเกษตรกรรมซึ่งมีอยู่น้อยนิดอยู่แล้ว แถมยังตั้งอยู่ใกล้กับที่ตั้งที่ว่าการอำเภอแม่สะเรียง อยู่ใกล้กับโรงเรียน ชุมชน และหมู่บ้าน ซึ่งประชาชนอยู่อาศัยใช้ชีวิตกันอยู่

โดยประชาชนในพื้นที่ไม่เคยคิดว่าอยู่ ๆ จะมีเหมืองแร่หินปูนมาตั้งอยู่ตรงนี้ ขุดเจาะหินด้วยเครื่องจักร ระเบิดหินกันตูมตาม มีโรงโม่หินมาตั้ง ฝุ่นละอองจะปลิวฟุ้งกระจายไปทั่วอาณาบริเวณหรือไม่อย่างไร

จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า บริษัทที่เตรียมยื่นเรื่องขอสัมปทานบัตรทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนในพื้นที่ตรงจุดนี้ คือ บริษัทเชียงใหม่โรงโม่หิน จำกัด 260/48 ม. 3 ต.แม่เหียะ อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่

ชาวแม่สะเรียงลุกขึ้นต่อต้านคัดค้านเหมืองหิน

ย้อนไปเมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2566 กลุ่มประชาชนและนักเรียน อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน นำโดย นายอนันต์ ชิงชัย กำนันตำบลแม่สะเรียง, นายอดุลย์ พะยอมดง ผู้นำศาสนาคริสฯ, นายสะท้าน ชีววิชัยพงศ์ แกนนำเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน จำนวน 300 คน ได้รวมตัวกัน เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง ในพื้นที่ป่าชุมชนดอยหัวช้าง เนื้อที่ 132 ไร่ 0 งาน 97 ตร.ว. พื้นที่บ้านโป่งดอยช้าง ม.13 ต.บ้านกาศ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ให้แก่นายอำเภอแม่สะเรียง ให้ทางอำเภอส่งข้อเรียกร้องคัดค้านการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่หินฯ ดังกล่าวไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ทราบถึงความเดือดร้อนและไม่สบายใจของชาวบ้าน และพิจารณาถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดตามมาหากมีการอนุญาตประทานบัตรฯ ให้บริษัท ฯ เอกชนเข้ามาดำเนินการ

ต่อมาวันที่ 12 มิ.ย. 2566 เวลา 10.00 น. ฝ่ายปกครองอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้จัดประชุม กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และตัวแทนภาคประชาชนอำเภอแม่สะเรียง โดยมีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคืออุตสาหกรรมจังหวัดให้มีชี้แจงอธิบายข้อมูลของทางราชการเพื่อให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านนำไปอธิบายต่อลูกบ้านอีกต่อหนึ่ง โดยคำอธิบายที่ออกมาเป็นการพยายามอธิบายถึงขั้นตอนของทางราชการว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่ได้มีการอนุญาตให้บริษัทเอกชนเข้ามาดำเนินการใด ๆ ทางอุตสาหกรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้ชี้แจงว่าขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนแรกคือให้ชาวบ้านที่มีสิทธิ์ในพื้นที่ตรงจุดที่จะขอสัมปทานบัตรนี้มาแสดงตนก่อน หลังจากนั้นจะถึงขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นหรือขอประชามติจากชาวบ้าน ซึ่งปัจจุบันมีการให้ข้อมูลผิด ๆ จากคนภายนอกที่ไม่ต้องการให้เกิดการทำเหมือง อยากให้ชาวบ้านเปิดใจรับฟัง หากบริษัทฯ ได้ประทานบัตรก็ต้องรับผิดชอบต่อสังคม ต้องฟังเสียงชาวบ้าน ในอนาคตลูกหลานจะได้มีงานทำในพื้นที่ เศรษฐกิจของแส่สะเรียงก็จะดีขึ้น

จากท่าทีดังกล่าวยิ่งทำให้ชาวบ้านเกิดความไม่สบายใจ และไม่ไว้วางใจทางราชการว่าจะไปเข้าข้างและฝ่ายนายทุนเหมืองแร่ เวลาต่อเนื่องมาจนถึงเดือนสิงหาคม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอนอยู่ในขั้นตอนการจัดทำเวทีประชาคม แต่บริษัทที่ขอประทานบัตรเหมืองได้ขอชะลอออกไปก่อน โดยอ้างว่าเอกสารการขออนุญาตยังไม่พร้อม

ฝ่ายชาวบ้านมองว่าทางราชการและบริษัทเอกชนชะลอเวลา เพื่อลดกระแสคัดค้านจากชาวบ้าน พวกเขายืนยันว่าตามที่แกนนำของกลุ่มคัดค้านเคยพูดคุยกับผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนไว้ว่า “เราจะยอมถอยถ้าบริษัทหยุด ถ้าบริษัทเดินหน้าขอประทานบัตร เราก็เตรียมพร้อม แต่ที่อ้างว่าเอกสารไม่พร้อมขอชะลอการจัดเวทีประชาคมออกไป เราไม่เห็นด้วย”

ดังนั้นในส่วนของภาคประชาชน ไม่ยอมเป็นฝ่ายตั้งรับได้เริ่มรวมตัว ตั้งกลุ่มรณรงค์สร้างจิตสำนึก และให้ข้อมูลแก่ผู้คนในพื้นที่ โดยมีการรณรงค์ให้ชาวบ้านอำเภอแม่สะเรียงกว่า 5,000 คน ลงชื่อคัดค้านประทานบัตรเหมืองหิน เตรียมจัดชุมนุมใหญ่หากไม่ได้รับคำตอบจากผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนและอุตสาหกรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน

ดร.ทองทิพย์ แก้วใส แกนนำกลุ่มคัดค้านเหมืองหิน ยื่นหนังสือต่อนายอำเภอแม่สะเรียง

จัดเวทีให้ข้อมูลและสร้างการรับรู้แก่ชาวบ้านและเยาวชน

เมื่อ 19 ส.ค.2566 กลุ่มคัดค้านการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรม นำโดย ดร.ทองทิพย์ แก้วใส และ สำนักข่าวชายขอบ (Transborder News), สำนักข่าว The Reporters ร่วมกัน จัดเวทีสัมนา “รวมพลคนแม่สะเรียง คัดค้านเหมืองแร่และโรงโม่หินแม่สะเรียง” ณ โรงเรียนอนุบาลธารทิพย์ ต.บ้านกาศ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน มีประชาชนเข้าร่วม 400 คน การจัดเวทีสัมนาฯ ในครั้งนี้ ได้เชิญหน่วยงานราชการ และผู้เข้ามาร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็น อาทิ นายสุรเชษฐ์ พุ้ยน้อย นายอำเภอแม่สะเรียง นายเล่าฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล นายสมบัติ ยะสินธุ์ ส.ส.เขต2 จ.แม่ฮ่องสอน นายสากล สุรวงศ์ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.แม่ฮ่องสอน และผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และได้มีการยื่นหนังสือร้องเรียนขอให้ถอดถอนบัญชีพื้นที่จะขอประทานบัตรเหมืองแร่ฯ ออกจากเขตป่าเสื่อมโทรม ต่อนายอำเภอแม่สะเรียง เพื่อนำเรียนต่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนพิจารณาต่อไป ข้อสรุปสำคัญในการสัมมนาทางตัวแทนชาวแม่สะเรียงยังยืนยันไม่ยอมให้มีการสัมปทานการทำเหมืองหินในพื้นที่อย่างเด็ดขาด

ดร.ทองทิพย์ แก้วใส เจ้าของกิจการโรงเรียงอนุบาลธารทิพย์ อำเภอแม่สะเรียง ที่ต้องผันตัวเองมาเล่นบทแกนนำชาวบ้านกลุ่มคัดค้านเหมืองหิน ให้ข้อมูลถึงการจัดเวทีรวมพลคนแม่สะเรียง ที่โรงเรียนอนุบาลธารทิพย์ อ.แม่สะเรียง ในครั้งนี้ว่า “การทำเหมืองจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เกิดมลพิษทางเสียง โดยเฉพาะที่ตั้งของโรงเรียนอนุบาลธารทิพย์ที่ตั้งอยู่ติดกับป่า…อีกทั้งจะกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวแม่สะเรียงทั้งหมด เพราะมีถนนสายหลักที่ใช้ร่วมกันคือถนนสาย 108 เป็นที่ตั้งหลักของหน่วยงานราชการ และโรงพยาบาลแม่สะเรียง หากมีรถบรรทุกหินวิ่งไปมาจะทำให้ถนนเสียหาย เป็นหลุ่มเป็นบ่อ อาจเกิดอุบัติเหตุ และเกิดปัญหาจากฝุ่นละอองขนาดเล็กจากการทำเหมืองที่ส่งผลต่อสุขภาพ เราต้องปกป้องธรรมชาติ ถ้าแม่สะเรียงไม่มีธรรมชาตินักท่องเที่ยวก็ไม่มาแม่สะเรียงอีกต่อไป”

การจัดเวทีครั้งนี้ถือเป็นเวทีสำหรับแลกเปลี่ยนข้อมูลจากทุกภาคส่วนแล้ว ยังต้องการใช้เวทีนี้เป็นเวทีฝึกฝนอบรมนักสื่อสารชุมชนแม่สะเรียงและสาละวิน ซึ่งได้รับความสนใจจากเยาวชนเป็นอย่างยิ่ง โดยได้มีการประชาสัมพันธ์กิจกรรมเหล่านี้ผ่านทางเพจแม่สะเรียง สถานีวิทยุ สวท.แม่สะเรียง รวมทั้งทำหนังสือถึงกำนันผู้ใหญ่บ้าน ตำบลแม่สะเรียง และตำบลบ้านกาศ รวมทั้งเชิญชวนคนแม่สะเรียงมาร่วมเวทีนี้ด้วย

“ความคาดหวังในการจัดกิจกรรมครั้งนี้คือให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเห็นว่าชาวบ้านไม่ต้องการเหมือง ยุติความการขอประทานบัตร อยากให้เข้าใจความรู้สึก ไม่ให้การสนับสนุนแล้วร่วมคัดค้านไม่ให้มีเหมืองแร่ คาดหวังว่าภาคราชการจะได้เห็นความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง” ดร.ทองทิพย์กล่าว

ดร. ทองทิพย์ กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอนเตรียมเวทีประชาคมและอ้างว่าเอกสารไม่พร้อมขอชะลอการจัดเวทีประชาคมออกไปนั้นว่า “การจัดเวทีประชาคม 4 กลุ่ม เราเตรียมคัดค้านเพื่อให้ยุติกระบวนการ เราไม่เห็นด้วยกับการชะลอเวลาออกไปเพราะไม่มีกฎหมายรองรับ ถ้าหน่วยงานไหนให้การอนุมัติ ชะลอเวลา เราจะเดินหน้าใช้มาตรการทางกฎหมายเหมือนกันเพราะทำให้ประชาชนเสียเปรียบ” ดร.ทองทิพย์กล่าว

ด้านนายพัทธพงษ์ อ่างทอง หัวหน้ากลุ่มโรงงาน สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวถึงการขอชะลอเวลาการทำเวทีประชาคมของบริษัทที่ขอประทานบัตรว่า ทางบริษัทได้แจ้งหยุดการทำเวทีประชาคมออกไปแล้วโดยไม่มีกำหนด

“ทางบริษัท ฯ เหมือนตั้งใจคาเรื่อง หยุดกระบวนการไว้ก่อน อาจจะรู้สึกว่าตามกฎหมายแล้ว คนที่จะหยุดกิจกรรมการขอประทานบัตรได้จะต้องอยู่ในรัศมีพื้นที่แค่ 500 เมตร แต่เท่าที่ประเมินคนที่คัดค้านไม่อยู่ในกรอบนี้เลย คนที่ชุมนุมไม่ได้อยู่ในกรอบกฎหมาย ผู้ประกอบการคงรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม สำนักงานเราเองก็พูดอะไรไม่ได้ ประชาชนมองว่าเราไม่ให้ข้อมูล มองว่าเราไม่เข้าข้างประชาชน พูดไปก็หักหาญน้ำใจกัน เราต้องยึดกฎหมายก่อน แต่ประชาชนบอกว่าเจ้าหน้าที่ต้องเข้าข้างประชาชน ถ้าทำอย่างนั้นเจ้าหน้าที่โดนมาตรา 157”

นายพัทธพงษ์ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “การจัดเวทีประชาคมจะทำให้การคัดค้านของประชาชนเป็นผล และหากชาวบ้านไม่เห็นด้วย บริษัทก็ขอประทานบัตรไม่ได้ ทุกเสียงของประชาชนแม้ว่าจะไม่อยู่ภายในพื้นที่ 500 เมตร การขอประทานบัตรต้องเก็บหมด แต่จะนำมาเป็นเหตุห้ามขอประทานบัตรไม่ได้ ในวันนี้มาถึงจุดที่ชาวบ้านต่อต้านไม่ให้ออกประทานบัตรเลย ในขณะที่ทางผู้ประกอบการก็ยังไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมาย มันเลยอยู่ในจุดที่คุยกันยาก ผู้ประกอบการคงมองว่าถ้าเดินหน้าทำเวทีประชาคมไปตอนนี้ สิ่งที่เขาลงทุนไปไม่เหลือ เลยต้องหยุดไว้ก่อน”

ทางออกสุดท้าย เตรียมยื่นถวายฎีกา

สถานการณ์ขณะนี้ หลังบริษัทเอกชนชะลอเรื่องการยื่นของประทานบัตร ชาวแม่สะเรียตื่นรู้ เร่งสร้างองค์กร และเครือข่ายและแนวร่วมเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งในการรับมือกับสถานการณ์ในวันข้างหน้า ทุกวันนี้ทุกจุดในอำเภอแม่สะเรียงเต็มไปด้วยป้ายต่อต้านการขอสัมปทานเหมืองแร่หิน ประเด็นเรื่องการอนุรักษ์ป่าชุมชน และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้กลับมาเป็นหัวข้อที่ทุกคนในชุมชนได้พูดคุยกันในวงทานข้าวและวงสนทนาทั่วไป สื่อสารข้อมูลไปยังเยาวชนรุ่นใหม่ ๆ โดยเตรียมความพร้อมหากมีการขอสัมปทานมาดำเนินการอีก จะรวมตัวของมวลชนจากอำเภอแม่สะเรียง อำเภอสบเมย อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ออกมาคัดค้านฯ

ดร. ทองทิพย์ กล่าวถึงความหวังสุดท้ายของชาวแม่สะเรียง หากลุกขึ้นต่อสู้แล้วยังแพ้กับกลุ่มนายทุน และไม่อาจพึงหน่วยราชการของรัฐหน่วยงานไหนได้ว่า “แนวทางการขับเคลื่อนไหวหลังจากชุมนุมต่อต้านของชุมชน หากไม่สำเร็จ พึ่งหน่วยงานราชการไหนไม่ได้อีกแล้ว ผมมีไม้ตายคือจะถวายฎีกา นี่เป็นไม้สุดท้ายให้กับคนแม่สะเรียง ผมเคยบอกกับหน่วยงานรัฐแล้วว่าไม่ใช่ชาวแม่สะเรียงปฏิเสธความเจริญ แต่ความเจริญมีหลายรูปแบบ ถ้าความเจริญทำลายสุขภาพทำลายชีวิตของคนแม่สะเรียง เราต้องคัดค้าน”