วันที่ 17 มีนาคม คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสําหรับเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ (United Nations ESCAP) ได้เปิดตัว รายงานประจำปีนำเสนอความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก Asia and the Pacific SDG Progress Report 2022
รายงานนี้วิเคราะห์ความคืบหน้าสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ในเอเชียและแปซิฟิก และ 5 อนุภูมิภาค นอกจากนี้ยังสำรวจความไม่เท่าเทียมกันและความเปราะบางในกลุ่มประชากรต่างๆ ประเมินช่องว่างที่ต้องปิดเพื่อให้บรรลุเป้าหมายภายในปี 2573 และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง มีกรอบการประเมินที่ประกันว่าการดำเนินการของภูมิภาคยังคงอยู่ในเป้าหมาย และมีการแก้ไขจุดที่ไม่บรรลุเป้าหมาย รวมทั้งเป็นแหล่งข้อมูลสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด
รัฐบาลทั่วทั้งเอเชียและแปซิฟิกต่างมุ่งมั่นสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) และตั้งเป้าหมายไว้สูงแต่ยังไม่คืบหน้ามากพอ และในความเป็นจริงกลับถดถอย ความท้าทายในการบรรลุเป้าหมายได้เพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทั้งความถี่และความรุนแรงของวิกฤติการณ์ที่มนุษย์สร้างขึ้นและจากภัยธรรมชาติ ตลอดจนความท้าทายในการตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)
ภายใต้บริบทนี้ รายงาน Asia-Pacific Sustainable Development Goal Progress Report 202 ได้วิเคราะห์ความคืบหน้าเกี่ยวกับเป้าหมาย SDG 17 ข้อและเป้าหมายย่อย 169 เป้าหมายในภูมิภาคและในแต่ละ 5 อนุภูมิภาค ซึ่งมีความท้าทาย ทรัพยากร และโอกาสที่จะคืบหน้าแตกต่างกัน รายงานยังวิเคราะห์ความแตกต่างของข้อมูลที่มีผลต่อการติดตามความคืบหน้า และตรวจสอบแหล่งที่มาและด้านที่มีความสำคัญเพื่อให้ข้อมูล SDGs มีความพร้อมมากขึ้น
เป้าหมายบรรลุ SDGs ไกลออกไปอีก
ความคืบหน้าสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้ชะลอตัวลงเนื่องจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ความท้าทายในการพัฒนารุนแรงขึ้น ภูมิภาคนี้ไม่ได้อยู่บนเส้นทางที่จะบรรลุเป้าหมาย SDGs ทั้ง 17 ข้อ
วิสัยทัศน์และความมุ่งมาดปรารถนาของวาระ 2030 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นมีความสำคัญและมีความเกี่ยวข้องไม่น้อยไปกว่าในปี 2015 แต่ปีที่คาดหวังสำหรับความสำเร็จของ SDGs คือปี 2065 และช่องว่างก็กว้างขึ้นทุกปี ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกำลังเผชิญกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤติ และมีความเสี่ยงที่ความคืบหน้าจะช้าลงไปอีกในปีต่อๆ ไป เนื่องจากเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมอ่อนด้อยลง แต่ภูมิภาคนี้สามารถหลีกเลี่ยงได้หากเร่งดำเนินการและใช้ SDGs เป็นแผนงานสำหรับการฟื้นตัวอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และเป็นธรรม
ในแต่ละปีที่ผ่านไปนับตั้งแต่มีการรับวาระ 2030 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2015 กรอบเวลาที่คาดหวังในการบรรลุ SDGs ทอดยาวขึ้น ความคืบหน้าไปสู่เป้าหมายแตกต่างกันมากขึ้น และความเป็นไปได้ที่จะบรรลุ SDGs ในขณะนี้ยืดออกไปหลายทศวรรษเกินกว่าปี 2030 โดยในปี 2017 ได้ประมาณการไว้ว่าปีที่จะบรรลุ SDGs คือปี 2052 และในปี 2021 ได้คาดการณ์ว่าปีที่จะบรรลุ SDGs ได้ยืดออกไปเป็นปี 2065

ความก้าวหน้าไปสู่ SDGs ที่ไม่เท่าเทียมกัน เห็นได้ชัดในชีวิตของประชากรกลุ่มเปราะบางกลุ่มต่างๆ ทั่วเอเชียและแปซิฟิก ที่มีความเสี่ยงจะถูกทิ้งไว้ข้างหลังมากที่สุด ความคืบหน้าที่ช้า ชะงักงัน และการถดถอยจากเป้าหมาย SDGs ยังคงเป็นภาระที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแก่ผู้ที่อยู่เบื้องหลังมากที่สุด
ในขณะที่มีความก้าวหน้าที่สำคัญในภูมิภาคในด้านสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความทนทาน ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืน และส่งเสริมนวัตกรรม (เป้าหมาย 9) และสร้างหลักประกันให้ทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ที่ยั่งยืนในราคาที่ย่อมเยา (เป้าหมาย 7) แต่ช้าเกินไปที่จะบรรลุเป้าหมายภายในปี 2030 อีกทั้งมีความถดถอยในเป้าหมายสร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (เป้าหมาย 12) และการดำเนินการด้านสภาพอากาศ (เป้าหมาย 13) แม้วิกฤติสภาพภูมิอากาศจะรุนแรงขึ้นก็ตาม ในขณะเดียวกัน ความคืบหน้าในเป้าหมายที่ 4, 5, 6, 8, 11 และ 14 ทั่วทั้งเอเชียและแปซิฟิกนั้นช้ามากหรือถึงกับหยุดนิ่ง
ด้วยอัตราการคืบหน้าในปัจจุบัน ไม่มี SDGs ข้อไหนทั้ง 17 ข้อ ที่ 5 อนุภูมิภาคจะบรรลเป้าหมาย มีเพียงเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือเท่านั้นบรรลุเป้าหมาย การขจัดความยากจน (เป้าหมาย 1) กับเป้าหมายสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความทนทาน ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืน และส่งเสริมนวัตกรรม (เป้าหมาย 9)
มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องมีความร่วมมือระดับภูมิภาคและเป็นพันธมิตร เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีใครและประเทศใดในอนุภูมิภาคของเอเชียแปซิฟิกถูกทิ้งไว้ข้างหลัง จากที่การดำเนินการตาม SDGs ซบเซาหรือถดถอย นอกเหนือจากเป้าหมายที่ 1 และเป้าหมายที่ 9 ในเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว อนุภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังไม่อยู่ในเส้นทางที่จะบรรลุ SDGs ภายในปี 2030 อีกทั้งน่าตกใจที่ทุกอนุภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีความถดถอยในเป้าหมายสร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (เป้าหมาย 12) และการดำเนินการด้านสภาพอากาศ (เป้าหมาย 13)
นอกเหนือจากการถดถอยในเป้าหมาย 12 และเป้าหมาย 13 แล้ว
จาก 169 เป้าหมายย่อยของ SDGs สามารถวัดผลได้ 112 เป้าหมาย โดยที่ไม่ถึง 10% ของเป้าหมายที่วัดได้กำลังเป็นไปตามแผนที่จะบรรลุเป้าหมายภายในปี 2030 และเป้าหมายที่เหลือต้องเร่งผลักดันให้คืบหน้าอย่างเร่งด่วนและรวดเร็วหรือดึงให้กลับมาจากแนวโน้มเชิงลบ ทั้งภูมิภาคจะต้องเร่งดำเนินการไปสู่เป้าหมาย 81 เป้าหมายย่อย และดึง 21 เป้าหมายย่อยที่ถดถอยให้กลับมา
การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ สถานที่ ความทุพพลภาพ หรือสถานะการย้ายถิ่นฐาน ยังคงเป็นความมุ่งมั่นหลักของวาระ 2030 และต้องเข้าถึงผู้ที่ข้างหลังที่ไกลสุดให้มากขึ้นแบบที่ไม่เคยทำมาก่อน
ความคืบหน้าโดยเฉลี่ยในเอเชียและแปซิฟิกไม่ครอบคลุมกลุ่มที่มีลักษณะทางประชากรหรือเศรษฐกิจและสังคมที่ต่างออกไปมากนัก ผู้ที่อยู่ข้างหลังสุด เช่น ผู้หญิง ประชากรในชนบท และครัวเรือนที่ยากจน มักเผชิญกับความเสี่ยงที่มากกว่า สำหรับประชากรกลุ่มเปราะบางจำนวนมาก ความมั่นคงด้านอาหาร การศึกษา และการดำรงชีวิตย่ำแย่ลงในช่วงการระบาดใหญ่
หนึ่งในสามของประชากรเด็กผู้ลี้ภัยทั่วโลกอาศัยอยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และการระบาดใหญ่ได้ทำให้พวกเขาเผชิญความท้าทายเพิ่มขึ้น ความยากจนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มาบรรจบกัน มักส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของผู้หญิง ซึ่งเป็นแรงงานภาคการเกษตรส่วนใหญ่ในบางพื้นที่
การวิเคราะห์ในรายงานนี้แสดงให้เห็นว่า ต้องมีการดำเนินการมากขึ้นเพื่อขยายการคุ้มครองทางสังคมสำหรับประชากรกลุ่มเปราะบาง รวมทั้งผู้ที่มีความทุพพลภาพขั้นรุนแรง และเพื่อยกระดับทิศทางตลาดแรงงานของผู้พิการ
แม้ว่าความพร้อมของข้อมูลจะดีขึ้นตั้งแต่ปี 2017 (จำนวนตัวบ่งชี้ที่มีข้อมูลเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า) แต่ก็ยังไม่สามารถวัดเป้าหมายย่อย 57 เป้าหมายจาก 169 เป้าหมาย (34%) ได้ ข้อมูลความเท่าเทียมทางเพศ (เป้าหมาย 5) การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (เป้าหมาย 14) และการส่งเสริมสังคมที่สงบสุขและครอบคลุมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรมและสร้างสถาบันที่มีประสิทธิผลรับผิดชอบและครอบคลุมในทุกระดับ (เป้าหมาย 16) ยังคงค่อนข้างจำกัด
รายงานชี้ว่า ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานดูแลระดับประเทศและระดับนานาชาติสำหรับตัวชี้วัด SDGs มีส่วนสำคัญต่อความพร้อมของข้อมูล SDGs และต้องปิดช่องว่างที่ยังมีอยู่ในด้านข้อมูลอีกต่อไป รวมทั้งต้องมีการลงทุนและความร่วมมือด้านวิชาการมากขึ้น เพื่อให้การดำเนินการสำรวจครัวเรือนเป็นแหล่งข้อมูลหลักสำหรับตัวชี้วัด SDGs เกือบ 1 ใน 3 มีความรวดเร็วและความยั่งยืน ตลอดจนต้องยกระดับการประสานงานระดับชาติ และจัดลำดับความสำคัญของการแบ่งปันและการรวมข้อมูล เพื่อให้สามารถบริหารข้อมูลสำหรับ SDGs ได้อย่างเต็มที่ (รวมถึงทะเบียนราษฎร์และสถิติสำคัญ)
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องเร่งมือเกือบทุกเป้าหมาย
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่อยู่ในเส้นทางที่จะบรรลุเป้าหมาย SDGs 17 ข้อภายในปี 2573 เมื่อพิจารณาจากความก้าวหน้าปัจจุบันของประเทศต่างๆ ในอนุภูมิภาค อย่างไรก็ตาม มีความคืบหน้าบางข้อ คือ การขจัดความยากจน (เป้าหมาย 1) การสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความทนทาน ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืน และส่งเสริมนวัตกรรม (เป้าหมาย 9) และการปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ต่อสู้กับการกลายสภาพเป็นทะเลทราย หยุดการเสื่อมโทรมของที่ดินและฟื้นสภาพกลับมาใหม่ และหยุดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (เป้าหมาย 15)
ข้อที่ไม่มีความก้าวหน้า คือ การสร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต (เป้าหมาย 4) การส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่ มีผลิตภาพ และการมีงานที่เหมาะสมสำหรับทุกคน (เป้าหมาย 8) และการเสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูสภาพหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน (เป้าหมาย 17)
อีกทั้งมีความกังวลเกี่ยวกับ การสร้างหลักประกันว่าจะมีการจัดให้มีน้ำและสุขอนามัยส้าหรับทุกคนและมีการบริหารจัดการที่ยั่งยืน (เป้าหมาย 6) การทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความครอบคลุม ปลอดภัย มีภูมิต้านทานและยั่งยืน (เป้าหมาย 11) การสร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (เป้าหมาย 12) การดำเนินการด้านสภาพอากาศ (เป้าหมาย 13) และการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (เป้าหมาย 14)
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังคืบหน้าในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความทนทาน ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืน และส่งเสริมนวัตกรรม (เป้าหมายที่ 9) แม้อนุภูมิภาคย่อยจะไม่อยู่ในเส้นทางที่จะบรรลุเป้าหมายที่ 9 แต่ก็มีความคืบหน้าในการขยายความครอบคลุมของเครือข่ายมือถือ (2G, 3G และ 4G) ความครอบคลุมของเครือข่ายมือถือในบรูไนดารุสซาลาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย และเวียดนามมีมากกว่า 95% อย่างไรก็ตาม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การวิจัยและพัฒนา และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในประเทศจะต้องดำเนินการต่อไปเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
อนุภูมิภาคยังคงเป็นไปตามเป้าในการขจัดความยากจน (เป้าหมาย 1) สำหรับประชากรที่อยู่ต่ำกว่าเกณฑ์เส้นความยากจนระดับนานาชาติและระดับชาติ ซึ่งรวมถึงในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ที่มีความชุกของความยากจนสูงสุดในอนุภูมิภาค โดยมีประชากรที่ใช้ชีวิตด้วยเงินที่ต่ำกว่า 1.90 ดอลลาร์ต่อวันมีสัดส่วน 5-6% ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความคืบหน้าของเป้าหมายที่ 1 คือความเสียหายอันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติและรัฐบาลไม่ได้ใช้จ่ายในด้านบริการขั้นพื้นฐาน (การศึกษาและสุขภาพ) อย่างต่อเนื่อง
ความก้าวหน้ายังเห็นได้ในการปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนต่อสู้การกลายสภาพเป็นทะเลทราย หยุดการเสื่อมโทรมของที่ดินและฟิ้นสภาพกลับมาใหม่ และหยุดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (เป้าหมายที่ 15) ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการปฏิบัติตามกรอบสากลสำหรับการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพและการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพบนภูเขา โดยการขยายพื้นที่คุ้มครอง อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จเหล่านี้ยังไม่เพียงพอที่จะหยุดยั้งการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้และความหลากหลายทางชีวภาพที่มากขึ้น (วัดโดย Red List Index) ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของอนุภูมิภาค
นอกจากนี้มีความคืบหน้าบ้างในอนุภูมิภาค ใน SDGs หลายข้อ ซึ่งรวมถึงการสร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต (เป้าหมาย 4) ที่มีสัญญาณถดถอยในดัชนีความไม่เท่าเทียมกันและทักษะในการอ่านและคณิตศาสตร์ที่ค่อนข้างต่ำในเด็กและคนหนุ่มสาว
กัมพูชา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย มีนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นต่ำกว่า 50% ที่มีความสามารถด้านการอ่านและคณิตศาสตร์ขั้นต่ำ ทั้งสองเพศ
อัตราการเติบโตของ GDP ที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีความก้าวหน้าในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่ มีผลิตภาพ และการมีงานที่เหมาะสมสำหรับทุกคน (เป้าหมาย 8) อย่างไรก็ตามมีความถดถอยในการยกระดับประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ (การใช้วัสดุในประเทศ) และการขาดความก้าวหน้าในการปฏิบัติตามสิทธิแรงงาน ได้กระทบความก้าวหน้าโดยรวม ส่วนการเสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูสภาพหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน (เป้าหมาย 17) ในอนุภูมิภาคมีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อย เนื่องจากรายได้ของรัฐบาลส่วนใหญ่ลดลงเหลือต่ำกว่า 30% ของ GDP และความร่วมมือด้านวิชาการเพื่อช่วยการพัฒนาอย่างเป็นทางการลดลงอย่างมาก
อนุภูมิภาคกำลังถดถอยใน 5 เป้าหมาย การถดถอยที่สำคัญที่สุดคือ การเร่งต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น (เป้าหมาย 13) ซึ่งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นและการบาดเจ็บล้มตายจากภัยพิบัติส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการดำเนินการ การสร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (เป้าหมาย 12) ยังได้รับผลกระทบจากการปล่อยคาร์บอนจากการใช้วัสดุและการใช้วัสดุที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลเมื่อเทียบ GDP ยังคงสูงในบางประเทศ
นอกจากนี้ ยังมีความถดถอยของสร้างหลักประกันว่าจะมีการจัดให้มีน้ำและสุขอนามัยสำหรับทุกคนและมีการบริหารจัดการที่ยั่งยืน (เป้าหมาย 6) เนื่องจากการขาดแคลนน้ำและประเทศต่างๆ ไม่สามารถปกป้องน้ำและฟื้นฟูระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องกับน้ำ ขณะที่การทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความครอบคลุม ปลอดภัย มีภูมิต้านทานและยั่งยืน (เป้าหมาย 11) ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการเสียชีวิตจากการจราจรทางบก และความสูญเสียของมนุษย์และเศรษฐกิจจากภัยพิบัติ
ดังนั้น จะต้องดึงแนวโน้มในเป้าหมายเหล่านี้ให้กลับมามีความคืบหน้าให้มากพอ เพื่อบรรลุเป้าหมาย SDGs ภายในปี 2030
ส่วนการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (เป้าหมาย 14) มีข้อมูลน้อยมากที่จะวัดความคืบหน้า อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่มีอยู่แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์แย่ลงเมื่อเทียบกับปี 2015
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำเป็นต้องเร่งความคืบหน้าหรือผลักดันแนวโน้มปัจจุบันในเป้าหมายที่ 4, 6, 8, 11, 12, 13, 14, 16 และ 17 ให้กลับมามีความคืบหน้า หากอนุภูมิภาคต้องการที่จะบรรลุเป้าหมายในปี 2030 ตามที่กำหนด