ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > คนไทยในเยอรมัน ขอรัฐผ่อนปรนเงื่อนไข(ชั่วคราว)ส่ง Rapid Test แจกคน “เข้าไม่ถึง”

คนไทยในเยอรมัน ขอรัฐผ่อนปรนเงื่อนไข(ชั่วคราว)ส่ง Rapid Test แจกคน “เข้าไม่ถึง”

12 สิงหาคม 2021


เสาวรส รณเกียรติ รายงาน

ขณะที่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในไทย ยอดเฉลี่ยสูงวันละ 2 หมื่นคน ยอดผู้เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 180-200 ราย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกประกาศให้ประชาชนใช้ชุดตรวจโควิด-19 Antigen Test Kit หรือ ATK ตรวจคัดกรองด้วยตนเองได้ ความต้องการ ATK หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า Rapid Test พุ่งสูงขึ้นทันที

ในขณะที่องค์อาหารและยา (อย.) ประกาศรับรองให้ Rapid Test 24 ยี่ห้อขายในไทยได้ ส่วนใหญ่ราคาขายเฉลี่ยชุดละ 200-300 บาท สูงมากเมื่อเทียบกับชุดตรวจ Rapid Test ที่ขายในต่างประเทศ ทำให้มีความต้องการนำเข้า Rapid Test จากต่างประเทศเข้ามาใช้เอง รวมทั้งคนไทยในต่างประเทศต้องการส่งให้ญาติหรือบริจาค Rapid Test ให้คนในประเทศไทย เพื่อช่วยให้คนไทยเข้าถึงได้ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จำนวนมาก

เบญจมาภรณ์ รัตนเรืองเดช

“เบญจมาภรณ์ รัตนเรืองเดช” ที่ไปเรียน ทำงาน มีครอบครัว อาศัยในเยอรมันมา 10 ปีแล้ว ได้เล่าประสบการณ์ความพยายามในการจัดซื้อชุดทดสอบอย่างง่ายและรวดเร็ว สำหรับการตรวจหาเชื้อไวรัสและภูมิคุ้มกันโควิด-19 หรือ Rapid Test ในเยอรมัน เพื่อส่งมาบริจาคในเมืองไทย เพราะราคา Rapid Test ในเยอรมัน ถูกกว่าเมืองไทย บางยี่ห้อราคาเพียงประมาณ 80 เซ็นต์ หรือ 30-35 บาทเท่านั้น โดยตั้งเป้าจะบริจาคให้ “กลุ่มคนดูแลกันเอง” ที่เป็นอาสาสมัครเข้าไปช่วยเหลือแรงงานในแคมป์ที่ถูกสั่งปิด

“ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ได้กลับมาไทยช่วงเดือนเมษายน แต่ต้องเปลี่ยนใจกลับมาเยอรมัน เพราะไม่สามารถทำงานที่ตั้งใจทำได้ ตอนนั้นคิดว่า จะเอา Rapid Test กลับมาได้มั้ย เพราะที่เยอรมันมีขายและราคาถูก เลยมาดูว่า ถ้าเอามาไทยจะผิดกฎหมายมั้ย เพราะกลัวโดนจับ โดนยึด จนมาถึงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โรคโควิดในไทยแพร่ระบาดหนัก ก็เลยคิดเรื่องการบริจาค Rapid Test ขึ้น ก็หาข้อมูลขั้นตอนการนำเข้าของไทย เพราะ Rapid Test ถือเป็นอุปกรณ์การแพทย์ ขณะเดียวกัน เพื่อนในไทยก็แนะนำว่าถ้าจะบริจาค ให้บริจาคให้ “กลุ่มคนดูแลกันเอง” ที่เข้าไปช่วยเหลือคนงานในแคมป์ที่ถูกปิด ทั้งที่กทม. ปริมณฑล นครปฐม รวมประมาณ 1,200 แคมป์ เราก็สนใจ และ Rapid Test ที่เยอรมันถูกมาก ชุดละ 80 เซ็นต์เท่านั้นหรือไม่ถึง 40 บาท เทียบกับเมืองไทยชุดละ 300-400 บาท ถ้าซื้อที่เยอรมันจะช่วยคนได้เยอะกว่า แต่พอมี ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง Rapid Test ที่ตามประกาศใช้เป็น Antigen test self-test kits หรือ ATK เราก็เข้าไปศึกษา พบว่าไม่สามารถบริจาคมาไทยได้”

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 12 กรฎาคม 2564 ราชกิจจานุเบกษา ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชุดตรวจและน้้ายาที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยการติดเชื้อ SARS-CoV-2 (เชื้อก่อโรค COVID-19) แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (COVID-19 Antigen test self-test kits) โดยข้อ 5 กำหนดว่า ATK ถือเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ที่ต้องขายให้เฉพาะสถานพยาบาล หรือผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ สาธารณสุข หรือช่องทางอื่นที่องค์การอาหารและยา (อย.) เป็นผู้กำหนด

ที่ต้องศึกษาขั้นตอนและข้อกฎหมาย เพราะก่อนหน้านี้ “เบญจมาภรณ์” เคยส่ง Rapid Test มาให้เพื่อนที่เมืองไทย 15 ชุด โดยใส่รวมมากับขนม และของอย่างอื่น เป็นการส่งหลังจากมีประกาศสธ. เรื่อง ATK ออกมา ปรากฏว่า พัสดุกล่องนั้นถูกแยกออกมา และเมื่อไปติดต่อขอคืน ขั้นตอนแรกต้องพบกับเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร เมื่อเปิดกล่องออกมามี อาหาร ยา ก็ถูกส่งไปที่ให้เจ้าหน้าที่ อย. ซึ่งพอรื้อกล่องพบ Rapid Test แม้จะแจ้งเจ้าหน้าที่ว่าจะส่งไปให้แม่ที่เกาะสมุย ไม่ได้เอาไปขาย แต่เจ้าหน้าที่อย. ชี้แจงว่าต้องทำตามประกาศ สธ. นำเข้าไม่ได้ ทำให้ Rapid Test ชุดนั้นถูกยึดไป และไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน

“จากเหตุการณ์นั้น พอคิดจะบริจาค เราก็อยากทำให้ขั้นตอนถูกต้องตามกฎหมาย ไม่อยากให้ถูกยึด ก็ปรึกษาหลายคน รวมทั้งที่ปรึกษาศุลกากร ประจำกรุงบรัสเซล จนพบว่า สามารถส่งมาไทยได้ แต่ต้องผ่านหน่วยงานรับบริจาค ที่ต้องเป็นหน่วยงานรัฐ หรือองค์กรการกุศล ซึ่งเราคิดว่า องค์กรการกุศลไหนก็ได้ที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทย ปรากฏว่า ไม่ใช่ ต้องเป็นองค์กรการกุศลของรัฐ ที่ตอนนี้มีแค่สภากาชาดไทย ที่รับบริจาคได้ แต่ปัญหาคือ ที่เราอยากบริจาคให้”กลุ่มคนดูแลกันเอง” เพื่อให้เขาเอาไปเทสต์แรงงานในแคมป์ที่ถูกปิด 1,200 กว่าแคมป์ แต่ถ้าบริจาคผ่านสภากาชาดไทย ก็มีปัญหาว่า แรงงานในแคมป์ มีทั้งแรงงานที่ถูกกฎหมาย และแรงงานเถื่อน ถ้าจะบริจาคให้แรงงานผิดกฎหมายทำไม่ได้ เพราะแรงงานที่เราอยากช่วยมันก้ำกึ่งระหว่างถูกกฎหมายกับผิดกฎหมาย”

จากนั้น เบญจมาภรณ์ ก็เลยติดต่อหน่วยงานของรัฐ ที่ประกาศ สธ. เปิดทางให้ โดยติดต่อผ่านอาจารย์คณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งคณบดีคณะวารสารศาสตร์ พร้อมจะออกหนังสือรับบริจาคให้เพื่อไปติดต่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ปรากฏว่า ประกาศสธ. กำหนดให้ต้องเป็นหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวกับการแพทย์ สาธารณสุข หรือคณะแพทย์ศาสตร์ ของแต่ละมหาวิทยาลัย ซึ่งก็ติดปัญหาว่าจะให้แรงงานผิดกฎหมายไม่ได้

“แต่เราอยากช่วยให้มีการเทสต์แรงงานทุกคน เพราะไม่ว่าจะถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมาย ถ้าติดเชื้อขึ้นมาคนหนึ่ง ก็แพร่ไปถึงคนอื่นได้หมด และในแง่มนุษยธรรม มันเลือกตรวจไม่ได้”

ชุดตรวจโควิดที่ “เบญจมาภรณ์” ซื้อส่งมาบริจาค ที่มาภาพ : https://www.amazon.de/Anbio-Corona-Schnelltest-Selbsttest-St%C3%BCck/dp/B08ZYQXZKF
ชุดตรวจโควิดที่ “เบญจมาภรณ์” ซื้อส่งมาบริจาค มีบริษัทที่ขึ้นทะเบียน(23)กับอย.เพื่อนำเข้ายี่ห้อนี้ด้วย

สุดท้าย “เบญจมาภรณ์” ใช้วิธีโอนเงินให้เพื่อนในเมืองไทยเพื่อซื้อ Rapid Test แล้วไปบริจาคให้กลุ่มคนดูแลกันเอง ซึ่งเทียบกันแล้ว ถ้าซื้อที่เยอรมัน ชุดละ 80 เซ็นต์ ยี่ห้อ ANBIO ที่อย.อนุมัติให้ขายในไทยได้ เงินที่ได้รับบริจาค 70,000 บาท จะจัดซื้อได้ถึ 1.7-1.8 พันชุด ขณะที่จัดซื้อในไทยได้เพียง 250 ชุด เพื่อบริจาคให้ “กลุ่มคนดูแลกันเอง”

“เบญจมาภรณ์” บอกว่า Rapid Test ควรมีราคาถูก และให้คนไทยเข้าถึงได้ทุกคน โดยยกตัวอย่างที่เยอรมัน ที่ช่วงเชื้อโควิดแพร่ระบาดอย่างหนัก ทำให้คนเยอรมันเกิดความแตกตื่น กลัวการติดเชื้อมาก แค่ ไอ จาม ก็กลัวว่าตัวเองเป็นโควิด แล้วรีบไปหาหมอเพื่อตรวจหาเชื้อ รัฐบาลเลยมีนโยบายแจก Rapid Test ฟรีที่ร้านขายยา 1 คนสามารถรับตรวจฟรีได้ 1 เทสต์ต่อ 1 สัปดาห์ หรือไปที่จุดบริการตรวจฟรีได้ ทำให้คนเยอรมันลดความกังวลลง รวมทั้งลดภาระของแพทย์ในโรงพยาบาลอีกด้วย ประกอบกับมีการฉีดวัคซีนให้กับคนเยอรมันได้ถึง 80% ทำให้ยอดติดเชื้อและยอดผู้เสียชีวิตลดลงมา ตอนนี้เยอรมันกำลังจะปรับเปลี่ยนกฎ คือคนที่ฉีดวัคซีนแล้วยั สามารถตรวจแบบเร็วไม่เสียเงินที่จุดตรวจได้ ส่วนคนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนต้องเสียเงินตรวจจากเดิมที่เคยตรวจฟรี

“สิ่งที่อยากเสนอรัฐบาลคือ ตอนนี้คนไทยในเยอรมัน หรือที่อาศัยในยูโร อยากบริจาค Rapid Test ที่หาซื้อได้ง่ายและราคาถูกให้คนในประเทศไทย แต่ทำไม่ได้ เพราะติดขัดข้อกฎหมาย ในขณะที่คนไทยได้ค่าแรงวันละ 300 บาท แทบจะซื้อ Rapid Test ชุดละ 200-300 บาทได้ยาก อย่างพนักงาน GRAB ที่นำ Rapid Test ไปส่งให้ “กลุ่มคนดูแลกันเอง” พอรู้ว่า ที่เขาส่งเป็น Rapid Test เขาขอให้ตรวจตัวเขาบ้าง ซึ่งผลออกมาเป็นลบ เขาดีใจมาก และกลับมาบ้านเพื่อน ตะโกนขอบคุณ นี่เป็นตัวอย่างของคนที่อยากตรวจ”

จึงอยากให้รัฐบาลไทยผ่อนคลายกฎเกณฑ์บางอย่างให้คนไทยในต่างประเทศสามารถบริจาคได้ในช่วงเวลาที่ไทยมีการระบาดของเชื้อโควิดอย่างมาก ช่วยให้คนไทยที่อยากตรวจ แต่มีปัญหาเรื่องรายได้ หรือบางคนตกงาน สามารถมี Rapid Test ตรวจสอบก่อนได้ คลายความกังวลลงไป เป็นการผ่อนคลายชั่วคราว หลังจากสถานการณ์ดีขึ้นค่อยกลับไปเข้มงวดใหม่

“เบญจมาภรณ์” บอกว่า การบอกเล่าครั้งนี้ไม่ได้ต้องการสร้างความโกรธเคืองในหมู่คนที่ต้องการบริจาค แล้วไม่สามารถทำได้ เพราะเข้าใจรัฐที่ออกกฎเกณฑ์อะไรต่าง ๆ ต้องมีเหตุผล อาจจะเพราะกลัวว่าจะมีการใช้วิธีบริจาค แต่นำไปขายเพื่อการค้า ทำกำไรแทน แต่ในสถานการณ์ที่ไทยมีการระบาดอย่างหนัก อยากให้รัฐบาลไทยช่วยยืดหยุ่น เพื่อให้คนไทยได้ตรวจอย่างรวดเร็ว แยกคนติดเชื้อ ออกจากคนที่ไม่ติดเชื้อได้

พร้อมกล่าวต่อว่า “ส่วนเรื่องการบริจาค Rapid Test ก็ ยังจะทำต่อไป โดยจะเปลี่ยนเป้าหมายกลุ่มคนที่จะได้รับบริจาคใหม่ และมีการโทร.คุยกับอย. ที่ให้คำแนะนำขั้นตอนต่าง ๆ ดีมาก เพราะอยากทำให้ถูกกฎหมาย ไม่อยากให้ส่งของมาแล้วโดนยึด” เบญจมาภรณ์กล่าว