ThaiPublica > จับเท็จ: ประเด็น > รอชี้ ไฟไหม้บ่อขยะ เกิดจากการทิ้งกากสารอุตสหกรรมหรือไม่

รอชี้ ไฟไหม้บ่อขยะ เกิดจากการทิ้งกากสารอุตสหกรรมหรือไม่

30 พฤศจิกายน 2014


บริบท

พ.ต.ท. พงศ์อินทร์ อินทรขาว ลงตรวจพื้นที่บ่อขยะแพรกษาหลังกรณีเพลิงไหม้บ่อขยะเอกชนขนาด 150 ไร่ ณ ซอยแพรกษา 8 หมู่ 4  ต.แพรกษา จ.สมุทรปราการ เมื่อ 16 มีนาคม 2557 และใช้เวลากว่า 1 สัปดาห์ถึงจะดับไฟได้หมดในวันที่ 22 มีนาคม 2557

 

ภาพไฟไหม้บ่อขยะ

ขอบคุณภาพจากไทยโพสต์

นับว่าเป็นเหตุเพลิงไหม้บ่อขยะครั้งที่รุนแรงและส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยควันพิษจากไฟปกคลุมพื้นที่โดยรอบซึ่งเป็นเขตชุมชน จนต้องอพยพประชาชนออกจากพื้นที่กว่า 2,000 คน และประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติฉุกเฉินเพราะอากาศอันตรายอยู่ในระดับวิกฤติ

อีกทั้งควันดังกล่าวยังแพร่กระจายออกไปยังพื้นที่อื่นๆ  ถึงกรุงเทพฯ ในเขตประเวศ บางนา ลาดกระบัง คลองสามวา และบึงกุ่ม จนกระทั่ง 30 พฤษภาคม 2557 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและคณะรักษาความสงบแห่งชาติประชุมร่วมกันและกำหนดให้มี “การกำหนดการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยและน้ำเสียเป็นวาระแห่งชาติ (แบบบูรณาการทุกหน่วยงาน)”

วิเคราะห์ข้อมูล

พื้นที่บ่อขยะแห่งนี้เป็นของนายกลมพล สมุทรสาคร  เช่าทำบ่อขยะนี้ทำสัญญา 3 ปีระหว่างปี 2555-2557 โดยเช่าที่ดินของนางบุญไทย ตั้งเด่นไชย หรือเจ๊เช็ง จำนวน  30 ไร่ จาก 159 ไร่ เพื่อใช้เป็นที่รีไซเคิลขยะ  ในขณะที่ข่าวระบุว่าบ่อขยะมีขนาด 150 ไร่ ทั้งนี้นายกลมพลมีใบขออนุญาตทำบ่อขยะเพื่อรีไซเคิล จากองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แพรกษา  แต่เนื่องจากมีเรื่องร้องเรียนตลอดมาว่าบ่อขยะแหล่งนี้มีกลิ่นเหม็น และพบการลักลอบนำขยะอุตสาหกรรมมาทิ้ง จึงถูกปรับและ อบต.แพรกษาไม่ต่อใบอนุญาตให้ จนต้องปิดบ่อขยะไปเมื่อปี 2556

ทั้งนี้ ในช่วงแรกที่เกิดเพลิงไหม้ หน่วยงานราชการหลายฝ่ายยังไม่ยืนยันว่าบ่อขยะดังกล่าวมีกากของเสียอุตสาหกรรมหรือไม่ เพราะจากรายงานระบุว่าเป็นขยะชุมชน

ด้านนางกาญ มณีศรี อายุ 59 ปี คนคัดแยกขยะภายในบ่อขยะของนายกลมพล บอกว่า การทำธุรกิจของนายกลมพลมีการเปิดให้รถขนขยะเข้ามาทิ้งในพื้นที่เกือบทุกคืน โดยถ้าเป็นรถเล็กคิดค่าทิ้งรถละ 1,000 บาท แต่ถ้าเป็นรถใหญ่คิดค่าทิ้งรถละ  3,000 บาท ส่วนใหญ่ที่นำมาทิ้งเกินครึ่งนี้เป็นขยะอุตสาหกรรม เช่น เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ อะลูมิเนียม กล่องใส่ตะกั่ว รวมถึงน้ำของเสียจากอุตสาหกรรม โดยหลังจากมีรถนำมาทิ้ง เธอและครอบครัวจะเข้าไปเก็บเฉพาะขยะที่ขายได้ อาทิ  เหล็ก ขวด พลาสติก และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำมาหลอมเป็นตะกั่ว ขายให้กับนายกลมพลในราคาที่ต่ำกว่าร้านรับซื้อของเก่าด้านนอก โดยเขาจะเป็นผู้นำออกไปขายต่อเอากำไร และยังบังคับให้ขายเฉพาะในพื้นที่เท่านั้น

นายสุรพล ชามาตย์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวกับกรุงเทพธุรกิจว่า จากการตรวจสอบบ่อขยะที่แพรกษา พบขยะอุตสาหกรรมผสมอยู่ เช่น จาระบี กากอุตสาหกรรมจากโรงงานผลิตรองเท้าและหลายๆ  อย่าง อาจมีการลักลอบนำกากอุตสาหกรรมไปฝัง 

ในวันที่ 23 มีนาคม 2557 นางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวกับไทยโพสต์ว่า บ่อขยะแพรกษาเป็นที่ทิ้งขยะเทศบาล เป็นพื้นที่ทิ้งขยะเทศบาล ขยะชุมชน ต้องแยกทิ้งกับขยะอันตราย แต่กลับพบขยะอันตราย ทั้งที่ต้องนำไปกำจัดให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่แหล่งกำเนิดมลพิษหลีกเลี่ยงจ่ายแพง ลอบทิ้งขยะอุตสาหกรรม 

นอกจากนี้ดีเอสไอยังได้จะออกหมายเรียกนายกเทศบาลตำบลบางปูมาสอบปากคำหลังมีพยานพบรถขยะนำขยะที่เป็นกากอุตสาหกรรมไปทิ้งที่บ่อขยะแพรกษารวมถึงบุกเข้าจับกุมโรงงานเถื่อนในซอยบางปู 88 หลังทราบว่าเป็นสถานที่ลักลอบนำกากอุตสาหกรรมมาทิ้งที่บ่อแพรกษา แต่เจ้าของกิจการได้ปิดโรงงานหนี นอกจากนี้ยังพบว่า รถขยะทางเทศบาลตำบลบางปูมีส่วนเกี่ยวข้องในการขนย้ายขยะจากโรงงานไปทิ้งในบ่อขยะที่แพรกษา

ด้านนายภูวิช ยมหา ผู้อำนวยการส่วนบริหารคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ นายสุรพล ชามาตย์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นำกำลังเข้าตรวจสอบโรงงานหลายแห่ง พบข้อมูลกากของเสียอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงถึงกากของเสียอุตสาหกรรมที่พบในบ่อขยะแพรกษาดังนี้

 

  • โกดังโรงงานภายในซอยเทศบาลบางปู 88  ต.บางปูใหม่ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ พบแผ่นหนังสัตว์ ขนาดความกว้าง 1 เมตร ยาว 2 เมตร วางกองอยู่จำนวนมากและพบเศษชิ้นส่วนหนังสัตว์ที่เหลือจากการแปรรูปกองอยู่อีกจำนวนหนึ่ง ตรวจสอบพบว่า ลักษณะคล้ายกับชิ้นส่วนที่พบในกองขยะแพรกษา ซึ่งเจ้าหน้าที่เชื่อว่าอาจจะเป็นชิ้นส่วนที่นำออกไปจากสถานที่แห่งเดียว กันนี้ เจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมจึงเก็บตัวอย่างส่งไปตรวจสอบดีเอ็นเอว่าตรงกันหรือไม่
  • บริษัท RGB จำกัด เลขที่ 1088 ซึ่งเป็นโรงงานแยกชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จำพวกเครื่องคอมพิวเตอร์และจอทีวีหลายขนาดที่ใช้แล้ว ปรากฏว่าพบแรงงานชาวพม่าจำนวนมาก กำลังแยกชิ้นส่วนต่างๆ  ซึ่งคล้ายกับชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่พบในบ่อขยะ

ทั้งนี้ นายภูวิช ยมหา ผอ.ส่วนบริหารคดีพิเศษ ดีเอสไอ กล่าวว่า โรงงานที่ลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมในบ่อขยะแพรกษามีราว 200 โรง ดีเอสไอได้ออกหมายเรียกผู้เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ขนส่งและผู้กำจัดขยะ มาตรวจสอบโดยเก็บตัวอย่างกากอุตสาหกรรมจากโรงงานในบัญชีรายชื่อมาเปรียบเทียบกับกากอุตสาหกรรมที่พบในบ่อขยะแพรกษา 

 

คดีนี้ได้ยกขึ้นเป็นคดีพิเศษทั้งหมด เนื่องจากมีความผิดตาม  พ.ร.บ. อยู่หลายฐานความผิด ขณะที่การตรวจสอบรถขนขยะของเทศบาลบางปู พบว่าได้ขนขยะอุตสาหกรรมไปทิ้งจริง สอดคล้องกับสถานประกอบการที่ยืนยันว่า รถขยะเทศบาลเข้ามาขนขยะในโรงงานไปทิ้งตามกองขยะต่างๆ ในจังหวัด ซึ่งจะออกหมายเรียกทางเทศบาลบางปูมาสอบสวนว่าอนุญาตให้ขนขยะอุตสาหกรรมได้อย่างไร ในส่วนนี้ต้องล้วงลึกเข้าไปถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดด้วย และการตรวจสอบโรงงานกว่า 10 โรงในครั้งนี้ จับกุมดำเนินคดีแล้ว 7 โรง และจะทยอยจับกุมเรื่อยๆ  เพื่อบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง 

นอกจากนี้ยังมีภาพถ่ายขยะในบ่อขยะแพรกษา เช่น ม้วนด้าย ยาง ฟิล์ม  ฯลฯ ที่ชัดเจนว่าเป็นขยะที่มาจากอุตสาหกรรมแน่นอน 

ภาพเศษวัสดุอุตสาหกรรมผลิตเบาะ

 

ภาพเศษหนังสังเคราะห์

 

ภาพตะกอนจากระบบบำบัดน้ำเสีย

ขอบคุณภาพจาก pantip.com

ในวันที่ 9 เมษายน 2557 นายภูวิช ยมหา ผู้อำนวยการตรวจบริหารคดีพิเศษ ดีเอสไอ ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่ามีโรงงานที่เข้าข่ายลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมในบ่อขยะแพรกษาประมาณ 200 โรงงาน ซึ่งตอนนี้ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษแล้ว เพราะมีความผิดตามกฎหมายต่างๆ  เช่น พ.ร.บ.โรงงาน, พ.ร.บ.วัตถุอันตราย, พ.ร.บ.สาธารณสุข, พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม เป็นต้น และดำเนินการออกหมายเรียกให้บริษัทเหล่านี้เข้าชี้แจงรายละเอียดแล้ว” 

ทั้งนี้ พ.ต.ท. พงศ์อินทร์ อินทรขาว ให้สัมภาษณ์กับไทยพับลิก้าเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2557 ว่า ดีเอสไอไม่รับเป็นคดีพิเศษ เพราะกรมโรงงานอุตสาหกรรมตรวจพบกากของเสียอันตรายจริงแต่ไม่ใช่วัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ที่เข้าข่ายเป็นคดีพิเศษได้ ดีเอสไอจึงไม่ได้รับเป็นคดีพิเศษ

ลักษณะของคดีพิเศษ หรือคดีอาชญากรรมพิเศษในความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หมายถึง คดีอาญาตามกฎหมายกำหนดไว้ในบัญชีท้าย พระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2551) หรือคดีอาญาที่ได้กำหนดเป็นกฎกระทรวงโดยการเสนอแนะของคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.)

 

  1. คดีความผิดทางอาญาที่มีความซับซ้อน จำเป็นต้องใช้วิธีการสืบสวนสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเป็นพิเศษ
  2. คดีความผิดทางอาญาที่มีหรืออาจมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ความมั่งคงของประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือระบบเศรษฐกิจหรือการคลังของประเทศ
  3. คดีความผิดทางอาญาทีมีลักษณะเป็นคดีความผิดข้ามชาติที่สำคัญหรือเป็นการกระทำขององค์กรอาชญากรรม
  4. คดีความผิดทางอาญาที่มีผู้ทรงอิทธิพลที่สำคัญเป็นตัวการผู้ใช้หรือผู้สนับสนุน
  5. คดีความผิดทางอาญาที่มีพนักงานฝ่ายปกครองชั้นผู้ใหญ่หรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ซึ่งมิใช่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษหรือเจ้าหน้าที่คดีพิเศษเป็นผู้ต้องสงสัยเมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าน่าจะได้กระทำความผิดอาญา หรือเป็นผู้ถูกกล่าวหา หรือผู้ต้องหา

 

อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2557 ผู้สื่อข่าวได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของดีเอสไอ พ.ต.ท.พงศ์อินทร์ ระบุว่าผลการตรวจของเสียอุตสาหกรรมในบ่อขยะแพรกษาของกรมโรงงานระบุว่าไม่ใช่กากของเสียอุตสาหกรรมอันตราย จึงไม่ได้รับเป็นคดีนี้เป็นพิเศษ เนื่องจากไม่เข้าข่ายตาม พ.ร.บ. แนบท้ายคดีพิเศษ 

สรุป

จากข้อมูลข้างต้นพบว่าในบ่อขยะแพรกษามีกากของเสียอุตสาหกรรมจริงซึ่งยืนยันได้จากทั้งภาพถ่ายและคำพูดจากบุคลากรของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์  น้ำของเสียจากอุตสาหกรรม เศษหนัง ยาง เป็นต้น และต่อมาดีเอสไอโดยนายภูวิช ยมหา ผู้อำนวยการส่วนบริหารคดีพิเศษ ดีเอสไอ ได้ให้สัมภาษณ์ยืนยันกับสื่อว่า รับคดีบ่อขยะแพรกษาเป็นคดีพิเศษแล้ว

แต่จากการสัมภาษณ์ พ.ต.ท. พงศ์อินทร์ อินทรขาว เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2557 ยืนยันว่าไม่ได้รับเป็นคดีพิเศษเพราะไม่เข้าข่ายตาม พ.ร.บ. แนบท้ายคดีพิเศษ เนื่องจากผลการตรวจของเสียอุตสาหกรรมในบ่อขยะแพรกษาของกรมโรงงานระบุว่าไม่ใช่กากของเสียอุตสาหกรรมอันตราย

ดังนั้นคำกล่าวของ พ.ต.ท. พงศ์อินทร์ อินทรขาว ที่ว่า “หากกรมโรงงานอุตสาหกรรมตรวจพบชัดเจนว่ามีการลักลอบทิ้งขยะอุตสาหกรรม ทางดีเอสไอพร้อมขยายผลและนำเป็นคดีพิเศษทันที” อยู่ในเกณฑ์ที่ “เป็นจริง”
 

ป้ายคำ :