ThaiPublica > จับเท็จ: ประเด็น > ประยุทธ์ยันไม่ปฏิวัติ

ประยุทธ์ยันไม่ปฏิวัติ

6 สิงหาคม 2014


ช่วงนาทีที่ 3.08-3.54

บริบท

เนื่องจากสถานการณ์การชุมนุมขับไล่รัฐบาลที่ต่อเนื่องมาจากการคัดค้านพระราชบัญญัติ “นิรโทษกรรม” และการทุจริตคอร์รัปชั่นของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อีกทั้งมีประกาศจะทำการปิดกรุงเทพฯ ในวันที่ 13 มกราคม 2557 สภาวะทางการเมืองมีท่าทางไม่สู้ดีทำให้เกิดการตั้งคำถามต่อ ผบ.ทบ.ว่าจะมีการเข้าแทรกแซงทางการเมืองโดยการปฎิวัติ รัฐประหารหรือไม่ ซึ่งคำถามนี้ทาง พล.อ.ประยุทธก็โดนถามตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ.แต่ก็ได้กล่าวปฎิเสธทุกครั้ง พร้อมยืนยันว่าทหารจะไม่เข้ามายุ่งกับการเมือง

 

ก่อนหน้านี้การรัฐประหารในหลายครั้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยล้วนมีกองทัพเป็นกำลังสำคัญ อีกทั้งในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาได้เกิดการรัฐประหารไปแล้วถึง 2 ครั้งด้วยกัน คือ การรัฐประหารรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแหล่งชาติ (รสช.)ในปี 2534 โดยมีพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ เป็นหัวหน้าคณะ และการรัฐประหารรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร โดยคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ซึ่งมีพลเอก สนธิ บุญยรัตกลินเป็นหัวหน้าคณะ ในปี 2549 ทำให้กองทัพเป็นที่จับตาของหลายฝ่าย

 

วิเคราะห์ข้อมูล

และแล้วเหตุการณ์ทางการเมืองก็ดำเนินมาถึงจุดแตกหัก เมื่อสถานการณ์ไม่สามารถหาทางออกได้ กลับกันยังทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ มีผู้บาดเจ็บล้มตายเพิ่มขึ้นไม่เว้นวัน สภาพการเมืองเกือบอยู่ในภาวะสุญญากาศ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้นายกรัฐมนตรีรักษานางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร "พ้นจากตำแหน่ง" การการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา 2 กุมภาพันธ์ 2557 ก็เป็นโมฆะ

 

ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 จึงมีการ "ประกาศกฎอัยการศึก" จาก ผบ.ทบ. และในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช) นำโดยพล.อ.ประยุธจึงประกาศรัฐประหาร มีการประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ทำการปิดสื่อ และมีคำสั่งเคอร์ฟิว ห้ามประชาชนออกจากเคหะสถานหลังเวลา 22.00 น.

 

“เพื่อให้สถานการณ์ดังกล่าวกลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ประชาชนในชาติเกิดความรัก ความสามัคคี เช่นเดียวกับห้วงที่ผ่านมา ตลอดจนเพื่อเป็นการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และอื่นๆ เพื่อให้เกิดความชอบธรรมกับทั่วทุกฝ่าย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วย กองทัพบก กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงมีความจำเป็นต้องเข้าควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศ ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 เวลา 16.30 เป็นต้นไป” พล.อ.ประยุทธ กล่าวในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)

 

ความแตกต่างระหว่าง “ปฏิวัติ” และ “รัฐประหาร”

 

ปฏิวัตกับรัฐประหาร ต่างกันนะ

 

ตามสถิติประเทศไทยมีการทำรัฐประหารทั้งหมด 17 ครั้ง (ยังไม่นับครั้งนี้) มีการปฏิวัติ แค่ครั้งเดียว

สถิติรัฐประหารในไทย

 

ความแตกต่างระหว่างคำ 2 นี้คือ “การปฏิวัติ” คือ การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากรูปแบบหนึ่งไปสู่อีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2475 ที่คณะราษฎร์ ได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย

ส่วน “รัฐประหาร” คือ การใช้กำลังในการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐบาลโดยฉับพลัน แต่ระบอบการปกครองยังคงเดิม

 

จากที่ คสช. ได้ทำการบริหารบ้านเมืองมาเป็นเวลา 3 เดือนเศษ ปัจจุบันประเทศไทยได้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับที่ 19 จัดร่างโดย คสช. ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 ซึ่งในรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. นี้ มาตรา 2 วรรคแรก ยังคงระบุว่า

"ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"

มาตรา 3 ระบุไว้ว่า "อํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อํานาจนั้นทางสภานติิบัญญัติแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้"

และมาตรา 4 ระบุว่า "ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทย ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้"

จะเห็นได้ว่าตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญประเทศไทยยังคงปกครองภายใต้ระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เช่นเดิม และอำนาจอธิปไตย รวมไปถึง สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ของประชาชนยังคงได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้

 

สรุป

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีการประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 50 แต่ในปัจจุบันได้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ขึ้นมา และในบทบัญญัติยังระบุว่าประเทศไทยยังคงใช้ระบอบการปกครองเดิม คือ "ระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข " อำนาจอธิปไตย รวมไปถึง สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ของประชาชนยังคงได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ

ดังนั้นการที่ คสช. เข้าปลดรัฐบาล และเข้ามาบริหารประเทศในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จึงเป็นเพียงการทำ "รัฐประหาร" ทำให้คำกล่าวของพล.อ.ประยุทธ ที่ว่า “ไม่ว่าเหตุการณ์การชุมนุมใหญ่ ในวันที่ 9 ธันวาคม (การชุมของ กปปส.) จะเป็นอย่างไร ทหารก็จะไม่ปฏิวัติ จึงอยู่ในเกณฑ์ “เป็นจริง”

ป้ายคำ :