ThaiPublica > จับเท็จ: ประเด็น > ศอ.รส.ประกาศเตือน ขัดขวางการรับสมัคร ส.ส. มีความผิด

ศอ.รส.ประกาศเตือน ขัดขวางการรับสมัคร ส.ส. มีความผิด

5 สิงหาคม 2014


บริบท

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีขณะนั้น ประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 สืบเนื่องจากมีผู้ชุมนุมจากหลายฝ่ายออกมาชุมนุมคัดค้านการออก "พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ…"

 

ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย” หรือที่ถูกเรียกว่า “พ.ร.บ.เหมาเข่ง” เป็นพระราชบัญญัติที่ส่อแววเอื้อผลประโยชน์ให้คนผิดมากกว่าที่จะช่วยเหลือผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม อีกทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคประชาธิปัตย์จำนวน 153 คน ยังประกาศลาออก

 

เมื่อนางสาวยิ่งลักษณ์ประกาศยุบสภาจึงได้กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ขึ้นตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556 กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป โดยให้การเลือกตั้งมีขึ้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 และดำเนินการรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ในวันที่ 23 ธันวาคม 2557

 

แต่ทางกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. ที่นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาคัดค้านการเลือกตั้งที่ถูกกำหนดขึ้น และเสนอแนวทางปฏิรูปประเทศโดยการตั้ง “สภาประชาชน” โดยอ้างว่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้ประชาชนได้ใช้สิทธิและอำนาจของตนอย่างแท้จริง และประกาศชัดเจนว่าจะดำเนินการทุกวิถีทางไม่ให้การเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 การรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้ง และการเลือกตั้งล่วงหน้า เกิดขึ้นหรือประสบความสำเร็จได้

 

วิเคราะห์ข้อมูล

ในการแสดงออกเพื่อขัดขวางการรับสมัครเลือกตั้งของกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. นั้น ในกรณีนี้ไม่มีบทลงโทษชี้ชัดใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งฯ 2550 ในมาตรา 43 แต่อย่างใด ตามบริบทอาจเทียบเคียงได้ว่า การขัดขวางการรับสมัครผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งดังกล่าวมีเจตนามุ่งมิให้มี "การเลือกตั้ง" เกิดขึ้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ดังนั้นจึงเทียบเคียงบทลงโทษได้กับ "การขัดขวางการเลือกตั้ง"

 

พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส สว

 

สำหรับกรณีของการขัดขวางการเลือกตั้งนั้น นายพิชิต ชื่นบาน ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย นายสมชัย ศรีสุทธิยากร และนายเฉลิม อยู่บำรุง ได้ออกมากล่าวเตือนกลุ่มผู้ชุมนุมที่ยืนยันเดินหน้าขัดขวางการเลือกตั้ง เสียงเตือนที่อ้างกฎหมายพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 แต่กลับมีการอ้างมาตรา และกำหนดโทษแตกต่างกันออกไป

 

ซึ่งเมื่อเปิดดูข้อมูลกฎหมายจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง พร้อมทั้งนำไปเทียบกับ พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวก็พบว่า ตามกฎหมายนี้มีมาตราที่เกี่ยวข้องกับความผิดในการขัดขวางการเลือกตังอยู่ 4 มาตราด้วยกัน คือ

 

มาตรา 112 พรบ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส สว

 

มาตรา 76 ที่กำหนดข้อห้ามในการขัดขวางการเลือกตั้ง กับมาตรา 152 ที่กำหนดบทลงโทษ และ มาตรา 112 (1) ที่กำหนดข้อห้ามในการเข้าไปขัดขวางการทำงานของคณะกรรมการเลือกตั้ง โดยที่กำหนดบทลงโทษตามมาตรานี้ไว้ว่า ‘ความผิดมีโทษจำคุก 1 ปี – 5 ปี หรือปรับ 20,000 บาท – 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี’ หรือมีวัตถุประสงค์ทุจริตในกระบวนการเลือกตั้ง กับมาตรา 154 ที่กำหนดบทลงโทษตามมาตรานี้ไว้ว่า ‘ความผิดมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ’

 

สรุป

จากข้อมูลกฎหมายเบื้องต้นทำให้เห็นว่า การขัดขวางการเลือกตั้งนั้นมีความผิดหลายประการ นอกจากจะมีโทษทางอาญาแล้วยังเป็นการกระทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีโทษหนัก แต่จากการอ้างอิงกฎหมายของทาง ศอ.รส. จะสังเกตได้ว่ามีการเข้าใจผิดในตัวกฎหมาย พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550

 

ดังนั้นคำกล่าวที่ว่า “การชุมนุมขัดขวางการสมัครรับเลือก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรวันนี้(23 ธ.ค.) ถือเป็นการกระทำผิดกฎหมาย ฐาน ขัดขวางการปฏิบติหน้าหน้าที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 มาตรา 43 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” ของพลตำรวจตรีปิยะ อุทาโย โฆษกศูนย์ ศอ.รส.  จึงอยู่ในเกณฑ์ “เป็นเท็จ”

ป้ายคำ :