ThaiPublica > Sustainability > Social Change/Project > คืนชีวิตให้(คนทำ) “กะปิน้ำเช้า-กะปิน้ำค่ำ” เกาะลิบง ทรัพยากรสร้างรายได้อย่างยั่งยืน

คืนชีวิตให้(คนทำ) “กะปิน้ำเช้า-กะปิน้ำค่ำ” เกาะลิบง ทรัพยากรสร้างรายได้อย่างยั่งยืน

6 พฤษภาคม 2025


เกาะลิบง …ทรัพยากรสร้างรายได้ การอนุรักษ์ก็จะยั่งยืน

ชุมชนเกาะลิบง จังหวัดตรัง มีเอกลักษณ์วัฒนธรรม วิถีชีวิต และทรัพยากรธรรมชาติที่ส่งเสริมเศรษฐกิจจากการประมงและการท่องเที่ยว พร้อมทั้งมีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล หลายคนที่ไปเยี่ยมชมเกาะลิบง คงจะคุ้นตากับบรรดาร้านขายกะปิจำนวนไม่น้อย แต่รู้หรือไม่ว่า ร้านค้าเหล่านี้ไม่ได้ผลิตกะปิด้วยตนเอง แต่มักจะรับมาจากผู้ผลิตบนฝั่งเพื่อนำกลับมาขายให้นักท่องเที่ยวบนเกาะอีกที ส่วนหนึ่งเพราะวิถีภูมิปัญญาการทำกะปิกุ้งเคยของชาวเกาะลิบงที่สืบทอดจากคนรุ่นก่อนกำลังเลือนหายไป แต่สำคัญยิ่งกว่านั้น คือชุมชนมองไม่เห็นโอกาสว่าการทำกะปิจะสร้างรายได้ที่ยั่งยืน เลี้ยงปากท้องของครอบครัวให้มั่นคงได้อย่างไร

ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง จึงนำกระบวนการวิจัยเข้าสู่แวดวงคนทำกะปิกุ้งเคยเพื่อหาทางออกให้กับปัญหาดังกล่าว โดยมี ดร.อนันตนิจ ชุมศรี เป็นหัวหน้าโครงการ “การสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์กะปิจากกุ้งเคยด้วยการยกระดับมาตรฐานการผลิตของผู้ประกอบการสู่การเป็นผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์ของจังหวัดตรัง” ร่วมกับกรอบการวิจัย “การพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการในพื้นที่ (Local Enterprises) บนฐานทรัพยากรพื้นถิ่น เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่” หน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

ดร.อนันตนิจ กล่าวว่า ภาพรวมการผลิตกะปิกุ้งเคยในจังหวัดตรังมีสัดส่วนน้อยลงมาก ยากไปกว่านั้นคือการหากะปิกุ้งเคยแท้ที่มีคุณภาพ รสชาติดี และปลอดภัย จึงใช้เรื่องของการ ‘ยกระดับห่วงโซ่คุณค่า’ มาจัดการงานวิจัย โดยเชื่อมโยงบุคคลที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่ตั้งแต่ ‘คนจับกุ้งเคย’ หรือกลุ่มชาวประมง ‘ผู้รวบรวมวัตถุดิบ’ ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้รับซื้อและเตรียมกุ้งเคย ‘ผู้แปรรูปกะปิ’ และ ‘ผู้ขาย’ รวมทั้งหมด 11 กลุ่ม จากบริเวณชายฝั่งโดยรอบเกาะลิบงให้มาเจอกัน เพราะมองว่าทุกคนในห่วงโซ่ล้วนมีส่วนในการยกระดับเศรษฐกิจชุมชนให้ประสบผลสำเร็จ เกิดเป็นห่วงโซ่คุณค่าผลิตภัณฑ์กะปิจากกุ้งเคยที่มีคุณภาพ โดยมีคานงัดสำคัญคือ การปรับเปลี่ยน Mindset การทำธุรกิจของ Local Enterprises โดยเฉพาะผู้แปรรูปหรือผู้ประกอบการชุมชน และยกระดับมาตรฐานในกระบวนการผลิตให้ถูกสุขลักษณะ สะอาด ปลอดภัย มีคุณภาพสูง รสชาติดี ซึ่งทีมวิจัยได้บูรณาการองค์ความรู้จากห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์เข้ากับภูมิปัญญาของชุมชนในกระบวนการผลิต “กะปิน้ำเช้า-กะปิน้ำค่ำ” อัตลักษณ์กะปิเกาะลิบง จังหวัดตรัง เพื่อยกระดับคุณภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกะปิกุ้งเคย และต่อยอดสู่ตลาดอาหารของคนรักสุขภาพ เป็นผลิตภัณฑ์กะปิเค็มน้อย และกะปิคีโต ไร้น้ำตาล เป็นต้น ที่สำคัญต้องขายได้ในราคาที่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการชุมชนด้วย

สำหรับ‘กลุ่มผู้แปรรูปกะปิ’ ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนคือ ‘วิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยว และพัฒนาอาชีพเกาะลิบง’ ซึ่งพัฒนาสู่การเป็นผู้ประกอบการเพียงรายเดียวในเกาะลิบง ที่แปรรูปกะปิกุ้งเคยด้วยตนเอง และจำหน่ายเอง เป็นผลจากที่ทีมวิจัยลงพื้นที่เข้าไปส่งเสริมและพัฒนาให้ชุมชนเห็นความสำคัญของการสร้างมูลค่าเพิ่มจากทุนภูมิปัญญาท้องถิ่นอีกครั้ง จึงเป็นพื้นที่สำคัญในการเคลื่อนงานวิจัย โดยมี นางสาวรมิดา สารสิทธิ์ หรือจ๊ะเซาะ ประธานวิสาหกิจชุมชนฯ เสาหลักของการเคลื่อนงานในพื้นที่ผ่านบทบาทของ “นวัตกรชุมชน”

นางสาวรมิดา กล่าวว่า งานวิจัยนี้ไม่เพียงคืนชีวิตให้กะปิเกาะลิบง แต่ยังคืนชีวิตให้กับครอบครัวตนเอง และสมาชิกวิสาหกิจชุมชนฯ อีกหลายครอบครัวให้ลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง เพราะคนบนเกาะลิบงนั้นส่วนใหญ่ผู้ชายจะทำประมง ส่วนผู้หญิงบ้างก็ขับรถมอเตอร์ไซค์พ่วงข้างรับนักท่องเที่ยว แต่ส่วนใหญ่ผู้หญิงจะไม่มีอาชีพ ไม่มีรายได้

“ที่ผ่านมาแม้จะทำงานพัฒนาชุมชนหลายอย่าง แต่ยิ่งทำ ยิ่งจน ยิ่งทำ ยิ่งเป็นหนี้ แต่งานวิจัยนี้ให้จุดเปลี่ยนสำคัญ พลิกชีวิตพวกเราด้วยหลักคิดในการจัดการเงินสำหรับส่วนธุรกิจและส่วนครัวเรือน และสำคัญที่สุดคือการจุดประกายให้ชุมชนเห็นคุณค่าและเห็นช่องทางเพิ่มมูลค่าให้กับ ‘กะปิกุ้งเคย’ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่อยู่ในวิถีชีวิตเรามายาวนาน”

นางสาวรมิดา สารสิทธิ์ หรือจ๊ะเซาะ ประธานวิสาหกิจชุมชนฯ

นางสาวรมิดา กล่าวอีกว่า กะปิน้ำเช้า-กะปิน้ำค่ำ เป็นภูมิปัญญาคู่ชุมชนเกาะลิบงที่มีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย แต่ที่ผ่านมาเราละเลยไป แม้จะทำกะปิอยู่บ้าง แต่ก็ทำไปตามความรู้สึก บ้างก็รับจากฝั่งมาขายเพียงกิโลกรัมละ 120 บาท ได้กำไรกระปุกละ 10-20 บาทเท่านั้น แต่วันนี้เราสามารถขายกะปิกิโลกรัมละ 400 บาท หรือบางออร์เดอร์เราขายได้ในราคาสูงกว่านั้น จากการเชื่อมโยงเครือข่ายกับแพรับซื้อกุ้งเคยในพื้นที่บ้านเกาะเคี่ยม อำเภอกันตัง ซึ่งเป็นหนึ่งในห่วงโซ่คุณค่าของงานวิจัยนี้ ทำให้ตลอดปีที่ผ่านมาวิสาหกิจชุมชนฯ ของเราสามารถแปรรูปกะปิได้มากถึง 2 ตัน เกิดรายได้หมุนเวียนเดือนละประมาณ 50,000 บาท ทั้งยังต่อยอดการแปรรูปไปยังผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ใช้กะปิเป็นวัตถุดิบเป็นส่วนผสมได้อีกมากมาย ที่สำคัญรายได้ยังหมุนเวียนไปสู่สมาชิกวิสาหกิจชุมชนฯ ที่มาร่วมผลิตกะปิอย่างสม่ำเสมอด้วย บางคนก็ชวนลูกหลานมาทำด้วยกัน โดยอัตราค่าจ้างจะลดหลั่นกันไปตามความยากง่ายของหน้าที่ ตั้งแต่วันละ 100 – 300 บาทต่อคน

ทางด้าน ดร.อนันตนิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการกลุ่มนี้แล้ว การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ การส่งต่อโอกาสและสร้างรายได้ให้กับครอบครัวเปราะบาง หรือครอบครัวยากจนในพื้นที่ของห่วงโซ่คุณค่าผ่านการจ้างงาน ซึ่งมีสัดส่วนการสร้างงานในพื้นที่เพิ่มขึ้นถึง 30 เปอร์เซ็นต์ โดยความเปลี่ยนแปลงนี้เริ่มตั้งแต่ชาวประมงหรือคนจับกุ้งเคยหากเขาใส่ใจในรายละเอียดล้างกุ้งเคยให้สะอาดมากขึ้นกว่าปกติ ผู้รวบรวมหรือแพรับซื้อกุ้งเคยบ้านเกาะเคี่ยมก็จะให้ราคาเพิ่มขึ้นกิโลกรัมละ 10 บาท จากนั้นผู้รวบรวมจะนำกุ้งเคยมาจัดเตรียมตามออร์เดอร์จากผู้แปรรูปหรือผู้ประกอบการกลุ่มต่าง ๆ อีกที เนื่องจากผู้ประกอบการแต่ละเจ้าก็จะมีสูตรเฉพาะในการทำกะปิของตัวเอง (Made by Order) ดังนั้นความต้องการกุ้งเคย เทคนิค กระบวนการหมักก็อาจจะมีสัดส่วนที่ต่างกันไปบ้าง แต่ก็จะใช้องค์ความรู้จากงานวิจัยนี้เป็นหลักสำคัญ

โดมพาราโบลา นวัตกรรมลดเวลาตากและมาตรฐานความสะอาด

ทั้งนี้วิสาหกิจชุมชนฯ ที่เกาะลิบง ต้องการกุ้งเคยสะอาด และต้องตากแห้งก่อนนำไปหมักด้วยดอกเกลือ เพื่อผลิตกะปิน้ำเช้า ซึ่งจะให้รสเค็มน้อยและสีสวยธรรมชาติ ดังนั้นในส่วนผู้รวบรวมที่บ้านเกาะเคี่ยม ก็จะต้องเพิ่มกระบวนการตากและคัดเกรดกุ้งเคยอย่างประณีต นั่นหมายความว่า “ต้องมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น” ในส่วนนี้ เพื่อเตรียมกุ้งเคยให้ตอบโจทย์ผู้แปรรูปหรือผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนฯ ที่เกาะลิบง ดังนั้นกุ้งเคยแบบ Made by Order ของผู้รวบรวมพื้นที่บ้านเกาะเคี่ยมก็จะถูกรับซื้อในราคาสูงขึ้น เช่น จากเดิมผู้ประกอบการรับซื้อกุ้งเคยกิโลกรัมละ 25 บาท แต่เมื่อเป็นกุ้งเคยตากแห้งจะให้ราคาเพิ่มขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 55 บาท (ซึ่งเป็นราคาของกุ้งเคยสดก่อนตาก) โดยแบ่งเป็นสัดส่วนรายได้ของผู้รวบรวม 45 บาท และอีก 10 บาทต่อกิโลกรัม ใช้เป็นค่าแรงเพื่อจ้างงานคนตากกุ้งเคย ซึ่งส่วนมากคือแม่บ้านชาวประมงในชุมชนที่ต้องการรายได้เสริม ดังนั้นจึงเกิดการกระจายรายได้ที่เพิ่มขึ้น ตั้งแต่ชาวประมงที่จับกุ้งเคย ผู้รวบรวม คนคัดเกรดและตากกุ้งเคยด้วยนั่นเอง

สร้างรายได้ให้กับครอบครัวเปราะบาง หรือครอบครัวยากจน เพิ่มขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์

“ประสบการณ์ทำงานวิจัยกรอบ Local Enterprises (LE) กับ บพท. ทำให้รู้ว่า ความสำเร็จของงาน LE มาจากความเชื่อมั่นในตัวนักวิจัย ดังนั้นในกระบวนการพัฒนาคุณภาพกะปิกุ้งเคย ทีมวิจัยจึงเน้นอย่างยิ่งในการเปิดใจและเปิดมุมมองทำให้ผู้ประกอบการเห็นความสำคัญของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ เปลี่ยน Mindset ให้เข้าใจว่าของดี ๆ นั้นมีผลต่อการตัดสินใจของคนซื้อหรือลูกค้ามากเพียงใด ซึ่งตรงนี้จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้เขาพร้อมก้าวไปข้างหน้ากับเราเสมอ ส่วนเป้าหมายต่อไปของวิสาหกิจชุมชนฯ เกาะลิบง เราต้องหนุนเสริมให้เขาก้าวไปสู่การขอรับมาตรฐานฮาลาลและ อย. ให้ได้ และยกระดับคุณภาพต่อไปอย่างเป็นลำดับในอนาคต” ดร.อนันตนิจ กล่าว

ทั้งนี้ นางสาวรมิดา ประธานวิสาหกิจชุมชนฯ เกาะลิบง กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน รูปแบบการทำธุรกิจของตนเองและวิสาหกิจชุมชนฯ เกาะลิบงเปลี่ยนไปแล้ว จากเมื่อก่อนเราทำตามความรู้สึก ไม่เคยวางแผนการผลิต ไม่ใส่ใจในคุณภาพวัตถุดิบเท่าที่ควร มีอย่างไรก็ขายเท่านั้น ไม่เคยคำนวณกำไร-ต้นทุน จัดการการเงินไม่เป็น รายได้เกือบเป็นศูนย์ แต่วันนี้เราเป็นมืออาชีพ เราคิดเป็น ต่อยอดได้ มีของขายสม่ำเสมอ จัดการเงินอย่างเป็นระบบ และยังกลายเป็นศูนย์กลางของชุมชนเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ของสมาชิกมาวางจำหน่ายที่หน้าร้านของวิสาหกิจชุมชนฯ ด้วย ที่สำคัญยังคงทำหน้าที่ ‘นวัตกรชุมชน’ ส่งต่อและขยายองค์ความรู้ที่ได้รับมาให้กับผู้อื่นที่สนใจต่อไป

วิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยว และพัฒนาอาชีพเกาะลิบง กับทีมวิจัย

อย่างไรก็ตาม กะปิเป็นสินค้าที่ขายไม่ง่ายนัก เราจึงต้องหาวิธีให้ลูกค้าที่มาเที่ยวเกาะลิบงได้ชิมกะปิกุ้งเคยของเรา โดยนำกะปิมาแปรรูปเป็นน้ำปลาหวาน มันกุ้ง หรือทำเมนูอาหารอื่น ๆ ให้ลูกค้าได้ชิมและซื้อกลับบ้านไปด้วย และเนื่องจากบนเกาะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมากที่สนใจวิถีชีวิตชุมชน เราจึงกำลังต่อยอดไปในเรื่องของ Cooking Class เป็นคอร์สประสบการณ์ให้นักท่องเที่ยวได้ทดลองทำอาหารที่มีกะปิเป็นส่วนผสม ก็จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางสร้างรายได้ในพื้นที่

“จากงานวิจัยนี้ทำให้มีหลายหน่วยงานในจังหวัดตรัง มองเห็นและเชื่อมั่นในคุณภาพกะปิกุ้งเคยแท้ 100 เปอร์เซ็นต์ ของชุมชนเรา หลายแห่งเข้ามาดูงานและเรียนรู้จากเรา หลายแห่งพร้อมเข้ามาสนับสนุนต่อยอดในเรื่องอื่น ๆ ต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ภูมิใจที่สุด คือวันนี้วิสาหกิจชุมชนฯ เกาะลิบงของพวกเราเข้มแข็ง และมีหลักยืนที่ชัดเจนในแบบของตนเอง เราสามารถเลือกและตัดสินใจเองได้ว่าอยากจะก้าวเดินไปต่อในเส้นทางใด” นางสาวรมิดา กล่าว