ThaiPublica > เกาะกระแส > ภาษีทรัมป์มีนัยยะมากกว่าเรื่อง “ภาษี” แต่เป็นยุทธศาสตร์ “ระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่” ที่ให้ประโยชน์แก่สหรัฐฯ

ภาษีทรัมป์มีนัยยะมากกว่าเรื่อง “ภาษี” แต่เป็นยุทธศาสตร์ “ระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่” ที่ให้ประโยชน์แก่สหรัฐฯ

9 เมษายน 2025


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : WTO

แผนการของ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ประกาศใช้ “ภาษีตอบโต้” กับประเทศคู่ค้าทั่วโลก ทำให้รัฐบาลประเทศต่างๆแข่งขันที่จะขอโทรศัพท์ติดต่อไปยังทำเนียบขาว ส่งคณะผู้แทนการค้าไปเจรจากับสหรัฐฯ และเสนอที่จะลดอัตราภาษีนำเข้า เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกเก็บภาษีตอบโต้ ที่ทรัมป์ได้ประกาศออกมาเมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา

กลุ่ม EU เสนอลดอัตราภาษีเหลือศูนย์สำหรับรถยนต์และสินค้าอุตสาหกรรมจากสหรัฐฯ โดยสหรัฐฯต้องมีโยบายแบบเดียวกัน ผู้นำเวียดนามเสนอที่จะยกเลิกการเก็บภาษีสินค้าสหรัฐฯ ส่วนอินโดนีเซียจะส่งผู้แทนระดับสูงไปเจรจาโดยตรงกับสหรัฐฯ แม้แต่เลโซโธ ประเทศในแอฟริกาใต้ ไม่มีทางออกทะเล จะส่งผู้แทนไปสหรัฐฯ เพราะถูกเก็บภาษีสินค้าส่งออกคือ กางเกงยีนแคลวิน ไคล์น และลีวาย

ทรัมป์ส่งสัญญาณไม่แน่นอน

ทรัมป์และที่ปรึกษาส่งสัญญาณไม่ชัดเจนว่า สหรัฐฯยินดีจะเจรจาประเทศคู่ค้าหรือไม่ ทรัมป์บอกว่า ภาษีตอบโต้จะยังมีผลใช้บังคับ จนกว่าการขาดดุลการค้าสหรัฐฯจะหายไป ความหมายก็คือ สหรัฐฯจะขายสินค้ามากขึ้นกว่าที่จะซื้อสินค้ามากขึ้นจากประเทศเหล่านี้ แต่ที่ปรึกษาทรัมป์บางคนบอกว่า ยินดีรับข้อเสนอจากต่างประเทศ

แต่ทรัมป์ก็ประกาศว่า “ประเทศจากทั่วโลกกำลังหารือกับเรา กำลังกำหนดแนวทางที่เข้มงวดและยุติธรรมขึ้นมา” ทรัมป์ยังกล่าวกับนักข่าวบนเครื่องบิน Air Force One ว่า จะไม่เปลี่ยนนโยบายภาษีกับประเทศอื่นๆ จนกว่าการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯกับจีน EU และประเทศอื่นๆ จะหมดไป สหรัฐฯยินดีจะตกลงกับจีน แต่จีนต้องแก้ปัญหาการได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐฯ

ยุทธศาสตร์เบื้องหลัง “ภาษีทรัมป์”

Jennifer Burns จากมหาวิทยาลัย Stanford เขียนบทความลงใน New York Times เกี่ยวกับยุทธศาสตร์สหรัฐฯ ที่อยู่เบื้องหลังนโยบายภาษีทรัมป์ว่า ท่ามกลางความปั่นป่วน ก็มีสิ่งที่เป็นแบบแผนความเป็นระเบียบอยู่

จริงๆแล้ว ภาษีทรัมป์ไม่ใช่เรื่อง “ภาษี” แต่เป็นแผนปฏิบัติการทำลายระเบียบเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์โลก เพื่อแทนที่ด้วยบางอย่างที่รับใช้ผลประโยชน์สหรัฐฯได้ดีกว่า

แผนการดังกล่าวเรียกกันว่า “ข้อตกลงมาร์-อา-ลาโก้” (Mar-a-Lago Accord) ที่แก้ไขปรับปรุงโดยทรัมป์ Scott Bessent รัฐมนตรีคลัง และ Stephen Miran ประธานคณะที่ปรึกษาเศรษฐกิจทำเนียบขาว ข้อตกลงนี้ต้องการทำให้ฐานะทางการค้าสหรัฐฯดีขึ้น โดยการใช้ภาษีและการข่มขู่ เพื่อบังคับให้โลกยอมรับวิธีการรุนแรง คือการทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวลง ผ่านจากข้อตกลงเรื่องค่าเงิน การลดค่าเงินดอลลาร์จะทำให้การส่งออกสหรัฐฯแข่งขันได้มากขึ้น สร้างแรงกดดันเศรษฐกิจต่อจีน และเพิ่มการผลิตอุตสาหกรรมในสหรัฐฯ

Jennifer Burns กล่าวว่า ความไม่พอใจที่มีต่อสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง คือสิ่งที่เป็นสภาพความเป็นจริง ความไม่พอใจเหล่านี้คือ สิ่งที่ผลักดันให้เกิดแผนการดังกล่าว การพ่ายแพ้ของอุตสาหกรรมการผลิตของสหรัฐฯ การพัฒนาหลังสงครามเย็น ที่โลกเชื่อมโยงกันทางเทคโนโลยี แต่ชะตากรรมถูกกำหนดจากการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ ดังนั้น ความพยายามที่จะปรับเปลี่ยนระเบียบเศรษฐกิจโลกบางอย่างขึ้นมาใหม่ จึงเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลต่อสหรัฐฯ

แต่การใช้วิธีการเผาไร่เพื่อปลูกพืชใหม่ขึ้นมา ตามข้อตกลง Mar-a-Lago ก็ไม่ใช่คำตอบ ข้อพิสูจน์อย่างหนึ่ง ไม่มีนักเศรษฐศาสตร์ที่อยู่นอก “วงในของทรัมป์” คนไหนเห็นว่าเป็นแนวคิดที่ดี นอกจากนี้ หากสหรัฐฯจะรุ่งเรืองขึ้นมาใหม่จากแนวคิดนี้ ก็ต้องแลกเปลี่ยนกับค่านิยมหลักทางเศรษฐกิจและการเมือง ที่เคยทำให้สหรัฐฯยิ่งใหญ่อย่างแท้จริงมาแล้ว

ปัญหาเงินดอลลาร์แข็งค่า

บทความของ Jennifer Burns กล่าวว่า ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ที่มีความกังวลต่อค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งตัว ปี 1985 กลุ่ม G-5 เคยมีข้อตกลงดำเนินการลดค่าเงินดอลลาร์ลง เรียกว่า Plaza Accord 1985 เพราะในทศวรรษ 1980 ธนาคารกลางสหรัฐฯใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยสูง เพื่อต่อสู้กับปัญหาเงินเฟ้อ ทำให้เงินทุนต่างประเทศไหลเข้าสหรัฐฯ ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งตัว และสินค้าอเมริกาแพงในตลาดโลก

ข้อตกลง Plaza Accord ช่วยลดการดุลการค้าของสหรัฐฯ แต่แนวโน้มพื้นฐานยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ดอลลาร์ยังเป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ การซื้อขายน้ำมันและทองกำหนดเป็นเงินดอลลาร์ ต่างประเทศถือพันธบัตรกระทรวงการคลังสหรัฐฯ เป็นหลักทรัพย์ประกันความเสี่ยง และรักษาเสถียรภาพค่าเงินตัวเอง

แต่สิ่งที่รัฐบาลทรัมป์มองภาวะปัจจุบันก็คือว่า ฉากทัศน์ที่เลวร้ายของอนาคตได้มาถึงแล้ว อุตสาหกรรมการผลิตอเมริกาตกต่ำ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจกระจายกว้าง และสหรัฐฯแบกรับภาระการชำระหนี้สิน เพื่อให้การปกป้องทางทหารแก่ประเทศพันธมิตร

ที่มาภาพ : wikimedia commons

คู่มือปรับโครงสร้างการค้าโลก

เดือนพฤศจิกายน 2024 Stephen Miran เขียนเอกสารชื่อ “A User’s Guide to Restructuring the Global Trading System” กล่าวว่า แนวคิดของทรัมป์ที่มีมาหลายสิบปีคือปฏิรูประบบการค้าโลก และนำอุตสาหกรรมของอเมริกัน กลับมาอยู่บนพื้นฐานที่ยุติธรรม เมื่อเปรียบเทียบกับนานาประเทศ

รากเหง้าความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจอยู่ที่เงินดอลลาร์ มีค่าสูงเกินไปอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่มาจากการที่สินทรัพย์ในรูปดอลลาร์ ทำหน้าที่เป็นเงินทุนสำรองของโลก การสูงค่าของดอลลาร์ จึงเป็นอุปสรรคต่อการปรับความสมดุลของการค้าระหว่างประเทศ สร้างภาระแก่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตสหรัฐฯ แต่เป็นคุณประโยชน์ต่อภาคการเงิน และให้ประโยชน์แก่คนอเมริกันที่มั่งคั่ง

เนื่องจากทรัมป์ชื่นชมฐานะของดอลลาร์ที่เป็นเงินทุนสำรอง และขู่จะลงโทษประเทศที่ยกเลิกการใช้เงินดอลลาร์เป็นเงินทุนสำรอง Stephen Miran กล่าวว่า เขาจึงเสนอนโยบายการแบ่งรับภาระให้แก่บรรดาประเทศคู่ค้า และประเทศหุ้นส่วนความมั่นคง แทนที่จะยกเลิกการใช้เงินดอลลาร์เป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ “ประเทศที่ต้องการอยู่ในความตกลงทางทหารกับสหรัฐฯ ต้องอยู่ภายใต้ความตกลงการค้ายุติธรรมกับสหรัฐฯด้วย” การที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯมีรายได้เพิ่มขึ้น จะช่วยให้สหรัฐฯสามารถแบกรับภาระต้นทุนต่างๆ และการทำหน้าที่เป็นสินทรัพย์เงินทุนสำรองแก่เศรษฐกิจโลก

Stephen Miran กล่าวว่า หากอเมริกาไม่เต็มใจที่จะแบกรับสถานภาพเดิมอีกต่อไป ก็จะดำเนินการที่จะเปลี่ยนแปลงสภาพที่เป็นอยู่ วิธีการมีทั้งดำเนินการฝ่ายเดียวหรือหลายฝ่าย วิธีการจะเน้นที่อัตราภาษีหรือค่าเงิน ที่ล้วนมีเป้าหมายเพิ่มความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรมอเมริกา นโยบายเหล่านี้ไม่น่าจะมีผลทำให้อุตสาหกรรมมูลค่าเพิ่มต่ำ เช่น โรงงานการตัดเย็บเสื้อผ้าจากบังคลาเทศ ย้ายกลับมาสหรัฐฯ แต่จะช่วยรักษาอุตสาหกรรมมูลค่าเพิ่มสูงยังอยู่หรือย้ายกลับมาสหรัฐฯ

แนวคิดข้อตกลง Mar-a-Lago ที่กล่าวมาจะได้ผลหรือไม่ Jennifer Burns บอกว่า มีนักเศรษฐศาสตร์ไม่กี่คนที่คิดว่าจะได้ผล แต่จำนวนมากพยากรณ์เรื่องความเสียหายที่จะเกิดขึ้นตามมา เพราะมีความเสี่ยงมากมายจากความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจ สิ่งที่เป็นทรัพย์สินมีค่าที่สุดของสหรัฐฯ ไม่ใช่ดอลลาร์ แต่เป็นความรับผิดชอบ และความน่าเชื่อถือ ซึ่งหมายถึงการยึดมั่นซื่อสัตย์ในหลักการ และการยึดถือค่านิยม

เอกสารประกอบ
There’s a Method to Trump’s Tariff Madness, Jennifer Burns, April 7, 2025, nytimes.com
A User’s Guide to Restructuring the Global Trading System, Stephen Miran, November 2024, Hudson Bay Capital