
ตลาดหุ้นเอเชียร่วงหนักทั้งภูมิภาคในวันจันทร์(7 เม.ย.)ตามตลาดหุ้นสหรัฐที่ร่วงลงแรงเมื่อวันศุกร์ หลังจากจีนตอบโต้มาตรการภาษีของระธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ทำให้กังวลว่าสงครามการค้าโลกจะทวีความรุนแรงและจะนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย
เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 2 เมษายน 2568 ตามเวลากรุงวอชิงตัน ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ประกาศมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้(reciprocal tariffs) ที่จะเรียกเก็บจากกว่า 180 ประเทศและเขตปกครอง
จีนซึ่งถูกเรียกเก็บภาษี 20% สำหรับการค้าเฟนทานิลอยู่แล้ว จะถูกเรียกเก็บเพิ่มอีก 34% แต่ก็เป็นครึ่งหนึ่งของภาษี 67% ที่เรียกเก็บจากสหรัฐฯ ทำให้ภาษีใหม่นี้เพิ่มขึ้นเป็น 54%
ต่อมากระทรวงพาณิชย์ของจีนเปิดเผยเมื่อวันศุกร์(4 เมษายน) ว่าจีนจะจัดเก็บภาษีสินค้าจากสหรัฐฯ ทั้งหมด 34% มีผลตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน การดำเนินการของจีนในการตอบโต้ภาษีของทรัมป์นั้นสูงกว่าภาษีแบบที่สหรัฐเก็บในอัตราที่เท่ากัน(reciprocal tariffs) จากจีน และจีนได้เพิ่มบริษัทหลายแห่งเข้าไปในรายชื่อที่เรียกว่า unreliable entities list ซึ่งระบุว่าบริษัทเหล่านี้ได้ละเมิดกฎเกณฑ์ตลาดหรือข้อผูกมัดตามสัญญา นอกจากนี้ จีนยังได้เปิดการสอบสวนการผูกขาดต่อบริษัทดูปองต์เมื่อวันศุกร์
ตลาดหุ้นเอเชียร่วงลงทั้งภูมิภาคจากแรงเทขาย นำโดยตลาดหุ้นฮ่องกง จากความกลัวต่อสงครามการค้าโลกที่เกิดจากมาตรการภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ทำให้นักลงทุนเลี่ยงความเสี่ยง
เช้าวันจันทร์ (7 เม.ย.)ตลาดหุ้นเอเชียร่วงหนักทั้งภูมิภาค จากการแรงเทขายหุ้น นำโดยตลาดหุ้นฮ่องกง จากความกลัวต่อสงครามการค้าโลกที่เกิดจากมาตรการภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ทำให้นักลงทุนเลี่ยงความเสี่ยง และเก็งว่าความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยอาจทำให้อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ปรับลดลงอย่างเร็วสุดในเดือนพฤษภาคม
การเทขายที่เป็นผลจากมาตรการภาษีตอบโต้ของประธานาธิบดีทรัมป์แห่งสหรัฐฯอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่นและไต้หวันต้องใช้มาตรการ Circuit Breaker เซอร์กิตเบรกเกอร์ (มาตรการที่นำมาใช้กรณีที่สภาวะการซื้อขายมีความผันผวนรุนแรง) ส่งผลให้ต้องพักการซื้อขายชั่วคราว(Halt) เพื่อหยุดการขายแบบตื่นตระหนก(panic selling) ของนักลงทุน
ครั้งสุดท้ายที่มีการใช้มาตรการ Circuit Breaker จากการเทขายหุ้นคือในเดือนมีนาคม 2020 ในช่วงเริ่มต้นของการระบาดของ COVID-19
ในญี่ปุ่นการใช้มาตรการ “เซอร์กิตเบรกเกอร์” ส่งผลให้หยุดการซื้อขายเป็นเวลา 10 นาที เซอร์กิตเบรกเกอร์เริ่มทำงานเมื่อเวลา 8.45 น. ตามเวลาโตเกียว เมื่อผลิตภัณฑ์ซื้อขายล่วงหน้า Nikkei 225(Nikkei 225 futures) ซึ่งมีการซื้อขายกันอย่างแพร่หลายมีแนวโน้มจะร่วงลงมากกว่า 8% และมีผลต่อสัญญาฟิวเจอร์สอื่นๆ อีกหลายรายการ ตามรายงานของ The Wall Street Journal โดยเซอร์กิตเบรกเกอร์สิ้นสุดลงใน 10 นาทีต่อมา โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการซื้อขายแบบสปอต(spot trading วิธีการซื้อและขายสินทรัพย์ที่อัตราตลาดปัจจุบัน)ซึ่งเป็นการซื้อและขายหุ้นโดยตรงในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว
ในการซื้อขายช่วงเช้าวันจันทร์ที่ประเทศญี่ปุ่น ดัชนี Nikkei 225 ร่วงลงถึง 6.5% ซึ่งฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อยหลังจากที่ร่วงลงเกือบ 9% ในช่วงเช้า
ปิดตลาดภาคเช้าวันจันทร์ดัชนีหุ้น Nikkei ร่วงลง 6.5% หลังจากร่วงลงเกือบ 3,000 จุดในช่วงหนึ่ง และแตะระดับต่ำสุดในรอบ 18 เดือน อีกทั้งยังต่ำกว่าระดับ 33,000 จุดเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2567 จากการเทขายอย่างต่อเนื่องท่ามกลางความวิตกที่เพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับสงครามการค้าที่เกิดจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ
ใน Prime Market หุ้นทุกกลุ่มอุตสาหกรรมร่วงลง นำโดยกลุ่มโลหะที่ไม่ใช่เหล็ก กลุ่มประกันภัย และกลุ่มธนาคาร
หุ้นที่ร่วงลงมากที่สุดคือ Mizuho Financial Group ซึ่งราคาหุ้นร่วงลง 10.6% หุ้น Mitsubishi UFJ Financial Group ร่วงลง 10.2% เนื่องจากนักลงทุนตื่นตระหนกเกี่ยวกับผลกระทบของสงครามการค้าต่อเศรษฐกิจโลก
เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเล็กน้อยสู่ขอบบนสุดของระดับ 144 เยน เนื่องจากนักลงทุนหันไปหาเงินเยนซึ่งถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยท่ามกลางความไม่แน่นอนเกี่ยวกับภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ และผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก
เมื่อเที่ยงวัน ตามเวลาญี่ปุ่น เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวที่ 146.62-63 เยน เทียบกับ 146.83-93 เยนในนิวยอร์ก และ 146.27-29 เยนในโตเกียว เมื่อเวลา 17.00 น. ของวันศุกร์
ด้านตลาดหุ้นไต้หวันได้ใช้มาตรการ Circuit Breaker หลังดัชนี Taiex ร่วงลง 9.8% เมื่อเปิดตลาด หลังกลับมาซื้อขายอีกครั้งจากหยุดยาวสุดสัปดาห์ ตลาดหุ้นไต้หวันปิดทำการในวันพฤหัสบดีและวันศุกร์ ซึ่งเป็นช่วงที่มูลค่าหุ้นทั่วโลกลดลงหลายล้านล้านดอลลาร์ และประเทศต่างๆ พยายามจำกัดผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีของทรัมป์ แต่นักลงทุนไต้หวันยังไม่ทันได้ขานรับมาตรการภาษีของทรัมป์
เมื่อวันอาทิตย์ หน่วยงานกำกับดูแลการเงินหลักของไต้หวัน ได้ประกาศห้ามการขายชอร์ต(short selling)เป็นการชั่วคราว โดยมีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาด เนื่องจากคาดการณ์ว่า เมื่อเปิดตลาดวันจันทร์หุ้นจะร่วงลงแรง จากการที่ไต้หวันโดยเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐสูงกว่าคาด
คณะกรรมการกำกับดูแลทางการเงินไต้หวัน (Financial Supervisory Commission )ระบุในแถลงการณ์ว่า จะจำกัดจำนวนหุ้นที่สามารถขายชอร์ตได้ และเพิ่มอัตราส่วนมาร์จิ้นการขายชอร์ตขั้นต่ำเป็น 130% จาก 90% มาตรการนี้จะเริ่มมีผลตั้งแต่วันจันทร์และสิ้นสุดในวันศุกร์ ขณะที่ผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ไต้หวันระบุว่าจะมีการดำเนินการตามมาตรการรักษาเสถียรภาพเพิ่มเติมหากจำเป็นเพื่อรับมือกับความผันผวนของตลาด
ที่ผ่านมาไต้หวันซึ่งเป็นผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงรายใหญ่ที่สุดในโลก และมีดุลการค้าเกินดุลกับสหรัฐอเมริกาจำนวนมาก พยายามดำเนินการเพื่อไม่ให้ถูกเก็บภาษีตามที่ทรัมป์ขู่ไว้ โดยให้คำมั่นว่าจะลงทุนในสหรัฐฯ มากขึ้น และซื้อพลังงานจากสหรัฐฯ มากขึ้น แต่ไต้หวันก็ยังคงโดนเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 32% ไม่รวมชิปเซมิคอนดักเตอร์
เช้านี้หุ้นของบริษัทสำคัญของไต้หวัน รวมถึงผู้ผลิตชิป TSMC และยักษ์ใหญ่ด้านอิเล็กทรอนิกส์ Foxconn ลดลงเกือบ 10%
ในเกาหลีใต้ดัชนี Kospi ของเกาหลีใต้ร่วงลงมากกว่า 4.8% ในเวลาไม่นานหลังจากเปิดตลาด โดยมีการระงับการซื้อขายเป็นเวลา 5 นาที เนื่องจากมีการใช้ circuit breaker เพื่อป้องกันการเทขายแบบตื่นตระหนก และดัชนี Kospi ปิดตลาดเช้าลดลง 5.57%
ตลาดหุ้นจีนซึ่งปกติแล้วมักไม่ตามแนวโน้มของโลก ก็ร่วงลงเช่นกัน โดยตลาดหุ้นฮ่องกงร่วงลงมากที่สุดในภูมิภาค โดยดัชนี Hang Seng ลดลง 12.6% ขณะที่ดัชนี Hang Seng Tech ร่วงลง 16.67% ในชั่วโมงสุดท้ายของช่วงเช้า
ดัชนี Shanghai Composite ร่วงลง 7.34% ดัชนี CSI 300 ของจีนแผ่นดินใหญ่ร่วงลง 7.05% นับเป็นการร่วงลงรายวันครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว
ตลาดจีนได้รับผลกระทบจากการที่จีนตอบโต้มาตรการขึ้นภาษีของทรัมป์ จากความเห็นของ ฉี หวาง หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนด้านบริการบริหารความมั่งคั่งของ UOB Kay Hian ในรายการ “The China Connection” ของ CNBC เมื่อวันจันทร์ ในระยะสั้น เขาคาดว่า “ตลาดจะซื้อขายจากปฏิกิริยาเหล่านี้”
หวังกำลังจับตาดูการตอบสนองอย่างเป็นทางการจากสหภาพยุโรป ซึ่งระบุว่ากำลังเตรียมการตอบโต้ที่อาจเกิดขึ้นจากสหรัฐฯ ไปจนถึงการตอบสนองล่าสุดของจีน และการตอบสนองของจีนต่อการตอบสนองก็อิงตามแนวทางที่สหรัฐฯ ใช้
หวังมองไปที่ความเชื่อมั่นทางการเมืองในสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องจากผู้บริโภค “ไม่พอใจกับเรื่องนี้อย่างแน่นอน และคะแนนนิยมของทรัมป์กำลังได้รับผลกระทบ”
เมื่อวันศุกร์ ตลาดหุ้นฮ่องกงและตลาดหุ้นจีนปิดทำการเนื่องในวันเช็งเม้ง ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ปิดทำการเนื่องในวันเด็ก
ตลาดหุ้นอื่นๆ ก็เผชิญกับภาวะตกหนักเช่นกัน หุ้นในสิงคโปร์ลดลง 7.97% ดัชนี ASX 200 หุ้นบลูชิพของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นดัชนีอ้างอิงของบริษัทจดทะเบียน 200 แห่งที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ก็ร่วงลง 4.23% หลังจากเปิดทำการซื้อขายในวันจันทร์ไม่กี่นาทีหลังจากเปิดทำการ
หุ้นอินเดียลดลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน โดยดัชนี Nifty 50 ลดลง 4.26% ขณะที่ดัชนี BSE Sensex ลดลง 4.32%
เมื่อเย็นวันอาทิตย์ ทรัมป์กล่าวกับผู้สื่อข่าวบนเครื่องบินแอร์ ฟอร์ซ วันว่าเขาไม่ได้ตั้งใจที่จะทำให้ตลาดหุ้นทรุด แต่ปฏิเสธที่จะคาดการณ์ว่าตลาดหุ้นจะซื้อขายอย่างไรในอนาคต
เจ้าหน้าที่เศรษฐกิจระดับสูงของทรัมป์ปัดความกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อและภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยระบุว่าจะคงการขึ้นภาษีต่อไป ไม่ว่าตลาดจะเคลื่อนไหวอย่างไรก็ตาม
U.S. stock futures ปรับตัวลงในวันนี้ บ่งชี้ว่า ตลาดสหรัฐฯ ยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัว จากที่ร่วงหนักในปลายสัปดาห์ก่อน และจะได้รับผลกระทบมากขึ้นเมื่อตลาดเปิดทำการในวันจันทร์ โดยDow Jones Industrial average futures ลดลง 2.68% ส่วน S&P 500 futures ลดลง 3.34% และNasdaq-100 futures ลดลง 4.26%