ผู้เชี่ยวชาญธรณีวิทยาชี้แผ่นดินไหวเตือนภัยล่วงหน้าไม่ได้ “ญี่ปุ่น-อเมริกา” เตือนภัยก่อนได้แค่ 4 วินาที-1 นาที ขณะที่ระบบเตือนภัยของไทยล่าช้า แนะทางออกเตรียมรับมือ ทบทวนอาคาร สิ่งปลูกสร้างให้แข็งแรง ให้ความรู้ประชาชนในพื้นที่ 16 รอยเลื่อน เพื่อสร้างความปลอดภัย

แผ่นดินไหวขนาด 8.2 แมกนิจูด จากรอยเลื่อนสะกาย มีจุดศูนย์กลางอยู่ในเมือง มัณฑะเลย์ ในประเทศเมียนมา ส่งผลให้ เกิดแรงสั่นสะเทือนมาถึงกรุงเทพฯในวันที่ 28 มี.ค. 2568 ที่ผ่านมา นอกจากสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ยังมีคำถามร่วมกันโดยเฉพาะ “การแจ้งเตือนภัย” ที่เรียกว่าเกือบจะซ้ำรอยในทุกเหตุการณ์ภัยพิบัติ
การแจ้งเตือนภัยที่ล่าช้า สร้างความสับสนในการปฏิบัติตัว เพราะส่วนใหญ่พึ่งเคยมีประสบการณ์แผ่นดินไหวครั้งแรก โดยพบว่ามีการแจ้งเตือนหลังเกิดเหตุล่าช้ากว่า 2 ชั่วโมง
เวลา 13.20 น. เกิดแผ่นดินไหวเกิดขึ้นที่เมียนมา และเวลา 13.25 น.คนกรุงเทพฯ รับรู้แรงสั่นสะเทือนจากพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และ กรุงเทพฯ ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีการแจ้งเตือนเหตุการณ์ แต่ด้วยสัญชาตญาณพื้นฐาน ทุกคนจึงคาดเดาว่า “เกิดแผ่นดินไหว” และวิ่งออกจากตึก
เวลาประมาณ 13.35 น กรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งข้อความเข้าในกลุ่มไลน์สื่อมวลชนว่า เกิดเหตุแผ่นดินที่เมียนมา ขนาด 7.4 และออกหนังสือประกาศเป็นทางการในเวลา 14.14 น และ ออกประกาศย้ำอีกครั้งในเวลา 15.18 น
เวลา 14.40 น. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ข้อความเตือนจากกรมอุตุนิยมวิทยา ก็ได้ส่งข้อความให้ กสทช. แจ้งเตือนประชาชนทันที 4 ครั้ง เริ่มตั้งแต่เวลา 14.42 น. ซึ่งกสทช. แจ้งต่อทันทีในเวลา 14.44 น. ในพื้นที่ 4 จังหวัด กทม.และปริมณฑล แต่สามารถทยอยส่งได้คราวละ 1-2 แสนรายเท่านั้น เนื่องจากระบบ Cell Broadcast ยังไม่เริ่มใช้งานได้
เวลาประมาณ 14.58 น ประชาชนบางส่วนได้รับข้อความ บางส่วนได้รับข้อความตอน 19.15 น และ เวลา 21.00 น ของวันนั้น โดยบางคนได้รับข้อความข้ามถัดมาอีกวัน และยังมีประชาชนจำนวนมากยังไม่ได้รับข้อความดังกล่าว
ขั้นตอนการส่งข้อความเตือนภัยที่ล่าช้า ดูจะสวนทางกับการเตือนภัยแผ่นดินไหวที่ต้องใช้เวลารวดเร็วแตกต่างจากภัยพิบัติอื่นๆ ทำให้สังคมตั้งคำถามถึงความพร้อมของระบบเตือนภัย โดยเฉพาะการเตือนภัยแผ่นดินไหวสามารถทำได้มากน้อยแค่ไหน และในเวลาเท่าไร เพื่อลดความสูญเสียที่จะเกิดได้

“สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า” ได้พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญแผ่นดินไหวว่าการเตือนภัยแผ่นดินไหวทำได้มากน้อยแค่ไหน รศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า การเตือนภัยแตกต่างจากภัยพิบัติทั่วไป เพราะไม่มีใครรู้ล่วงหน้าว่าจะเกิดแผ่นดินไหวขึ้นเมื่อไหร ดังนั้นการเตือนภัยแผ่นดินไหวจึงทำได้ใน 2 ลีลา โดยในลีลาแรก คือ เตือนก่อนเกิดเหตุ โดยบอกว่า พื้นที่บริเวณไหนมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวได้ โดยคำเตือนในลีลาแรก มีประโยชน์ ในเรื่องของการเตรียมความพร้อมรับมือในพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหว เช่น การสร้างบ้านเมืองให้แข็งแรงเพื่อรองรับแผ่นดินไหว กักตุนอาหาร เรียนรู้การปฏิบัติตัวเมื่อเกิดเหตุการณ์ หรือ ซ้อมอพยพ ทำให้เกิดความคล่องตัวหากเกิดเหตุการณ์จริง
“การเตือนภัยในลีลาแรกมีประโยชน์ในเรื่องของการเตรียมตัวเพราะว่ายังไม่เกิดเหตุการณ์ โดยประเทศไทยมีพื้นที่เฝ้าระวัง จากแผนที่รอยเลื่อนที่มีพลัง 16 รอยเลื่อนของกรมทรัพยากรธรณี ซึ่งสามารถเตรียมความพร้อมให้คนในพื้นที่มีรอยเลื่อนพาดผ่าน มีความรู้ในการรับมือ และการออกแบบบ้านเรือนที่แข็งแรงมากกว่าในพื้นที่ไม่มีรอยเลื่อนพาดผ่าน เพราะโอกาสเกิดขึ้นมีแน่นอน แต่จะเกิดเมื่อไหรไม่มีใครรู้”
เตือนก่อนเกิดเหตุได้ไม่เกิน 4 วินาที-1นาที
การเตือนภัยในลีลาที่สอง คือ เมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวแล้ว ต้องรีบเตือนให้ทัน ซึ่งถือเป็นความท้าทายของไทยว่าจะทำระบบอย่างไร เมื่อเกิดเหตุการณ์แล้วเตือนภัยให้รวดเร็ว เนื่องจากการเกิดแผ่นดินไหวทำนายล่วงหน้าไม่ได้ แตกต่างจากงกรณีของการเกิดพายุที่จะเห็นตั้งแต่เขาก่อตัว และสามารถใช้เรดาร์จับและบอกได้ว่าพายุกำลังจะมา
“แผ่นดินไหวเป็นสายกระโชกโฮกฮาก เขาเกิดขึ้นแล้วใส่เราเลย ไม่มีเวลาให้ตั้งตัว แต่จะมีช่วงเวลาสั้นๆที่สามารถบอกได้กำลังจะมีแผ่นดินไหว โดยการเกิดแผ่นดินไหว 1 ครั้งจะปล่อยคลื่อนออกมา 4 ตัว โดย 2 ตัวแรกจะเกิดขึ้นก่อนเป็นคลื่นขนาดเล็กไม่รุนแรง และยังไม่สร้างภัยพิบัติ หลังจากนั้นจะปล่อยคลื่นออกมาอีก 2 คลื่นขนาดใหญ่และสร้างภัยพิบัติ โดยระยะห่างระหว่าง 2 คลื่นแรกกับ2 คลื่นหลัง มีตั้งแต่ 4 วินาที 45 วินาที หรือ 1 นาทีกว่า ขึ้นอยู่กับจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวเทียบกับระยะห่างจากจุดศูนย์กลาง”
รศ.ดร.สันติ บอกว่า การเตือนภัยล่วงหน้าก่อนเกิดแผ่นดินไหวจึงสามารถเกิดขึ้นได้ในระยะเวลาสั้นๆระหว่าง 2 คลื่นแรกกับ 2 คลื่นหลังคือในช่วงเวลาตั้งแต่ 4 วินาที ไปจนถึง 1 นาที ด้วยระบบเตือนภัยฉุกเฉิน ที่เรียกว่า Earthquake early Warning system ประเทศที่ใช้ระบบนี้คือ ญี่ปุ่น และอเมริกา เท่านั้น ซึ่งระบบเตือนภัยแบบนี้ต้องลงทุนสูงกว่าหมื่นล้านบาท และต้องมีสถานีวัดแผ่นดินไหวเป็นเครือข่ายตาสับปะรด โดยญี่ปุ่นมี 3,000 สถานี ขณะที่ไทยมีเพียง 100 กว่าสถานีเท่านั้น
“ในประเทศที่มีความเสี่ยงแผ่นดินไหวอย่างญี่ปุ่น,อเมริกา เขาต้องลงทุนระบบการตรวจวัด แต่ระบบเตือนภัยนี้จะใช้ได้กับประเทศที่มีการ เตรียมพร้อม มีการฝึกซ้อม และมีวินัยเมื่อเกิดเหตุการณ์ เพราะการเตือนภัยจะใช้เวลาสั้นมากแค่ 4 วินาที -1 นาที ซึ่งมีความหมายในการลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นได้ เช่น ญี่ปุ่น 4 วินาที สามารถเตือนคนในรถไฟฟ้า หรือคนที่อยู่ในตึกให้ออกมาอยู่ในจุดที่ปลอดภัยได้ ช่วยลดความสูญเสียได้อย่างมหาศาล”
แผ่นดินไหวบอกล่วงหน้าไม่ได้ แต่เตรียมรับมือได้
รศ.ดร.สันติ กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่ได้อยู่ในพื้นที่ความเสี่ยงที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ ทำให้การลงทุนด้วยระบบเตือนภัยที่เรียกว่า Earthquake early Warning system ต้องใช้งบประมาณสูงจึงอาจจะไม่คุ้ม แต่การเตือนภัยก่อนเกิดเหตุแผ่นดินไหว เราสามารถทำได้ เช่น การสร้างอาคารให้แข็งแรงรองรับแผ่นดิน การตรียมความพร้อมของประชาชนในพื้นที่เสี่ยงแผ่นดินไหว โดยเฉพาะในพื้นที่ 16 รอยเลื่อนที่มีพลังตามแผนที่ของกรมทรัพยากรธรณี
“สิ่งที่ผมกลัวคือความวูบวาบในช่วงแรกของคนไทย เราจะมีการซักซ้อมเตรียมตัวกันมากในช่วงแรก และเราจะเริ่มหย่อนเมื่อเวลาผ่านไป เราไม่สามารถสร้างการเตรียมพร้อมแบบต่อเนื่องได้ แต่เมื่อเราหย่อนเหตุการณ์ก็จะเกิดขึ้นทุกครั้ง เช่น ตอนเกิดคลื่นสึนามิ เราก็ตื่นเต้น แต่ตอนนี้เราเริ่มลืม และผมเชื่อว่าอีกไม่นาน เราจะหย่อนเรื่องของรอยเลื่อนสกาย พอเราเริ่มหย่อน ภัยพิบัติก็จะกลับมา”
แน่นอนที่สุด คือ แผ่นดินไหวจากรอยเลื่อนสกาย จะเกิดขึ้นอีกล้านเปอร์เซ็นต์ เพราะที่ผ่านมาเคยเกิดแผ่นดินไหว มาแล้วหลายสิบครั้ง อย่างเช่นในปี 1902 เกิดแผ่นดินไหวแมกนิจูด 8.0 และในปี 1934 แผ่นดินไหวแมกนิจูด 7.3 แมกนิจูด เหตุการณ์ทั้งสองครั้งได้สร้างความเสียหายในหลายเมืองของเมียนมา เช่น ที่เมืองพะโค เมียนมา ในปี 1934 แต่ในเวลานั้นแม้ส่งผลกระทบกับไทย แต่ความเสียหายเกิดขึ้นไม่มากเพราะเมืองยังไม่กระจุกตัวเหมือนในปัจจุบัน
“แผ่นดินไหวครั้งนี้ เขาแค่มาตามนัด และทุกครั้งรอยเลื่อนสะกายไม่ได้เกรี้ยวกราดรุนแรงขึ้น ทุกอย่างยังเหมือนเดิม ซึ่งในอนาคต เขาจะกลับมาอีกตามวัฏจักรของเขาคือประมาณ 50-80 ปี เพียงแค่เราไม่รู้ว่าจะมาเมื่อไหร”
รศ.ดร.สันติ บอกว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ประชาชนรับรู้ในวงกว้าง คือ แผ่นดินไหว ไม่ใช่ภัยพิบัติที่คาดการณ์ได้ แต่ต้องวางแผนตั้งรับมือ โดยเราสามารถนำเอานิสัยของรอยเลื่อนแต่ละตัวได้ ว่ารอบการเกิดได้สูงสุดของเขาใหญ่สุด เท่าไหร่ และเอาตัวแปรนั้นมาใช้ในการออกแบบก่อสร้างอาคาร เราสามารถทำอาคารเป็นพื้นที่หลบภัยได้ เช่น ญี่ปุ่น เกิดแผ่นดินไหวเขาไม่ออกจากตึก เพราะฉะนั้นภัยแผ่นดินไหวเราออกแบบเพื่อรับมือได้
เช่นเดียวกับความเห็นของ รศ. ดร.ปัญญา จารุศิริ รองประธานมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ บอกว่าไม่มีใครในโลกที่เตือนภัยแผ่นดินไหวได้ก่อนเหตุการณ์ แม้แต่ในญี่ปุ่นที่มีเกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้งก็สามารถเตือนภัยก่อนได้แค่ 4 วินาทีท่านั้น แต่นั่นหมายถึงการลงทุนมหาศาล มีเครือข่ายการตรวจสอบแผ่นดินไหวแบบถี่ยิบจำนวนมาก แต่แค่ 4 วินาทีของญี่ปุ่นมีความหมาย สามารถลดความสูญเสีย ทำให้คนในรถไฟใต้ดินวิ่งไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยได้ 4 หมื่นคน
“การเกิดขึ้นของแผ่นดินไหวบอกล่วงหน้าไม่ได้ เกิดขึ้นเร็วแบบโดมิโน คลื่นแผ่นดินไหว วิ่งเร็วมาก และจะกระจายรอบทิศ จากจุดศูนย์กลาง นักธรณีคาดการณ์ไม่ได้ บอกได้แต่เพียงว่าลักษณะการเกิดแผ่นดินไหวเป็นแบบไหน แบบแนวตั้งหรือแนวนอน และการวิเคราะห์จะเกิดขึ้นหลังเกิดขึ้นเหตุการณ์แล้วเท่านั้น”

เตรียมตัวและเฝ้าระวัง 16 รอยเลื่อนในไทย
รศ. ดร.ปัญญา บอกว่า การแจ้งเตือนหลังเหตุการณ์ต้องรวดเร็ว ทันท่วงที ถ้าล่าช้ายิ่งหมายถึงความเสียหายที่เกิดกับชีวิตและทรัพย์สินที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นแม้การเตือนภัยล่วงหน้าก่อนเกิดแผ่นดินไหวทำไม่ได้ แต่การเตรียมตัวเพื่อรับมือทำได้ โดยเฉพาะในพื้นที่มีความเสี่ยงตามแผนที่ 16 รอยเลื่อนที่มีพลังของกรมทรัพยากรธรณี
“การลงทุนเตือนภัยเรื่องแผ่นดินไหว ต้องให้ความสำคัญกับความพร้อมรับมือแผ่นดินไหวที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์รอยเลื่อนสะกาย คนเริ่มตื่นตัว เพราะที่ผ่านมาเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเตรียมรับมือเพราะไม่ได้อยู่ในพื้นที่เสี่ยง แต่เหตุการณ์แผ่นดินไหวสะกายทำให้เราต้องมาทบทวนพื้นที่สี่ยงภัยแผ่นดินไหวทั้งหมด เพื่อเตือนประชาชนว่าเขาจะรับมืออย่างไร”
รศ. ดร.ปัญญายังบอกอีกว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้เป็นแผ่นดินไหวที่ใหญ่มาก พอมันใหญ่คลื่นหรือกำลังแรงจากแผ่นดินไหวจึงแผ่ไปทั่ว และบริเวณกรุงเทพมหานครที่ประกอบด้วยชั้นดินอ่อน ซึ่งสามารถขยายคลื่นแผ่นดินไหวให้รุนแรงมากขึ้น ที่ตึกบางตึกสั่นไหว เพราะช่วงการสั่นไปสอดคล้องกัน
“ที่เมืองมัณฑะเลย์ล่มสลายราบเป็นหน้ากลองจากอิทธิพลของแผ่นดินไหว ลักษณะแบบนี้ไม่ควรจะมีสิ่งปลูกสร้างอะไรบนรอยเลื่อน แผนที่ธรณีวิทยาที่เรียกว่าแผนที่รอยเลื่อนมีพลังของกรมทรัพยากรธรณีถือเป็นแผนที่ที่มีประโยชน์มาก บอกว่ามีรอยเลื่อนพาดผ่านหมู่บ้านใดบ้างหรือชุมชนใดที่มีปัญหาเพราะอาจเกิดแผ่นดินไหวในอนาคต ก็ต้องระวัง”
ดังนั้น สิ่งที่หน่วยงานต้องทำคือการบูรณาการข้อมูลร่วมกัน นำเอาแผนที่รอยเลื่อนของกรมทรัพยากรธรณีมาปรับใช้ในการพัฒนาเมือง การทำผังเมืองในทิศทางตรงข้ามกับรอยเลื่อน ส่วนอาคารบ้านเรือนที่อยู่ในพื้นที่รอยเลื่อนพาดผ่านต้องมาทบทวนตรวจสอบกันอีกครั้งว่าแข็งแรงรองรับการเกิดของแผ่นดินไหวหรือไม่ ถ้าไม่แข็งแรงพอต้องปรับปรุงให้แข็งแรง และต้องเตรียมความพร้อมให้กับประชาชนในเรื่องนี้ด้วย
“ถึงเวลาที่ต้องเอาแผนที่เสี่ยงภัย และแผนที่รอยเลื่อนกรมธรณีไปไว้ในแบบเรียนอย่างละเอียด ต้องสอนกันตั้งแต่ประถม เพื่อให้รู้ กฎกติกา และวิธีปฏิบัติตัวเมื่อเกิดเหตุการณ์”

สำหรับ”กลุ่มรอยเลื่อนมีพลัง” จำนวน 16 รอยเลื่อน โดยกรมทรัพยากรธรณีได้อัปเดตข้อมูลล่าสุดในปี 2566 ซึ่งพบมากในบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ของประเทศไทยดังนี้
1.กลุ่มรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย พาดผ่าน จ.สุราษฎร์ธานี จ.กระบี่ จ.พังงา และ จ.ภูเก็ต เป็นกลุ่มรอยเลื่อนตามแนวระนาบ ที่วางตัวขนานกับกลุ่มรอยเลื่อนระนองแบบเหลื่อมซ้าย ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด เมื่อปี 2558 ใน จ.พังงา ขนาด 4.5
2.รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ พาดผ่าน จ.กาญจนบุรี เป็นรอยเลื่อนที่อยู่ด้านทิศตะวันตกของประเทศไทย ที่มีความสำคัญมากต่อประชาชนในกรุงเทพมหานคร พาดผ่าน จ.กาญจนบุรี ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ประมาณ 1,000 ปีที่แล้ว จ.กาญจนบุรี ขนาด 6.4
3.รอยเลื่อนเถิน พาดผ่าน จ.ลำปาง และ จ.แพร่ กลุ่มรอยเลื่อนนี้แสดงลักษณะธรณีวิทยาโครงสร้าง และธรณีสัณฐานที่แสดงถึงการเลื่อนตัวครั้งใหม่ๆ เป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ประมาณ 2,000 ปีที่แล้ว ที่ จ.แพร่ ขนาด 6.6
4.รอยเลื่อนปัว พาดผ่าน จ.น่าน จัดเป็นรอยเลื่อนปกติ เป็นรอยเลื่อนที่มีการวางตัวเป็นแนวยาว ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ปี 2478 บริเวณรอยต่อของประเทศไทย-สปป.ลาว ขนาด 6.5
5..รอยเลื่อนพะเยา พาดผ่าน จ.พะเยา จ.เชียงราย และ จ.ลำปาง มีความยาวประมาณ 120 กิโลเมตร แสดงลักษณะของ ผารอยเลื่อนหลายแนวและต่อเนื่องเป็นแนวตรง ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ปี 2562 ที่ จ.ลำปาง ขนาด4.9
6.รอยเลื่อนเพชรบูรณ์ พาดผ่าน จ.เพชรบูรณ์ และ จ.เลย วางตัวในทิศเหนือ-ใต้ ขนาบสองข้างของแอ่งที่ราบเพชรบูรณ์ โดยเอียงเทเข้าหากลางแอ่งทั้งสองด้าน ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ปี 2533 ที่ จ.เพชรบูรณ์ ขนาด 4.0
7.รอยเลื่อนเมย พาดผ่าน จ.ตาก และ จ.กำแพงเพชร มีแนวการวางตัวในทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ปี 2518 ที่ จ.ตาก ขนาด 5.6 ประชาชนรู้สึกได้หลายหลายจังหวัดในภาคเหนือ รวมทั้งกรุงเทพมหานคร
8.รอยเลื่อนแม่จัน พาดผ่าน จ.เชียงราย และ จ.เชียงใหม่ เป็นรอยเลื่อนที่มีพลังสูง ทำให้เกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งสำคัญเมื่อปี 2550 ขนาด 6.3 ในสปป.ลาว ส่งผลกระทบถึง จ.เชียงราย ผนังอาคารหลายหลังเสียหาย กรุงเทพมหานครสามารถรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนในอาคารสูง
9.รอยเลื่อนแม่ทา พาดผ่าน จ.เชียงใหม่ จ.ลำพูน จ.เชียงราย มีการเลื่อนตัวแบบรอยเลื่อนปกติ ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ปี 2562 ที่ จ.เชียงใหม่ ขนาด 4.1 ประชาชนรู้สึกได้ทั่วจังหวัด
10.รอยเลื่อนแม่ลาว เป็นรอยเลื่อนที่มีการวางตัวในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้พาดผ่าน จ.เชียงราย ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ปี 2557 ที่ จ.เชียงราย นับว่าเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในรอบกว่า 50 ปี ทำให้เกิดความเสียหายอย่างมาก ต่อบ้านเรือนและทรัพย์สินของประชาชน
11.รอยเลื่อนแม่อิง พาดผ่าน จ.เชียงราย มีลักษณะธรณีสัณฐานที่บ่งบอกถึงความมีพลัง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา ทำให้เกิดแผ่นดินไหวมาแล้ว 5 ครั้ง ล่าสุด ปี 2554 ที่ จ.เชียงราย ขนาด 4.1 หลายอำเภอ รู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือน
12.รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน พาดผ่าน จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.ตาก ในอดีตมีการเลื่อนตัวหลายครั้ง ทำให้ธรณีสัณฐานเด่นชัดในพื้นที่อำเภอแม่สะเรียง คือ ทางน้ำแบบหุบเขารูปแก้วไวน์ และทำให้แผ่นดินไหวขนาดเล็กและขนาดปานกลางบ่อยหลายครั้งในพื้นที่รอยต่อ แค่ครั้งสำคัญคือ เมื่อปี 2556 ที่เมียนมา ขนาด 5.1 ประชนชนหลายจังหวัดในภาคเหนือรับรู้ถึงแรงสั่น
13.รอยเลื่อนระนอง พาดผ่าน จ. ระนอง จ.ชุมพร จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.พังงา ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ปี 2549 ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ขนาด 5.0 ประชาชนในหลายท้องที่รู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือนพื้นดิน
14.รอยเลื่อนเวียงแหง มีลักษณะการเลื่อนแบบรอยเลื่อนปกติ พาดผ่าน จ.เชียงใหม่ ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ประมาณ 2,000 ปีที่แล้ว ที่ จ.เชียงใหม่ ขนาด 6.8
15.รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ พาดผ่าน จ.กาญจนบุรี จ.สุพรรณบุรี จ.อุทัยธานี และ จ.ตาก ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุดเมื่อปี 2526 ที่ใกล้บริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ ขนาด 5.9 สามารถรับรู้แรงสั่นสะเทือนได้ถึงกรุงเทพฯ
16.รอยเลื่อนอุตรดิตถ์ พาดผ่าน จ.อุตรดิตถ์ ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุดเมื่อปี 2541 บริเวณอำเภอท่าปลา ขนาด 3.2 ประชาชนรู้สึกได้ในหลายอำเภอ
แม้การแจ้งเตือนภัยแผ่นดินไหวล่วงหน้ายังทำไม่ได้ แต่การรับมือและเตรียมความพร้อมกับเหตุการณ์ในพื้นที่เสี่ยงของ 16 รอยเลื่อนสามารถทำได้ โดยเฉพาะเมื่อโลกส่งสัญญาณว่าความเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นแล้ว