ThaiPublica > ข่าวประชาสัมพันธ์ > จาก “แบงก์” สู่ “ทะเล” ธนาคารกรุงเทพ เอาจริง!
แก้ปัญหาขยะตั้งแต่ต้นน้ำ

จาก “แบงก์” สู่ “ทะเล” ธนาคารกรุงเทพ เอาจริง!
แก้ปัญหาขยะตั้งแต่ต้นน้ำ

17 มีนาคม 2025


ข่าวประชาสัมพันธ์

วิกฤตขยะทะเลไทย ปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลและระบบนิเวศ ทวีความรุนแรงขึ้นต่อเนื่อง แม้จะดูเหมือนไกล แต่..ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด เพราะสุดท้ายแล้ว ขยะเหล่านี้จะปนเปื้อนในสัตว์ทะเลที่กลายมาเป็น “อาหารของเรา”

ดร.จิระวัฒน์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ Vice president ฝ่ายผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ

ข้อมูลจากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ชี้ว่าปี 2567 กว่า 88% ของขยะทะเล คือ “ขยะพลาสติก” เพราะทุกๆ ปีจะมีขยะจากฝั่งหลุดรอดลงสู่ทะเลราว 30,000-50,000 ตัน! ในจำนวนนี้ขยะพลาสติกบางชนิดอาจย่อยสลายกลายเป็นไมโครพลาสติกปนเปื้อนอยู่ในสัตว์ทะเลที่เราบริโภคเข้าไป จนเกิดการสะสมและเป็นอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาว

สอดคล้องกับผลการดักจับขยะก่อนไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทย บริเวณปากแม่น้ำท่าจีน ที่ดำเนินการโดยธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นและชุมชนในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ภายใต้โครงการ‘Bualuang Save the Earth: รักษ์ท่าจีน’ โดยติดตั้งเครื่องมือดักขยะ 3 ประเภท ได้แก่ ทุ่นดักขยะ กระชังไม้ไผ่ดักขยะ และเครื่องมือดักขยะแบบปักหลัก ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2567 ในคลองหลวงสหกรณ์ และ คลองพิทยาลงกรณ์ ตำบลโคกขาม จังหวัดสมุทรสาคร พบว่า สามารถดักขยะที่จะไหลลงสู่ทะเลได้กว่า 27,369 กิโลกรัม หรือกว่า 27 ตัน ซึ่งส่วนใหญ่กว่า 11,531 กิโลกรัม เป็นขยะโฟม และ 11,381 กิโลกรัม เป็นขยะพลาสติก และยังมีขวดแก้ว โลหะ กระดาษ และอื่นๆ ที่ถูกทิ้งลงสู่แม่น้ำ (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567)

ดร.จิระวัฒน์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ เจ้าหน้าที่บริหารระดับ Vice President ฝ่ายผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารกรุงเทพเป็น 1 ในองค์กรเอกชนที่แสดงความมุ่งมั่นและตั้งใจเป็นส่วนหนึ่งเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตขยะทะเลไทย โดยได้ร่วมลงนามใน “บันทึกแสดงเจตจำนงว่าด้วยความร่วมมือในการจัดการขยะทะเล โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในบริเวณปากแม่น้ำ” เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 ณ จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นโครงการในระยะนำร่อง จำนวน 5 แห่ง แบ่งพื้นที่รับผิดชอบแก้ไขปัญหาขยะใน 5 แม่น้ำสายหลักที่ไหลลงสู่ทะเล (แผนงานระยะ 5 ปี ระหว่าง ปี 2566 – 2570) โดยธนาคารรับผิดชอบแก้ปัญหาขยะใน ‘แม่น้ำท่าจีน’ ภายใต้โครงการ ‘Bualuang Save the Earth: รักษ์ท่าจีน’

หลังดำเนินการตามแผนระยะที่ 1 เพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วนด้วยการติดตั้งเครื่องมือดักขยะ 3 ประเภทดังกล่าว โดยองค์การบริหารส่วนตำบลโคกขาม ได้เป็นผู้รับผิดชอบเก็บขยะที่ดักจับได้ เพื่อนำมาคัดแยก พบว่าขยะที่ดักได้กว่า 57% เป็นขยะที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ ส่วนนี้จะถูกนำไปขาย เพื่อนำรายได้เข้าสู่โครงการ Don’t Cry, I Care ที่ดำเนินการโดยการบริหารส่วนตำบลโคกขามและภาคีเครือข่ายทั้งภาคเอกชนและชุมชน เพื่อแปลงขยะเป็นทุนสำหรับซื้อของจำเป็น (ถุงยังชีพ) มอบให้ผู้ป่วยติดเตียงในชุมชน ขณะที่ขยะอีก 43% เป็นขยะกำพร้า ไม่สามารถรีไซเคิลได้ จะถูกส่งต่อไปยังบริษัทเอกชนเพื่อนำไปทำเป็นขยะเชื้อเพลิง ทำให้ไม่มีขยะที่จะถูกนำไปฝังกลบ จึงช่วยลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 95.79 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

ทุ่นดักขยะ

“เราลงพื้นที่ในจังหวัดสมุทรสาครต่อเนื่อง ทำงานร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นและชุมชนอย่างใกล้ชิดร่วมกันวางแผนดำเนินการแก้ปัญหาแบบครบวงจร ระยะที่ 1 เร่งแก้ปัญหาเร่งด่วน โดยติดตั้งเครื่องมือดักจับขยะก่อนไหลลงสู่ทะเลไปแล้ว ระยะที่ 2 เราจะร่วมกันปลูกฝังเรื่องการแยกขยะให้แก่โรงเรียนและชุมชน เพื่อช่วยกันสกัดขยะที่จะเกิดขึ้นใหม่ ไม่ให้ลงสู่ทะเลตั้งแต่ต้นทาง โดยต้องทำควบคู่กับระยะที่ 3 คือจัดตั้งธนาคารขยะเพื่อแปลงขยะให้มีมูลค่า สร้างแรงจูงใจการมีส่วนร่วม และเกิดการกำจัดขยะอย่างถูกวิธี สร้างรายได้เสริมให้ชุมชนและครัวเรือน เพื่อให้แก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน” ดร.จิระวัฒน์กล่าว

นอกจากจัดการปัญหาตรง “ปลายทาง” แล้ว ในปี 2567 ธนาคารยังได้ริเริ่มอีกหนึ่งโครงการสำคัญในกรุงเทพฯ เพื่อมีส่วนร่วมที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังตั้งแต่ “ต้นทาง” โดยประกาศเป้าหมาย “ขยะฝังกลบเป็นศูนย์” ภายในปี 2568 นำร่องกับสำนักงานพระราม 3 หรือ โครงการ Bualuang Save the Earth: 3R+ “Zero Waste to Landfill @ BBL Rama3” โดยเชิญชวนให้พนักงานกว่าพันหกร้อยคนเข้ามามีส่วนร่วม ตั้งแต่ศึกษาประเภทและที่มาของขยะ เพื่อกำหนดแนวทางจัดการที่เหมาะสม ติดตั้งอุปกรณ์ที่สำคัญในการช่วยลดปริมาณขยะ ตลอดจนการสื่อสารอย่างชัดเจนให้เห็นความสำคัญของปัญหา สร้างความเข้าใจ และนำมาสู่พฤติกรรมที่ต้องการ

“สำนักงานพระราม 3 มีพนักงานกว่า 1,600 คน ในปี 2566 มีปริมาณขยะรวม 73,075 กิโลกรัม มากกว่า 98% เป็นขยะทั่วไปที่เกิดขึ้นในอาคารสำนักงาน โดยเฉพาะภาชนะหรือบรรจุภัณฑ์ใส่อาหารและเครื่องดื่ม เช่น กล่องข้าวพลาสติก แก้วกาแฟ ถุงพลาสติก ช้อนส้อมพลาสติก และหลอดพลาสติก หากใน 1  วันพนักงานทานอาหารเฉลี่ย 2  มื้อ เท่ากับมีขยะเหล่านี้เกิดขึ้นไม่น้อยกว่า 6 ชิ้น/คน/วัน ดังนั้น การลดปริมาณภาชนะแบบใช้ครั้งเดียวจะช่วยลดปัญหาตรงนี้ได้เยอะมาก เราติดตั้งถังขยะแยกประเภททุกชั้น และพื้นที่โต๊ะทำงานเกือบ 100% จะไม่มีถังขยะส่วนตัว พร้อมกับส่งเสริมให้พนักงานทุกคนแยกขยะอย่างเข้มข้นเป็นรูปธรรม มีเจ้าหน้าที่ช่วยคัดกรองขยะ และจัดสรรพื้นที่อย่างเพียงพอสำหรับคัดแยกและรอส่งต่ออีกด้วย เราติดตั้งเครื่องกำจัดขยะเศษอาหารบริเวณโรงอาหาร ทั้งยังร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อส่งเสริมความรู้การแยกขยะไปจนถึงการส่งขยะไปรีไซเคิลหรือผลิตเป็นก้อนเชื้อเพลิง” ดร.จิระวัฒน์กล่าว

ร่วมทำกิจกรรมกับชุมชน

ผลสัมฤทธิ์จากโครงการในปีแรก พบว่า ปี 2567 ปริมาณขยะทั่วไปที่ต้องนำไปฝังกลบของอาคารสำนักงานพระราม 3 ลดลงไปกว่า 1,674 กิโลกรัม และสามารถคัดแยกขยะเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้กว่า 5,125 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนหน้าถึง 413% ซึ่งเป็นผลจากการงดใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง เปลี่ยนมาใช้ภาชนะส่วนตัว รวมถึงการรณรงค์แยกขยะก่อนทิ้งอย่างจริงจัง จัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ ไปจนถึงการส่งเสริมกิจกรรมแชร์ไอเดียรักษ์โลก

แผนงานตามโครงการนี้จะยังคงทวีความเข้มข้นมากขึ้นในปีนี้ โดยเพิ่มการบริหารจัดการขยะมากขึ้น เสริมสร้างการคัดแยกขยะที่จริงจังและถูกต้องมากยิ่งขึ้น รวมถึงติดตั้งเครื่องมือเพิ่มเติมเพื่อลดใช้ทรัพยากรที่จะทำให้เกิดขยะ เช่น ติดตั้งเครื่องเป่าลมในห้องน้ำแทนการใช้กระดาษเช็ดมือ ใช้ “แก้วยืมเพื่อน” ที่โรงอาหาร ทั้งยังมีแผนขยายโครงการไปยังสาขานำร่องเพื่อผลักดันให้เป็นสาขาต้นแบบต่อไปด้วย เพื่อพิชิตเป้าหมายขยะฝังกลบเป็นศูนย์ให้ได้ในปีนี้

พนง.เปลี่ยนพฤติกรรมลดใช้พลาสติก

ปัญหาขยะแม้จะไกล..แต่ใกล้ตัวกว่าที่คิด เช่นเดียวกับการจัดการปัญหานี้ ก็สามารถเริ่มต้นจากเรื่องใกล้ตัวได้เช่นกัน เพราะหลายๆ พฤติกรรมของเราเองก็คือส่วนหนึ่งของต้นเหตุปัญหานี้ได้เช่นกัน ดังที่ธนาคารกรุงเทพ ซึ่งเป็น “เพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน” กับสังคมไทยมานาน ก็เริ่มแล้วที่จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกันแก้ปัญหานี้ตั้งแต่ที่ “แบงก์” ก่อนจะไปถึง “ทะเล”