ThaiPublica > สู่อาเซียน > SCGJWD รุกโลจิสติกส์โซลูชันสำหรับสินค้าควบคุมอุณหภูมิทั่วอาเซียน

SCGJWD รุกโลจิสติกส์โซลูชันสำหรับสินค้าควบคุมอุณหภูมิทั่วอาเซียน

3 ตุลาคม 2024


SCGJWD  ลุยโซลูชันโลจิสติกส์สำหรับสินค้าควบคุมอุณหภูมิครบวงจรทั่วอาเซียน รับเศรษฐกิจฟื้นตัวมั่นใจทั้งปี 2567 มีรายได้ 2.5 หมื่นล้านบาท คาดรายได้จากธุรกิจคลังสินค้าห้องเย็นกว่า 1.1 พันล้านบาท พร้อมวาง 4 กลยุทธ์ สร้างการเติบโตใน 5 ปี ( 2567-2572) ด้วยเทคโนโลยี AI – Green Logistics สร้างโอกาสในไทยและต่างประเทศ

นายชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัทเอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGJWD และนายบรรณ เกษมทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม SCGJWD

เมื่อวันที่ 2  ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมาบริษัทเอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGJWD ได้นำสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชมคลังห้องเย็น SCGJWD ที่ มหาชัย จ. สมุทรสาคร  พร้อมเปิดเผยถึงแผนการดำเนินธุรกิจ ใช้ 4 กลยุทธ์สร้าง โซลูชันโลจิสติกส์สำหรับสินค้าควบคุมอุณหภูมิครบวงจรทั่วอาเซียน รับเศรษฐกิจฟื้นตัว และแนวโน้มอุตสาหกรรมคลังสินค้าห้องเย็น อาหาร และเฮลท์แคร์ และ ยา

นายชวนินทร์   บัณฑิตกฤษดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัทเอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGJWD ผู้ให้บริการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนแบบครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในอาเซียน  กล่าวถึง แนวโน้มอุตสาหกรรมคลังสินค้าห้องเย็น ว่า  ภาพรวมเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและการท่องเที่ยวที่กลับมาคึกคัก ทำให้ความต้องการจัดเก็บและขนส่งอาหารแช่แข็ง อาหารสำเร็จรูปพร้อมทานแช่แข็งเพิ่มสูงขึ้น ทั้งจากการบริโภคภายในประเทศและการที่ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตสำหรับส่งออก เพื่อรับขยายตัวของอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่มีมูลค่าสูงเพิ่มขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะกับการจัดเก็บสินค้า อาทิ อุตสาหกรรมยาและเวชภัณฑ์ เครื่องสำอาง อาหารสัตว์ ทำให้ธุรกิจโลจิสติกส์

“ขณะนี้เทรนด์ เรื่องของคลังสินค้าห้องเย็น อาหาร ยา อิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นไฮเอนด์ มีความต้องการคลังสินค้าควบคุมอุณหภูมิสูงขึ้นมากขึ้นเพราะเศรษฐกิจฟื้นตัว โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรม New S-curve ทำให้เรามีโอกาสเติบโตทั้งในเมืองไทย และในอาเซียนโดยขณะนี้เรามีลูกค้า9 ประเทศ ในอาเซียน และจีนตอนใต้ ไม่รวมบรูไนประเทศเดียว”

ความต้องการใช้บริการของกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม ทำให้ผลประกอบการของ SCGJWD ในครึ่งปี 2567 มีรายได้กว่า 1.2 หมื่นล้านบาท และคาดการณ์รายได้ทั้งปีน่าจะอยู่ที่ 2.5 หมื่นล้านบาท และหากมาเจาะลงมาเฉพาะธุรกิจห้องเย็นมีรายได้เกิน 1,000 ล้านบาท แตกต่างจากในอดีตในช่วงเริ่มต้นทำรายได้ประมาณ 200-300 ล้านบาท แต่ในวันนี้ภายใน ไม่ถึง 5 ปี สามารถทำรายได้ประมาณ 1,000 ล้านบาท

นายชวนินทร์   กล่าวอีกว่า กำไรสุทธิงวดครึ่งปีมีจำนวน 678.9 ล้านบาท  โดยกําไรกว่า 20% มาจากการให้บริการห้องเย็นทั้งในส่วนคลังสินค้าห้องเย็น  คลังสินค้าเคมี และอื่นๆ ซึ่งการที่สามารถทำกำไรได้มากขึ้น เพราะความชํานาญและความเชี่ยวชาญ ทำให้ลูกค้าให้ความไว้วางใจ

“แม้ว่าคู่แข่งขันมากขึ้น แต่ว่าเรายังรักษาความเป็นผู้นําในแง่ของการให้บริการคลังสินค้าของเย็นได้ดี ทำให้ในกลุ่มผู้ให้บริการคลังห้องเย็นในประเทศไทยเรายังเป็นผู้นำ ทั้งในเรื่องของจำนวนพื้นที่บริการ 2.4 แสนพาเลท(Pallet แท่นวางสินค้า) รวมไปถึงโลเคชั่นต่างๆ และภายในปีนี้เรามีแผนขยายคลังห้องเย็นใหม่ ที่รังสิต  เชียงใหม่  ขอนแก่น และเพิ่มการให้บริการคลังสินค้ายา และเวชภัณฑ์ ซึ่งเป็นการให้บริการใหม่ที่เราเชื่อว่าจะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้ได้มากขึ้น”

นาย ชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บมจ.เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์  จำกัด (มหาชน)

นายชวนินทร์กล่าวว่า ในส่วนการบริการคลังสินค้ายา และเวชภัณฑ์ ยังถือเป็นความท้าทาย เนื่องจากต้องสร้างความเชี่ยวชาญและความชำนาญให้กับบุคลากรและคนทำงานให้มากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าทำได้ โดยกลุ่มลูกค้าคาดว่าจะเป็น โรงพยาบาลขนาดกลาง และขนาดเล็กที่ต้องการคลังเพื่อเก็บยาและเวชภัณฑ์

อย่างไรก็ตาม SCGJWD มีแผนจะขยายพื้นที่ให้บริการจาก 2.4 แสนพาเลทและเพิ่มเป็น 3 แสนพาเลท หรือประมาณ 24.2% ในอีก 5 ปี ซึ่งขนาดพื้นที่ที่เพิ่มมากจะขึ้นทำให้กลายเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมคลังสินค้าห้องเย็นในประเทศไทยและอาเซียน

“สินค้าควบคุมอุณหภูมิในประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยประเมินแนวโน้มภาพรวมอุตสาหกรรมโลจิสติกส์สำหรับสินค้าควบคุมอุณหภูมิ (Cold Chain Logistics) ในประเทศไทยเราประมาณการ อัตราการเติบโตในอีก 5 ปีข้างหน้า (2567-2572) คาดว่ารายได้จะโต 12.87%  และภายในสินปีนี้เราคาดว่าเราจะมีรายได้ประมาณ 1,100 ล้านบาทในส่วนของตัวคลังห้องเย็น”

วาง 4 กลยุทธ์ ลงทุนในไทย สร้างโอกาสในต่างประเทศ

สำหรับการสร้างความเติบโต SCGJWD  ได้วางแผนใน 4 กลยุทธ์ ลงทุนในไทย และสร้างโอกาสใหม่ในต่างประเทศ จึงเร่งเสริมความแข็งแกร่งแก่ธุรกิจโลจิสติกส์สำหรับสินค้าควบคุมอุณหภูมิเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ด้วยการต่อยอดจุดแข็งในปัจจุบัน โดยจะเป็นผู้ให้บริการห้องเย็นสาธารณะที่มีพื้นที่ให้บริการมากที่สุด 8 โลเคชันครอบคุมทั่วประเทศ รวมกว่า 241,000 พาเลท ติดตั้งระบบจัดเก็บสินค้าอัตโนมัติ นำเทคโนโลยีและ AI เข้ามาช่วยทำงาน  การได้รับการรับรองมาตรฐานสากลและใบอนุญาตทุกประเภท เป็นต้น

“ในปี 2568-2572 ได้วางงบลงทุนธุรกิจคลังสินค้าห้องเย็นรวมกว่า 1,000 ล้านบาท เพื่อผลักดันรายได้จากธุรกิจดังกล่าวให้มีอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ย 12.8% ต่อปี จากเป้าหมายรายได้ปี 2025 ที่ 1,100 ล้านบาท ภายใต้ 4 กลยุทธ์หลักที่ขับเคลื่อนการขยายธุรกิจโลจิสติกส์สำหรับสินค้าควบคุมอุณหภูมิในประเทศไทยและอาเซียน”

ขยายฮับคลังสินค้าห้องเย็นในจังหวัดภูมิภาค
SCGJWD จะขยายฮับคลังสินค้าห้องเย็นในจังหวัดภูมิภาค และ ลงทุนขยายคลังสินค้าห้องเย็นในจังหวัดที่เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์และเชื่อมต่อกับระบบขนส่งหลัก เสริมความสะดวกในการกระจายสินค้า ลดระยะเวลาการขนส่ง และประหยัดต้นทุนด้านโลจิสติกส์

ปัจจุบัน SCGJWD มีคลังสินค้าห้องเย็น 8 แห่งทั่วประเทศ ประกอบด้วย สมุทรสาคร 3 แห่ง สมุทรปราการ 3 แห่ง ฉะเชิงเทรา 1 แห่ง และสระบุรี 1 แห่ง รองรับสินค้ามากกว่า 241,000 พาเลท และจะลงทุนปรับปรุงคลังสินค้าทั่วไปของ SCG Logistics เดิมให้รองรับการจัดเก็บสินค้าแช่เย็นแช่แข็งในจังหวัดหัวเมืองที่เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญอีก 8 แห่ง เช่น ปทุมธานี สระบุรี เชียงใหม่ ขอนแก่น ภูเก็ต เป็นต้น โดยจะมีพื้นที่ให้บริการเพิ่มขึ้นอีก 24% เป็น 300,000 พาเลทภายในปี 2029

ขยายธุรกิจในอาเซียน

SCGJWD วางแผนสร้างโอกาสใหม่ทางธุรกิจ โดยขยายการลงทุนและร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ในอาเซียน ได้แก่ ความร่วมมือกับ SWIFT ขยายธุรกิจคลังสินค้าห้องเย็นในมาเลเซีย รวมทั้งขยายธุรกิจในฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม ผ่านความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ที่แข็งแกร่งในแต่ละประเทศและศึกษาโอกาสการทำ M&A

จับมือพาร์ทเนอร์ขยายธุรกิจออกแบบโลจิสติกส์โซลูชัน

นอกจากนี้จะ ร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ขยายธุรกิจและออกแบบโลจิสติกส์โซลูชันตามโจทย์ทางธุรกิจของลูกค้า โดยบริษัทฯ ได้ร่วมทุนกับกลุ่มไทยยูเนี่ยน จัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อลงทุนคลังสินค้าห้องเย็นระบบอัตโนมัติ (ASRS) สำหรับจัดเก็บสินค้าปลาทูน่า ในจังหวัดสมุทรสาคร และร่วมกับ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ให้บริการโซลูชันจัดส่งสินค้าเบเกอรี่แก่ร้าน Amazon Café กว่า 500  สาขาทั่วประเทศ โดยใช้นวัตกรรมขนส่งเย็น Cool Container ผ่านเครือข่ายขนส่งของ SCGJWD ที่มีจำนวนฟลีทรถมากที่สุด สามารถขยายพื้นที่จัดส่งได้ครอบคลุมทั่วประเทศและคงคุณภาพสินค้าที่ดีถึงปลายทาง

ขยายบริการแบบ End-to-End Supply Chain Solution

ขยายบริการแบบ End-to-End Supply Chain Solution ในธุรกิจเฮลท์แคร์และยา จะใช้จุดแข็งด้านความเชี่ยวชาญบริการขนส่งและคลังสินค้าควบคุมอุณหภูมิทั่วประเทศ การได้รับรองมาตรฐานระดับสากล ระบบประกันคุณภาพสินค้าตลอดกระบวนการ และบริการเสริม เพื่อขยายบริการภายใต้กลยุทธ์หลัก ได้แก่ การจับกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพ และเจาะกลุ่มยาและวัคซีนที่มีอัตรากำไรที่ดี

บรรณ เกษมทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บมจ.เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์

ยึดแนว ‘โลจิสติกส์สีเขียว Green Logistics

ด้านนายบรรณ เกษมทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม SCGJWD กล่าวเสริมว่า บริษัทฯ ประยุกต์ใช้เทคโนโลยี และ AI ตลอดกระบวนการซัพพลายเชนเพื่อยกระดับการบริหารจัดการคลังสินค้าห้องเย็นให้รวดเร็ว แม่นยำยิ่งขึ้น ช่วยบริหารจัดการต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ ใช้เทคโนโลยีจัดเก็บและจ่ายสินค้าอัตโนมัติ (Automated Storage Retrieval System: ASRS) เพื่อช่วยจัดเก็บสินค้าได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำกว่า 99.9% ปลอดภัยสูง คงความสดใหม่และรักษาคุณภาพของสินค้าได้ดีกว่าเดิม รวมทั้งติดตั้งระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) คัดขนาดปลาทูน่า เพิ่มความแม่นยำได้มากกว่า 95% และจะขยายสู่การคัดแยกสายพันธุ์ปลาในปีหน้า และ ลงทุนเรื่องของขนส่งและลำเลียงสินค้าอัตโนมัติ แบบไร้คนขัย AGV

“เราลงทุนเรื่องของเทคโนโลยีเพื่อนำไปสู่การเป็นคลังสินค้าห้องเย็นแบบอัตโนมัติ ที่ทำให้สามารถลดพื้นที่จัดเก็บได้ 4 เท่า ประหยัดไฟฟ้า 50 % เพิ่มความแม่นนยำ 99 %  ลดการใช้แรงงาน 44.8 %”

นายบรรณ  กล่าวว่า  นอกจากระบบหน้าบ้าน ในระบบสนับสนุนได้ลงทุน IT แบบ BI DASHBOARD เป็นระบบ IT ที่มองภาพรวมได้ทั้งหมดในการขนส่งและจัดเก็บสินค้า ส่วนในอนาคตจะลงทุนนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้ห้องเย็นเพื่อเดินไปสู่ ห้องเย็นแบบ  DARK  WAREHOUSE หรือ ห้องเย็นที่ไม่มีคน เพราะวันนี้ยังมีคนทำงานในห้องเย็น แต่ในอนาคตจะไปพัฒนาไปถึงห้องเย็นที่ไม่มีคนทำงานแต่ใช้ระบบ AI ทั้งหมด

นอกจากนี้ บริษัทฯ มุ่งดำเนินธุรกิจตามแนวทาง ‘โลจิสติกส์สีเขียว (Green Logistics)’ โดยการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา (Solar Rooftop) ที่คลังสินค้าห้องเย็นทุกแห่ง เพื่อผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ทดแทนการซื้อไฟฟ้า เปลี่ยนมาใช้รถฟอร์คลิฟต์(forklift) ไฟฟ้า แทนรถน้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงการใช้เทคโนโลยีจัดเก็บและจ่ายสินค้าอัตโนมัติ (Automated Storage Retrieval System: ASRS) ที่ช่วยลดการใช้ไฟฟ้า

นายบรรณ  กล่าวว่า  บริษัทฯได้เพิ่มขีดความสามารถในการจัดเก็บ โดยใช้เทคโนโลยีหลัก ทำให้ที่ผ่านมาบริหารต้นทุนค่าไฟฟ้าได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2560 ที่ผ่านมา บริษัทฯสามารถลดค่าไฟฟ้าได้กว่า 200 ล้านบาท และลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 33,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์และในปี 2566 สามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 6,000 ตันคาร์บอนไอออกไซด์ คิดเป็นการปลูกต้นไม้กว่า 600,000 ต้น  หรือ คำนวณเป็นพื้นที่ป่าได้กว่า 24,000 ไร่

“เราใช้เทคโนโลยี TMS (Transport Management System) ที่ช่วยเรื่องวางแผนการเส้นทางการขนส่ง ทำให้สามารถประหยัดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้เพิ่มมากขึ้น เพื่อบรรลุเป้าหมายของบริษัทฯ สู่ Net Zero ในปี 2050”