ThaiPublica > คนในข่าว > สถาปนา-แต่งตั้งพระอนุวงศ์ “ราชสกุลยุคล” ทายาท 3 พระองค์ชาย สืบเชื้อสาย 6 แผ่นดิน

สถาปนา-แต่งตั้งพระอนุวงศ์ “ราชสกุลยุคล” ทายาท 3 พระองค์ชาย สืบเชื้อสาย 6 แผ่นดิน

5 สิงหาคม 2024


ในรัชกาลปัจจุบัน “ราชสกุลยุคล” ซึ่งสืบเชื้อสายจากรัชกาลที่ 5 ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งและสถาปนาบุคคลในราชสกุล ทั้งแต่งตั้งให้เป็นนายทหารพิเศษ ประจำกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ กองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ และสถาปนาหม่อมเจ้า เป็น “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า”

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นิยามเรื่อง “เจ้า” ไว้ว่า “คนในราชสกุลที่มีศักดิ์ตั้งแต่หม่อมราชวงศ์ (ม.ร.ว.) ลงมานั้น ถือว่าตนเองมิใช่เจ้า จึงไม่อาจเอื้อมไปนับญาติกับเจ้า ถึงแม้ว่าเจ้านายบางพระองค์ท่านจะถ่อมพระองค์ เรียกน้อง เรียกพี่ หรืออื่นๆ ก็จะไม่นับตอบ จะถือตนว่าเป็นข้าตลอดไป นี่คือมารยาท”

หากตีความตามแบบ “ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช” อาจนับได้ว่า หม่อมเจ้าแห่ง “ราชสกุลยุคล” นั้นนับเป็น “พระอนุวงศ์” ในแผ่นดินรัชกาลปัจจุบัน

สถานะพระอนุวงศ์ยิ่งเด่นชัดขึ้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสถานปนาหม่อมเจ้าเฉลิมศึก ยุคล เป็น “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมศึกยุคล”

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมศึกยุคล ที่มาภาพ : https://th.wikipedia.org/wiki

ราชสกุลยุคล สืบเชื้อสาย 6 แผ่นดิน

ราชสกุล “ยุคล” นั้นสืบเชื้อสายมาจากองค์ต้นราชสกุล นายพลเอก มหาอำมาตย์เอก นายพลเสือป่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 44 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ทรงเคยดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย และอภิรัฐมนตรีในรัชกาลที่ 7

ในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 72 พรรษา วันที่ 28 กรกฏาคม 2567 “ราชสกุลยุคล” ได้รับพระมหากรุณาธิคุณยิ่งอีกครั้ง

เมื่อวันที่ 29 กรกฏาคม 2567 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้อาลักษณ์อ่านประกาศพระบรมราชโองการสถาปนาอิสริยยศฐานันดรศักดิ์ หม่อมเจ้าเฉลิมศึก ยุคล เป็นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมศึกยุคล จากนั้น ทรงหลั่งน้ำพระมหาสังข์ พระราชทานใบมะตูม และทรงเจิม พระราชทานพระสุพรรณบัฏ เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้า และเหรียญรัตนาภรณ์ ชั้น 2

โดยได้มีพระราชพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 ที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามในพระบรมมหาราชวัง ในการนี้โปรดเกล้าฯ ให้พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรีเป็นผู้แทนพระองค์

ราชสกุลยุคล นับเป็นราชสกุลที่เก่าแก่ 6 แผ่นดิน ในปัจจุบัน นอกจาก “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมศึกยุคล” มีสมาชิกราชสกุล ที่ดำรงพระยศ เป็น “หม่อมเจ้า” อีก 6 พระองค์ ดังนี้1. หม่อมเจ้ามงคลเฉลิม ยุคล (สิ้นชีพิตักษัย) 2. หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล 3. หม่อมเจ้าจุลเจิม ยุคล 4. หม่อมเจ้าฑิฆัมพร ยุคล 5. หม่อมเจ้าหญิงนภดลเฉลิมศรี ยุคล 6. หม่อมเจ้านวพรรษ์ ยุคล

ก่อนหน้านี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้สมาชิกราชสกุลยุคลเป็นนายทหารพิเศษ จำนวน 3 นาย

ตามประกาศลงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2563 ระบุว่า อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 15 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประกอบมาตรา 4 และมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 มาตรา 10 มาตรา 13 มาตรา 15 และมาตรา 18 แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งนายทหารพิเศษ ประจำกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ กองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ จำนวน 3 นาย ดังนี้ 1. พลเอก หม่อมเจ้าจุลเจิม ยุคล 2. พลเอก หม่อมเจ้าเฉลิมศึก ยุคล (ยศในขณะนั้น) 3. พันโท หม่อมเจ้านวพรรษ์ ยุคล

นอกจากนี้ ยังมีประกาศอีก 2 ฉบับ คือ โปรดเกล้าฯ พระราชทานยศทหารเป็นกรณีพิเศษให้ ร้อยเอก หม่อมเจ้านวพรรษ์ ยุคล เป็นพันโท และให้พันโท หม่อมเจ้านวพรรษ์ ยุคล แต่งตั้งเป็นนายทหารราชองครักษ์พิเศษด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 มีประกาศราชกิจจานุเบกษา ความตอนหนึ่งว่า “อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติยศทหาร พุทธศักราช 2479 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานปรับ ลดชั้นยศ พลเอก หม่อมเจ้าจุลเจิม ยุคล เป็น พลตรี หม่อมเจ้าจุลเจิม ยุคล”

พระประวัติ “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมศึกยุคล” สายพระองค์ชายกลาง

พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลทิฆัมพร ที่มาภาพ : https://th.wikipedia.org/wiki

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมศึกยุคล เป็นพระโอรสของพลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลทิฆัมพร หรือพระองค์ชายกลาง กับหม่อมทองแถม ประยูรโต

พระองค์ชายกลาง เป็นพระโอรสพลเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศร์ องค์ต้นราชสกุล “ยุคล” กับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลทิฆัมพร หรือพระองค์ชายกลาง มีหม่อม 5 คน คือ หม่อมราชวงศ์กุลปราโมทย์ จิรประวัติ, สมเชื้อ มุกสิกบุตร, ทองไพ ประยูรโต, ทองแถม ประยูรโต และบัวทอง ไตลังคะ

พระโอรสในพระองค์ชายกลาง 6 พระองค์ คือ หม่อมเจ้าจามเทพี ยุคล, หม่อมเจ้ามงคลเฉลิม ยุคล, หม่อมเจ้าวิสาขะ ยุคล, ศรีสว่างวงศ์ บุญจิตราดุลย์, พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมศึกยุคล และหม่อมเจ้าฑิฆัมพร ยุคล

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมศึกยุคล ประสูติเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2493 มีพระอิสริยยศแรกประสูติเป็น “หม่อมเจ้าเฉลิมศึก ยุคล” มีพระนามลำลองว่า “พระองค์ชายกุ๊กไก่”

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมศึกยุคล ทรงเป็นประธานในการระดมทุนเพื่อจดทะเบียนจัดตั้ง “มูลนิธิสถาบันการศึกษาในรัชกาลที่ 6 และสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรัตนราชสุดาฯ” และทรงดำรงตำแหน่งองค์ประธานกรรมการมูลนิธิฯ

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมศึกยุคล ทรงเคยดำรงแหน่งรองเจ้ากรมวิทยาศาสตร์ทหารบก ผู้ชำนาญการกองทัพบก และเคยดำรงตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก ปัจจุบันทรงเป็นที่ปรึกษากรมวิทยาศาสตร์ทหารบก และประธานคณะกรรมการ BWC ประเทศไทย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ และยังทรงดำรงตำแหน่งสมาชิกของกลุ่มที่ปรึกษาด้านเทคนิคขององค์การอนามัยโลก

และทรงเป็นกรรมการองค์กรสาธารณประโยชน์อื่นๆ อีกหลายแห่ง เช่น ทรงเป็นที่ปรึกษาองค์การอนามัยโลก ในกลุ่มที่ปรึกษาทางวิชาการด้านการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านสาธารณสุขพลเรือนกับหน่วยงานด้านความมั่นคง (Health and Security Interface Technical Advisory Group, HIS-TAG)

สายพระองค์ชายเล็ก พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ “ม.จ.จุลเจิม-ชาตรีเฉลิม”

พระอนุวงศ์ในราชสกุลยุคล นอกจากพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมศึกยุคล แล้วยังมีพระโอรส-พระบุตร ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ หรือ “พระองค์ชายเล็ก” มีหม่อม 2 คน คือ หม่อมฟองจันทร์ ศิริวัติ กับหม่อมอุบล ยุคล ณ อยุธยา

มีพระโอรส พระธิดา และพระบุตร 7 คน คือ ที่เกิดแก่ ฟองจันทร์ ศิริวัติ หรือชื่อเดิมเจ้าฟองจันทร์ อินทขัติย์ คือท่านหญิงจันทรจรัสศรี ไพบูลย์เลิศ, ท่านหญิงภุมรีภิรมย์ เชลล์,

ที่เกิดแก่หม่อมอุบล ยุคล ณ อยุธยา คือ ท่านหญิงมาลินีมงคล อมาตยกุล, ท่านหญิงปัทมนรังษี เสนาณรงค์, หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล, หม่อมเจ้าจุลเจิม ยุคล และหม่อมเจ้านภดลเฉลิมศรี ยุคล

“พระองค์ชายเล็ก” พระบิดาของหม่อมเจ้าจุลเจิมกับหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิมนั้นเป็นศิลปินแห่งชาติ ทรงเป็นนักประพันธ์-ผู้สร้างภาพยนตร์

“พระองค์ชายเล็ก” ทรงนิพนธ์หนังสือเรื่อง “ไปเมืองนอก” จากบันทึกการไปเรียนหนังสือและใช้ชีวิตในอังกฤษ ในช่วงก่อนปี 2475 เป็นฉบับพิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงพระศพ “พลโท พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ” เมื่อปี 2541

นอกจากบทที่ว่า “การเมืองเรื่องยุ่ง” ยังมีบทที่ชื่อว่า “ข่าววิปโยคและกลับบ้าน” ทรงนิพนธ์ไว้ว่า “เป็นตอนที่ได้รับความกระทบกระเทือนที่สุด โดยไม่ได้ตั้งใจจะรังเกียจหรือคัดค้านการมีประชาธิปไตยขึ้นในเมืองไทย…วันที่ 24 มิถุนายน 2475 คนไทยทุกคนควรถือว่าเป็นวันที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของชาติไทย”

“พระองค์ชายเล็ก” ได้ยินข่าวจากวิทยุ “เมืองไทยมีการปฏิวัติ-revolution” และ “เป็นข่าวที่น่าสยองขวัญที่สุด และรู้สึกเสียวสันหลังขึ้นมาทันที มีเนื้อหาทำนองว่า มีบุคคลคณะหนึ่ง รวมทั้งนายทหารชั้นใหญ่น้อยหลายคน ยึดพระราชวังเพื่อล้มล้างการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์”

พระองค์ชายเล็กเล่าว่า หนังสือพิมพ์ที่อังกฤษเขียนไว้ว่า “มีทหารล้อมพระราชวัง มีเจ้าชาย-prince หลายพระองค์ถูกจับไปคุมขังโดยไม่รู้ชะตากรรม…ผู้ที่เขาเรียกว่า prince นั้นล้วนเป็นญาติของฉัน” หลังจากนั้นเมื่อเหตุการณ์สงบ “พระองค์ชายเล็ก” จึงตัดสินใจกลับบ้าน ประเทศไทย

“ก่อนที่จะออกเดินทางจากประเทศอังกฤษ เหตุการณ์ที่ประทับใจฉัน ที่ฉันไม่มีวันลืมได้ก็คือ การได้มีโอกาสเข้าเฝ้าแทบเบื้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งเสด็จนิวัติไปประเทศอังกฤษเพื่อตรวจรักษาพระเนตร และสร้างความระทมใจให้แก่บรรดาชาวไทย ซึ่งมีความจงรักภักดีต่อพระบรมจักรีวงศ์ ด้วยการสละราชสมบัติและไม่เสด็จกลับสู่ประเทศไทยอีกเลย”

“ฉันได้เฝ้าอยู่แทบพระบาท ฟังปัจฉิมโอวาทที่พระราชทานให้ฉันได้ยินกับหู ทรงให้คำแนะนำอันแสนจะมีประโยชน์ในเมื่อฉันกลับมาอยู่เมืองไทย”

พระราชโอวาทมีใจความ ว่า… “ทรงรับสั่งให้ฉันรับทราบว่า จะต้องปรับตัวให้เข้ากับเหตุการณ์และทำตัวให้มีประโยชน์แก่ประเทศชาติ จะต้องลืมสันดานเดิม ไม่ให้มีความเคียดแค้นเกิดขึ้นได้ และทำตนเป็นคนไทยที่มีประโยชน์ ทำตัวให้เป็นประชาธิปไตย ซึ่งฉันควรเรียนรู้อยู่แล้ว ด้วยอยู่ในประเทศอังกฤษอันเป็นแม่แบบของประชาธิปไตยมาแต่เด็ก”

บันทึกทัศนะบางส่วนจากพระองค์ชายเล็ก ในสายราชสกุลยุคล ยุคก่อนการเมืองประชาธิปไตย สรุปไว้ว่า “ฉันน้อมรับพระราชดำรัส กราบที่พระบาททั้งสองพระองค์ ในขณะที่ดวงจิตตั้งสัตยาธิษฐานว่า จะต้องเป็นชาวประชาธิปไตย แม้ว่าประชาธิปไตยเป็นคนเดียวในประเทศไทยก็ตาม”

สายพระองค์ชายใหญ่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล “ท่านผู้หญิงพันธุ์สวลี-หม่อมเจ้านวพรรษ์”

พระอนุวงศ์ที่สืบเชื้อสายมาจากรัชกาลที่ 5 ในส่วนของราชสกุลยุคล นอกจากสายของพระองค์ชายเล็ก พระองค์ชายกลางแล้ว ยังมีอีกบุคคลที่สำคัญและปฏิบัติหน้าที่สนองคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสม่ำเสมอ คือ สายของพระองค์ชายใหญ่ หรือพลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล

พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล เป็นพระโอรสองค์โตในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ กับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล และเป็นพระอัยกาฝ่ายพระมารดาในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ

พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล เป็นผู้อำนวยการสร้าง ผู้กำกับละครและภาพยนตร์ ทรงพระนิพนธ์เรื่องและคำร้องเพลงประกอบหลายเรื่อง เป็นผู้ร่วมก่อตั้งธนาคารไทยทนุเมื่อปี พ.ศ. 2492 และโปรดการสะสมโบราณวัตถุ

พระองค์ชายใหญ่ หรือพลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล มีหม่อม 4 คน คือ หม่อมหลวงสร้อยระย้า ยุคล, บุญล้อม ฐานะวร, ปริม บุนนาค และหม่อมไฉไล ยุคล ณ อยุธยา

มีพระโอรส-ธิดา 6 พระองค์ คือ ท่านผู้หญิงพันธุ์สวลี กิติยากร, หม่อมเจ้าภูริพันธ์ ยุคล, หม่อมเจ้าฐิติพันธุ์ ยุคล, คุณหญิงรังษีนภดล ยุคล, หม่อมเจ้านวพรรษ์ ยุคล และหม่อมเจ้าภานุมา ยุคล ต่อมากราบถวายบังคมลาออกจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์เพื่อสมรสกับนายเมธ พิพิธโภคา จึงมีคำนำหน้าชื่อเป็น คุณภานุมา พิพิธโภคา

ในรัชกาลปัจจุบัน นับว่าราชสกุลยุคลที่สืบเชื้อสายจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ แห่งองค์ต้นราชสกุลยุคล กับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล มีทั้งสายของพระองค์ชายใหญ่-พระองค์ชายเล็กและพระองค์ชายกลาง ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ปฏิบัติหน้าที่ “พระอนุวงศ์” อย่างสม่ำเสมอ