ThaiPublica > คอลัมน์ > ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นซอฟท์พาวเวอร์ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นซอฟท์พาวเวอร์ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

15 ธันวาคม 2023


รศ.ดร. ณดา จันทร์สม ผู้อำนวยการหลักสูตรเศรษฐศาสตร์การเงิน คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

ในช่วงที่ผ่านมา คำว่า “ซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power)” ได้รับการกล่าวถึงอย่างมาก เนื่องด้วยเป็นนโยบายสำคัญที่จะผลักดัน ‘1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์’ ของพรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทย และได้มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาไว้เมื่อวันที่ 11 กันยายน ที่ผ่านมาว่า

“รัฐบาลนี้ยังมีนโยบายสนับสนุนการสร้างพลังสร้างสรรค์ หรือ Soft Power ของประเทศ เพื่อยกระดับและพัฒนาความสามารถด้านความรู้ ความสามารถ และความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย ให้สร้างมูลค่าและสร้างรายได้ รวมทั้งการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาต่อยอดศิลปะ วัฒนธรรม และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อนำมาต่อยอดในการสร้างมูลค่าเพิ่ม

นอกจากนี้ รัฐบาลจะสร้างงาน สร้างรายได้ผ่านการส่งเสริม 1 ครอบครัว 1 ทักษะ Soft Power…”

แม้ว่าการทำงานของรัฐบาลจะเริ่มได้ไม่นาน และได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ประกอบด้วยกรรมการที่มาจากหลายกระทรวง ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายสาขาวิชาชีพ ผู้ประกอบการที่เกี่ยวกับธุรกิจซอฟต์พาวเวอร์ อาทิ กีฬา อาหาร ภาพยนต์ ภาคธุรกิจ การเงิน การต่างประเทศ เป็นต้น โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในการกำหนดยุทธศาสตร์ จัดทำนโยบายและแผนระดับชาติ กำหนดนโยบายและทิศทางทางด้านการเงิน การคลัง การลงทุน รวมทั้งมาตรการและสิทธิประโยชน์ต่างๆ รวมถึงปรับปรับปรุงหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ซอฟต์เพาเวอร์ของประเทศ

แม้จะมีการอภิปรายอย่างกว้างขวางผ่านสื่อสาธารณะต่าง ๆ จากหลายฝ่าย ถึงความชัดเจนต่อทิศทางและการกำหนดนโยบาย และมุ่งไปที่การกำหนดคำนิยามที่ยังคลุมเครือว่าหมายถึงอะไร โดยหากพิจารณาจากคำนิยาม ซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) อ้างอิงจากงานของ Joseph Nye (2005)1/ จะเป็นการขยายอิทธิพล การเปลี่ยนแปลงความคิด การทำให้ผู้คนมีส่วนร่วม หรือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้อื่น โดยไม่ได้ใช้อำนาจบังคับ (Hard Power) อย่างอำนาจเศรษฐกิจ อำนาจทางการทหาร เพื่อบีบบังคับให้ประเทศต่าง ๆ ต้องยอมปฏิบัติตามสิ่งที่เราต้องการ ยิ่งทำให้เกิดความสับสนต่อผู้คนในสังคม และส่งผลต่อการตั้งคำถามไปถึงความชัดเจนของทิศทางและนโยบายที่จะขับเคลื่อนต่อไป

แต่อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากสาขาที่กำหนดไว้ใน นโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาล จากการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ มีการตั้งเป้าพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ในสาขาต่าง ๆ 11 สาขาสู่ตลาดโลก ประกอบด้วย 1) อาหาร 2) กีฬา 3) งานเทศกาล 4) ท่องเที่ยว 5) ดนตรี 6) หนังสือ 7) ภาพยนตร์ 8) เกม 9) ศิลปะ 10) การออกแบบ 11) แฟชั่น

หากเทียบเคียงกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยในยุคของรัฐบาลที่ผ่านมา ที่ได้มีการจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy Agency หรือ CEA) ในรูปแบบขององค์การมหาชน ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2561 เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ผ่านการพัฒนาผู้ประกอบการและกำลังแรงงาน การสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสม ที่จะเชื่อมโยงภูมิปัญญา วัฒนธรรม และภาคการผลิตจริง ได้มุ่งเน้นส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยใน 15 สาขา ได้แก่

    1) งานฝีมือและหัตถกรรม
    2) ดนตรี
    3) ศิลปะการแสดง
    4) ทัศนศิลป์
    5) ภาพยนตร์
    6) การแพร่ภาพและกระจายเสียง
    7) การพิมพ์
    8) ซอฟต์แวร์
    9) การโฆษณา
    10) การออกแบบ
    11) การให้บริการด้านสถาปัตยกรรม
    12) แฟชั่น
    13) อาหารไทย
    14) การแพทย์แผนไทย
    15) การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

ควบคู่ไปกับการผลักดันวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ 5 F ได้แก่ 1) อาหาร (Food) 2) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) 3) ผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่น (Fashion) 4) มวยไทย (Fighting) และ 5) การอนุรักษ์และขับเคลื่อนเทศกาล ประเพณีสู่ระดับโลก (Festival) จะเห็นได้ว่า การกำหนดสาขาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์จะมีความชัดเจน และสอดคล้องกับความเข้าใจร่วมกันในระดับสากลที่มีมากว่า 20 ปี จากงานของ John Howkins (2001)2/ และสหประชาชาติประกาศให้ปี ค.ศ. 2021 เป็นปีแห่งเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (International Year of Creative Economy for Sustainable Development)3/

ดังนั้น นโยบายซอฟท์พาวเวอร์ของรัฐบาลจึงไม่ใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่คำที่เลือกใช้อาจทำให้เกิดความสับสนในการสร้างความเข้าใจกับผู้คนเมื่อมีความพยายามในการผลักดันคำว่าซอฟต์พาวเวอร์

อันที่จริงแล้ว สิ่งที่สำคัญกว่าคำนิยามอย่างมาก คือ การมุ่งเน้นสาระหลักในการสร้างความชัดเจนในการกำหนดนโยบาย ขับเคลื่อนนโยบาย การใช้งบประมาณ และการวัดผลสำเร็จของนโยบาย

กระบวนการการออกแบบ กำหนดนโยบาย และขับเคลื่อนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการดำเนินการอย่างมีกลยุทธ์เพื่อให้สามารถบรรลุผลสัมฤทธิอย่างที่คาดหวังได้ การกำหนดนโยบายแบบเหวี่ยงแห ขาดทิศทาง และพยายามจะให้ครอบคลุมอาจทำให้เกิดความสูญเสียในการใช้ทรัพยากร ใช้งบประมาณอย่างไม่มีประสิทธิภาพ และไม่ส่งให้เกิดผลสำเร็จและนำไปสู่ผลลัพธ์ตามที่คาดหวังได้ บทความนี้จะขอกล่าวถึงปัจจัยสู่ความสำเร็จในการกำหนดนโยบายที่สำคัญ ที่จะใช้ในการประเมินผลการดำเนินนโยบายว่ามีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในระดับใด โดยประยุกต์ตามกรอบการประเมินที่องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD, 2021) ได้เสนอไว้เพื่อการประเมินนโยบายและมาตรการของรัฐ แบ่งออกเป็น 5 ประเด็นหลัก ได้แก่

1)นโยบายมีความเกี่ยวข้องและสอดคล้องทิศทางการพัฒนาอย่างไร (Relevance/Coherence) เนื่องด้วยเป้าหมายของการพัฒนามีหลายมิติ โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีความจำเป็นที่จะต้องมุ่งไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังนั้น การออกแบบและกำหนดนโยบายจึงต้องมุ่งไปสู่เป้าหมายของการพัฒนาในทิศทางเดียวกัน การกำหนดนโยบายและขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อเป็นซอฟท์พาวเวอร์และเป็นกลไกหนึ่งในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนจึงต้องมีความชัดเจน และกำหนดทิศทางไว้ตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาในประเทศและระดับสากล

2)การคำนึงถึงประสิทธิผลของการดำเนินนโยบาย (Effectiveness) การออกแบบและกำหนดนโยบาย ต้องให้ความสำคัญกับการกำหนดเป้าหมายของความสำเร็จของนโยบายที่ชัดเจน หากนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาลตามที่แถลงไว้ มีเป้าหมายหลักเพื่อมุ่งสร้างงาน สร้างรายได้ จึงต้องกำหนดการวัดผลสำเร็จของการดำเนินนโยบายให้เป็นรูปธรรม และให้มีการจัดทำข้อมูลที่ถูกต้องและทันเวลาเพื่อรองรับการประเมินผลสำเร็จ การจัดทำชุดข้อมูลที่เป็นระบบและมุ่งเป้าหมายมีความสำคัญอย่างมากที่จะเป็นรากฐานสำคัญในการดำเนินการและวัดผลสำเร็จของโครงการ ที่ผ่านมา การรายงานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และธุรกิจสร้างสรรค์ยังไม่เป็นระบบและไม่ทันเวลาเท่าที่ควร จากการสำรวจชุดข้อมูลการวิเคราะห์เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่รวบรวมโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์และเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ Open Government Data of Thailand เพื่อการรายงานดัชนีการวิเคราะห์เศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทย ยังไม่ปรากฏชุดข้อมูลที่ทันสมัยและพร้อมสำหรับการใช้งาน จึงอาจส่งผลต่อการวัดผลความสำเร็จของนโยบายได้

3)การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ (Efficiency) การกำหนดนโยบายที่มุ่งเป้าหมายให้เกิดผลสัมฤทธิ เป็นแนวทางการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพ ในการกำหนดนโยบายจึงควรมีการจัดลำดับความสำคัญและขับเคลื่อนสาขาที่สำคัญให้เกิดประสิทธิผลอย่างจริงจังเพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์ตามที่คาดหวัง การดำเนินนโยบายแบบเหวี่ยงแหอาจทำให้เกิดการสูญเสียทรัพยากรในกระบวนการได้ การใช้กระบวนการในการจัดสรรงบประมาณที่มุ่งเน้นผลลัพธ์ (Outcome-based budgeting model) ต้องได้รับการนำมาปฏิบัติให้เกิดผลได้จริง

4)การประเมินผลกระทบของนโยบาย (Impacts) นอกจากประเมินผลสำเร็จของนโยบายแล้ว ต้องรวมถึงการประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นของการดำเนินนโยบายว่าว่าจะสร้างความแตกต่างได้หรือไม่ อย่างไร และในระดับใด โดยจะสามารถสร้างความแตกต่างต่อกลุ่มเป้าหมายในทุกระดับ ตั้งแต่ผู้รับประโยชน์โดยตรง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และผลต่อการพัฒนาในองค์รวม โดยเฉพาะผลกระทบต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนที่จะต้องกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน โดยอาจมุ่งเป้าหมายไปยังเป้าหมายทางเศรษฐกิจ ซึ่งควรกำหนดผลลัพธ์และแนวทางการประเมินผลที่จะสะท้อนผลกระทบต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตั้งแต่ขั้นตอนเริ่มต้นของการออกแบบการดำเนินนโยบาย และกำหนดตัวชี้วัดที่ชัดเจน

5)ความยั่งยืน (Sustainability) ของนโยบายมีความสำคัญ การออกแบบและดำเนินนโยบายต้องคำนึงถึงความต่อเนื่องของนโยบายและการขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ โดยไม่ต้องอิงกับภาคการเมืองที่มีพลวัตการเปลี่ยนแปลงสูง การกำหนดแนวทางที่ผลประโยชน์สุทธิของนโยบายจะสามารถดำเนินต่อไปหรือมีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไป ทั้งในมิติของศักยภาพทางการเงิน เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และองค์กรที่จะทำหน้าที่ขับเคลื่อนให้ผลประโยชน์สุทธิของนโยบบายคงอยู่และต่อเนื่องเมื่อเวลาล่วงไป

การกำหนดนโยบายและขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นนโยบายที่ต้องการความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานสูง เนื่องจากมีความเกี่ยวเนื่องกับหน่วยงานหลายภาคส่วน และแม้แต่ระหว่างหน่วยงานของภาครัฐเอง ที่มีความเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง จึงจำเป็นที่จะต้องมีการบูรณาการอย่างเป็นระบบ การมีเจ้าภาพหลักในการขับเคลื่อนเป็นหัวใจสำคัญ ที่ผ่านมา สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ที่จัดตั้งขึ้นภายใต้กฎหมายที่เป็นพระราชกำหนดฯ เป็นองค์การมหาชนในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งการผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ต้องการความเชื่อมโยงระหว่างกระทรวง และหน่วยงานต่าง ๆ ทำให้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์อาจทำบทบาทได้ไม่เต็มที่ในการสั่งการเพื่อขับเคลื่อน หากเป็นการขอความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเป็นหลัก

นโยบายของรัฐบาลจึงมีแนวทางที่จะตั้งหน่วยงานที่เข้ามารับผิดชอบในเรื่องนี้โดยตรง THACCA (Thailand Creative Content Agency)6/ เป็นหน่วยงานที่รัฐบาลอยู่ระหว่างการจัดตั้ง และคงต้องติดตามต่อไปถึงความก้าวหน้าในการให้มีเจ้าภาพเพื่อขับเคลื่อนเรื่องนี้ได้อย่างจริงจัง จะสามารถบูรณาการการดำเนินการให้เกิดผลสำเร็จได้อย่างที่คาดหวังหรือไม่ อย่างไร

การออกแบบและขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นความท้าทายที่จะให้เศรษฐกิจสร้างสรรค์ สร้างงาน สร้างรายได้ ธำรงรักษาเอกลักษณ์ วัฒนธรรม ภูมิปัญญา และยกระดับคุณภาพชีวิตให้ประชาชนในประเทศได้อย่างทั่วถึง เป็นซอฟท์พาวเวอร์ที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายที่ยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสังคมที่สำคัญ ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนมีความสำคัญอย่างมาก เพราะการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นมิติที่ครอบคลุมถึงวัฒนธรรม ภูมิปัญญา นวัตกรรม ธุรกิจ ชุมชน และผู้คน การทำงานร่วมกันทั้งในการพัฒนาคน พัฒนาชุมชน พัฒนาโอกาสทางธุรกิจ และการสนับสนุนผลักดันจากภาครัฐ จึงเป็นความสัมพันธ์ที่ต้องร่วมมือกันอย่างบูรณาการ บทบาทของรัฐในการส่งเสริมและสนับสนุน สร้างบรรยากาศในการพัฒนานวัตกรรมและลงทุน รวมถึงลดอุปสรรคจากกฎระเบียบต่าง ๆ เป็นความคาดหวังที่จะช่วยกันผลักดันให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่ความเจริญเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืนต่อไป

อ้างอิง
1-Nye, Joseph S., Jr. 2005. Soft Power: The Means to Success in World Politics. PublicAffairs Books. Copy at http://www.tinyurl.com/mug36ku
2-Howkins, J. (2001). The Creative Economy: How People Make Money from Ideas. London: Allen Lane.
3-International Year of Creative Economy for Sustainable Development. https://en.unesco.org/commemorations/international-years/creativeeconomy2021
4-OECD, 2021. Evaluation Criteria. https://www.oecd.org/dac/evaluation/daccriteriaforevaluatingdevelopmentassistance
5-Open Government Data of Thailand https://data.go.th/dataset/analyst-creative-economy1
6-THACCA (Thailand Creative Content Agency. THACCA.com