
มาเลเซียประกาศว่า สุลต่าน อิบราฮิม สุลต่าน อิสกันดาร์ จากรัฐยะโฮร์ทางตอนใต้ จะขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระราชาธิบดีพระองค์ที่ 17 ของประเทศและจะมีการจัดพระราชพิธีราชาภิเษกในวันที่ 31 เดือนมกราคมปี 2567
การประกาศดังกล่าวมีขึ้นในแถลงการณ์โดยสมุหพระราชลัญจกร (keeper of the Royal Seal) ไซเอ็ด ดาเนียล ไซเอ็ด อาหมัด เมื่อวันศุกร์ (27 ต.ค.) หลังจากเจ้าผู้ปกครองรัฐ 9 รัฐที่เป็นสมาชิกสภาเจ้าผู้ปกครองรัฐ หรือสุลต่าน ได้ประชุมสภาเจ้าผู้ปกครองรัฐของมาเลเซีย เพื่อลงคะแนนว่าสุลต่านองค์ใดจะได้เป็นประมุขแห่งรัฐคนต่อไป หรือที่รู้จักกันในชื่อ Yang di-Pertuan Agong(ยังดี เปอร์ตวน อากง) Muizzuddin ในอีก 5 ปีข้างหน้า
“ข้าพเจ้าขอแจ้งให้ทราบว่าที่ประชุมสภาเจ้าผู้ปกครองในระหว่างการประชุมพิเศษครั้งที่ 263 ซึ่งจัดขึ้นที่พระราชวังหลวงเมื่อวันศุกร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2566 ได้ตกลงที่จะประกาศว่า ฝ่าบาทสุลต่านอิบราฮิม สุลต่านแห่งยะโฮร์ ดารุล ตาซิม ได้รับเลือกให้เป็นสมเด็จพระราชาธิบดี ยังดี เปอร์ตวน อากง พระองค์ที่ 17 เป็นเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2024” สมุหพระราชลัญจกร ระบุในแถลงการณ์
นอกจากนี้ สุลต่านแห่งเประ สุลต่าน นัซริน มุอิซซุดดิน ชาห์ จะได้รับแต่งตั้งเป็นรองMuizzuddin เป็นเวลา 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2567 เช่นกัน
สมเด็จพระราชาธิบดีองค์ปัจจุบัน สมเด็จพระราชาธิบดี สุลต่าน อับดุลเลาะห์ สุลต่าน อะหมัด ชาห์ จะครองราชย์จนถึง วันที่ 30 มกราคม 2567
ภายใต้ระบอบกษัตริย์แบบหมุนเวียนของมาเลเซีย จะเลือกจากเจ้าผู้ปกครองรัฐ 9 รัฐที่เป็นสมาชิกสภาเจ้าผู้ปกครองรัฐ หรือสุลต่าน ขึ้นเป็นกษัตริย์ หรือ ยังดิ เปอร์ตวน อากง ซึ่งมีวาระครองราชย์คราวละ 5 ปี
การขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระราธิบดีพระองค์ใหม่นับเป็นครั้งแรกที่พระองค์จะทรงดำรงตำแหน่งนี้ และ 34 ปีภายหลังการขึ้นครองราชย์ของพระราชบิดา
Yang di-Pertuan Agong หรือ “ราชาแห่งราชา” ทรงเป็นกษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ แต่นับตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ปี 2018 และตามมาด้วยการสลับสับเปลี่ยนของพรรคร่วมรัฐบาล กษัตริย์ทรงมีบทบาทอย่างแข็งขันมากขึ้นในการเมือง
สมเด็จพระราชาธิบดี สุลต่าน อับดุลเลาะห์ สุลต่าน อะหมัด ชาห์ ทรงใช้พระราชอำนาจของกษัตริย์ในการเลือกนายกรัฐมนตรี 3 คนที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงหลังการเลือกตั้งในปี 2565 ซึ่งไม่มีพรรคใดพรรคเดียวชนะเสียงข้างมากในรัฐสภา
สุลต่านอิบราฮิม ซึ่งว่ากันว่ามีความหลงใหลในรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ที่มีกำลังแรง และมีความสนใจทางธุรกิจในวงกว้าง มีชื่อเสียงจากการเดินทางทั่วยะโฮร์เป็นประจำทุกปีเพื่อพบปะผู้คนในรัฐ
สุลต่านอิบราฮิม ซึ่งมีพระชนม์พรรษา 64 พรรษาและมีพระโอรส 6 พระองค์ ทรงผ่านการฝึกฝนขับเครื่องบินเจ็ตและเฮลิคอปเตอร์ และมี “จิตวิญญาณของทหารและเป็นเลิศในกิจกรรมทางทะเลและกีฬาผาดโผนอื่นๆ” จากข้อมูลเว็บไซต์ของราชวงศ์
พระราชบิดาของสุลต่านอิบราฮิมเป็นสมเด็จพระราชาธิบดีพระองค์ที่ 8 ของประเทศ โดยครองราชย์ระหว่างปี 2527 ถึง 2532 ส่วนราชวงศ์ยะโฮร์มีต้นกำหนดตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 16 และมีกองทัพเป็นของตัวเอง
รัฐยะโฮร์ตั้งอยู่ทางตอนใต้สุดของคาบสมุทรมาเลเซีย มีทางข้ามทางหลวงไปยังสิงคโปร์ ซึ่งเป็นทางข้ามบกที่พลุกพล่านที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

มาเลเซียกับระบอบกษัตริย์หมุนเวียนที่ไม่เหมือนใคร
ภายใต้ระบอบกษัตริย์แบบหมุนเวียนของมาเลเซีย ยังดี เปอร์ตวน อากงจะเลือกจากสุลต่านที่เป็นสมาชิกสภาเจ้าผู้ปกครองรัฐ 9 รัฐ โดยมีวาระครองราชย์คราวละ 5 ปี
ภายใต้ระบอบกษัตริย์แบบหมุนเวียนของมาเลเซีย สุลต่านองค์หนึ่งดำรงตำแหน่งกษัตริย์ได้ถึงสองครั้ง
ระบอบนี้เริ่มต้นเมื่อประเทศได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1957 (2500) โดยมีลำดับดังนี้ เนกรีเซมบีลัน, สลังงอร์, เปอร์ลิส, ตรังกานู, เคดาห์, กลันตัน, ปะหัง, ยะโฮร์ และเประ
มุขมนตรี แห่งมะละกา ปีนัง ซาบาห์ และซาราวัก ซึ่งเป็นรัฐที่ไม่มีราชวงศ์ ไม่มีบทบาทในการเลือกกษัตริย์องค์ต่อไป
แม้ว่าจะมีระบบหมุนเวียน แต่สมเด็จพระราชาธิบดีแต่ละพระองค์ยังต้องได้รับการแต่งตั้งในระหว่างการประชุมสภาเจ้าผู้ปกครอง โดยสุลต่านแต่ละองค์จะได้รับบัตรลงคะแนนและต้องระบุว่า สุลต่านองค์แรกในรายชื่อเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่จะเป็นกษัตริย์หรือไม่
หากพระนามแรกไม่ได้รับคะแนนเสียงอย่างน้อย 5 เสียง หรือสุลต่านไม่ต้องการขึ้นเป็นกษัตริย์ กระบวนการนี้จะเริ่มใหม่โดยใช้พระนามถัดไปในรายชื่อจนกว่าจะเลือกกษัตริย์ได้
วารการครองราชย์ของกษัตริย์แต่ละพระองค์คือ 5 ปี อย่างไรก็ตาม วาระอาจสั้นลงได้หากสุลต่านสละราชสมบัติด้วยเหตุผล เช่น สุขภาพไม่ดี หรือสิ้นพระชนม์ขณะครองราชย์
แม้สมเด็จพระราชาธิบดีมาเลเซียจะทรงปฏิบัติหน้าที่ในเชิงพิธีการเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่การเป็นกษัตริย์มาพร้อมกับหน้าที่พิเศษและสิทธิพิเศษตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ
กษัตริย์มาเลเซียมีพระราชอำนาจอะไรบ้าง?
กษัตริย์จะทรงมีลำดับความสำคัญเหนือบุคคลทั้งหมดในสหพันธ์ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด และพระราชอำนาจของพระองค์กว้างกว่าอำนาจของสุลต่านแต่ละราย รวมถึงการใช้ดุลยพินิจแต่เพียงผู้เดียวในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและการปฏิเสธคำร้องขอยุบรัฐสภา
พระมหากษัตริย์ทรงลงนามในกฎหมายและทรงแต่งตั้งรัฐมนตรีและผู้แทน ผู้พิพากษาศาล และบทบาทสำคัญอื่นๆ ในระดับชาติ ตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี
ในกรณีที่เกิดทางตันทางการเมือง รัฐธรรมนูญให้อำนาจแก่กษัตริย์ในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีที่พระองค์เชื่อว่า สามารถคุมเสียงข้างมากในสมาชิกสภานิติบัญญัติได้
หลังพระราชพิธีราชาภิเษกแล้ว กษัตริย์จะต้องสละอำนาจที่เกี่ยวข้องกับรัฐของพระองค์เอง แม้ว่าพระองค์จะยังคงมีอำนาจทางศาสนาอยู่ก็ตาม กษัตริย์ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการเชิงพาณิชย์ใดๆ
สำหรับชาวมาเลย์ส่วนใหญ่ของประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท ราชวงศ์ยังคงเป็นสัญลักษณ์อันทรงพลังของตัวตนมาเลเซีย สุลต่านเป็นองค์อุปถัภม์ศาสนาอิสลามในรัฐของตนเอง ในขณะที่กษัตริย์ยังทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ศาสนาในรัฐที่ไม่มีกษัตริย์โดยสายเลือด
ยังดี เปอร์ตวน อากง จะประทับในพระราชวังที่สร้างขึ้นเฉพาะซึ่งมีโดมสีเหลือง 22 โดมในเขตชานเมืองทางตะวันตกชั้นในของกัวลาลัมเปอร์ และทรงทำหน้าที่เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด
ยังดี เปอร์ตวน อากง มีดุลยพินิจสูงสุดว่าจะพระราชทานอภัยโทษหรือปล่อยตัวอาชญากรที่ถูกจำคุกก่อนกำหนด