ThaiPublica > ประเด็นร้อน > Research Reports > KKP Research > KKP Research ชี้เศรษฐกิจโลกไม่สดใส ส่งออกไทยเสี่ยงหดตัวแรง ปรับ GDP เหลือ 3.3%

KKP Research ชี้เศรษฐกิจโลกไม่สดใส ส่งออกไทยเสี่ยงหดตัวแรง ปรับ GDP เหลือ 3.3%

31 มีนาคม 2023


KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ออกรายงาน “เมื่อเศรษฐกิจโลกไม่สดใส ส่งออกไทยเสี่ยงหดตัวแรง” ชี้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันเป็นช่วงเวลาที่มีความไม่แน่นอนสูงขึ้นและเป็นช่วงที่ใกล้ถึงจุดวกกลับ (Turning Point) ของเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตอย่างมากทำให้การประเมินภาวะเศรษฐกิจทำได้ยากและมีความท้าทายมากขึ้น ในระยะที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกเผชิญหน้ากับปัญหาเงินเฟ้อสูงแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาในรอบหลายสิบปีทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เร็วและแรงส่งผลให้คนเริ่มกังวลว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงและรวมทั้งสร้างความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน

ในปี 2023 เหตุการณ์ของ Silicon Valley Bank ได้เพิ่มความกังวลและสั่นคลอนภาคธนาคารทั้งในสหรัฐ ฯ และยุโรป ทำให้เกิดความกังวลว่าวิกฤติทางการเงินจะเกิดขึ้นอีกครั้งหรือไม่ ในระยะสั้นการตอบสนองของภาครัฐที่รวดเร็วและการอัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มเติมให้กับภาคธนาคารได้ช่วยลดแรงกดดันและป้องกันไม่ให้ปัญหาลุกลามไปได้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาวะทางการเงินที่เริ่มตึงตัวขึ้นเร็วจะส่งผลต่อให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงมากขึ้นได้ ในขณะที่เงินเฟ้อที่ยังส่งสัญญาณค้างสูงจะทำให้นโยบายการเงินไม่สามารถกลับมาสนับสนุนเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่

คำถามคือ ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูงแบบนี้ เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบอย่างไร จะชะลอตัวลงตามเศรษฐกิจโลกมากแค่ไหน และมีประเด็นสำคัญอะไรที่ต้องระวังและติดตาม

ไทยเผชิญความท้าทายมากขึ้น ลด GDP เหลือ 3.3%

KKP Research ยังคงประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2023 มีความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกมากขึ้น แต่ยังขยายตัวได้จากแรงส่งของการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยว จากฐานที่อยู่ในระดับต่ำกว่าปกติมาก ประกอบกับการกลับมาของอุปสงค์ที่อั้นอยู่ของนักท่องเที่ยวจีน (Pent-up demand) ซึ่งมีแนวโน้มปรับตัวชัดเจนตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป การฟื้นตัวที่ดีขึ้นกว่าที่คาดทำให้คาดว่านักท่องเที่ยวจะกลับเข้ามาท่องเที่ยวในไทยได้มากขึ้นกว่าที่ประเมินไว้จากเดิม 25.1 ล้านคน เป็น 29.8 ล้านคนในปี 2023 และคาดว่าในจำนวนนี้เป็นนักท่องเที่ยวจีนจำนวน 5 ล้านคน

อย่างไรก็ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและอุปสงค์จากต่างประเทศจะส่งผลสำคัญต่อความสามารถในการส่งออกสินค้าของไทย ประกอบกับฐานที่สูงในปีก่อนทำให้เริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวอย่างหนักของการส่งออกทั้งของไทยและภูมิภาคในช่วงที่ผ่านมา จะเป็นแรงฉุดที่สำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ทำให้ในภาพรวม KKP Research ปรับประมาณการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจลงจาก 3.6% เหลือ 3.3% ซึ่งจะยังคงทำให้ “เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ช้าที่สุดประเทศหนึ่งในภูมิภาค”

ฟื้นตัวกระจุกที่ท่องเที่ยว ส่งออกและการบริโภคชะลอ

KKP Research ยังคงประเมินว่าการท่องเที่ยวจะเป็นแรงส่งหลักเกือบทั้งหมดของเศรษฐกิจไทยในปี 2023 โดยหากพิจารณาแรงส่งต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย จะพบว่าเฉพาะการเติบโตของรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นที่มาของการเติบโตของเศรษฐกิจไทยไปแล้วประมาณ 4% ในขณะที่สัญญาณเศรษฐกิจในภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ ของประเทศทั้งภาคการส่งออกและภาคการบริโภคในประเทศยังมีแนวโน้มชะลอตัว สะท้อนให้เห็น “การฟื้นตัวที่ไม่เท่ากันระหว่างภาคเศรษฐกิจในประเทศ”

1)สัญญาณการชะลอตัวของการส่งออกเริ่มเห็นแนวโน้มชัดเจนขึ้นตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และต่อเนื่องมาถึงปีนี้ โดยยังเห็นสัญญาณชะลอตัวของการส่งออกในหลายประเทศในภูมิภาค เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน เวียดนาม เมื่อพิจารณาแนวโน้มการส่งออกของไทย โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรกที่จะถูกเปรียบเทียบกับฐานการส่งออกที่สูง เช่น ในกลุ่มสินค้าอิเลกทรอนิกส์ที่อุปสงค์เร่งตัวในช่วงก่อนหน้า อาจทำให้การส่งออกในไตรมาส 1 และ 2 ของไทยปีนี้มีโอกาสติดลบเกิน 10% ได้ (ในรูปดอลลาร์สหรัฐ ฯ) KKP Research ประเมินว่าปริมาณการส่งออกสินค้าในปีนี้จะติดลบ 3.1% จากที่เคยประเมินไว้ที่ 1.8% โดยคาดว่าสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมจะหดตัวในขณะที่ภาคเกษตรจะยังพอขยายตัวได้

2)เงินเฟ้อที่สูงและดอกเบี้ยขาขึ้นจะเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคในปีนี้ แม้ว่าเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมาจะชะลอตัวลงบ้างแล้ว แต่คาดว่าเงินเฟ้อยังมีโอกาสค้างอยู่ในระดับสูงและสูงกว่าการปรับขึ้นค่าแรงเฉลี่ยของคนไทยซึ่งจะเป็นปัจจัยลบที่กดดันการบริโภค ยิ่งไปกว่านั้น KKP Research ยังคงประเมินว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับดอกเบี้ยขึ้นไปแตะระดับ 2.25% ในปีนี้ อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นประกอบกับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงจะชะลอการบริโภคในกลุ่มสินค้าคงทนโดยเฉพาะบ้านและรถยนต์

ค่าเงินบาทผันผวนสูงตามปัจจัยพื้นฐาน และเศรษฐกิจโลก

จากราคาสินค้าและราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้ราคาสินค้านำเข้าของไทยเพิ่มขึ้นเร็วกว่าราคาสินค้าส่งออก หรือ Terms of Trade ปรับตัวแย่ลง ตัวเลขดุลการค้าของไทยในช่วงที่ผ่านมาปรับตัวติดลบหรือเกินดุลน้อยกว่าปกติเป็นผลมาจากปัจจัยด้านราคาสินค้านำเข้าที่เพิ่มขึ้นเร็ว KKP Research ยังคงประเมินว่าดุลการค้าของไทยในปีนี้จะเกินดุลในระดับที่ต่ำกว่าปกติมาก และส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพียง 0.3% ของ GDP เทียบกับช่วงก่อนโควิดที่ 5% – 7% ของ GDP แม้คาดว่าจะมีรายได้จากนักท่องเที่ยวกลับเข้ามา 30 ล้านคน หรือประมาณ 75% ของก่อนโควิดแล้วก็ตาม ดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลน้อยกว่าที่ตลาดคาดจะส่งผลให้ค่าเงินบาทผันผวนตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกมากขึ้นและกลับมากระทบกับการค้าระหว่างประเทศของไทยในปีนี้

จับตาดูภาวะทางการเงินทั้งไทยและต่างประเทศ

KKP Research คาดว่าเศรษฐกิจโลกอย่างน้อยในปีนี้จะสามารถหลีกเลี่ยงการเกิดวิกฤติการเงินไปได้ แต่เงินเฟ้อที่ค้างอยู่ในระดับสูงยังเป็นความเสี่ยงสำคัญ โดยนโยบายการเงินที่ยังคงต้องตึงตัวต่อเนื่องจะทำให้ความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดในภาคการเงินที่เปราะบางยังสามารถเกิดขึ้นได้ ซึ่งจะยังคงทำให้ “เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้แบบเปราะบางและอ่อนไหวต่อความเสี่ยงภายนอก”

การคาดการณ์ว่าวิกฤติในภาคการเงินจะเกิดขึ้นหรือไม่ และเกิดขึ้นที่จุดไหน เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ซึ่งจะทำให้ในระยะต่อไปความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจและทิศทางนโยบายการเงินและการคลังจะยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดการเงินมีความผันผวนสูงต่อเนื่อง โดยต้องจับตาดูพัฒนาการของภาวะทางการเงิน (Financial Conditions) ซึ่งจะสะท้อนผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อภาคเศรษฐกิจจริง การตัดสินใจทั้งการลงทุนและการดำเนินนโยบายในช่วงที่เศรษฐกิจใกล้ถึงจุดเปลี่ยนจึงต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น และต้องติดตามและประเมินข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด