ThaiPublica > คอลัมน์ > ทำไงกับ “ทรงอย่างแบด”

ทำไงกับ “ทรงอย่างแบด”

5 กุมภาพันธ์ 2023


วรากรณ์ สามโกเศศ

วง Paper Planes ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/PaperPlanesTH

“ทรงอย่างแบด แซดอย่างบ่อย เธอไม่อินกับผู้ชาย bad boy…….” ได้ยินเพลงชาติฟันน้ำนมนี้แล้วรู้สึกคันมือ ถ้าเป็นครูของเด็กนักเรียนชั้นประถมตอนนี้ได้ละก็จะเอามันมาหาประโยชน์ให้เด็กอย่างสนุกมือเล้ย

ศิลปินวง Paper Planes คงไม่นึกไม่ฝันว่าเพลงแสนยาวที่บรรยายการจีบสาวอย่างหวาดหวั่นจะดังเป็นพลุแตกในหมู่เด็กตรงท่อนฮุกดังที่ยกมาข้างต้น ขอเอาเนื้อร้องท่อนฮุกนี้มาลงเพื่อจะได้เห็นกันชัด ๆ ว่าเอามาใช้ประโยชน์ได้อย่างไร

“ทรงอย่างแบด แซดอย่างบ่อย
เธอไม่อินกับผู้ชาย bad boy
ทรงอย่างแบด แซดอย่างบ่อย
เธอไม่รัก ฉันก็คงต้องกร่อย

โธ่พ่อหนุ่ม bad boy …. bad boy
ทรงอย่างแบด แซดอย่างบ่อย
ปล่อยเธอไปกับไอ้หนุ่ม good boy…”

ขอสารภาพว่าครั้งแรกที่ได้ยินวลี “ทรงอย่างแบด” ก็รู้สึกงงว่าหมายความอย่างไร มันช่างเป็นภาษาไทยที่แปลกประหลาดเสียนี่กระไร ยิ่งวลีตามมา “แซดอย่างบ่อย” ยิ่งมึนยิ่งขึ้น แต่ฉุกคิดได้ว่ามันเป็น พ.ศ. ใหม่ คนแต่งต้องการภาษาที่ฟังดูแปลกและสนุก เมื่อเด็กชอบจึงไม่รู้สึกขัดข้องเพราะตระหนักว่าภาษามีจิตวิญญาณของการพัฒนาตัวของมันเองตามความปรารถนาของผู้ใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเด็ก ๆ ชอบมาก ร้องกันทั้งที่บ้านและโรงเรียน อีกสักพักก็คงหายไปกับสายลมเหลือแต่ความทรงจำของยุคสมัย

ผู้เขียนเข้าใจว่า “ทรงอย่างแบด” หมายถึงรูปฟอร์มไม่ดี ดูเป็น “แบดบอย” และไม่เข้าท่า ส่วน “แซดอย่างบ่อย” ที่ตามมานั้นน่ามาจากคำผวน “แซดอย่างบง” ของ “ทรงอย่างแบด” แต่เนื่องจาก “บง” ไม่มีความหมายจึงเปลี่ยนเป็น “บ่อย” ดังนั้นจึงกลายเป็น “แซดอย่างบ่อย” กล่าวคือเสียใจอยู่บ่อย ๆ

คราวนี้มาถึงประเด็นว่าจะเอาท่อนฮุกนี้มาใช้ประโยชน์เพื่อเด็กอย่างไร ขอเริ่มต้นที่คำกล่าวว่า “การศึกษาไม่ใช่เรื่องของการเติมน้ำใส่ถัง หากเป็นเรื่องของการจุดไฟ“ (William Butler Yeats) และ “การศึกษาไม่ใช่การเรียนรู้ข้อเท็จจริง หากเป็นการฝึกฝนให้รู้จักคิด” (Albert Einstein) ดังนั้นครูต้องเอาเพลงนี้มาช่วยเด็กในการฝึกคิดซึ่งเป็นทักษะชนิดหนึ่ง และเพื่อ “สร้างความคิดและปัญญา“ หรือการจุดไฟในตัวเด็ก

ถ้าผมเป็นครูผมจะใช้การระดมสมองจากเด็กกล่าวคือ ให้เด็กทุกคนในห้องได้ร่วมกันแสดงความเห็น ผมจะรับทุกความเห็นอย่างไม่แสดงอคติว่าอะไรเป็นความเห็นที่เข้าท่า หรือไม่เข้าท่า สิ่งสำคัญคือให้ทุกคนมีโอกาสแสดงความคิดเห็น และทุกความเห็นเข้าท่าทั้งนั้น ผมจะห้ามการหัวเราะเยาะความคิดของเพื่อนในห้องอย่างเด็ดขาด ผมจะเขียนความเห็นของทุกคนลงบนกระดานดำ และจะไม่ขีดฆ่าความเห็นของใครบนกระดานดำเป็นอันขาด ผมจะให้ความสนใจเป็นพิเศษแก่การแสดงความคิดเห็นของเด็กชอบนั่งหลังห้อง และดูจะอ่อนการเรียนและเขินอายเพื่อน ทั้งนี้เพื่อให้ทุกคนรู้สึกว่าตนเองเป็นคนที่มีความสำคัญผ่านการยอมรับความคิดเห็นของเพื่อน ๆ และตัวผม นี่คือกฎกติกาที่ผมจะปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ส่วนกระบวนระดมความคิดของเราจะเต็มไปด้วยความสนุกสนานแถมหยอกเย้าอย่างไม่มีใครเป็นเป้าของความตลก

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/PaperPlanesTH

ประเด็นแรก ผมจะถามชั้นเรียนว่า bad boy หมายถึงอะไร และอะไรที่ทำให้เขาเป็น bad boy เมื่อถามแล้วผมก็จะคะยั้นคะยอให้แต่ละคนตอบ เมื่อตอบอะไรผมจะเขียนคำตอบนั้นบนกระดานดำ และกล่าวคำชมทุกความเห็นเพื่อให้กำลังใจให้ตอบกันมาก ๆ อย่างสนุก ผมอาจหยอดว่าแล้วถ้าไว้ผมยาวมาโรงเรียนเป็น bad boy ไหม ประเด็นนี้จะจุดไฟให้คิดเพราะทั้งโรงเรียน เด็กและผู้ปกครองก็มีอะไรในใจด้วยกันทั้งนั้น ผมจะไม่พูดอะไรเป็นอันขาดในเรื่องความผิดถูก ทุกคนต้องเคารพความเห็นของคนอื่นถึงแม้ว่าในใจจะคิดว่าเป็นความเห็นที่ผิดก็ตาม และถ้ามีเวลาผมจะหยอดเรื่อง bad girl ตามแนวคำถามเดียวกัน

ประเด็นที่สอง เมื่อพอเห็นภาพและแสดงความเห็นกันแล้วว่า bad boy มีลักษณะอย่างไร คราวนี้จะถามว่าเหตุใด “เธอไม่อินกับผู้ชาย bad boy” ผมเชื่อว่าหลากหลายความคิดจะออกมาอย่างน่าแปลกใจ ค่านิยมความเชื่อที่มาจากศาสนา คำสอนของครู และพ่อแม่ผู้ปกครอง จะออกมาผสมปนเปกัน และผมเชื่อว่าเด็กจะเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า bad ดังที่เขาแสดงความเห็นกัน และกระตุ้นให้คิดและการฝึกหัดการคิดก็จะเกิดขึ้น

ประเด็นที่สาม “ทรงอย่างแบด” หมายความว่าอย่างไร ผมเชื่อว่าเมื่อเด็ก ๆ เห็นว่าbad boy มีลักษณะอย่างไรแล้ว เขาก็พอจะเข้าใจว่า “ทรงอย่างแบด” ซึ่งเป็นภาพรวมหมายความว่าอย่างไร และ “ทรงอย่างกู๊ด” เป็นอย่างไร ทำไมจึงเหนือกว่า “ทรงอย่างแบด” และพวกเราไม่ควรมี “ทรงอย่างแบด” เพราะเหตุใด

ประเด็นที่สี่ เมื่อเธอไม่รักก็ “ปล่อยเธอไปกับไอ้หนุ่ม good boy” ผมขอขอบคุณประโยคนี้ของผู้แต่งเพลง (คุณธันวา เกตุสุวรรณ) เป็นอย่างมากเพราะสอนความเป็นสันติให้เด็ก ปัจจุบันเราเห็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์บ่อย ๆ เรื่องวัยรุ่นฆ่าฟันกันเพราะความแค้นเมื่ออีกฝ่ายหนึ่งขอเลิกราไปโดยไม่ยอมปล่อยเธอไปกับใครทั้งนั้น คำถามก็คือ ทำไมจึงควร “ปล่อยเธอไปกับไอ้หนุ่ม good boy” และการ “ปล่อยเธอไป” เป็นผลดีอย่างไรต่อฝ่ายต่าง ๆ และถ้าต้องปล่อยเธอไปกับ bad boy จะรู้สึกอย่างไร

อย่าดูถูกเด็กนักเรียนว่าจะไม่มีความเห็นกับคำถามเหล่านี้นะครับ ถ้าเราสร้างบรรยากาศของการเรียนรู้ให้สนุก และเขาเห็นว่ามันเป็นเรื่องใกล้ตัว อีกทั้งไม่มีใครดูถูก หัวเราะเยาะความคิดของเขา หากกิจกรรมนี้ทำให้เขารู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญ เขาก็จะรู้สึกสนุกและสบายใจในการร่วมแสดงความคิดเห็น

หากเด็กสนุกและได้ประโยชน์จากกิจกรรมแบบนี้ ท่อนฮุกของเพลงอาจเปลี่ยนไปเป็น “ทรงนี้ไม่แบด ไม่แซดบ่อย ๆ / พวกเราอิน เป็นผู้ชาย smart boy”

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 31 ม.ค. 2566