ThaiPublica > ประเด็นร้อน > Research Reports > EIC > EIC ประเมินธุรกิจโรงแรมจะเดินต่ออย่างไร…เมื่อนักท่องเที่ยวอาจไม่เหมือนเดิม

EIC ประเมินธุรกิจโรงแรมจะเดินต่ออย่างไร…เมื่อนักท่องเที่ยวอาจไม่เหมือนเดิม

13 ธันวาคม 2022


ที่มาภาพ: https://www.scbeic.com/th/detail/file/product/8706/ggaahs5xkm/EIC_In-Focus_Hotel_20221213.pdf

แม้หลายประเทศจะทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 แล้ว แต่การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวแต่ละประเทศไม่เท่ากัน ขึ้นกับช่วงเวลาการปลดล็อกการเดินทางระหว่างประเทศ ส่งผลให้การฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรมยังมีข้อจำกัด
มาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศในหลายประเทศทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ธุรกิจโรงแรมต้องหันมาพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวไทยเป็นหลัก จากที่เคยต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเกือบ 40 ล้านคนในปี 2019 ลดลงเหลือไม่ถึง 1 ล้านคนในปี 2021 อย่างไรก็ดี ด้วยสถานการณ์โควิด-19 โลกที่ดีขึ้นเป็นลำดับ ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มออกเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น แต่เนื่องจากช่วงเวลาในการผ่อนคลายมาตรการของแต่ละประเทศนั้นแตกต่างกันจึงทำให้การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวแต่ละชาติไม่เท่ากัน ประกอบกับความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นอย่างความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน การเปิดประเทศของจีนที่ยังไม่ชัดเจน และแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจึงอาจส่งผลให้ความรวดเร็วของการฟื้นตัวกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาไทยมีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้เสมอ

ปัจจัยเสี่ยงและความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นผลักดันให้ธุรกิจโรงแรมต้องหาโอกาสสร้างรายได้ที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มใหม่และนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ที่เริ่มมีบทบาทมากขึ้นในอนาคต
นักท่องเที่ยวยุโรป สหรัฐฯ และตะวันออกกลาง เป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มเดินทางมาไทยมากขึ้นในระยะข้างหน้า เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีจำนวนผู้เดินทางออกนอกประเทศสูงและยังมีสัดส่วนการเดินทางมาไทยค่อนข้างน้อย จึงถือเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจโรงแรม ในการสร้างรายได้จากการขยายกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งผู้ประกอบการอาจต้องศึกษาพฤติกรรมและความสนใจของนักท่องเที่ยวแต่ละกลุ่มเพื่อนำมาออกแบบการบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการให้ตรงจุดมากที่สุด นอกจากการขยายกลุ่มเป้าหมายใหม่แล้ว ในระยะข้างหน้านักท่องเที่ยวรุ่นใหม่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในภาคการท่องเที่ยวมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่ม Gen Y และ Gen Z ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวที่จะมีกำลังซื้อสูงขึ้นเรื่อย ๆ และยังให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวมากกว่าคนรุ่นก่อน อีกทั้ง ยังมีความคุ้นชินกับการใช้เทคโนโลยีและใส่ใจสิ่งแวดล้อม โดยธุรกิจโรงแรมจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในการวางแผนทางการตลาด และปรับกลยุทธ์เพื่อรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่นี้ด้วย

ความทันสมัย ความยั่งยืน ความอยู่ดีมีสุข และความเป็นเอกลักษณ์ เป็น 4 เทรนด์หลักของการท่องเที่ยวยุคใหม่ที่ธุรกิจโรงแรมต้องปรับตัวรับมือในระยะข้างหน้า
1.ความทันสมัย นักท่องเที่ยวมีความคาดหวังในการได้รับบริการโรงแรมผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้นเพื่อความสะดวกรวดเร็ว ทำให้ธุรกิจโรงแรมหลายแห่งเริ่มนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มศักยภาพในการบริการและตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวมากขึ้น อีกทั้ง 2.ความยั่งยืน กระแสรักษ์สิ่งแวดล้อมและดูแลสังคมถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่องทำให้กลุ่มนักท่องเที่ยวหยิบยกเรื่องความยั่งยืนมาเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกที่พัก 3. ความอยู่ดีมีสุข การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพยังได้รับความสนใจมากขึ้น เนื่องจากผู้คนทั่วโลกหันมาตื่นตัวกับการดูแลสุขภาพให้กับตัวเอง ส่งผลให้ตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมีโอกาสเติบโตต่อเนื่องทุกปี รวมถึง 4. ความเป็นเอกลักษณ์ โดยนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับประสบการณ์ที่ได้รับจากการเดินทางส่งผลให้การท่องเที่ยวที่มีรูปแบบเฉพาะตัวได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น

ในช่วงการฟื้นตัว การสร้างจุดเด่นและเพิ่มช่องทางการเข้าถึงนักท่องเที่ยวเป็นกลยุทธ์สำคัญที่จะสร้างแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่เดินทางมาไทยและกระตุ้นนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมายเดิมให้กลับมา
ขณะที่ในระยะข้างหน้า ธุรกิจโรงแรมต้องมีความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ การสร้างจุดเด่นให้นักท่องเที่ยวเกิดแรงจูงใจที่จะเดินทางมาไทยอาจทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอแพ็กเกจการท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น การท่องเที่ยวเชิงผจญภัย และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม รวมถึงการสร้างภาพลักษณ์ที่โดดเด่นให้กับธุรกิจสอดรับกับกระแสความนิยม เช่น โรงแรมรักษ์โลกหรือโรงแรมเพื่อคนรักสุขภาพ เป็นต้น นอกจากนี้ การเพิ่มช่องทางการขายให้หลากหลายจะช่วยให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น อีกทั้ง ยังเพิ่มความสะดวกและรวดเร็วในการรับบริการ ขณะที่ในระยะยาว หากธุรกิจมีความพร้อมในการปรับตัวตามสภาพการเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนได้ทันท่วงที ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการหยุดชะงักของธุรกิจที่อาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต ซึ่งการเข้าใจ
ความต้องการที่แตกต่างกันในแต่ละกลุ่มนักท่องเที่ยวโดยการเก็บรวบรวมข้อมูลแล้วนำมาวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้าจะช่วยให้ธุรกิจโรงแรมสามารถยกระดับการบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายในแต่ละช่วงเวลา และสอดรับกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้าได้ตรงจุด อีกทั้ง ยังสามารถช่วยให้ธุรกิจสามารถจับสัญญาณการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้น และเตรียมปรับกลยุทธ์ให้รับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างทันท่วงทีอีกด้วย

ในช่วงวิกฤตโควิด-19 นักท่องเที่ยวเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ?

แม้การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวจะเริ่มเห็นสัญญาณบวกจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เริ่มกลับมาแล้ว แต่เห็นได้ชัดว่าในแต่ละปีนักท่องเที่ยวที่เข้ามามีการเปลี่ยนแปลงและแตกต่างจากที่เคยเป็นมา
สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมาส่งผลกระทบค่อนข้างรุนแรงกับธุรกิจโรงแรมจากการหายไปทันทีของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งเป็นผลจากมาตรการควบคุมและจำกัดการเดินทางในหลายประเทศทั่วโลก จากที่ธุรกิจโรงแรมเคยต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 40 ล้านคนในปี 2019 ลดลงเหลือเพียงหมื่นคนเท่านั้นหลังพบการระบาดของโควิด-19 ในเดือนเมษายน 2020 ธุรกิจโรงแรมจึงต้องปรับตัวค่อนข้างมากและหันกลับมาพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวไทยเป็นหลักแทน

หลังจากสถานการณ์โควิด-19 โลกเริ่มดีขึ้นเป็นลำดับส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มออกเดินทางมากขึ้น แต่เนื่องจากการประกาศผ่อนคลายมาตรการของแต่ละประเทศเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่แตกต่างกันจึงทำให้อัตราการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวแต่ละชาติไม่เท่ากัน ประกอบกับความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา มีโอกาสส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทยเปลี่ยนแปลงไปได้อีก อย่างเช่นความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ส่งผลให้การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวรัสเซียต้องสะดุด ภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงทั่วโลกที่ส่งผลต่อกำลังซื้อและงบประมาณการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวบางส่วน และการเปิดประเทศของจีนที่ยังไม่ชัดเจน ทำให้ในแต่ละปีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามามีความแตกต่างจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด จากในปี 2019 นักท่องเที่ยวจีนและอาเซียนเคยเป็นกลุ่มหลักที่เดินทางมาไทยกลับกลายเป็นกลุ่มอาเซียนและยุโรปแทนตามด้วยอินเดียในปี 2022 อย่างไรก็ดี แม้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้นจากจำนวนที่เร่งตัวขึ้นทะลุ 10 ล้านคน แต่ธุรกิจโรงแรมยังจำเป็นต้องพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวชาวไทยเป็นหลักอยู่ในช่วงที่นักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่กลับมาอยู่ที่จุดเดิมก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19

ในระยะข้างหน้า นักท่องเที่ยวจะเป็นอย่างไร?

ผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 และความไม่แน่นอนจากปัจจัยด้านต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ผลักดันให้ธุรกิจโรงแรมต้องปรับตัวจากที่เคยโฟกัสนักท่องเที่ยวกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งต้องหาโอกาสสร้างรายได้จากกลุ่มเป้าหมายใหม่ที่หลากหลายขึ้น ทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มใหม่ที่จะเดินทางมาไทยและกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในอนาคต

นักท่องเที่ยวยุโรป สหรัฐฯ และตะวันออกกลาง เป็นกลุ่มที่มีโอกาสเดินทางมาไทยมากขึ้น จากข้อมูลของ World Tourism Organization พบว่า ในปี 2019 นักท่องเที่ยวยุโรป จีน และสหรัฐฯ ถือเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักของโลก จากปริมาณผู้เดินทางออกนอกประเทศมากที่สุด แต่ที่น่าสนใจก็คือยังมีผู้เดินทางจากประเทศเหล่านี้อีกจำนวนมากที่ไม่ได้มีจุดหมายปลายทางมายังไทย โดยทั้งนักท่องเที่ยวยุโรปและสหรัฐฯ ต่างมีสัดส่วนมาไทยไม่ถึง 1% อีกทั้ง กลุ่มนักท่องเที่ยวอินเดียและตะวันออกกลางยังเป็นกลุ่มที่น่าจับตาจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางออกนอกประเทศที่ค่อนข้างสูง

ด้วยปัจจัยเหล่านี้ จึงถือเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจโรงแรมในการสร้างรายได้จากการขยายกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งผู้ประกอบการอาจต้องศึกษาพฤติกรรมและความสนใจของนักท่องเที่ยวแต่ละกลุ่มที่มีความแตกต่างกันเพื่อดึงดูดการเข้ามาท่องเที่ยวและนำเสนอบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการให้ตรงจุดมากที่สุด เช่น นักท่องเที่ยวยุโรปจะใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ อีกทั้ง ยังชื่นชอบการผจญภัยและเปิดประสบการณ์ใหม่ ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวอเมริกันจะให้ความสำคัญกับการเดินทางอย่างยั่งยืน โดยใช้ตัวเลือกการเดินทางอย่างการเดิน การปั่นจักรยาน หรือขนส่งสาธารณะเป็นหลัก รวมถึงการเดินทางที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับชุมชนท้องถิ่น ส่วนนักท่องเที่ยวชาวอินเดียจะเน้นเดินทางกับครอบครัว นิยมแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ และเปิดประสบการณ์ใหม่ เป็นต้น


นอกจากการขยายกลุ่มเป้าหมายใหม่แล้ว กลุ่มคนรุ่นใหม่จะเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญในภาคการท่องเที่ยวมากขึ้น จากข้อมูลประชากรโลกของสหประชาชาติ พบว่า นับตั้งแต่ปี 1995 จำนวนประชากรโลกในกลุ่มช่วงอายุระหว่าง 20-69 ปี มีการเติบโตเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอย่างเห็นได้ชัด จาก 55% ในปี 1995 เป็น 61% ในปี 2020 ซึ่งเป็นช่วงอายุของคนส่วนใหญ่ที่ออกเดินทางท่องเที่ยวเนื่องจากเป็นกลุ่มวัยทำงานและกลุ่มเกษียณอายุที่ยังมีความพร้อมในการเดินทางอยู่ และเมื่อพิจารณากลุ่มนี้ตาม Generations ยังพบอีกว่า ในปี 2025 ราว 60% เป็นคนรุ่นใหม่อย่าง Gen Y (35%) และ Gen Z (24%) สวนทางกับกลุ่ม Gen X (28%) และ Baby boomer (13%) ที่มีสัดส่วนลดลงอย่างเห็นได้ชัดในแต่ละปี โดยกลุ่ม Gen Y และ Gen Z จะเป็นนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูงขึ้นเรื่อย ๆ และมีมุมมองการใช้ชีวิตที่เปิดกว้างให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวมากกว่าคนรุ่นก่อนที่เน้นความมั่นคงหลังเกษียณ อีกทั้ง ยังมีความคุ้นชินกับการใช้เทคโนโลยีและใส่ใจสิ่งแวดล้อม ขณะที่กลุ่ม Gen X มักคำนึงเรื่องความปลอดภัยและความสะดวกสบายในการท่องเที่ยวเป็นหลัก ซึ่งธุรกิจโรงแรมจำเป็นต้องเตรียมพร้อมในการวางแผนการตลาดและปรับกลยุทธ์เพื่อตอบโจทย์กลุ่มนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่นี้ด้วย

การเปลี่ยนแปลงของนักท่องเที่ยวส่งผลต่อเทรนด์การท่องเที่ยวอย่างไร?

เมื่อพิจารณาพฤติกรรมการท่องเที่ยวของกลุ่มเป้าหมายใหม่ที่มีโอกาสเดินทางเข้ามาในไทยและกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นแล้ว การท่องเที่ยวยุคใหม่มีแนวโน้มแบ่งออกเป็น 4 เทรนด์หลัก ได้แก่ ความทันสมัย, ความยั่งยืน ความอยู่ดีมีสุข และความเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งจะเป็นแนวทางการปรับตัวของธุรกิจโรงแรมในระยะข้างหน้า

1.ความทันสมัย
นักท่องเที่ยวมีความคาดหวังในการได้รับบริการโรงแรมผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น จากผลการสำรวจความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวทั่วโลกของ Oracle Hospitality และ Skift ในช่วงกลางปี 2022 พบว่า ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในธุรกิจโรงแรมเพื่อเพิ่มความรวดเร็วและสะดวกสบาย โดยในปัจจุบันเทคโนโลยีมีการพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ธุรกิจโรงแรมหลายแห่งเริ่มนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มศักยภาพในการบริการและตอบโจทย์ความต้องการบริการของนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น โดยเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในธุรกิจโรงแรม ได้แก่ หุ่นยนต์ (Robot) เพื่อเปิดประสบการณ์ใหม่ให้แก่ผู้เข้าพัก เช่น การบริการต้อนรับ การดูแลสัมภาระ และการบริการเสิร์ฟอาหาร เทคโนโลยีเสมือนจริง (Extended reality) อีกหนึ่งเทคโนโลยีใหม่ที่จำลองบรรยากาศและสภาพแวดล้อมของสถานที่จริง ซึ่งสามารถเพิ่มประสบการณ์ใหม่ให้แก่ลูกค้าและยังสร้างรายได้มากขึ้นในอนาคตจากสินทรัพย์ดิจิทัลอย่าง NFT (Non-Fungible Tokens) ผ่านแพลตฟอร์มในโลกเสมือนจริงนี้ ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการวิเคราะห์ข้อมูลความต้องการบริการที่แตกต่างเฉพาะบุคคล ซึ่งธุรกิจโรงแรมสามารถนำข้อมูลไปใช้ในการวางแผนและพัฒนาคุณภาพบริการเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น

2.ความยั่งยืน
กระแสความยั่งยืนจะถูกผูกโยงกับการท่องเที่ยวโดยเฉพาะกับธุรกิจโรงแรม ปัจจุบันประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมและสังคมมีความสำคัญและได้รับการพูดถึงอย่างต่อเนื่องทำให้กลุ่มนักท่องเที่ยวเริ่มนำเอาประเด็นนี้มาเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกสถานที่ท่องเที่ยวโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับธุรกิจโรงแรม สะท้อนได้จากผลสำรวจความคิดเห็นนักท่องเที่ยวทั่วโลกของ Booking.com ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ที่ผ่านมา พบว่า มากกว่า 70% คาดหวังที่จะท่องเที่ยวแบบยั่งยืนมากขึ้นในระยะข้างหน้า และมีแนวโน้มจองที่พักที่ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมากขึ้นอีกด้วย อีกทั้ง ในปัจจุบัน International Tourism Partnership (ITP) ซึ่งเป็นองค์กรระดับโลกที่รวบรวมสมาชิกโรงแรมมากกว่า 30,000 แห่ง เช่น Hilton, Marriott, Hyatt และอื่น ๆ ได้ร่วมกันรณรงค์ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลง 66% ภายในปี 2030 และ 90% ภายในปี 2050 (เทียบกับปี 2010) เพื่อสนับสนุนเป้าหมายของข้อตกลงปารีสในการป้องกันการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ส่งผลให้ปัจจุบันมีโรงแรมหลายแห่งเริ่มปรับตัวและเตรียมความพร้อมรองรับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมากขึ้น

3.ความอยู่ดีมีสุข
ความกังวลด้านสุขอนามัยทำให้การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น เนื่องจากผู้คนทั่วโลกหันมาตื่นตัวในการดูแลสุขภาพและสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเองส่งผลให้ตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของโลกรวมถึงไทยมีโอกาสเติบโตต่อเนื่องทุกปี ทั้งด้านความงามและศาสตร์ชะลอวัย อาหารเพื่อสุขภาพและการลดน้ำหนัก และการนวด สปา โดยจากข้อมูลของ Global Wellness Institute พบว่า ในปี 2020 นักท่องเที่ยวที่สนใจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและมีการใช้จ่ายในด้านนี้สูงสุด ได้แก่ สหรัฐฯ เยอรมนี ฝรั่งเศส จีน และญี่ปุ่น โดยนักท่องเที่ยวอเมริกันใช้จ่ายอยู่ที่ราว 465 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนและจะเน้นการออกกำลังกายอย่างการฝึกโยคะ ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวยุโรปใช้จ่ายอยู่ที่ราว 175 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน มีความชื่นชอบการนวดสปาและแช่น้ำแร่ธรรมชาติ ซึ่งเมื่อเทียบกับการท่องเที่ยวทั่วไป นักท่องเที่ยวสายสุขภาพและเวลเนสจะมีงบประมาณการท่องเที่ยวต่อทริปที่สูงกว่านักท่องเที่ยวกลุ่มอื่น ๆ ราว 50% โดยธุรกิจโรงแรมหลายแห่งเริ่มเห็นโอกาสและมีการปรับแผนการตลาดเพื่อดึงดูดลูกค้ากลุ่มนี้มากยิ่งขึ้น

4. ความเป็นเอกลักษณ์
นักท่องเที่ยวให้ความสำคัญกับประสบการณ์ที่ได้รับมากยิ่งขึ้นส่งผลให้การท่องเที่ยวที่มีรูปแบบเฉพาะตัวได้รับความนิยม นักท่องเที่ยวยุคใหม่สนใจเดินทางไปยังสถานที่ที่ไม่เคยไปมาก่อนและเปิดรับประสบการณ์แปลกใหม่มากขึ้น จากข้อมูลการสำรวจความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวของ TripAdvisor ในปี 2022 พบว่า ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินใจท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวใน 5 ประเทศ (UK, สหรัฐฯ, ญี่ปุ่น และสิงคโปร์) คือ การได้ท่องเที่ยวในสถานที่ใหม่ ๆ การได้รับประสบการณ์แปลกใหม่ และการได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์/วัฒนธรรม ส่งผลให้นักท่องเที่ยวมองหาการท่องเที่ยวที่มีรูปแบบเฉพาะตัวมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับธุรกิจโรงแรมในการนำเสนอแพ็กเกจที่ครอบคลุมการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ให้กับผู้เข้าพัก

แนวทางการปรับตัวของธุรกิจโรงแรมในระยะสั้นและระยะข้างหน้า

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การก้าวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวให้สอดรับอย่างรวดเร็วย่อมสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันและผลักดันให้ธุรกิจฟื้นตัวได้เร็วขึ้น แต่ผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้ธุรกิจโรงแรมยังมีเม็ดเงินลงทุนที่ค่อนข้างจำกัดและยังต้องรับมือกับต้นทุนในการดำเนินงานที่สูงขึ้นท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อ รวมถึงปัญหาด้านการขาดแคลนแรงงานทักษะสูงที่ยังไม่กลับมาทำงานในระบบ ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคสำคัญของผู้ประกอบการในการปรับตัว โดยในช่วงการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยว กลยุทธ์สำคัญคือการดึงดูดนักท่องเที่ยวให้กลับมาให้ได้มากที่สุด และในระยะข้างหน้า ธุรกิจโรงแรมอาจต้องมีความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นทุกเมื่อ

ในระยะสั้น การสร้างจุดเด่นและการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงนักท่องเที่ยวจะสร้างแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่เลือกเดินทางมาไทยและกระตุ้นนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมายเดิมให้กลับมา ซึ่งการสร้างจุดเด่นอาจทำได้หลายวิธีไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอแพ็กเกจการท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น การท่องเที่ยวเชิงผจญภัยอย่างการเดินป่า การดำน้ำ การโต้คลื่น การท่องเที่ยวเชิงอาหารที่นักท่องเที่ยวสามารถลิ้มลองอาหารรสชาติแปลกใหม่ครอบคลุมไปจนถึงกระบวนการและขั้นตอนการเตรียมอาหาร หรือการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสชีวิตของคนในท้องถิ่นด้วยตัวเองทั้งประเพณีและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ รวมถึงการสร้างภาพลักษณ์ที่โดดเด่นให้กับธุรกิจสอดรับกับกระแสความนิยม เช่น โรงแรมรักษ์โลก อย่าง The Palms Hotel & Spa ในสหรัฐฯ ที่มีการจัดแคมเปญให้ลูกค้าสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยการเก็บขยะตามชายหาดและได้รับการถ่ายทอดแนวทางในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยผู้เชี่ยวชาญจากทางรีสอร์ต อีกทั้ง โรงแรมยังมีการลดการใช้พลาสติกอย่างเคร่งครัด มีการควบคุมระบบไฟฟ้าให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีการทดสอบคุณภาพน้ำทะเลเป็นรายสัปดาห์อีกด้วย หรือ โรงแรมสำหรับคนรักสุขภาพ อย่าง Pullman Phuket Arcadia Naithon Beach Hotel ได้มีการจัดโปรแกรมสุขภาพเพื่อช่วยให้นักท่องเที่ยว ได้มีการดูแลสุขภาพที่ดีขึ้นโดยให้ความสำคัญกับปัจจัยตามหลักสากลทั้ง 4 ได้แก่ 1. การนอน-ห้องพักเพื่อการพักผ่อนอย่างเต็มที่ 2. อาหาร-เมนูเพื่อสุขภาพจากนักโภชนาการ 3. กีฬา-คลาสออกกำลังกายทั้งโยคะ พิลาทิส มวยไทย และ 4. สปา-เพื่อความผ่อนคลายและความสดชื่นมีชีวิตชีวา

นอกจากนี้ การเพิ่มช่องทางการขายให้หลากหลาย จะช่วยให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงนักท่องเที่ยวได้มากขึ้นทั้งผ่านแพลตฟอร์มผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยวและช่องทางของธุรกิจโรงแรมเอง โดยเทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นกับการพัฒนาช่องทางการสื่อสาร เช่น การใช้ Chatbot ในการสื่อสารกับลูกค้าแบบอัตโนมัติเพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการรับบริการ อย่าง The Europe Hotel & Resort ในไอร์แลนด์ได้นำ AI Chatbot มาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาระบบบริการตลอด 24 ชม. ซึ่งจะเพิ่มความรวดเร็วในการติดต่อกับลูกค้าและยังสามารถเพิ่มยอดขายได้มากขึ้น อย่างไรก็ดี นักท่องเที่ยวบางกลุ่มยังมีความคุ้นชินกับการสื่อสารผ่านพนักงานโดยตรง ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับทุกช่องทางและพัฒนาช่องทางการสื่อสารให้มีความหลากหลายมากขึ้นเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เลือกใช้ช่องทางที่ตรงกับความต้องการได้มากที่สุด

ในระยะข้างหน้า ข้อมูลเชิงลึกของนักท่องเที่ยวจะช่วยให้ธุรกิจก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงและสามารถปรับตัวให้สอดรับได้อย่างรวดเร็ว หากธุรกิจมีความพร้อมในการปรับตัวตามสภาพการเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนได้ทันท่วงทีก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการหยุดชะงักของธุรกิจที่อาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต ซึ่งการเข้าใจความต้องการที่แตกต่างกันในแต่ละกลุ่มนักท่องเที่ยวโดยการเก็บรวบรวมข้อมูลในหลากหลายมิติตั้งแต่การสอบถามข้อมูล การจองการเข้าพัก ไปจนถึงการ check-out แล้วนำมาวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้าจะช่วยให้ธุรกิจโรงแรมสามารถยกระดับการบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการในแต่ละช่วงเวลาและไลฟ์สไตล์ของลูกค้าได้ตรงจุด อีกทั้ง การเข้าใจลูกค้าอย่างถ่องแท้ยังช่วยให้ธุรกิจสามารถออกแบบการบริการใหม่ ๆ เช่น การทำการตลาดแบบเฉพาะบุคคล (Personalization) หรือ Loyalty program ที่จะดึงดูดให้นักท่องเที่ยวกลับมาใช้บริการซ้ำอีกในอนาคต นอกจากนี้ การเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องยังสามารถช่วยให้ธุรกิจสามารถจับสัญญาณการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นและเตรียมปรับกลยุทธ์ให้รับการเปลี่ยนแปลงได้ในทันที ซึ่งจะสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันและสนับสนุนให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

เห็นได้ว่า โลกยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความผันผวนและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาเป็นภาวะที่ธุรกิจโรงแรมต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากไม่มีการเตรียมความพร้อมรับมือและปรับตัวอย่างรวดเร็วอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจได้ไม่มากก็น้อย ซึ่งการกระจายความเสี่ยงและสร้างโอกาสท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะช่วยให้ธุรกิจสามารถยืนหยัดและไปต่อได้อย่างยั่งยืน