ThaiPublica > สู่อาเซียน > “อมตะ” ระบุเวียดนามยังเป็น ‘ดาวเด่น’ น่าลงทุนในอาเซียน พร้อมผุด 2 โครงการใหญ่

“อมตะ” ระบุเวียดนามยังเป็น ‘ดาวเด่น’ น่าลงทุนในอาเซียน พร้อมผุด 2 โครงการใหญ่

28 สิงหาคม 2022


นายสุรกิจ เกียรติธนากร กรรมการผู้จัดการ บมจ. อมตะ เวียดนาม

“อมตะ” มองเวียดนามยังคงเป็นดาวเด่นในอาเซียน ผุด 2 โครงการใหญ่ ‘นิคมอุตสาหกรรมลองถั่น-นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ฮาลอง’ ชี้แผนพัฒนาเศรษฐกิจเวียดนามเวียดนาม เดินหน้าสู่ “smart city” นิคมเมืองอัจฉริยะ

ด้วยหลายปัจจัยทั้งค่าแรงงานถูก ช่วงอายุประชากรส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน ทำให้เวียดนามกลายเป็นประเทศที่มีศักยภาพการแข่งขันด้านการเติบโตเศรษฐกิจที่สำคัญในอาเซียน โดยเฉพาะคู่แข่งที่สำคัญของไทย

ในวิกฤติโควิด-19 เวียดนามยังมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ แม้จะลดลงจากช่วงก่อนหน้านั้น โดยยังคงมีการลงทุนจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่องทั้งสิงคโปร์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ทำให้เวียดนามกลายเป็นศูนย์กลางด้านการผลิตในภูมิภาค

สำหรับนักลงทุนไทย “เวียดนาม” ก็เป็นประเทศที่น่าสนใจเรื่องการลงทุนเช่นกัน นายสุรกิจ เกียรติธนากร กรรมการผู้จัดการ บมจ. อมตะ เวียดนาม บอกว่า เวียดนามมีความน่าสนใจในการลงทุน และถือเป็นดาวเด่นในอาเซียน เนื่องจากมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างน่าสนใจ โดย “อมตะ” ได้เข้ามาลงทุนตั้งนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกมานานกว่า 26 ปีแล้ว

ค่าแรงงานถูก-แรงงานมีคุณภาพสูง

ความน่าสนใจและทำให้เวียดนามกลายเป็นประเทศที่โดดเด่นและน่าลงทุนในอาเซียน มาจากหลายปัจจัย เช่น เรื่องค่าแรงงานที่มีราคาถูก ประมาณ 139-200 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน คิดเป็นเงินไทยราว 7,000-8,000 บาทต่อเดือน

ประชากรที่มีกว่า 98.5 ล้านคน มากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นวัยทำงานที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปี และยังเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ สามารถปรับตัวเรียนรู้กับเทคโนโลยีใหม่ ภูมิศาสตร์ของเวียดนามยังถือเป็นประเทศที่มียุทธศาสตร์ที่สำคัญ ติดทะเล ใกล้ภูมิภาคเอเชียตะวันออก รวมไปถึงมีเสถียรภาพทางการเมืองที่มั่นคง

ขณะที่รัฐบาลเวียดนามเองก็มีสิทธิพิเศษทางการค้าจากประเทศพัฒนาแล้ว มีข้อตกลงเขตการค้าเสรี(FTA) กับหลายประเทศ ครอบคลุมมากที่สุดในอาเซียน รวมถึง ความตกลงหุ้นส่วนภาคพื้นแปซิฟิกที่ครอบคลุมและก้าวหน้า (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership: CPTPP) และ ความตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (The EU-Vietnam Free Trade Agreement: EVFTA)ที่สามารถดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนจากต่างประเทศได้ดี

“เวียดนามโตเร็วมาก และในช่วงโควิด-19 เองก็ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว รับมือได้ดี จะเห็นได้จาก GDP ของหลายประเทศติดลบ ขณะที่เวียดนามยังเติบโตแม้ว่าจะไม่เท่ากับช่วงก่อนหน้านั้นก็ตาม แล้วคนเวียดนามยังอยู่ในวัยทำงานที่มีคุณภาพมีไฟ” นายสุรกิจกล่าว

นายสุรกิจยังบอกอีกว่า นักลงทุนจีนเริ่มย้ายฐานการผลิตมาที่เวียดนามจำนวนมาก เนื่องจากปัญหาสงครามทะเลจีนใต้ ทำให้ประเทศเวียดนามกลายเป็นประเทศที่น่าลงทุนมากจากนักลงทุนจีนและหลายประเทศในช่วงนี้

3 เงื่อนไขพิเศษดึงนักลงทุนของเวียดนาม

อะไรคือแรงจูงใจในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาในเวียดนาม นายสุรกิจบอกว่า หากเทียบกับไทยแล้วแรงจูงใจด้านภาษีไม่ได้แตกต่างกันมากนัก โดยเฉพาะเมื่อไทยมีเขตเศรษฐกิจ EEC แต่ในเวียดนามจะแบ่งแรงจูงใจออกเป็น 3 ระดับคือ

    1. ระดับ Standard คือไม่ได้ตั้งเขตพื้นที่ส่งเสริมหรือเป็นนิคมอุตสาหกรรม จะไม่มีแรงจูงใจเลย

    2. ระดับ Industrial Park หรือพื้นที่ส่งเสริมนิคมอุตสาหกรรม จะได้รับยกเว้นภาษีใน 3 ปีแรก และจากนั้น 4 ปีได้ลดภาษี 50% หลังจากนั้น ลดภาษี 20%

    3. ระดับ Economic ZONE มีแรงจูงใจลดภาษี 50% ในระยะเวลา 15 ปีจากเดิมปกติ 20% และไม่เสียภาษีใน 3 ปีแรก

“หากเทียบกับแรงจูงใจในไทย ถือว่าในพื้นที่ใหม่อย่าง EEC ของไทยก็มีเงื่อนไขที่ดี แต่ปัจจัยที่ทำให้เวียดนามน่าสนใจน่าจะอยู่ที่เรื่องของแรงงานที่มีค่าแรงถูกและแรงงานที่มีคุณภาพมากกว่า อย่างไรก็ตามเวียดนามยังมีปัญหาเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่พร้อม เช่น การขนส่งที่ยังถือเป็นต้นทุนสูง ซึ่งหากเวียดนามแก้ไขปัญหานี้ได้ เชื่อว่าจะเติบโตไปได้อีกไกลมาก” นายสุรกิจกล่าว

อมตะผุด 2 โครงการสู่ ‘Smart City’ เวียดนาม

ขณะที่ “อมตะ” สนใจลงทุนเพิ่มในเวียดนามเช่นกัน แม้ที่ผ่านมาจะถือเป็นนักลงทุนกลุ่มแรกที่เข้ามาลงทุนในเวียดนามมาตั้งแต่ปี 2537 หรือกว่า 26 ปีด้วยการตั้งนิคมอุตสาหกรรม Amata Bien Hoa จังหวัดด่งนาย (Dong Nai) เป็นเขตเศรษฐกิจทางตอนใต้ของเวียดนาม (INDUSTRY ZONE) อยู่ไม่ไกลจากเมืองโฮจิมินห์

สำหรับอุตสาหกรรม Amata Bien Hoa มีพื้นที่ทั้งหมด 700 เฮกตาร์ หรือประมาณ 4,200 ไร่ ได้ใบรับอนุญาตตั้งแต่ปี 2537 และพัฒนาโครงการไปแล้ว 500 เฮกตาร์ มีโรงงานอุตสาหกรรมทั้งหมด 170 โรงงาน ส่วนใหญ่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมทั่วไป มีเม็ดเงินการลงทุนกว่า 3 หมื่นล้านบาท และสามารถจ้างงานคนในพื้นที่ได้มากถึง 6 หมื่นคน

อย่างไรก็ตาม “อมตะ” ได้วางแผนพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในเวียดนามเพิ่มอีกอย่างน้อย 2 แห่งประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมลองถั่น อยู่ในพื้นที่จังหวัดด่งนาย ซึ่งได้รับใบอนุญาตดำเนินการมาแล้วตั้งแต่ปี 2558

โดยเป้าหมายของนิคมลองถั่นคือการพัฒนาเป็น ECO Smart city จำนวน 410 เฮกตาร์ และอีก 107 เฮกตาร์จะพัฒนาเป็น service city สำหรับนักท่องเที่ยว เนื่องจากพื้นที่อยู่ติดถนนไฮเวย์ไม่ไกลจากเมืองโฮจิมินห์มากนัก

ส่วนอีกโครงการคือ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ฮาลอง ทางตอนเหนือของเวียดนาม ในจังหวัดกว๋างนิญ อยู่ในเขต Economic ZONE ที่รัฐบาลเวียดนามให้สิทธิประโยชน์ระยะยาว 60 ปี

นิคมอุตสาหกรรมอมตะ เวียดนาม

สำหรับนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ฮาลอง ตั้งอยู่ด้านตะวันออกของเมืองฮานอยภาคเหนือของเวียดนาม มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 5,700 เฮกตาร์ โดยได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินการโครงการระยะแรกในปี 2561 ด้วยเนื้อที่ 714 เฮกตาร์ โดยขณะนี้มี นักลงทุนรายแรกคือบริษัท จินโกะ โซลาร์ ฮ่องกง จำกัด (Jinko Solar Hongkong Limited) ซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์รายใหญ่แห่งหนึ่งของโลก ได้เลือกอมตะซิตี้ ฮาลอง ให้เป็นฐานการผลิตบนพื้นที่ 32.6 เฮกตาร์ ด้วยงบลงทุน 865 ล้านเหรียญ

ส่วนการลงทุนในพื้นที่ภาคกลางของเวียดนาม นายสุรกิจกล่าวว่า อยู่ในลักษณะการร่วมกับพันธมิตรตั้งนิคมอุตสาหกรรมดานัง โดยได้รับใบอนุญาตในช่วงปลายปีที่แล้ว จึงอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการ

นายสุรกิจกล่าวถึงทิศทางการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของเวียดนามว่า ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจฉบับใหม่ ปี 2564-2573 มีนโยบายต้องการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในประเทศเวียดนามสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะครอบคลุมทั้งด้านพลังงาน ชุมชน การผลิต การขนส่งและคมนาคม การศึกษา เทคโนโลยี และการจัดการสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ

ทั้งนี้ สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของอมตะ ที่ต้องการเดินไปให้ถึงการเป็น “smart city” หรือเมืองอัจฉริยะที่นำเอาเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนา ทุกมิติ ทั้งการลดพลังงาน สิ่งแวดล้อม ร่วมกับพัฒนาที่อยู่อาศัย โรงพยาบาล ชุมชน ที่น่าอยู่ ซึ่งแน่นอนว่า นิคมอุตสาหกรรมในเวียดนามจะมี smart city เป็นทิศทางการพัฒนาที่จะเดินไปในอนาคต