ThaiPublica > คอลัมน์ > อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อองค์ทะไลลามะมรณภาพลง?

อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อองค์ทะไลลามะมรณภาพลง?

28 มีนาคม 2022


ดร. นพ.มโน เลาหวณิช
ผู้อำนวยการสถาบันคานธี อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต

ทะไลลามะองค์ปัจจุบันเป็นองค์ที่ 14 พระนามเต็มของท่านคือ เชตสุน ชัมเผล งาวัง ลอบซัง เยเฉ เตนเสน ยัตโส (Jetsun Jamphel Ngawang Lobsang Yeshe Tenzin Gyatso) ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/DalaiLama/photos/10155122030232616

วิกฤติการณ์ครั้งใหญ่กำลังก่อตัวขึ้นในหมู่ชาวทิเบต เพราะความไม่แน่นอนของที่จะเกิดขึ้นกับการแต่งตั้งองค์ทะไลลามะคนต่อไป เนื่องจากว่า องค์ทะไลลามะองค์ปัจจุบันองค์ที่ 14 นั้นเป็นไม้ใกล้ฝั่ง มีอายุมากถึง 87 ปีแล้ว อะไรจะเกิดขึ้นหากท่านไม่อยู่แล้ว? จารีตประเพณีที่สืบกันมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 ในการสรรหาทะไลลามะองค์ต่อไปนั้นจะหมดสิ้นลงไปกระนั้นหรือ? และเป็นไปได้อย่างยิ่งว่ารัฐบาลจีนจะเข้าแทรกในการคัดเลือกทะไลลามะองค์ต่อไป เพื่อให้ชาวทิเบตอยู่ในอำนาจการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่างเต็มรูปแบบ

ความจริงคือว่าตลอดระยะเวลา 300 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนตั้งแต่สมัยราชวงศ์ชิงได้พยายามเสนอรูปแบบการสถาปนาองค์ทะไลลามะมาตลอด เช่น เสนอให้มีการแต่งตั้งโดยการจับฉลากบ้าง นำเสนอเด็กชายชาวจีนว่าเป็นทะไลลามะกลับชาติมาเกิดบ้าง กระนั้น พระลามะทั้งหลายปฏิเสธการก้าวก่ายของจีนมาตลอด และยืนยันที่จะใช้วิธีการคัดเลือกองค์ทะไลลามะตามจารีตประเพณีว่าเป็นทะไลลามะพระองค์เดิมกลับชาติมาเกิดใหม่

ทะไลลามะองค์ปัจจุบันเป็นองค์ที่ 14 พระนามเต็มของท่านคือ เชตสุน ชัมเผล งาวัง ลอบซัง เยเฉ เตนเสน ยัตโส (Jetsun Jamphel Ngawang Lobsang Yeshe Tenzin Gyatso) ประสูติเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2478 มีพระนามเดิมว่าเด็กชายละโม โทนดุบ (Lhamo Thondup) ในครอบครัวชาวนาที่ยากจนในจังหวัดคูนดุน อันเป็นพื้นที่ห่างไกลของทิเบต ท่านเป็นหนึ่งในบรรดาเด็กชายทั้งหมดจำนวน 16 คนที่ได้ผ่านการคัดกรองจากโหราจารย์และเกจิของทิเบตว่าน่าจะเป็นทะไลลามะคนที่ 13 กลับชาติมากเกิดใหม่ และต่อมาได้ผ่านการคัดเลือกเป็นหนึ่งในสามคนคนสุดท้าย และได้ผ่านการสอบโดยการตอบคำถามของพระลามะอาวุโสที่ปรนนิบัติทะไลลามะคนที่ 13 อย่างใกล้ชิด โดยท่านสามารถตอบคำถามได้ว่า “ในตู้ใบนั้นท่านเก็บอะไรไว้” ซึ่งคำตอบของท่านคือ “ฟันปลอม” ซึ่งเป็นคำตอบที่ถูก ในขณะที่เด็กคนอื่นตอบไม่ได้

เมื่อผ่านขั้นตอนการสรรหาได้รับการยืนยันจากทุกฝ่ายว่าเป็นองค์อวตารของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร (ทะไลลามะองค์ก่อนกลับชาติมาเกิด) ท่านได้รับการฝึกฝนให้ชำนาญในศาสตร์สาขาต่างๆ ของทิเบต ตามนิกายเกลุก (Geluk) รวมทั้งกฎหมายต่างๆ ของทิเบตหลักธรรมและปรัชญาสาขาต่างๆ ในพระพุทธศาสนา รวมไปถึงคำสอนลับของพุทธศาสนาวัชรยาน

วิธีการคัดเลือกองค์ทะไลลามะของทิเบตนั้นเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน ซึ่งต้องใช้ข้อมูลส่วนตัวของผู้ใกล้ชิด ทะไลลามะองค์ที่เพิ่งเสียชีวิต นิสัยต่างๆ ที่ชอบปฏิบัติ รสนิยมในการกินอาหาร โดยเฉพาะรายละเอียดในช่วงเวลาก่อนที่จะเสียชีวิตว่าท่านได้พูดอะไรไว้เป็นลางบ้างกับคนใกล้ชิด เป็นต้นว่าท่านได้ระบุชื่อหมู่บ้านวงศ์ตระกูล วันเวลาตกฟากใหม่ของท่าน ต่อมาคือคนทรงซึ่งจะเป็นผู้พยากรณ์ แม้เมื่อประกอบเผาศพของทะไลลามะนั้นเกิดนิมิตอะไรขึ้นบ้าง ควันลอยที่เกิดจากการเผาศพนั้นลอยไปทิศใด ข้อมูลเหล่านี้จะนำมาประมวลกับความรู้ทางโหราศาสตร์ของทิเบต เวลาที่ทะไลลามะหายใจครั้งสุดท้าย ประกอบกับระยะเวลาการไปเกิดใหม่ ข้อมูลเหล่านี้เป็นความลับและจะนำมาประกอบกับการส่งแมวมองไปหาทารกในหมู่บ้านทั้งหลาย ที่มีความน่าจะเป็นว่าทะไลลามะจะไปเกิด เพื่อค้นหาว่าจะเป็นเด็กชายคนไหน และเวลาที่เกิดนั้นมีนิมิตอะไรเกิดขึ้นบ้าง เวลาตกฟากของทารกคนนั้นๆ เป็นอย่างไร

“คนทรง” เป็นผู้มีอิทธิพลอีกคนหนึ่งเพื่อหาคำตอบที่ดีที่สุดในกระบวนการนี้ ทั้งหมดเป็น “ศาสตร์” โบราณของทิเบตที่เกิดจากการบูรณาการความเชื่อหลายสาขามาประกอบกันไม่มีการใช้ “การจับฉลาก” ตามที่รัฐบาลจีนได้เคยแนะนำมาก่อนนั้นเลย

ในความเชื่อของชาวพุทธทิเบต ทะไลลามะเป็นองค์อวตารของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์ในภูมิที่ 10 เป็นพระโพธิสัตว์แห่งความกรุณา ซึ่งปกครองทิเบตคู่กับพระโพธิสัตว์แห่งปัญญาคือพระโพธิสัตว์มันชูศรี ซึ่งชาวทิเบตเรียกว่า “ปันเชนลามะ” พระโพธิสัตว์ทั้งสองพระองค์นี้เป็นผู้ปกครองแผ่นดินทิเบตให้ร่มเย็นเป็นสุขตลอดมา และการคัดเลือกพระลามะทั้งสองพระองค์นั้นใช้วิธีการแบบเดียวกัน

ประวัติศาสตร์ของทิเบตระบุชัดเจนว่า ตำแหน่ง “ทะไลลามะ” มิได้เป็นตำแหน่งที่เกิดจากจารีตประเพณีของทิเบตเอง แต่เป็นตำแหน่งที่อัลทันข่าน ผู้เป็นหลานของเจงกิสข่านเป็นผู้แต่งตั้งให้พระเถระรูปหนึ่งที่ราชสำนักมองโกเลียได้อาราธนามาอยู่ในราชสำนักในศตวรรษที่ 15 “ทะไลลามะ” เป็นคำสมาสจากคำสองคำมาต่อกันคือ “ทะไล” เป็นคำภาษามองโกลแปลว่า “ทะเล” หรือ “มหาสมุทร” กับคำว่า “ลามะ” ซึ่งเป็นคำในภาษาทิเบต แปลว่า “พระครู” หรือ “พระอาจารย์” เมื่อนำสมาสกันแปลว่า “พระอาจารย์ผู้มีปัญญาลุ่มลึกและกว้างใหญ่ประดุจดังมหาสมุทร” ทะไลลามะที่ตั้งใหม่นั้นเป็นองค์ที่ 3 ซึ่งได้แต่งตั้งเจ้าอาวาสอีกสององค์ก่อนหน้าท่านเป็นทะไลลามะองค์ที่ 1 และองค์ที่ 2 ว่าทั้งคู่เป็นอวตารของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเช่นกัน

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/DalaiLama/photos/10155234596322616

อำนาจของทะไลลามะนั้นค่อยๆ เพิ่มขึ้นในทิเบตตามลำดับ ซึ่งเป็นอำนาจทางการเมืองเนื่องจากมีมองโกเลียเป็นฐาน และเพิ่มขึ้นอย่างมากในสมัยทะไลลามะองค์ที่ 5 ผู้ได้ทำการปฏิรูปการปกครองและการบริหารงานแผ่นดินให้มีประสิทธิภาพอย่างมาก นำความเจริญมาสู่ดินแดนที่เป็นหลังคาของโลกนี้ จนเป็นที่รักของชาวทิเบตเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ในขณะเดียวกัน “ปันเชนลามะ” เป็นสายที่ได้รับการสนับสนุนจากราชสำนักจีน มีความผูกพันกับจีนเป็นอย่างดีมาตลอด ทั้งทะไลลามะและปันเชนลามะเป็นผู้ปกครองสูงสุดของทิเบต คู่ขนานกันมาตลอด มิใช่ทะไลลามะเป็นผู้บริหารสูงสุดเพียงผู้เดียว ส่วนคณะรัฐมนตรีของทิเบตมีอยู่สองฝ่าย คือ ฝ่ายบรรพชิตและคฤหัสถ์ มีจำนวนรัฐมนตรีฝ่ายละเท่าๆ กัน ฝ่ายบรรพชิตนั้นทำหน้าที่ทางกำหนดนโยบาย ส่วนคฤหัสถ์ทำหน้าที่ทางนำนโยบายมาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม

วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2502 ทะไลลามะได้ลี้ภัยเข้าประเทศอินเดียอย่างถาวร เนื่องจากภัยคุกคามของรัฐบาลจีนและลัทธิคอมมิวนิสต์ การเดินทางเข้าประเทศอินเดียนั้นเป็นไปอย่างทุลักทุเล ถึงขนาดที่ทะไลลามะต้องปลอมตัวเป็นทหารพร้อมผู้ติดตามที่ใกล้ชิดจำนวนหนึ่ง ท่านได้เขียนจดหมายไปถึงนายกรัฐมนตรีอินเดียในขณะนั้นเพื่อขอลี้ภัย ทางรัฐบาลอินเดียให้ท่านตั้งรัฐบาลทิเบตพลัดถิ่นได้ที่เมืองธรรมศาลาทางตอนเหนือของอินเดีย

แต่ให้ท่านอยู่ในฐานะผู้นำทางจิตวิญญาณไม่ใช่ผู้นำของรัฐ ในขณะที่รัฐบาลจีนถือว่าท่านเป็นผู้นำการแบ่งแยกดินแดน จนถึงทุกวันนี้ในเขตปกครองตนเองทิเบตที่จีนเขาไปยึดครองอยู่ ใครก็ตามที่มีรูปถ่ายหรือหนังสือของทะไลลามะถือว่ามีความผิดทางอาญา

ตลอดระยะเวลา 60 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้อพยพชาวจีนหลายสิบล้านคนเข้าไปตั้งรกรากในทิเบต ชาวพื้นเมืองทิเบตจึงกลายเป็นชนกลุ่มน้อย วัดหลายหมื่นวัดในทิเบตถูกทำลาย โดยเฉพาะในยุคปฏิวัติวัฒนธรรม พ.ศ. 2509-2519 (ค.ศ. 1966-76)

ส่วนท่านปันเชนลามะนั้นมิได้ลี้ภัยตามมาด้วย ทั้งนี้อาจจะเนื่องจากที่สายของท่านได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนมาตลอดหลายร้อยปี แต่ข่าวร้ายคือต่อมาเมื่อถึงยุคปฏิวัติวัฒนธรรมนั้นเอง พวกเรดการ์ดได้จับกุมตัวท่านไปกรุงปักกิ่ง เพื่อนำมาทรมานด้วยการบังคับให้ท่านฉันอุจจาระของพวกเรดการ์ด (อุจจาระของทะไลลามะ ปันเชนลามะ หรือแม้แต่พระลามะทั้งหลายนั้นชาวพุทธทิเบตเชื่อกันว่าเป็นยาและเป็นวัตถุมงคลอย่างหนึ่ง ชาวพุทธทิเบตจึงมักขออุจจาระของท่านไปบริโภคอยู่เป็นประจำ) ในที่สุดท่านปันเชนลามะก็มรณภาพด้วยความตรอมใจ

สองสามปีหลังจากนั้นเด็กชายชาวทิเบตคนหนึ่งกำเนิดขึ้น ชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็นท่านปันเชนลามะกลับชาติมาเกิด และนำมาพบท่านทะไลลามะ ซึ่งยืนยันว่าเป็นท่านปันเชนลามะจริง ต่อมาไม่นานนักเด็กชายคนนี้ก็หายสาบสูญไป และเป็นที่สันนิษฐานว่าถูกทางการจีนลักพาตัวไปแล้ว

ต่อมารัฐบาลจีนได้แต่งตั้งพระทิเบตหนุ่มรูปหนึ่งเป็นปันเชนลามะ และเป็นผู้นำจิตวิญญาณสูงสุดของชาวพุทธทิเบต และทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมของพุทธสมาคมจีนเรื่อยมา

ในขณะที่ท่านปันเชนลามะประสบกับชะตากรรมแสนสาหัสในประเทศจีน องค์ทะไลลามะกลับได้รับการยอมรับในหมู่ชาวอเมริกันและยุโรป ท่านได้กลายเป็นชาวพุทธที่ชาวโลกนับพันล้านคนให้ความเคารพนับถือในฐานะผู้นำทางจิตวิญญาณของคนรุ่นใหม่ ทุกครั้งที่ท่านได้รับนิมนต์ไปพูดในเยอรมนี คณะศิษย์ของท่านต้องเช่าสนามกีฬาเพื่อให้คนมาฟังท่านพูดในหัวข้อต่างๆ ในแต่ละวันคนมาฟังท่านพูดหลายพันคนจนเต็มทุกที่นั่ง ในเยอรมนีนั้นชาวเยอรมันปรารถนาที่จะพูดคุยกับท่านยิ่งกว่าพบองค์สันตะปาปาผู้นำคริสตจักรโรมันคาทอลิกเสียอีก

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/DalaiLama/photos/10155064046112616

หนังสือที่ท่านเขียนแต่ละเล่มถูกแปลออกสู่หลายภาษา ทุกฉบับขายดีเทน้ำเทท่า จนท่านสามารถตั้งสำนักพิมพ์ของตนเองในสหรัฐอเมริกา นักศึกษารุ่นใหม่หันมาสนใจพุทธศาสนาแบบทิเบต จนในขณะนี้มีนักศึกษาภาษาทิเบตมากยิ่งกว่าบาลีเสียอีก การทำสมาธิแบบทิเบตเป็นสิ่งที่แพร่หลายไปทั่วโลก บริษัทสร้างภาพยนตร์ใหญ่ๆ ได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมทิเบต และประวัติของท่านทะไลลามะถูกทำมาเป็นภาพยนตร์ฉายทั่วโลก นักแสดงตุ๊กตาทองได้ประกาศตัวเป็นศิษย์ของท่าน การสำรวจความนิยมในตัวขององค์ทะไลลามะพบว่าท่านเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณที่ได้รับความนิยมสูงสุดของโลก และท่านได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2532 (ค.ศ. 1989)

แม้องค์ทะไลลามะจะประสบความสำเร็จในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้ยิ่งกว่าชาวพุทธคนใดในโลก จนได้รับการสรรเสริญอย่างยิ่งก็ตาม เกียรติเหล่านี้กลับเป็นดาบสองคมสำหรับท่าน รัฐบาลจีนยิ่งเห็นว่าท่านคือศัตรูของสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นนักแบ่งแยกดินแดน ซึ่งมีอันตรายต่อความมั่นคงของจีนอย่างที่สุด หลายประเทศ (รวมทั้งประเทศไทยด้วย) ไม่กล้าให้วีซ่าแก่องค์ทะไลลามะเข้าประเทศของตน ทุกครั้งที่ผู้นำประเทศใดเชิญองค์ทะไลลามะมาพบอย่างเป็นทางการ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนก็จะออกมาประกาศว่าประเทศนั้นๆ กำลังเข้ามาก้าวก่ายกิจการภายในของจีนทุกครั้งไป และย่อมมีผลต่อการเจรจาทางการทูตและการค้าขายกับจีนทุกครั้งเช่นกัน

ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2562 ท่านทะไลลามะได้พูดถึงผู้สืบทอดตำแหน่ง “ทะไลลามะ” นี้ โดยกล่าวว่าหลังจากการสิ้นพระชนม์แล้ว ท่านน่าจะไปจุติใหม่ในประเทศอินเดียและไม่ใช่กลับไปเกิดในทิเบตหรือดินแดนภายใต้การปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และยังเตือนด้วยว่าการแทรกแซงการสืบทอดอำนาจของจีนไม่ควรถือว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ในปี พ.ศ. 2557 และ 2559 องค์ทะไลลามะกล่าวว่าทิเบตต้องการเป็นส่วนหนึ่งของจีน แต่จีนก็ควรปล่อยให้ทิเบตรักษาวัฒนธรรมและจารีตประเพณีของตนไว้

องค์ทะไลลามะพระองค์นี้เสด็จไปเยือนประเทศอิสราเอลบ่อยเป็นพิเศษ เพราะท่านเห็นว่าวัฒนธรรมของชาวยิวนี้เข้มแข็งอย่างมาก จนสามารถรวบรวมชาวยิวที่กระจัดกระจายไปทั่วโลกได้ หลังจากที่ถูกอาณาจักรโรมันยกทัพมาตีจนแตกกระเจิงเมื่อสองพันปีมาแล้ว (Second Diaspora) วัฒนธรรมของชาวยิวนั้นมีเอกภาพอย่างมากเมื่อเทียบกับวัฒนธรรมทิเบตซึ่งมีความหลากหลายสูงมาก ดูได้จากภาษิตหนึ่งในภาษาทิเบตที่ว่า

“ทุกหุบเขามีลำธารของตนเองฉันใด อาจารย์ทุกคนมีคำสอนเป็นของตนเองฉันนั้น”

เสรีนิยมของพุทธศาสนาทำให้เกิดสังคมทิเบตเต็มไปด้วยความหลากหลาย ยากที่จะสร้างความสามัคคีกลมเกลียว องค์ทะไลลามะเป็นคนเดียวเท่านั้นที่สามารถรวมชาวทิเบตที่เต็มไปด้วยความคิดและความเชื่อที่หลากหลายเช่นนี้ได้ แต่กระนั้นท่านต้องการเวลาอีกหลายร้อยปีที่จะสร้างวัฒนธรรมอันมีเอกภาพแห่งทิเบตได้ …

เวลานั้นเหลือน้อยเต็มที ดูเหมือนกับว่าองค์ทะไลลามะได้ตระหนักถึงประเด็นนี้เช่นกัน และเมื่อจีนผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจของโลกโอกาสที่ทิเบตจะเป็นอิสระจากจีนนั้นไม่มีความเป็นไปได้เลย

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/DalaiLama/photos/10154522659577616

ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2563 ท่านทะไลลามะกล่าวว่าท่านไม่สนับสนุนความเป็นอิสระของทิเบตอีกต่อไป และหวังว่าจะไปเยือนจีนในฐานะผู้ชนะรางวัลโนเบล เขากล่าวว่า

“ฉันชอบแนวคิดเรื่อง ‘สาธารณรัฐ’ ในสาธารณรัฐประชาชนจีน ในแนวคิดเรื่องสาธารณรัฐ ชนกลุ่มน้อยเป็นเหมือนชาวทิเบต มองโกล แมนจู และซินเจียงอุยกูร์ เราสามารถอยู่ร่วมกันได้”

กระนั้นเองรัฐบาลจีนมิได้เห็นท่านเป็นมิตรด้วย เพราะในโลกนี้มีท่านทะไลลามะเพียงคนเดียวเท่านั้นที่เป็นศูนย์รวมใจของชาวทิเบตทั้งที่อยู่ในประเทศและนอกประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น การเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณนั้นเป็นสิ่งที่น่ากลัวยิ่งกว่าการเป็นผู้นำทางการเมืองยิ่งนัก เพราะรัฐบาลจีนทุกยุคทุกสมัยมาสามารถสั่งการให้ทหารไปรบได้ แต่จะสั่งประชาชนให้ออกไป “ตายแทน” นั้นย่อมทำไม่ได้ หากทะไลลามะเสด็จกลับมาประเทศจีน เข้าไปทิเบตย่อมไม่ต่างอะไรกับการปล่อยเสือเข้าป่า ยากที่จะควบคุม หากทางการจีนใช้กำลังเข้าปราบปรามก็จะเกิดแรงต้านทานจากสังคมจีนและสังคมโลก

กระนั้นเอง นโยบายของรัฐบาลจีนต่อพุทธศาสนาในประเทศได้เปลี่ยนแปลงไปมากจากยุคของประธานเหมาเมื่อ 60 ปีมาแล้ว ที่เห็นว่า “ศาสนาคือยาเสพติด” และจำเป็นต้องปราบปรามให้หมดไป สู่ในยุคที่ให้เสรีภาพกับการนับถือศาสนา และศาสนาเองเป็นส่วนของวัฒนธรรมที่นอกจากสร้างอัตลักษณ์ของความเป็น “ชาติจีนอันเก่าแก่” แล้วยังสร้างรายได้อย่างมโหฬารให้กับประเทศชาติ จีนยังเป็นประเทศที่มีปูชนียวัตถุและปูชนียสถานทางพุทธศาสนาที่มีจำนวนมากที่สุดในโลกอีกด้วย นับตั้งแต่ยุคที่เติ้งเสี่ยวผิงได้ขึ้นมาบริหาร พุทธศาสนาในจีนกลับเจริญรุ่งเรื่องขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง รัฐบาลจีนได้ให้งบประมาณฟื้นฟูปูชนียสถานและปูชนียวัตถุทั่วประเทศ วัดใหญ่ๆ กลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสร้างรายได้แก่ประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ อย่างมหาศาล

แต่พุทธศาสนายังเป็นสิ่งที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนกลัวมากที่สุดอยู่ดี เช่น สำนักฝ่าหลุนกงซึ่งเน้นเรื่องการออกกำลังกายและสุขภาพผนวกกับการทำสมาธิประกอบดนตรี แต่มีจำนวนสมาชิกมากเสียยิ่งกว่าสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนเสียด้วยซ้ำ สิ่งที่น่ากลัวยิ่งไปกว่านั้นคือทั้งสำนักขององค์ทะไลลามะ และฝ่าหลุนกงได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาผ่านซีไอเอมาตลอด ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนหวาดระแวงอย่างมาก

ทัศนคติขององค์ทะไลลามะต่อตำแหน่งของท่านนั้นเปลี่ยนแปลงมาตลอด ดูได้จากหลักฐานต่างๆ ที่ท่านได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในประเทศโปแลนด์เมื่อกลางปี พ.ศ. 2518 ว่าท่านเชื่อว่าท่านจะเป็นทะไลลามะองค์สุดท้าย แต่ต่อมาท่านให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนในประเทศอังกฤษว่า “ตำแหน่งทะไลลามะนี้เป็น “สถาบัน” ซึ่งเกิดขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์กับผู้อื่น เป็นไปได้ว่าสถาบันนี้ได้อยู่มาเกินเวลาของมันแล้ว” คำพูดเหล่านี้ทำให้ชาวทิเบตไม่สบายใจ เพราะตำแหน่งนี้เป็นสถาบันแห่งชาติของชาวทิเบต ซึ่งประชาชนชาวทิเบตทุกคนควรมีสิทธิ์ตัดสินใจต่อไปว่าควรอยู่ต่อไปหรือไม่

ในปี พ.ศ. 2544 องค์ทะไลลามะได้ลดทอนอำนาจของตนลง และมอบอำนาจบางส่วนให้กับรัฐสภารัฐบาลพลัดถิ่นของทิเบตที่มาจากการเลือกตั้งของผู้ลี้ภัยชาวทิเบตที่ได้รับเลือก เป้าหมายเดิมของท่านคือความเป็นอิสระของทิเบตอย่างเต็มที่ โดยส่วนตัวท่านยังคงแสวงหาเอกราชจากจีนให้มากขึ้น แต่รองโฆษกรัฐสภาพลัดถิ่นกล่าวว่า “หากทางสายกลางล้มเหลวในระยะสั้น เราจะถูกบังคับให้เลือกความเป็นอิสระหรือการตัดสินใจด้วยตนเองโดยสมบูรณ์ ตามกฎบัตรสหประชาชาติ” และต่อมาองค์ทะไลลามะได้มอบอำนาจทางการเมืองทั้งหมดให้แก่นายตุบเตน ยัสตโส (Thubten Gyatso) ในฐานะผู้นำฝ่ายบริหารให้ทำหน้าที่แทน ส่วนท่านยังคงทำหน้าที่เป็นผู้นำ “ฝ่ายจิตวิญญาณ” ของชาวทิเบตและชาวพุทธที่นับถือพุทธแบบทิเบตต่อไป

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/DalaiLama/photos/10153326836347616

“เมื่อข้าพเจ้าอายุเข้าใกล้ 90 ปี ข้าพเจ้าก็จะปรึกษากับพระลามะระดับสูงทั้งหลาย ประชาชนชาวทิเบต และผู้ที่นับถือพุทธแบบทิเบตทั้งหลาย เพื่อทบทวนว่าสถาบันขององค์ทะไลลามะนี้ควรจะดำรงอยู่ต่อไปหรือไม่ เราจะร่วมกันตัดสินใจ หากหมู่คณะตัดสินใจว่าการกลับมาเกิดขององค์ทะไลลามะควรคงอยู่ต่อไป และโลกยังต้องการองค์ทะไลลามะองค์ที่ 15 อยู่แล้วละก็ ความรับผิดชอบในเรื่องนี้จะเป็นหน้าที่ของ Gaden Phodran Trust ผู้ซึ่งต้องปรึกษาหารือกับผู้นำพุทธทิเบตทั้งหลาย และผู้พิทักษ์รักษาพระธรรมซึ่งสืบสานวงศ์ของทะไลลามะ เพื่อสืบแสวงหาและพิสูจน์ว่าเป็นทะไลลามะกลับชาติมาเกิด แต่องค์ทะไลลามะเองเคยบอกว่า “เป็นไปได้ที่ชาติหน้าฉันจะเกิดเป็นหญิง” อันเป็นคำพูดที่ได้รับอิทธิพลจากการเคลื่อนไหว “สตรีนิยม” ในตะวันตก

ดูเหมือนว่ารัฐบาลจีนได้ตระหนักเรื่องการสรรหาองค์ทะไลลามะองค์ต่อไปเช่นกัน ตามที่ปรากฏว่า ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2550 รัฐบาลจีนได้ออกกฎหมายว่าการแต่งตั้งพระชั้นสูงในประเทศจีนทั้งหมดนั้น ต้องได้รับการยินยอมจากรัฐบาลจีนเสียก่อน ซึ่งรวมทั้งการคัดเลือกองค์ทะไลลามะองค์ที่ 15 ภายหลักการเสียชีวิตของเตนซิน ยัตโส (Tenzin Gyatso) ด้วยตามประเพณีนี้ผู้ที่จะมายืนยันได้คือ “ปันเชนลามะ” เท่านั้น ซึ่งเป็นผู้ที่รัฐบาลจีนควบคุมได้อยู่แล้ว องค์ทะไลลามะจึงเสนอให้มีการทำประชามติของชาวทิเบตทั้งหมดในเรื่องนี้เพื่อเป็นการแก้ลำรัฐบาลจีน

อย่างไรก็ตาม ประเด็นว่าอะไรจะเกิดขึ้นภายหลังการจากไปขององค์ทะไลลามะองค์ที่ 14 นี้ยังมีความไม่แน่นอนสูงและชาวพุทธทิเบตยังไม่มีความเชื่อมั่นเลยว่าอะไรจะเกิดขึ้น แม้องค์ทะไลลามะเองก็ยังตอบคำถามนี้ไม่ได้ !!!