ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > รายงาน ESCAP ประเมินเอเชียแปซิฟิก เส้นทางสู่ SDGs ยืดออกจากเป้าหมายปี 2030

รายงาน ESCAP ประเมินเอเชียแปซิฟิก เส้นทางสู่ SDGs ยืดออกจากเป้าหมายปี 2030

18 มีนาคม 2022


วันที่ 17 มีนาคม คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสําหรับเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ (United Nations ESCAP) ได้เปิดตัว รายงานประจำปีนำเสนอความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก Asia and the Pacific SDG Progress Report 2022

รายงานนี้วิเคราะห์ความคืบหน้าสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ในเอเชียและแปซิฟิก และ 5 อนุภูมิภาค นอกจากนี้ยังสำรวจความไม่เท่าเทียมกันและความเปราะบางในกลุ่มประชากรต่างๆ ประเมินช่องว่างที่ต้องปิดเพื่อให้บรรลุเป้าหมายภายในปี 2573 และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง มีกรอบการประเมินที่ประกันว่าการดำเนินการของภูมิภาคยังคงอยู่ในเป้าหมาย และมีการแก้ไขจุดที่ไม่บรรลุเป้าหมาย รวมทั้งเป็นแหล่งข้อมูลสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด

รัฐบาลทั่วทั้งเอเชียและแปซิฟิกต่างมุ่งมั่นสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) และตั้งเป้าหมายไว้สูงแต่ยังไม่คืบหน้ามากพอ และในความเป็นจริงกลับถดถอย ความท้าทายในการบรรลุเป้าหมายได้เพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทั้งความถี่และความรุนแรงของวิกฤติการณ์ที่มนุษย์สร้างขึ้นและจากภัยธรรมชาติ ตลอดจนความท้าทายในการตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)

ภายใต้บริบทนี้ รายงาน Asia-Pacific Sustainable Development Goal Progress Report 202 ได้วิเคราะห์ความคืบหน้าเกี่ยวกับเป้าหมาย SDG 17 ข้อและเป้าหมายย่อย 169 เป้าหมายในภูมิภาคและในแต่ละ 5 อนุภูมิภาค ซึ่งมีความท้าทาย ทรัพยากร และโอกาสที่จะคืบหน้าแตกต่างกัน รายงานยังวิเคราะห์ความแตกต่างของข้อมูลที่มีผลต่อการติดตามความคืบหน้า และตรวจสอบแหล่งที่มาและด้านที่มีความสำคัญเพื่อให้ข้อมูล SDGs มีความพร้อมมากขึ้น

เป้าหมายบรรลุ SDGs ไกลออกไปอีก

ความคืบหน้าสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้ชะลอตัวลงเนื่องจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ความท้าทายในการพัฒนารุนแรงขึ้น ภูมิภาคนี้ไม่ได้อยู่บนเส้นทางที่จะบรรลุเป้าหมาย SDGs ทั้ง 17 ข้อ

วิสัยทัศน์และความมุ่งมาดปรารถนาของวาระ 2030 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นมีความสำคัญและมีความเกี่ยวข้องไม่น้อยไปกว่าในปี 2015 แต่ปีที่คาดหวังสำหรับความสำเร็จของ SDGs คือปี 2065 และช่องว่างก็กว้างขึ้นทุกปี ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกำลังเผชิญกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤติ และมีความเสี่ยงที่ความคืบหน้าจะช้าลงไปอีกในปีต่อๆ ไป เนื่องจากเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมอ่อนด้อยลง แต่ภูมิภาคนี้สามารถหลีกเลี่ยงได้หากเร่งดำเนินการและใช้ SDGs เป็นแผนงานสำหรับการฟื้นตัวอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และเป็นธรรม

ในแต่ละปีที่ผ่านไปนับตั้งแต่มีการรับวาระ 2030 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2015 กรอบเวลาที่คาดหวังในการบรรลุ SDGs ทอดยาวขึ้น ความคืบหน้าไปสู่เป้าหมายแตกต่างกันมากขึ้น และความเป็นไปได้ที่จะบรรลุ SDGs ในขณะนี้ยืดออกไปหลายทศวรรษเกินกว่าปี 2030 โดยในปี 2017 ได้ประมาณการไว้ว่าปีที่จะบรรลุ SDGs คือปี 2052 และในปี 2021 ได้คาดการณ์ว่าปีที่จะบรรลุ SDGs ได้ยืดออกไปเป็นปี 2065

ที่มาภาพ: https://www.unescap.org/sites/default/d8files/knowledge-products/ESCAP-2022-FG_SDG-Progress-Report.pdf

ความก้าวหน้าไปสู่ SDGs ที่ไม่เท่าเทียมกัน เห็นได้ชัดในชีวิตของประชากรกลุ่มเปราะบางกลุ่มต่างๆ ทั่วเอเชียและแปซิฟิก ที่มีความเสี่ยงจะถูกทิ้งไว้ข้างหลังมากที่สุด ความคืบหน้าที่ช้า ชะงักงัน และการถดถอยจากเป้าหมาย SDGs ยังคงเป็นภาระที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแก่ผู้ที่อยู่เบื้องหลังมากที่สุด

ในขณะที่มีความก้าวหน้าที่สำคัญในภูมิภาคในด้านสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความทนทาน ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืน และส่งเสริมนวัตกรรม (เป้าหมาย 9) และสร้างหลักประกันให้ทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ที่ยั่งยืนในราคาที่ย่อมเยา (เป้าหมาย 7) แต่ช้าเกินไปที่จะบรรลุเป้าหมายภายในปี 2030 อีกทั้งมีความถดถอยในเป้าหมายสร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (เป้าหมาย 12) และการดำเนินการด้านสภาพอากาศ (เป้าหมาย 13) แม้วิกฤติสภาพภูมิอากาศจะรุนแรงขึ้นก็ตาม ในขณะเดียวกัน ความคืบหน้าในเป้าหมายที่ 4, 5, 6, 8, 11 และ 14 ทั่วทั้งเอเชียและแปซิฟิกนั้นช้ามากหรือถึงกับหยุดนิ่ง

ด้วยอัตราการคืบหน้าในปัจจุบัน ไม่มี SDGs ข้อไหนทั้ง 17 ข้อ ที่ 5 อนุภูมิภาคจะบรรลเป้าหมาย มีเพียงเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือเท่านั้นบรรลุเป้าหมาย การขจัดความยากจน (เป้าหมาย 1) กับเป้าหมายสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความทนทาน ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืน และส่งเสริมนวัตกรรม (เป้าหมาย 9)

มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องมีความร่วมมือระดับภูมิภาคและเป็นพันธมิตร เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีใครและประเทศใดในอนุภูมิภาคของเอเชียแปซิฟิกถูกทิ้งไว้ข้างหลัง จากที่การดำเนินการตาม SDGs ซบเซาหรือถดถอย นอกเหนือจากเป้าหมายที่ 1 และเป้าหมายที่ 9 ในเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว อนุภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังไม่อยู่ในเส้นทางที่จะบรรลุ SDGs ภายในปี 2030 อีกทั้งน่าตกใจที่ทุกอนุภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีความถดถอยในเป้าหมายสร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (เป้าหมาย 12) และการดำเนินการด้านสภาพอากาศ (เป้าหมาย 13)

นอกเหนือจากการถดถอยในเป้าหมาย 12 และเป้าหมาย 13 แล้ว

  • อนุภูมิภาคเอเชียเหนือและเอเชียกลางยังมีความถดถอยในเป้าหมายอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (เป้าหมาย 14)
  • อนุภูมิภาคแปซิฟิกถดถอยในเรื่องสร้างหลักประกันว่าจะมีการจัดให้มีน้ำและสุขอนามัยส้าหรับทุกคนและมีการบริหารจัดการที่ยั่งยืน (เป้าหมาย 6) ลดความเหลื่อมล้ำ (เป้าหมาย 10) และทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความครอบคลุม ปลอดภัย มีภูมิต้านทานและยั่งยืน (เป้าหมาย 11)
  • อนุภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ถดถอยในเป้าหมาย 6, เป้าหมาย 11 และเป้าหมาย 14 และ
  • อนุภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันตกเฉียงใต้ได้ถดถอยในเป้าหมายที่ 11
  • จาก 169 เป้าหมายย่อยของ SDGs สามารถวัดผลได้ 112 เป้าหมาย โดยที่ไม่ถึง 10% ของเป้าหมายที่วัดได้กำลังเป็นไปตามแผนที่จะบรรลุเป้าหมายภายในปี 2030 และเป้าหมายที่เหลือต้องเร่งผลักดันให้คืบหน้าอย่างเร่งด่วนและรวดเร็วหรือดึงให้กลับมาจากแนวโน้มเชิงลบ ทั้งภูมิภาคจะต้องเร่งดำเนินการไปสู่เป้าหมาย 81 เป้าหมายย่อย และดึง 21 เป้าหมายย่อยที่ถดถอยให้กลับมา

    การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ สถานที่ ความทุพพลภาพ หรือสถานะการย้ายถิ่นฐาน ยังคงเป็นความมุ่งมั่นหลักของวาระ 2030 และต้องเข้าถึงผู้ที่ข้างหลังที่ไกลสุดให้มากขึ้นแบบที่ไม่เคยทำมาก่อน

    ความคืบหน้าโดยเฉลี่ยในเอเชียและแปซิฟิกไม่ครอบคลุมกลุ่มที่มีลักษณะทางประชากรหรือเศรษฐกิจและสังคมที่ต่างออกไปมากนัก ผู้ที่อยู่ข้างหลังสุด เช่น ผู้หญิง ประชากรในชนบท และครัวเรือนที่ยากจน มักเผชิญกับความเสี่ยงที่มากกว่า สำหรับประชากรกลุ่มเปราะบางจำนวนมาก ความมั่นคงด้านอาหาร การศึกษา และการดำรงชีวิตย่ำแย่ลงในช่วงการระบาดใหญ่

    หนึ่งในสามของประชากรเด็กผู้ลี้ภัยทั่วโลกอาศัยอยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และการระบาดใหญ่ได้ทำให้พวกเขาเผชิญความท้าทายเพิ่มขึ้น ความยากจนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มาบรรจบกัน มักส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของผู้หญิง ซึ่งเป็นแรงงานภาคการเกษตรส่วนใหญ่ในบางพื้นที่

    การวิเคราะห์ในรายงานนี้แสดงให้เห็นว่า ต้องมีการดำเนินการมากขึ้นเพื่อขยายการคุ้มครองทางสังคมสำหรับประชากรกลุ่มเปราะบาง รวมทั้งผู้ที่มีความทุพพลภาพขั้นรุนแรง และเพื่อยกระดับทิศทางตลาดแรงงานของผู้พิการ

    แม้ว่าความพร้อมของข้อมูลจะดีขึ้นตั้งแต่ปี 2017 (จำนวนตัวบ่งชี้ที่มีข้อมูลเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า) แต่ก็ยังไม่สามารถวัดเป้าหมายย่อย 57 เป้าหมายจาก 169 เป้าหมาย (34%) ได้ ข้อมูลความเท่าเทียมทางเพศ (เป้าหมาย 5) การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (เป้าหมาย 14) และการส่งเสริมสังคมที่สงบสุขและครอบคลุมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรมและสร้างสถาบันที่มีประสิทธิผลรับผิดชอบและครอบคลุมในทุกระดับ (เป้าหมาย 16) ยังคงค่อนข้างจำกัด

    รายงานชี้ว่า ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานดูแลระดับประเทศและระดับนานาชาติสำหรับตัวชี้วัด SDGs มีส่วนสำคัญต่อความพร้อมของข้อมูล SDGs และต้องปิดช่องว่างที่ยังมีอยู่ในด้านข้อมูลอีกต่อไป รวมทั้งต้องมีการลงทุนและความร่วมมือด้านวิชาการมากขึ้น เพื่อให้การดำเนินการสำรวจครัวเรือนเป็นแหล่งข้อมูลหลักสำหรับตัวชี้วัด SDGs เกือบ 1 ใน 3 มีความรวดเร็วและความยั่งยืน ตลอดจนต้องยกระดับการประสานงานระดับชาติ และจัดลำดับความสำคัญของการแบ่งปันและการรวมข้อมูล เพื่อให้สามารถบริหารข้อมูลสำหรับ SDGs ได้อย่างเต็มที่ (รวมถึงทะเบียนราษฎร์และสถิติสำคัญ)

    เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องเร่งมือเกือบทุกเป้าหมาย

    เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่อยู่ในเส้นทางที่จะบรรลุเป้าหมาย SDGs 17 ข้อภายในปี 2573 เมื่อพิจารณาจากความก้าวหน้าปัจจุบันของประเทศต่างๆ ในอนุภูมิภาค อย่างไรก็ตาม มีความคืบหน้าบางข้อ คือ การขจัดความยากจน (เป้าหมาย 1) การสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความทนทาน ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืน และส่งเสริมนวัตกรรม (เป้าหมาย 9) และการปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ต่อสู้กับการกลายสภาพเป็นทะเลทราย หยุดการเสื่อมโทรมของที่ดินและฟื้นสภาพกลับมาใหม่ และหยุดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (เป้าหมาย 15)

    ข้อที่ไม่มีความก้าวหน้า คือ การสร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต (เป้าหมาย 4) การส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่ มีผลิตภาพ และการมีงานที่เหมาะสมสำหรับทุกคน (เป้าหมาย 8) และการเสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูสภาพหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน (เป้าหมาย 17)

    อีกทั้งมีความกังวลเกี่ยวกับ การสร้างหลักประกันว่าจะมีการจัดให้มีน้ำและสุขอนามัยส้าหรับทุกคนและมีการบริหารจัดการที่ยั่งยืน (เป้าหมาย 6) การทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความครอบคลุม ปลอดภัย มีภูมิต้านทานและยั่งยืน (เป้าหมาย 11) การสร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (เป้าหมาย 12) การดำเนินการด้านสภาพอากาศ (เป้าหมาย 13) และการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (เป้าหมาย 14)

    เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังคืบหน้าในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความทนทาน ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืน และส่งเสริมนวัตกรรม (เป้าหมายที่ 9) แม้อนุภูมิภาคย่อยจะไม่อยู่ในเส้นทางที่จะบรรลุเป้าหมายที่ 9 แต่ก็มีความคืบหน้าในการขยายความครอบคลุมของเครือข่ายมือถือ (2G, 3G และ 4G) ความครอบคลุมของเครือข่ายมือถือในบรูไนดารุสซาลาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย และเวียดนามมีมากกว่า 95% อย่างไรก็ตาม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การวิจัยและพัฒนา และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในประเทศจะต้องดำเนินการต่อไปเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย

    อนุภูมิภาคยังคงเป็นไปตามเป้าในการขจัดความยากจน (เป้าหมาย 1) สำหรับประชากรที่อยู่ต่ำกว่าเกณฑ์เส้นความยากจนระดับนานาชาติและระดับชาติ ซึ่งรวมถึงในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ที่มีความชุกของความยากจนสูงสุดในอนุภูมิภาค โดยมีประชากรที่ใช้ชีวิตด้วยเงินที่ต่ำกว่า 1.90 ดอลลาร์ต่อวันมีสัดส่วน 5-6% ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความคืบหน้าของเป้าหมายที่ 1 คือความเสียหายอันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติและรัฐบาลไม่ได้ใช้จ่ายในด้านบริการขั้นพื้นฐาน (การศึกษาและสุขภาพ) อย่างต่อเนื่อง

    ความก้าวหน้ายังเห็นได้ในการปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนต่อสู้การกลายสภาพเป็นทะเลทราย หยุดการเสื่อมโทรมของที่ดินและฟิ้นสภาพกลับมาใหม่ และหยุดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (เป้าหมายที่ 15) ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการปฏิบัติตามกรอบสากลสำหรับการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพและการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพบนภูเขา โดยการขยายพื้นที่คุ้มครอง อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จเหล่านี้ยังไม่เพียงพอที่จะหยุดยั้งการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้และความหลากหลายทางชีวภาพที่มากขึ้น (วัดโดย Red List Index) ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของอนุภูมิภาค

    นอกจากนี้มีความคืบหน้าบ้างในอนุภูมิภาค ใน SDGs หลายข้อ ซึ่งรวมถึงการสร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต (เป้าหมาย 4) ที่มีสัญญาณถดถอยในดัชนีความไม่เท่าเทียมกันและทักษะในการอ่านและคณิตศาสตร์ที่ค่อนข้างต่ำในเด็กและคนหนุ่มสาว

    กัมพูชา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย มีนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นต่ำกว่า 50% ที่มีความสามารถด้านการอ่านและคณิตศาสตร์ขั้นต่ำ ทั้งสองเพศ

    อัตราการเติบโตของ GDP ที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีความก้าวหน้าในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่ มีผลิตภาพ และการมีงานที่เหมาะสมสำหรับทุกคน (เป้าหมาย 8) อย่างไรก็ตามมีความถดถอยในการยกระดับประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ (การใช้วัสดุในประเทศ) และการขาดความก้าวหน้าในการปฏิบัติตามสิทธิแรงงาน ได้กระทบความก้าวหน้าโดยรวม ส่วนการเสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูสภาพหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน (เป้าหมาย 17) ในอนุภูมิภาคมีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อย เนื่องจากรายได้ของรัฐบาลส่วนใหญ่ลดลงเหลือต่ำกว่า 30% ของ GDP และความร่วมมือด้านวิชาการเพื่อช่วยการพัฒนาอย่างเป็นทางการลดลงอย่างมาก

    อนุภูมิภาคกำลังถดถอยใน 5 เป้าหมาย การถดถอยที่สำคัญที่สุดคือ การเร่งต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น (เป้าหมาย 13) ซึ่งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นและการบาดเจ็บล้มตายจากภัยพิบัติส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการดำเนินการ การสร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (เป้าหมาย 12) ยังได้รับผลกระทบจากการปล่อยคาร์บอนจากการใช้วัสดุและการใช้วัสดุที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลเมื่อเทียบ GDP ยังคงสูงในบางประเทศ

    นอกจากนี้ ยังมีความถดถอยของสร้างหลักประกันว่าจะมีการจัดให้มีน้ำและสุขอนามัยสำหรับทุกคนและมีการบริหารจัดการที่ยั่งยืน (เป้าหมาย 6) เนื่องจากการขาดแคลนน้ำและประเทศต่างๆ ไม่สามารถปกป้องน้ำและฟื้นฟูระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องกับน้ำ ขณะที่การทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความครอบคลุม ปลอดภัย มีภูมิต้านทานและยั่งยืน (เป้าหมาย 11) ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการเสียชีวิตจากการจราจรทางบก และความสูญเสียของมนุษย์และเศรษฐกิจจากภัยพิบัติ

    ดังนั้น จะต้องดึงแนวโน้มในเป้าหมายเหล่านี้ให้กลับมามีความคืบหน้าให้มากพอ เพื่อบรรลุเป้าหมาย SDGs ภายในปี 2030

    ส่วนการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (เป้าหมาย 14) มีข้อมูลน้อยมากที่จะวัดความคืบหน้า อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่มีอยู่แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์แย่ลงเมื่อเทียบกับปี 2015

    เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำเป็นต้องเร่งความคืบหน้าหรือผลักดันแนวโน้มปัจจุบันในเป้าหมายที่ 4, 6, 8, 11, 12, 13, 14, 16 และ 17 ให้กลับมามีความคืบหน้า หากอนุภูมิภาคต้องการที่จะบรรลุเป้าหมายในปี 2030 ตามที่กำหนด