ThaiPublica > คอลัมน์ > มองเมืองอุดรธานีในสายตาใหม่ผ่าน NOIR ROW ART SPACE พื้นที่ศิลปะร่วมสมัย และหนังสือปกขาวของเขา

มองเมืองอุดรธานีในสายตาใหม่ผ่าน NOIR ROW ART SPACE พื้นที่ศิลปะร่วมสมัย และหนังสือปกขาวของเขา

24 กุมภาพันธ์ 2022


เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์

ของขวัญปีใหม่ซึ่งส่วนใหญ่มักได้รับจากธนาคาร บริษัทประกัน คู่ค้า และมูลนิธิต่าง ๆ มักเป็นของประเภทที่ถูกส่งตามธรรมเนียมเพื่อให้ผู้ส่งได้รู้สึกเหมือนปฏิบัติหน้าที่สำเร็จแล้ว และผู้รับได้นำสิ่งของที่จำรายละเอียดไม่ได้และใช้งานไม่ได้จริงไปแจกจ่ายแก่ผู้อื่นต่อไป แต่หนังสือปกขาวเล่มหนึ่ง จาก NOIR ROW ART SPACE เป็นข้อยกเว้น

นอกจากมิตรภาพซึ่งผู้เขียนเป็นเกียรติยิ่งที่ได้รับมาโดยเสมอ หนังสือปกสะอาดดังกล่าวอยู่ในลิสต์รายการอ่านส่วนตัวทันทีที่แกะห่อ

EXCERPTS : CONTEMPORARY OUTLOOK ON UDONTHANI & RELATED BY NOIR ROW ART SPACE 2017-2020 คือชื่อโครงการสิ่งพิมพ์ที่ซ่อนไว้หลังเปิดไปได้ 2 หน้าเพื่อค้นหาว่า หนังสือชื่ออะไร ซึ่งหากไม่เพราะมีเจตนาจะมารีวิวแด่ผู้อ่าน การสำรวจหาชื่อหนังสือก็คงไม่จำเป็นนัก ด้วยตัวบทที่อัดแน่นภายใต้ความหนาเรือนร้อยหน้ากล่าวสาระไว้ละเอียดโดยครบถ้วนแล้ว

ผู้เขียนรู้จัก NOIR ROW ART SPACE ครั้งแรกจากงานอบรมที่มิวเซียมสยาม ซึ่งรับสมัครนักดูแลและผู้สนใจงานด้านพิพิธภัณฑ์มารวมตัวกันเวิร์คชอปศิลปะการเล่าเรื่องผ่านวัตถุสิ่งของ ก่อนจะทราบอย่างตื่นเต้นว่า ART SPACE ดังกล่าวตั้งอยู่ ณ จังหวัดอุดรธานี และแทนที่จะปลีกวิเวกออกห่างจากชุมชนด้วย “ศิลปะในรูปแบบที่ต้องการความสวยงาม โดดเด่น และมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัว (uniqueness)” ตามความเข้าใจที่มีต่ออาร์ตแกลลอรี่โดยมาก NOIR ROW ART SPACE กลับทำในสิ่งตรงกันข้าม

พื้นที่ทางศิลปะร่วมสมัยแห่งนี้ บริหารงานโดย ปณชัย ชัยจิรรัตน์ และ ปุญญิศา ศิลปรัศมี (ซึ่งครั้งหนึ่งให้เกียรติเป็นแขกรับเชิญในรายวิชาปรัชญาชีวิตที่ผู้เขียนสอน) อาศัยเลนส์ทางศิลปะสำรวจคุณค่าซึ่งยึดโยงกับเมืองอุดรธานี เนื้อหาส่วนใหญ่มุ่งไปที่ช่วงเวลาสำคัญอันเป็นหนึ่งในนิยามของจังหวัดที่กำลังเลือนลางลง โดยเฉพาะเรื่องราวที่ข้องแวะกับยุคสงครามเย็น ตลอดจนงานและกิจกรรมทางศิลปะร่วมสมัยที่ขับเคลื่อนโดยปัจเจกชน ที่ดูเหมือนภาครัฐพยายามจะแทนที่นิยามดังกล่าวด้วยเป็ดยักษ์สีเหลืองไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม

สกัดเรื่องราวผ่านเลนส์ที่หลากหลาย

โครงการสิ่งพิมพ์รวบรวมงานศิลปะเชิงทดลองเพื่อค้นหาความหมายและนิยามเมืองอุดรธานีเลือกที่จะ “สกัด (excerpt)” หรือตัดตอนสิ่งที่ข้องเกี่ยวกับจังหวัดทั้งในบริบททางเวลาและพื้นที่ โดยนำมารวบรวม เรียบเรียง ขบคิด ตีความ หรือสุดแท้แต่ปฏิบัติการทางศิลปะจะเอื้ออำนวยผ่านผู้ร่วมโครงการทดลองนี้ 4 ท่านในสาระ 5 บท

Dialogue & Evidence โดย NOIR ROW ART SPACE

บทแรก ผู้จัดทำเล่าประวัติศาสตร์อุดรธานีโดยสัมภาษณ์บุคคลหลากหลายท่านที่เคยผ่านช่วงเวลาสงครามเย็นและการตั้งฐานทัพของทหารสหรัฐอเมริกา ชวนให้มองเรื่องราวของพื้นที่และห้วงเวลาผ่านปากคำของคนในยุคนั้น พร้อมกันนี้ในส่วนหลัง NOIR ROW เลือกจัดแสดงประวัติศาสตร์สถานผ่านภาพถ่ายจุดมาร์กต่าง ๆ เช่น ค่ายรามสูร, คลังอาวุธ, Lima Site 36, สมาคมนักรบนิรนาม 333 เป็นต้น รวมทั้งจัดแสดงวัตถุประวัติศาสตร์ที่พบในพื้นที่โดยรอบ

Ramasun in Text โดย จิรวัฒน์ เอื้อสังคมเศรษฐ์

บทที่สอง นำเสนอผ่านวิดีโอชุด Ramasun สัมภาษณ์ผู้คนและถ่ายทอดความทรงจำที่มีต่อยุคของตนเอง โดย จิรวัฒน์ เอื้อสังคมเศรษฐ์ เลือกที่จะแปลงงานวิดีโอสู่อักษรบนหน้าหนังสือ

กระบวนการสหสาขาที่บ้านเชียง: การเปรียบเทียบการสร้างองค์ความรู้ในช่วงสงครามเย็นกับขบวนการทางศิลปะโครงการลองของ โดย กฤตภัทธ์ ฐานสันโดษ

บทที่สาม กฤตภัทธ์ ฐานสันโดษ ศึกษาบ้านเชียงผ่านแว่นสหวิทยาการ ซึ่งมองบ้านเชียงไกลกว่าภาพแทนของโบราณวัตถุและโบราณสถาน แต่ครอบคลุมถึงสถานะของอำนาจในเรื่องเล่า “จะเห็นได้ว่าบ้านเชียงและชนบทของรัฐไทยได้ถูกกำหนดให้เป็นวัตถุของความรู้ (object of knowledge) ผ่านการประดิษฐ์สร้างผ่านเครือข่ายของความรู้ที่เรียกว่า วาทกรรม (discourse)” “โครงการลองของยังเน้นถึงจุดเริ่มต้น ความเป็นมาของสรรพสิ่ง นั่นเพราะบ้านเชียงเป็นที่โต้เถียงแม้ชนชั้นนำจะพยายามผนวกรวมชุมชนบ้านเชียงเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องเล่าของชาติ (metanarrative) Maurizio Peleggi ได้เสนอว่าบ้านเชียงได้ตั้งคำถามถึงเรื่องเล่าหลักที่กล่าวว่าคนไทยมาจากจีน และไม่มีความเชื่อมโยงกับราชวงศ์ส่วนกลางแม้แต่น้อย”

Daily Noir โดย พิรญาณ์ อาจวิชัย

บทที่สี่นำเสนอมรดกสงครามเย็นผ่านการรวบรวมโครงการทางศิลปะจำนวนหนึ่ง โดยมุ่งเน้นไปที่ศิลปะในยุคปัจจุบันและถ่ายทอดผ่านจดหมายข่าว ซึ่งเคยเป็นรูปแบบสิ่งพิมพ์หนังสือเวียนที่ใช้กันในค่ายรามสูร จังหวัดอุดรธานี

ในซากปรักหักพัง In the Ruin โดย กรกฎ หลอดคำ

บทสุดท้าย กรกฎ หลอดคำ พื้นเพเป็นคนในพื้นที่เลือกศึกษาประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับช่วงเวลาการตั้งถิ่นฐานของสหรัฐอเมริกาในจังหวัดอุดรธานี กรกฎ มองว่า ประวัติศาสตร์ ณ ช่วงเวลาดังกล่าวกำลังถูกทำให้สูญหาย จึงนำเสนอซากความทรงจำที่ถูกบังคับให้หักพังนี้ผ่านบันทึกกึ่งไดอารี่คู่กับภาพถ่ายต่าง ๆ

ชุมชนปฏิบัติการทางศิลปะ

หลังอ่านจบ ผู้เขียนพลันนึกอิจฉา เนื่องว่าชุมชนที่ตัวเองเติบโตในซอยสำเหร่ ธนบุรี และบางบัวทองนั้น แม้จะมีประวัติศาสตร์ประปราย แต่ก็ไม่ได้มีแลนด์มาร์คศิลปะอะไร หรือหากมีก็ไม่ได้เป็นที่สนใจใคร่รู้ของภาครัฐนัก ในขณะที่เมืองอุดรธานีได้เกิดชุมชนปฏิบัติการทางศิลปะ เป็นชุมชนที่ไม่ต้องเรียกร้องให้ใครมาสำนึกรักบ้านเกิด หากแต่เปิดกว้างแก่การสกัดมุมมองใหม่ ๆ ผ่านพื้นที่และเวลาที่สูญหาย ตีความและบอกเล่าอย่างอิสระ ไม่ต้องถูกจำกัดภายใต้หัวข้ออันเป็นที่นิยมตามกาลเวลา เช่น เมืองนวัตกรรม เมือง xxx ยั่งยืน เป็นต้น

จิตวิญญาณดังกล่าวพลอยให้ผู้เขียนนึกถึงซีรี่ย์การ์ตูนเรื่อง City of Ghosts บอกเล่าการผจญภัยของเด็กทำหนังกลุ่มหนึ่งใน LA ที่เชื่อว่าความชุลมุนในเมืองคือฝีมือของผี ! หากแต่สถานการณ์วุ่นวายนี้ทำให้พวกเขาออกสำรวจปัญหา ผ่านการทำรายการสารคดี สัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งบทสนทนาและการผจญภัยพาคนดูไปรู้จักประวัติศาสตร์แห่งความหลากหลายในลอส แองเจลิส โดยไม่ต้องพยายามประชาสัมพันธ์โปสเตอร์รู้รักชุมชนแต่อย่างใด

ทั้งยังทำให้ผู้เขียนนึกถึงหนังสือเมล็ดพันธุ์ ชีวิตบูรณาการ โดย ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์, สุภาพ สิริบรรณสพ และกรรณจริยา สุขรุ่ง ซึ่งอ้างอิงคำกล่าวของมาร์กาเร็ต มีดส์ที่ว่า…

“ไม่ต้องสงสัยเลยว่า พลเมืองที่ช่างครุ่นคิดและเอาจริงเอาจังกลุ่มเล็ก ๆ สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ เพราะมันเป็นเรื่องจริงที่เกิดมาแล้ว โดยไม่มีทางเป็นอื่นไปได้เลย”