ThaiPublica > คอลัมน์ > แก้ปัญหาสัญญา “ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย” ด้วย “ประชาธิปไตยพลังงาน”

แก้ปัญหาสัญญา “ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย” ด้วย “ประชาธิปไตยพลังงาน”

2 กรกฎาคม 2021


ประสาท มีแต้ม

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/EGAT.Official/photos/3564420203657996

ในปี 2562 ซึ่งเป็นปีที่ยังไม่เกิดการระบาดของโควิด-19 คนไทยเราได้จ่ายค่าพลังงานรวมกัน 2.1 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12.7 ของจีดีพี ในจำนวนนี้เป็นค่าไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติประมาณ 8.1 แสนล้านบาท แต่เชื่อไหมครับว่า ทั้งสัญญาการซื้อขายไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติเป็นสัญญาแบบผู้ใช้ถูกมัดมือชก หรือ “ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย (take or pay)” เป็นสัญญาซื้อขายนาน 20-25 ปี โดยที่ผู้ขายไม่ต้องรับความเสี่ยงใดๆเลย ไม่ว่าจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ สงคราม โรคระบาดรุนแรงขนาดไหน หรือเทคโนโลยีเดิมกลายเป็นสิ่งล้าสมัย มีเทคโนโลยีใหม่มาแทน ความเสี่ยงทั้งหมดถูกผลักมาให้ผู้บริโภคเป็นผู้รับภาระแต่ฝ่ายเดียวยาวไปจนกว่าจะหมดสัญญา

กรณีโรงไฟฟ้า ผู้ชนะการประมูลจะได้รับค่า “ความพร้อมจ่าย” ซึ่งมีความหมายรวมค่าลงทุนทั้งเงินกู้ ดอกเบี้ย เงินประกัน ค่าจ้างพนักงาน ค่าบำรุงรักษา (แต่ไม่รวมค่าเชื้อเพลิง) แม้ว่าจะไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้านานเป็นปีเลยก็ตาม บางโรงผลิตไฟฟ้ามาได้ประมาณเพียง 7 ปี ด้วยสัญญานาน 25 ปี แต่ก็ได้รับค่าความพร้อมจ่ายรวมกันแล้วเกือบ 2 เท่าของจำนวนเงินที่ใช้ในการลงทุน

ปัจจุบันภาระค่าความพร้อมจ่ายเรื่องโรงไฟฟ้าทั้งระบบแม้ว่าไม่ได้ผลิตเลยหรือผลิตได้ไม่เต็มศักยภาพนั้น เท่าที่ผมประเมินเบื้องต้นก็น่าจะไม่ต่ำกว่า 2-3 หมื่นล้านบาทต่อปี

กรณีก๊าซธรรมชาติซึ่งใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า ผมรู้สึกงงกับข้อมูลในรายงานประจำปี 2563 ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตอนหนึ่งที่สรุปได้ว่า “ราคาก๊าซธรรมชาติที่หน้าโรงไฟฟ้าซึ่งเป็นราคารวมของก๊าซฯจาก 3 แหล่งคือ 1) ก๊าซที่ขุดเจาะในประเทศไทยเอง 2) ที่นำเข้าจากประเทศเมียนมา และ 3) นำเข้าทางเรือในรูปก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ราคาเฉลี่ย 237 บาทต่อล้านบีทียู ในขณะที่ก๊าซธรรมชาติเหลวนำเข้าทางเรือราคา 106 บาทต่อล้านบีทียูเท่านั้น” นั่นคือ ก๊าซธรรมชาติเหลวนำเข้ามีราคาไม่ถึงครึ่งของราคาเฉลี่ยทั้งหมด

ผมได้สืบค้นข้อมูลจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติย้อนหลัง 10 ปี พบว่าราคาก๊าซธรรมชาติที่ปากหลุมของประเทศไทยเราแทบจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญเลย ในขณะที่ราคาก๊าซ LNG (Landed prices) ทั่วทั้งโลกมีการขึ้นลงอย่างมาก เช่น ในเดือนเมษายนและกันยายน 2563 มีราคาสูงสุดที่ 2.16 และ 4.76 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู ตามลำดับ

ข้อเสียของสัญญาแบบ “ไม่ซื้อก็ต้องจ่าย” ที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ ไม่มี “ความยืดหยุ่น(Flexible)” ต่อสถานการณ์ของโลกในอนาคตที่นับวันยิ่งเป็น “VUCA World” สูงขึ้น กล่าวคือ มีความผันผวน (Volatility) มีความไม่แน่นอน (Uncertainty) มีความซับซ้อน (Complexity) และ มีความคลุมเครือ (Ambiguity) ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ทำให้การสื่อสารมีความจำเป็นราวกับออกซิเจนที่มนุษย์ใช้หายใจ

การระบาดของโรคโควิด-19 ตัวอย่างที่ชัดเจนมากของโลก VUCA

เมื่อเรารู้อยู่แล้วว่าโลกของเราเป็นแบบ VUCA ดังนั้นการทำสัญญาแบบ “ไม่ซื้อก็ต้องจ่าย” ในระยะยาว 25 ปีจึงไม่มีความเป็นธรรมอย่างยิ่งทั้งต่อโลกและสังคมมนุษย์

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางโลกที่เป็น VUCA สังคมโลกก็ได้มีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา มากบ้าง น้อยบ้าง แต่ที่ผมถือว่าสำคัญมากก็คือ เมื่อเดือนมกราคมปีนี้ องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ได้ออกรายงานสำคัญเรื่อง “Net Zero by 2050 : A Roadmap for Global Energy Sector” เพื่อจะแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อนซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้โลกเป็น VUCA

นอกจากนี้ผมทราบว่าทาง IEA กำลังทำงานวิจัยร่วมกับกระทรวงพลังงานของประเทศไทยโดยมุ่งหวังจะทำให้ระบบพลังงานของประเทศไทยมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ผมก็ไม่ทราบว่าจะมีความยืดหยุ่นไปถึงสัญญา “ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย” ด้วยหรือไม่

เมื่อผมเห็นรายงานฉบับนี้และเห็นข่าวความร่วมมือระหว่าง IEA กับกระทรวงพลังงานและ กฟผ.ด้วยแล้ว ผมรู้สึกทั้งดีใจมากแต่ก็แปลกใจนิด ๆ เพราะเมื่อ 5 ปีที่แล้ว IEA ยังคงเชียร์ถ่านหินอยู่ ดังตอนหนึ่งความว่า “การใช้พลังงานของอาเซียนว่า ในปี 2583 ความต้องการใช้ไฟฟ้าในภูมิภาคนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า ซึ่งเชื้อเพลิงถ่านหินจะยังคงบทบาทสำคัญในการผลิตไฟฟ้ามากที่สุด โดยเพิ่มจากร้อยละ 32 เป็นร้อยละ 50 เนื่องจากราคาต้นทุนของถ่านหินที่ถูกกว่าก๊าซธรรมชาติ” (ที่มา : จากเฟซบุ๊กของ กฟผ.)

อย่างไรก็ตาม กระแสโลกทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจและภาคประชาสังคมได้ให้การต้อนรับรายงานของ IEA ฉบับนี้กันมากครับ ล่าสุดมีข่าวจากกระทรวงพลังงานของไทยเองว่าจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่ม

คราวนี้มาพูดถึงว่า เราจะเอาอะไรมาแทนสัญญา “ไม่ซื้อก็ต้องจ่าย” ซึ่งเป็นสัญญาที่มีความตายตัว ไม่มีความยืดหยุ่นตามสถานการณ์ของประเทศและของโลก พูดอีกทีหนึ่งก็คือเป็นสัญญาเผด็จการในระบบการเลือกตั้งที่เรียกว่าเป็นประชาธิปไตยไม่ว่าจะเต็มใบหรือครึ่งใบก็ตาม

ในความเห็นของผม ตราบใดที่ระบบพลังงานซึ่งเปรียบเสมือนระบบเลือดของประเทศยังคงเป็นแบบผูกขาดโดยคนส่วนน้อยและปล่อยมลพิษออกสู่สาธารณะ ผู้บริโภคเป็นแค่ผู้ซื้อเพียงฝ่ายเดียว ประเทศนั้นก็ยังเป็นเผด็จการอยู่นั่นเอง

ประชาธิปไตยพลังงาน (Energy Democracy) คือทางออก

Dr. John Farrell ผู้อำนวยการ “สถาบันเพื่อการพึ่งตนเองของท้องถิ่น (Institute for Local Self-Reliance)” สหรัฐอเมริกา (ก่อตั้ง 1974) ได้นำเสนอหลักการสำคัญของประชาธิปไตยพลังงาน 5 หลัก ซึ่งผมจะอธิบายเพียงสั้นในที่นี้ คือ

    (1) Flexible ความยืดหยุ่น
    (2) Efficiency มีประสิทธิภาพ
    (3) Equitable มีความเป็นธรรม
    (4) Low-Carbon ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อย
    (5) Local ควบคุมโดยท้องถิ่น

ผมจะขยายความเรื่องความยืดหยุ่นอีกครั้ง แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น ผมขอย้อนกลับไปถึงรายงานของ IEA อีกสักนิด กล่าวคือ ผมไม่ค่อยแน่ใจในแนวคิดของ IEA ซึ่งสนใจและสนับสนุนพลังงานฟอสซิลมาตลอด ว่าได้ครอบคลุมครบถ้วนทั้ง 5 หลักของประชาธิปไตยพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหลักที่ 5 คือการควบคุมโดยท้องถิ่นหรือไม่ เพราะ Dr. Hermann Scheer ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งพลังงานหมุนเวียนโลก ได้กล่าวเตือนไว้ว่า “การพิจารณาเรื่องพลังงานแบบแยกส่วน ไม่คิดแบบองค์รวมล้วนเป็นเรื่องหลอกลวง”

กลับมาที่ความยืดหยุ่นในการผลิตไฟฟ้าครับ

เนื่องจากไฟฟ้าเป็นสินค้าที่แตกต่างจากสินค้าอื่น ๆ คือปริมาณที่ผลิตจะต้องเท่ากับปริมาณการใช้เสมอตลอดเวลา ไม่สามารถกักตุนไว้ได้ นอกจากนี้ เนื่องจากการใช้ไฟฟ้าในแต่ละเวลาของวันไม่เท่ากัน ตอนหัวค่ำใช้เยอะ ดึก ๆ ใช้น้อย ดังนั้น พนักงานผู้ควบคุมการผลิตจึงต้องถูกสั่งการให้มี “ความพร้อม” อยู่ตลอดเวลาเพื่อปรับการผลิตให้พอกับความต้องการตลอดเวลา ถ้าทำไม่ได้จะเกิดไฟฟ้าดับ

ในอดีต โรงไฟฟ้าที่จะมาช่วยแก้สถานการณ์นี้ได้ทันท่วงทีก็คือโรงไฟฟ้าจากเขื่อนและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมีความยืดหยุ่นได้ดีกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่ปัจจุบันนี้ ผมอยากให้ดูข่าวที่ผมตัดมาใส่ในภาพข้างล่างครับ ซึ่งเป็นข่าวเมื่อปลายปี 2561 นี่เอง

สาระสำคัญของข่าวนี้ก็คือ คณะกรรมการกำกับสาธารณูปโภคแห่งรัฐแคลิฟอร์เนียได้อนุมัติให้ใช้แบตเตอรี่ขนาดใหญ่เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่มีอายุมากถึง 3 โรง ปัจจุบันรัฐแคลิฟอร์เนียได้ใช้แบตเตอรี่ดังกล่าวนี้เรียบร้อยแล้ว สามารถเก็บไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์ในช่วงกลางวันและพลังงานลมที่พัดเป็นครั้งคราว แล้วปล่อยออกมาใช้ในช่วงหัวค่ำ ไม่จำเป็นต้องสั่งเตรียมความพร้อมให้เปลืองเงินเหมือนกับในอดีต

กล่าวเฉพาะไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์ทั้งจากฟาร์มและหลังคาบ้าน (มากกว่า 1 ล้านหลังคา) มีมูลค่าปีละหลายหมื่นล้านบาท เงินจำนวนนี้ตกอยู่กับชาวแคลิฟอร์เนียตามหลักประชาธิปไตยพลังงาน โดยไม่ต้องจ่ายค่าแสงแดด และลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติครับ

นอกจากรัฐแคลิฟอร์เนียซึ่งได้ประกาศว่าจะใช้พลังงานหมุนเวียนในภาคไฟฟ้า 100% ภายในปี 2045 แล้ว ยังมีอีกหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ในปี 2022 จะเดินไฟฟ้าที่ติดตั้งแบตเตอรี่ขนาด 700 MW/2,800 MWh (ใช้ได้นานครั้งละ 4 ชั่วโมง) บนพื้นที่โรงไฟฟ้าถ่านหินเก่าแห่งหนึ่งในรัฐนิวเซาท์เวลส์ พลังงานที่จะเก็บก็มาจากโซลาร์เซลล์และกังหันลมครับ ท่านสามารถลองเข้าไปถามกูเกิ้ล ด้วยคำว่า “Battery storage power station” แบตเตอรี่มีความยืดหยุ่นกว่าโรงไฟฟ้าอื่นทุกชนิดที่โลกนี้มี นอกจากนี้ยังสามารถปรับให้ระบบไฟฟ้าให้มีความเสถียรได้อีกต่างด้วย เรื่องแบตเตอรี่มีราคาแพงนั้นเอาไว้คุยกันในภายหลังนะครับ

เรื่องราวที่ผมได้กล่าวมาแล้ว บางท่านอาจจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องยากและหนักสมอง ค่อยๆทำความเข้าใจนะครับ เพราะมันเป็นเรื่องที่สำคัญทั้งระดับครอบครัวเราเองและระดับโลกที่กำลังมีปัญหารุนแรงขึ้นทุกขณะจนต้องมีข้อตกลงปารีสเมื่อปี 2558

ท้ายนี้ ผมขอเสนอภาพข้างล่างนี้ โปรดสังเกตดี ๆ ทั้งสองภาพถ่ายจากที่เดียวกันบนถนนสายที่ 5 New York City ซ้ายมือถ่ายปี 1900 บนถนนเต็มไปด้วยรถม้า มีรถยนต์เพียง 1 คัน ภาพขวามือถ่ายปี 1913 บนถนนเต็มไปด้วยรถยนต์ มีรถม้าเพียง 1 คัน

นี่มันคือปรากฎการณ์ Technology Disruption ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ความไม่ปกติ คือความพยายามที่จะเหนี่ยวรั้งเทคโนโลยีเก่าที่ล้าสมัยไปแล้วให้อยู่ต่อไป ทั้ง ๆ ที่สร้างปัญหาสารพัดทั้งโลกร้อนและค่า “ไม่ซื้อก็ต้องจ่าย” กรณีนี้ใช้เวลานาน 13 ปี แต่ในอนาคตการเปลี่ยนแปลงจะรวดเร็วกว่านี้มาก

ขอบคุณทุกท่านครับ รวมทั้งเจ้าของภาพนี้ในกูเกิ้ลด้วย

ป้ายคำ :