ThaiPublica > คอลัมน์ > มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน

มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน

7 พฤษภาคม 2021


ลลิตา แซ่กัง และ สุภร ดีพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย

วิกฤติโควิด ทำให้ลูกหนี้จำนวนมากตกอยู่ในวังวนของปัญหาหนี้สิน บางคนดิ้นรนหนีการติดตามทวงถามของเจ้าหนี้ ขณะที่ลูกหนี้จำนวนไม่น้อยที่พยายามหาทางกลับมาเจรจากับเจ้าหนี้อีกครั้ง สะท้อนจากจำนวนลูกหนี้ที่ลงทะเบียนงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล โดยการสนับสนุนของธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานศาลยุติธรรมและกรมบังคับคดี ภายใต้สโลแกน “มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน”

ที่ตลอดเวลา 70 วัน (14 กุมภาพันธ์-24 เมษายน 2564) มีผู้สนใจสมัครเข้ามาเจรจามากถึง 260,000 คน ทำให้เราชื่นใจว่า คนไทยมีสปิริตของการเป็นลูกหนี้ที่ดีคือ “มีหนี้ต้องแก้ไข” แต่เพื่อให้ลูกหนี้มีแนวทางที่จะ “เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” ได้สำเร็จ

บทความนี้จึงพยายามหาคำตอบว่า ลูกหนี้จะ “เริ่มต้นชีวิตใหม่อย่างยั่งยืนได้อย่างไร?”

คำตอบคือ ทำบัญชี-มีเป้า-เก็บ (เงิน) ให้อยู่-ลดให้ได้-ฝืนเข้าไว้ กล่าวคือทำบัญชี นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญมาก เพราะจะทำให้เรารู้ข้อมูลการเงินของตัวเอง เพื่อรู้สถานการณ์ ประเมินโอกาส และจุดอ่อนของตัวเองได้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น

  • รายการหนี้สินมีเท่าไร? อะไรบ้าง? จ่ายวันไหน? ดอกเบี้ยเท่าไร? ใช้อะไรค้ำประกัน?
  • รายรับมีเท่าไร? พอไหม? จะมีทางใดที่จะหารายได้เสริมอีกหรือไม่?
  • รายจ่ายมีเท่าไร? อะไรบ้าง? ลดได้อีกไหม? ใช้ชีวิตสมถะลงได้อีกหรือไม่?

มีเป้า เป็นหมุดหมายที่เราอยากทำให้สำเร็จ เพื่อเพิ่มพลังความมุ่งมั่น ซึ่งแต่ละคนอาจแตกต่างไป ขณะที่บางคนอาจไม่รู้ว่าจะปักหมุดตรงไหน จากประสบการณ์ที่ผู้ใหญ่หลายท่านที่ประสบความสำเร็จในชีวิตสอนพวกเราเสมอว่า…

หากจะปักหมุดหมายชีวิตให้ลองนึกว่า อยากเห็นชีวิตตัวเองตอนแก่เป็นอย่างไร? และดูว่าการดำเนินชีวิตของเราในปัจจุบัน สนับสนุนให้เราก้าวสู่หมุดหมายที่ต้องการหรือไม่? ถ้าไม่ใช่ก็ให้ปรับวิธีการดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับหมุดที่ปักไว้

ตัวอย่างเช่น มนุษย์เงินเดือนท่านหนึ่ง ตั้งใจว่าอายุ 60 ปี อยากมีเงินใช้ตลอดชีวิตโดยไม่ต้องพึ่งใคร เชื่อไหมว่า ตลอดชีวิตการการทำงาน ท่านขึ้นรถเมล์มาทำงานทุกวัน ไม่กินเหล้า-สูบบุหรี่ ห่อข้าวจากบ้านมาทาน ถ้าจะสังสรรค์ก็ต่อเมื่อต้องไปกับที่ทำงาน ทุกเย็นและสุดสัปดาห์ท่านใช้เวลาหลังเลิกงานทำสวน ทำให้สุขภาพแข็งแรง แถมผลผลิตที่เหลือก็นำมาขายให้เพื่อนร่วมงาน … ท่านชอบดำน้ำ ก็ได้แต่ศึกษา จนกระทั่งอายุ 45 ปี เงินเก็บครบ 20 ล้านบาท ท่านนำดอกเบี้ย-เงินปันผลมาใช้ออกทริปไปดำน้ำในที่ต่างๆ ทั่วโลก จนวันนี้ ท่านได้ทุกอย่างตามเป้าหมาย มีเงิน-ได้เที่ยว-สุขภาพดี

เก็บ (เงิน) ให้อยู่ ต้องใช้เวลาปรับทัศนคติพอสมควร จึงต้องยึดหมุดหมายข้างต้นไว้ให้ดีว่า “อยากมีชีวิตแบบไหนในอนาคต?” และกำหนดเป้าหมายการเงินระยะใกล้-สั้น-กลาง-ยาว เพื่อสนับสนุนแผนใหญ่ของชีวิต โดยหลักสำคัญคือ เมื่อได้เงินเดือนแล้วต้องหักเงินเก็บก่อนกินใช้ ไม่ใช่เก็บจากที่เหลือกินใช้ เช่น

  • ระยะใกล้ 0-3 เดือน จะให้เปลี่ยนจากคนไม่เคยออมมาเป็นคนประหยัดอดออมคงไม่ง่ายนัก จึงต้องค่อยๆ ปรับทัศนคติตัวเอง ผ่านการมองปัญหาชีวิตซึ่งเกิดจากการไม่มีเงินออมที่ผ่านมาแล้วค่อยๆ มาสร้างเป็นบทเรียน เพื่อให้เกิดพลังขับเคลื่อนจากภายใน
  • ระยะสั้น 3 เดือน-2 ปี ควรแบ่งเงินหลังหักภาระต่างๆ เป็นเงินออมเพื่อเหตุฉุกเฉิน เงินก้อนนี้จะทำให้เรามั่นใจในการดำเนินชีวิตมากขึ้น เพราะถ้ามีเหตุอะไรเกิดขึ้นในครอบครัว เราสามารถปกป้องตัวเองได้ระดับหนึ่ง เงินก้อนนี้จึงควรทยอยเก็บเป็นเงินฝากประจำทุกเดือน หรือตัดบัญชีไว้เลย จะได้ไม่ปะปนกับเงินที่เอาไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ซึ่งตำราบางเล่มแนะนำว่า ควรมีอย่างน้อยเท่ากับเงินเดือน 2 เดือนที่เรารับอยู่ในปัจจุบัน
  • ระยะปานกลาง 2-10 ปี เป็นเงินออมเพื่อสะสมทรัพย์ในอนาคต เช่น ทำธุรกิจเล็กๆ ลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์ หรือทองคำ เป็นต้น
  • ระยะยาว 10 ปีขึ้นไป ทยอยเก็บไปเรื่อยๆ เป็นเงินก้อนในอนาคตหลังเกษียณอายุ เช่น การซื้อประกันแบบออมทรัพย์ ซึ่งจะได้ทั้งเงินก้อนและประกันหากเกิดอุบัติเหตุชีวิต เป็นต้น

การเก็บเงินอาจเป็นเรื่องยาก แต่ยากที่สุดก็แค่ก้าวแรก ขอให้นึกเสมอว่า “หนทางที่ว่ายาว แค่เริ่มก้าวก็สั้นลง”

ลด (ค่าใช้จ่าย) ให้ได้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องทำความตกลงกันในครอบครัวให้เข้าใจตรงกันว่า สถานะการเงินในครอบครัวเป็นอย่างไร ทำให้ต้องลดค่าใช้จ่าย เช่น จากเดิมชอบกินอาหารนอกบ้าน อาจทำอาหารง่ายๆ กินในบ้านให้บ่อยขึ้น หรือเดิมออกทริปเดือนละครั้ง อาจลดเหลือปีละ 2 ครั้ง เป็นต้น

นอกจากนี้ การสร้างความมีส่วนร่วมในครอบครัว ไม่เพียงจะทำให้ทุกคนพร้อมใจกันลดค่าใช้จ่าย แต่ยังสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินแก่ลูกในระยะยาวด้วย

ฝืนเข้าไว้ นับเป็นเรื่องท้าทายของ “สายชอป” มาก บางคนติดชอปปิงจนเสมือนเป็นยาเสพติด (ทางใจ) ชนิดหนึ่ง เครียดเมื่อไหร่ต้องชอป สุดท้ายยังไม่ทันได้ใช้ของที่ซื้อก็ชอปใหม่แล้ว การจะดัดนิสัยสายชอปอาจต้องเริ่มต้นให้จัดระเบียบบ้านตัวเองครั้งใหญ่สักครั้ง ก็จะเห็นสารพัดสินค้าที่ชอปมาแล้วไม่ได้ใช้ และมีของเหลือใช้พร้อมบริจาคเป็นจำนวนมาก สุดท้ายถ้ากลับมาทบทวนดีๆ ชีวิตเรามีของจำเป็นไม่กี่รายการ ก็ดำรงชีวิตในระดับพอเพียงได้แล้ว …

เมื่อคิดได้แบบนี้ ก็จะทำให้เราคิดมากขึ้นก่อนจะซื้อของเข้าบ้าน แต่ถ้ายังวนเวียนกับความอยากซื้อ ถ้าได้ลองเลื่อนการตัดสินใจซื้อออกไป สุดท้ายความอยากก็จะหายไปอย่างรวดเร็ว เพราะสินค้าส่วนใหญ่ไม่มีก็ไม่เสียหาย

สุดท้ายนี้ สิ่งที่อยากจะย้ำกับลูกหนี้ทุกคนคือ “มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” ซึ่งทุกคนทำได้แค่ “ทำบัญชี-มีเป้า-เก็บ (เงิน) ให้อยู่-ลด (ค่าใช้จ่าย) ให้ได้-ฝืนเข้าไว้” แล้วดีเอง