การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างรุนแรง โดยเฉพาะจังหวัดพื้นที่ท่องเที่ยว อย่าง “ภูเก็ต” ที่พึ่งพาลูกค้าต่างชาติเป็นสำคัญ ในมุมผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องปรับตัวเอง เพื่อจะประคับประคองธุรกิจให้ผ่านช่วงเวลายากลำบากนี้ไปให้ได้ก่อน รอเมื่อสถานการณ์คลี่คลายจะกลับมายืนและเดินได้อย่างเข้มแข็งอีกครั้ง
ตัวอย่างผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จังหวัดภูเก็ต นายอมร อินทรเจริญ ประธานบริหาร บริษัท ภูเก็ต เพิร์ล อินดัสทรี จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากไข่มุก เล่าว่า บริษัทดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับไข่มุก เริ่มต้นกิจการตั้งแต่ปี 2519 จากรุ่นสู่รุ่น สืบทอดภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษคนภูเก็ตที่ทำฟาร์มเพาะเลี้ยงไข่มุกเพื่อผลิตเป็นวัตถุดิบเพียงอย่างเดียว ก่อนจะปรับเปลี่ยนจากอุตสาหกรรมครัวเรือน เป็นบริษัทผู้ประกอบธุรกิจอัญมณีไข่มุกอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งวัตถุดิบโรงงานผลิตและแปรรูปไข่มุกอย่างครบวงจร ที่ได้รับมาตรฐานสากลของโลกมากมาย โดยล่าสุดคือระบบบริหารคุณภาพ ISO 9001: 2015
“สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น เราตั้งหลักธุรกิจและใช้เวลากับการขับเคลื่อนกระบวนการผลิต โดยนำผลงานวิจัยมาพัฒนา เพื่อยกระดับคุณภาพสินค้า พร้อมกับขยายช่องทางการตลาด รูปแบบการบอกต่อแบบปากต่อปากในสื่อสังคมออนไลน์ จากเดิมที่เราทำการตลาดต้องทุ่มงบประมาณกับการซื้อโฆษณา ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย เช่น กูเกิล เฟซบุ๊ก เป็นต้น ก็ปรับเปลี่ยนนำงบดังกล่าวมาให้กับพนักงานทุกคนที่แชร์ข้อโพสต์เพจเฟซบุ๊กของบริษัทแทน”
นอกจากนี้ยังช่วยเหลือพนักงาน ด้านลดค่าครองชีพในชีวิตประจำวัน ส่งเสริมให้พนักงานส่วนหนึ่งปลูกผักและเลี้ยงไก่ ถือเป็นการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร เพราะจากวิกฤติที่เราเคยเผชิญ(ปี 2547สึนามิ)มารับรู้ว่าวัตถุดิบเพื่อใช้ประกอบอาหารเป็นส่วนสำคัญต่อการดำรงชีวิตของทุกคน ที่สำคัญบริษัทยังมีนโยบายแจกข้าวสารให้กับพนักงานทุกเดือน หากเราสามารถบริหารจัดการส่วนนี้ได้อย่างน้อยทุกคนยังมีอาหารไว้รับประทาน” เจ้าของธุรกิจ เผยแนวทางดูแลพนักงาน
ทั้งนี้ ภาพรวมธุรกิจ ก่อนเกิดโควิด-19 ยอดขายจะเฉลี่ยประมาณปีละ 100 ล้านบาท แต่เมื่อเกิดวิกฤติปัจจุบันมียอดขายเข้ามาเพียง 30% เท่านั้น จากกำลังซื้อภายในประเทศ สวนทางกับรายจ่ายประจำที่ยังมีเท่าเดิม สิ่งที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้ย่อท้อต้องดูแลกันไปไม่ให้ใครออก พนักงานกว่า 40 คนยังอยู่ครบ และที่ผ่านมาก็เติมสภาพคล่องเข้าไปในธุรกิจเพิ่มเติม เพื่อประคับประคองสถานการณ์รอวันที่ธุรกิจฟื้นตัวอีกครั้ง
ทั้งนี้ จากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 เห็นชอบตามที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) เสนอแนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนแล้ว ใน 6 จังหวัดพื้นที่ท่องเที่ยว หลัก คือ ภูเก็ต กระบี่ พังงา เกาะสมุย ชลบุรี (พัทยา) และเชียงใหม่ โดยต้องกักตัวในโรงแรมเป็นเวลา 7 วัน เริ่มต้นเดือน เม.ย. 2564 เป็นต้นไปนั้น ในมุมของผู้ประกอบการ จ.ภูเก็ต มองว่า จะเป็นปัจจัยบวกต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยวและที่เกี่ยวเนื่องที่สามารถกลับมาดำเนินกิจการได้อีกครั้ง
“ผมเชื่อว่าการท่องเที่ยวไทย เมื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติและกำหนดให้ฉีดวัคซีน ถือเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะเศรษฐกิจไทยก็ต้องขับเคลื่อนต่อไป แต่ภาครัฐต้องทำการประชาสัมพันธ์และต้องชี้แจงหากเกิดผลกระทบซ้ำอีก จะมีแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างไร เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ประกอบการ ส่วนการทำธุรกิจของบริษัทคงจะไม่ประมาท เพราะบทเรียนและประสบการณ์จากเหตุการณ์สึนามิภูเก็ตที่ผ่านมา ทำให้เราเรียนรู้และต้องเตรียมสภาพคล่องไว้รองรับและมีเงินทุนที่เพียงพอรับแรงกระแทก หากอนาคตต้องเจอกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดอีก” นายอมรกล่าว
พร้อมกล่าวต่อว่าบริษัทได้รับการช่วยเหลือจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ซึ่งเปรียบเสมือนพันธมิตรทางธุรกิจ มาเป็นกองหนุนพาเข้าถึงแหล่งเงินทุน อัตราดอกเบี้ยพิเศษแล้ว อีกทั้ง คอยสอบถามและติดตามให้ความช่วยเหลือในช่วงที่เราต้องเผชิญปัญหา สนับสนุนธุรกิจให้มีความเข้มแข็ง ช่วยให้ธุรกิจเอสเอ็มอีเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง
การเดินหน้าธุรกิจหลังจากนี้ ก็พร้อมส่งไม้ต่อสู่ลูกสาว น.ส.รัตติกรณ์ อินทรเจริญ คณะกรรมการบริหารบริษัท เป็นรุ่นที่ 4 ที่จะช่วยออกแบบดีไซน์ผลิตภัณฑ์ ล่าสุดเตรียมพร้อมเปิดสินค้าเวอร์ชั่นใหม่ “Pearl To Jewelry” (P TO J) ที่ผู้บริโภคสามารถเลือกดีไซน์เครื่องประดับได้ด้วยตัวเองทั้งตัวเรือนและไข่มุก เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้า โดยจะเปิดจำหน่ายเร็วๆ นี้ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติม)
ด้านนายสัตวแพทย์ สิทธิศักดิ์ เหมืองสิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ภูเก็ต เป๋าฮื้อ ฟาร์ม จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจฟาร์มหอยเป๋าฮื้อ รวมถึงผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากหอยเป๋าฮื้อ กล่าวถึงภาพรวมธุรกิจ ว่า ผลิตภัณฑ์จากหอยเป๋าฮื้อของบริษัท เกิดจากการวิจัยและพัฒนา โดยทีมผู้เชี่ยวชาญร่วมกันทดลองจนสามารถเพาะเลี้ยง และขยายสายพันธุ์หอยเป๋าฮื้อโอกินาว่ารายแรกของประเทศไทยได้สำเร็จ พร้อมนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ อาทิ คอลลาเจนที่สกัดเย็นรูปแบบสารละลายและรูปแบบผง ผลิตเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ตลอดจนเครื่องสำอางเพื่อบำรุงผิว ด้วยเทคโนโลยีสกัดเย็นคงประสิทธิภาพการกระตุ้นและฟื้นฟู รวมถึงผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ด้วยการผลิตที่มีคุณภาพ มาตรฐาน ความปลอดภัย
ผลกระทบจากโควิด-19 ส่งผลต่อยอดขายของบริษัท ถือเป็นช่วงที่ธุรกิจกำลังยามลำบาก ธุรกิจได้ปรับตัวมุ่งทำตลาดเชิงรุก เน้นการทำตลาดออนไลน์มากยิ่งขึ้น นำสินค้าไปบริการได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน การสนับสนุนเงินทุนของ SME D Bank ผ่านโครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน และ Soft Loan ธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้มีเงินทุนหมุนเวียน สามารถบริหารธุรกิจได้ไปด้วยดี โดยปัจจุบันสินค้าของบริษัทจะจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์, ตัวแทนจาหน่ายอื่น ๆ ช่วยให้เข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ การเปิดประเทศให้กับนักท่องเที่ยวที่ได้รับการฉีควัคซีนนั้น เชื่อว่าภาพรวมเศรษฐกิจจะดีขึ้นอย่างแน่นอน แต่คาดเดาไม่ได้จะช้าหรือเร็ว อย่างน้อยความเชื่อมั่นต้องเกิดขึ้น ส่งผลต่อเนื่องถึงกำลังซื้อเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไทย ถือเป็นผลดีต่อสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพจะขยายตัวเพิ่มขึ้น สะท้อนจากที่ปัจจุบันคนส่วนใหญ่เริ่มหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพของตัวเองเพิ่มขึ้น (ดูรายละเอียดเพิ่มเติม)