ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > ชัยชนะของ “ผู้พิทักษ์แม่น้ำ” ในปี 2017 เอลซัลวาดอร์ผ่านกฎหมายห้ามทำเหมืองโลหะ

ชัยชนะของ “ผู้พิทักษ์แม่น้ำ” ในปี 2017 เอลซัลวาดอร์ผ่านกฎหมายห้ามทำเหมืองโลหะ

25 เมษายน 2021


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

หนังสือชื่อ The Water Defender (2021) ที่มาภาพ : amazon.com

ปี 2017 เอลซัลวาดอร์กลายเป็นประเทศแรกในโลก ที่ห้ามการทำเหมืองโลหะ การต่อสู้รณรงค์ของชาวบ้านธรรมดาและการต่อสู้คดีทางกฎหมาย กับบริษัทเหมืองทองจากแคนาดา จนในที่สุด รัฐสภาเอลซัลวาดอร์ผ่านกฎหมายห้ามการทำเหมืองแร่ทั้งหมด เรื่องราวการต่อสู้ดังกล่าวของประชาชนในเอลซัลวาดอร์ ถูกนำมาถ่ายทอดในหนังสือชื่อ The Water Defender (2021)

The Water Defenders นำเสนอเรื่องราวการต่อสู้ของประชาชนเอลซาวาดอร์ ที่ถูกเรียกว่า “ผู้พิทักษ์แม่น้ำ” กับบริษัทเหมืองทอง Pacific Rim Mining การต่อสู้ของพวกเขาประสบความสำเร็จ เพราะสามารถสร้างพันธมิตรอย่างกว้างขวาง เช่นเจ้าหน้าที่รัฐ นักการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยม และหัวหน้าบาทหลวงอนุรักษ์นิยม ที่ให้การสนับสนุน เพราะศึกษาทางด้านเคมี จึงรู้ผลเสียต่อแหล่งน้ำ เมื่อเหมืองทองใช้สารไซยาไนด์ในการขุดสกัดหาแร่ทองในพื้นที่ภูเขา

เริ่มต้นจากคนผิวขาวใส่สูท

หนังสือ The Water Defenders กล่าวว่า เรื่องราวการต่อสู้ของกลุ่มผู้พิทักษ์น้ำของเอลซัลวาดอร์ เริ่มต้นในต้นทศวรรษ 2000 บริษัทเหมือง Pacific Rim Mining เริ่มขุดสำรวจทองในเมือง San Isidro จังหวัด Cabanas ที่อยู่ห่างจากซันซัลวาดอร์ เมืองหลวงเอลซัลวาดอร์ไป 40 ไมล์ ในเวลานั้น ยังไม่มีอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในพื้นที่ดังกล่าว แต่เทศมนตรีเมืองนี้มีนโยบายการพัฒนา โดยส่งเสริมพื้นที่ของเมืองให้เป็นเขตฝังกลบขยะ

การทำเหมืองทองขึ้นกับวัฏจักรของราคาทอง แต่ที่ผ่านมา ราคาทองจะอยู่ในขาลงมากกว่าขาขึ้น บริษัทเหมืองทองในเอลซัลวาดอร์ จึงมักจะหยุดกิจการเป็นส่วนใหญ่ แต่ในปี 2002 ราคาทองที่ตกต่ำก็มาถึงจุดสิ้นสุด ส่วนหนึ่งมาจากความต้องการแร่โลหะของจีน และอีกส่วนมาจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ล้วนต้องอาศัยทองเป็นสื่อการชาร์ตไฟฟ้า การขยับตัวของราคาทองพุ่งสูงขึ้น ทำให้บริษัทเหมืองแร่ยักษ์ใหญ่ที่อยู่ในแคนาดา ออสเตรเลีย และแอฟริกาใต้ หันมาตรวจสอบเหมืองแร่ที่ปิดตัวไปแล้ว

นอกจากนี้ ในกลางทศวรรษ 1990 ประเทศยากจนอย่าง เอลซัลวาดอร์มาจนถึงฟิลิปปินส์ ถูกกดแรงกดดันจากประเทศตะวันตก และสถาบันระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารโลก ให้แก้ไขกฎหมายเหมืองแร่ เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศ

ที่มาภาพ : http://photos1.blogger.com/blogger/7157/3231/1600/El-Salvador—El-Dorado-2.jpg

Thomas Shrake ผู้บริหารของ Pacific Rim Mining และเป็นนักธรณีวิทยา จึงเดินทางมาเอลซาวาดอร์ แล้วต่อไปเมือง San Isidro จังหวัด Cabanas เพื่อสำรวจแร่ทองในพื้นที่ดังกล่าว ที่เดิมเคยเป็นพื้นที่ในสัมปทานการสำรวจของบริษัท El Dorado แต่บริษัทนี้ได้มารวมกิจการกับ Pacific Rim Mining

บริษัทยักษ์ใหญ่เหมืองทองจะรวมตัวกันเป็นกลุ่มเรียกว่า “สภาทองคำโลก” (World Gold Council) คำโฆษณาของกลุ่มทองคำโลกมักจะอธิบายว่า เหมืองทองเกิดขึ้นในพื้นที่ห่างไกล ที่มีโครงสร้างพื้นฐานน้อย บริษัทเหมืองทองต้องลงทุนมากด้านโรงงานผลิตไฟฟ้า ท่อสูบและฉีดน้ำ และถนน หลังจากยุติการทำเหมือง ก็จะทิ้งสิ่งเหล่านี้ไว้กับชุมชน จึงเป็นดอกผลสำคัญที่ให้กับประเทศกำลังพัฒนา

ในปี 2002 Thomas Shrake แจ้งกับ Pacific Rim Mining ว่า มีแร่ทองคำจำนวนมากกว่าที่คาดคิด ที่ฝังอยู่ใต้ไร่ข้าวโพดและทุ่งเลี้ยงสัตว์ของเมือง San Isidro พื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นเขตสัมปทานการสำรวจเดิมของบริษัท El Dorado ดังนั้น ในช่วงปี 2002-2008 Pacific Rim Mining จึงอาศัยใบอนุญาตการขุดสำรวจแร่ทองของ El Dorado โดยทำการขุดหลุมสำรวจทั้งหมด 670 หลุม เพื่อเจาะหาตัวอย่างแร่ทอง และส่งไปตรวจสอบที่สหรัฐฯในการเจาะหาแร่ทองคำ ทาง Pacific Rim Mining ค้นพบแหล่งสำรองทองคำคุณภาพสูงในเมือง San Isidro จังหวัด Cabanas

ในปี 2004 บริษัทลูกชื่อ Pacific Rim El Salvador จึงยื่นขอใบอนุญาตการทำเหมืองทอง แต่รัฐบาลเอลซัลวาดอร์ไม่อนุญาต เพราะ Pacific Rim ไม่ได้ทำตามกฎหมายเหมืองแร่ คือต้องยื่นรายงานการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และต้องได้รับคำยินยอมจากเจ้าของที่ดินในพื้นที่สัมปทาน

ปี 2005 เจ้าหน้าที่เอลซัลวาดอร์มีแนวคิดจะแก้กฎหมายเหมืองแร่ เพื่อให้การอนุญาตสัมปทานทำเหมืองแร่ ต้องการเอกสารน้อยลง แต่ในปี 2008 รัฐสภาปฏิเสธการแก้ไขกฎหมาย ในปี 2009 Pacific Rime Mining ยื่นเรื่องต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ กล่าวหาว่า การห้ามการทำเหมืองของเอลซัลวาดอร์ เป็นการละเมิดกฎหมายเหมืองแร่ โดยเรียกค่าเสียหาย 314 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ในที่สุด อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศปฏิเสธข้อเรียกร้องของ Pacific Rim Mining และยังให้บริษัทรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทางกฎหมายแก่เอลซัลวาดอร์ 8 ล้านดอลลาร์ จากทั้งหมด 13 ล้านดอลลาร์

ที่มาภาพ : https://www.amnesty.ca/blog/our-support-urgently-needed-threatened-water-defenders-central-america

จุดเริ่มต้นของ “ผู้พิทักษ์แม่น้ำ”

หนังสือ The Water Defenders กล่าวว่า เมื่อ Pacific Rim Mining เริ่มขุดสำรวจหาแร่ทองคำที่เมือง San Isidro กลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า “ผู้พิทักษ์แม่น้ำ” ของเมืองนี้ ที่มีผู้นำคือสองพี่น้อง Marcelo Rivera กับ Miguel Rivera ยังไม่สนใจเรื่องเหมืองแร่ แต่พวกเขาสนใจเรื่องผลกระทบต่อแหล่งน้ำ ที่จะมาจากนโยบายพัฒนาเมือง ที่จะให้ท้องถิ่นเป็นแหล่งฝังกลบขยะของเทศบาลกว่า 20 แห่งในจังหวัด Cabanas แหล่งฝังกลบขยะจะตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำของจังหวัด ที่ไหลไปรวมแม่น้ำใหญ่ของเอลซัลวาดอร์คือ Lempa River

หลังจากเข้าใจถึงผลกระทบของการฝังกลบขยะที่มีต่อแหล่งน้ำ กลุ่มผู้พิทักษ์แม่น้ำก็เคลื่อนไหวต่อต้านโครงการฝังกลบขยะ และเผชิญหน้ากับเทศมนตรีของเมืองชื่อ Jose Bautista สังกัดพรรคฝ่ายขวา National Republican Alliance หัวหน้าพรรคคืออดีตหัวหน้าหน่วยล่าสังหาร ในสมัยสงครามกลางเมืองของเอลซัลวาดอร์ ช่วงปี 1980-1990

ในที่สุด การรณรงค์ของกลุ่มพิทักษ์แม่น้ำก็สามารถหยุดยั้งโครงการฝังกลบขยะ สมาชิกกลุ่มพิทักษ์แม่น้ำคนหนึ่งบอกกับคนเขียนหนังสือ The Water Defenders ว่า “ช่วงที่เราต่อสู้เรื่องการฝังกลบขยะ เรายังไม่รู้อะไรเลยกับเหมืองแร่ เราได้พูดคุยกับเพื่อนคนหนึ่ง ในกระทรวงสิ่งแวดล้อม ที่บอกว่า ให้สนใจเรื่องเหมืองแร่มากกว่าการฝังกลบขยะ”

สองพี่น้องคือ Marcelo Rivera และ Miguel Rivera คือสมาชิกคนสำคัญที่ต่อต้านโครงการฝังกลบขยะ พวกเขาตั้งศูนย์วัฒนธรรมและห้องสมุดของเมือง San Isidro โดยไปขอรับบริจาคหนังสือจากคนในเมือง พวกเขาเป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่เห็นถึงภัยจากการขุดสำรวจแร่ทองของเหมือง เช่น แหล่งน้ำใต้ดินแห้งลง ในปี 2004 และ 2005 ทั้งสองคนเดินทางไปดูเหมืองแร่ที่ฮอนดูรัส จึงได้เห็นภาพที่ป่าไม้ถูกทำลาย แม่น้ำแห้งลง เกิดโรคผิวหนัง เนื่องจากเหมืองแร่ใช้สารไซยาไนด์ ทำให้สองคนมุ่งมั่นที่จะต่อสู้กับเหมืองทองในเอลซัลวาดอร์

การประท้วงเหมืองทองในเอลซัลวาดอร์ ที่มาภาพ : telesurendlish.net

บทเรียนจาก “ผู้พิทักษ์แม่น้ำ”

เรื่องราวการต่อสู้ของกลุ่มผู้พิทักษ์แม่น้ำในเอลซัลวาดอร์ ช่วยสะท้อนว่า ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญในโลก เช่น เขตป่าฝนเมืองร้อน หรือน้ำธรรมชาติที่ดื่มกินได้ ส่วนใหญ่ยังอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา

แต่เมื่อชาวบ้านคนธรรมดาทั่วไปขึ้นมาต่อสู้เพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ มักถูกรังแกจากบริษัทยักษ์ใหญ่ หรือจากกลไกรัฐ ที่มุ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ในช่วงการต่อสู้ปกป้องแหล่งน้ำ กลุ่มพิทักษ์แม่น้ำของเอลซัลวาดอร์ต้องเผชิญอุปสรรคมากมาย รวมทั้งผู้นำของพวกเขาคือ Marcelo Rivera ที่หายสาญสูญและถูกสังหารอย่างลี้ลับ แม้จะเผชิญอุปสรรคมากมาย กลุ่มคนที่พิทักษ์แม่น้ำก็ยืนหยัดรณรงค์ต่อสู้ด้วยกลยุทธ์ 3 อย่าง ที่ให้บทเรียนแก่การรณรงค์ในอนาคต คือ

    (1) ใช้เนื้อหาการรณรงค์ในแง่บวก เช่น “น้ำเพื่อชีวิต หรือน้ำเพื่อเหมืองทอง”
    (2) สร้างพันธมิตรกับกลุ่มการเมืองที่เคยเป็นฝ่ายตรงกันข้าม
    (3) สร้างการสนับสนุนจากนานาประเทศ
ประท้วงการทำเหมืองทองคำในเอลซัลวาดอร์ ที่มาภาพ : https://ips-dc.org/how-an-international-grassroots-campaign-beat-metal-mining-corporations/

เว็บไซต์ americanprospect.com เขียนถึงหนังสือ The Water Defenders โดยตั้งคำถามว่า ทำไมการต่อสู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อมของกลุ่มคนที่พิทักษ์แม่น้ำ หรือของชุมชนท้องถิ่น จึงเผชิญกับภัยคุกคามต่างๆนาๆ คำตอบส่วนหนึ่งคือ…

การพังทลายของหลักนิติธรรม (rule of law) ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ห่างไกล ที่ค้นพบทรัพยากรธรรมชาติ โครงการพัฒนามักจะได้รับแรงหนุนจากคอร์รัปชันทางการเมือง กลุ่มอาชญากรรม และอิทธิพลของบริษัทธุรกิจ

พันธมิตรจาก 3 ปัจจัยดังกล่าว ทำให้คนบางพวกใช้การกระทำที่นอกกฎหมายมาเล่นงานการต่อต้านของชุมชน ในบราซิล กลุ่มธุรกิจเหมืองแร่ น้ำตาล และปศุสัตว์ เข้ายึดครองพื้นที่ชุมชนดั่งเดิมในเขตป่าฝนเมืองร้อน รายงานปี 2020 ของ Greenpeace ก็ระบุว่า ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พื้นที่ป่าของอินโดนีเซีย ที่ขนาดเท่ากับเนเธอร์แลนด์ ถูกเผา มีแค่ 4 บริษัทที่ถูกตัดสินลงโทษจากอาชญากรรมทำลายป่าฝน

ดังนั้น การจะป้องกันไม่ให้เกิดการพ้นผิดจากอาชญากรรมด้านสิ่งแวดล้อม คือการกอบกู้หลักนิติธรรมขึ้นมา ให้กับพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติ

สำหรับประเทศตะวันตก หมายถึงการใช้มาตรการต่อต้านคอร์รัปชันกับบริษัทตัวเองที่ทำธุรกิจในต่างประเทศ สำหรับผู้บริโภค คือการตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานสินค้าที่เราใช้ และตรวจสอบร่องรอยทางสิ่งแวดล้อมของบริษัทผู้ผลิตสินค้า

สุดท้าย ชัยชนะของผู้พิทักษ์แม่น้ำ เกิดขึ้นเมื่อเอลซัลวาดอร์มีการเมืองแบบประชาธิปไตย กลุ่มรณรงค์ต่อต้านเหมืองทองไม่ยอมพ่ายแพ แม้ผู้นำของเขาจะถูกสังหาร พวกเขาใช้เวลานานนับสิบปีในการรณรงค์ต่อต้านการทำเหมืองแร่

จนในที่สุดรัฐสภาผ่านกฎหมายโดยเอกฉันท์ ห้ามการทำเหมืองแร่ทั้งหมด เอลซัลวาดอร์กลายเป็นตัวอย่างที่ว่า อุตสาหกรรมเหมืองแร่ควรจะเป็นจักรกลการพัฒนาเศรษฐกิจหรือไม่

เอกสารประกอบ
A New Environmentalist Playbook, Sasha Chavkin, March 23, 2021, prospect.org
The Water Defenders, Robin Broad and John Cavanagh, Beacon Press, 2021.