ThaiPublica > เกาะกระแส > นักวิชาการแนะปลดล็อคข้อจำกัด ปรับแรงจูงใจ ให้เลิกเผาอ้อย

นักวิชาการแนะปลดล็อคข้อจำกัด ปรับแรงจูงใจ ให้เลิกเผาอ้อย

26 กุมภาพันธ์ 2021


ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย ออกรายงาน “วิเคราะห์ต้นทุนและผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์เพื่อศึกษาเหตุผลและแรงจูงใจที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจเลือกและยอมรับการเผาอ้อยของผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย” โดยมองว่า

อ้อยไฟไหม้ เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) เกินค่ามาตรฐาน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพด้านระบบทางเดินหายใจ อาทิ โรคภูมิแพ้ ปอดอักเสบ และมะเร็งปอด ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ตลอดจนกระทบต่อเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ที่ผ่านมา หลายฝ่ายพยายามหาวิธีลดการเผาอ้อยเช่น การปรับชาวไร่ที่ส่งอ้อยไฟไหม้ ตันละ 30 บาท เพื่อนำเงินไปสนับสนุนชาวไร่ที่ตัดอ้อยสด การอุดหนุนสินเชื่อรถตัดอ้อยอัตราดอกเบี้ยพิเศษแก่กลุ่มชาวไร่ หรือการบังคับใช้กฎหมายเพื่อยับยั้งการเผาอ้อย แต่สถานการณ์เผาอ้อยไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ อ้อยไฟไหม้ยังมีสัดส่วนมากกว่า 50% ของอ้อยเข้าหีบทั้งหมด ปัญหายังคงอยู่เพราะอะไร

งานชิ้นนี้ใช้การวิเคราะห์ต้นทุนและผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์เพื่อศึกษาเหตุผลและแรงจูงใจที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจเลือกและยอมรับการเผาอ้อยของผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อชี้ประเด็นที่ต้องบริหารจัดการ พร้อมทั้งเสนอชุดมาตรการเพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

ผลการศึกษาพบว่าโครงสร้างแรงจูงใจและข้อจำกัดของผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทำให้เกิดการเผาอ้อย โดย “ชาวไร่” เลือกเผาอ้อยก่อนเก็บเกี่ยวเพราะมีข้อจำกัดในการใช้รถตัดอ้อย และหาแรงงานยาก และแม้ตัดอ้อยสดก็ยังต้องเผาเพื่อกำจัดเศษวัสดุหลังเก็บเกี่ยวเพราะไม่มีวิธีอื่นที่ดีกว่า “แรงงาน” เลือกตัดอ้อยไฟไหม้เพราะได้เงินมากกว่าและเหนื่อยน้อยกว่า “โรงงานน้ำตาล” ยังรับซื้ออ้อยไฟไหม้เพราะกลัวเสียฐานลูกไร่ให้คู่แข่ง แม้อ้อยไฟไหม้จะมีต้นทุนแฝงอย่างมีนัยสำคัญ อาทิ ความหวานลดลง และ “สังคม” ยังต้องเจอปัญหาฝุ่นละอองตามฤดูกาลทุกปี ดูเหมือนทุกคนมีข้อจำกัด แล้วเราจะแก้ไขอย่างไร

แนวทางแก้ปัญหาควรทำเป็นชุดมาตรการที่ทั้งปลดล็อคข้อจำกัดและปรับโครงสร้างแรงจูงใจของผู้เกี่ยวข้องแต่ละรายให้เลิกเผาอ้อยไปพร้อมกัน โดยประเด็นปัญหาและมาตรการแก้ไขมีดังนี้

(1) ชาวไร่ยังต้องใช้แรงงานตัดอ้อยไฟไหม้ แม้การใช้รถตัดอ้อยจะมีต้นทุนต่ำกว่า เพราะสภาพแปลงไม่เหมาะสม ดังนั้น ต้องปลดล็อคข้อจำกัดในการใช้และเข้าถึงบริการรถตัดอ้อย ด้วยแนวทางดังนี้

    1) แก้ข้อจำกัดของแปลงเพาะปลูกด้วยการสร้างกลไกและแรงจูงใจให้เกิดการรวมแปลง ปรับสภาพแปลง และปลูกอ้อยโดยเว้นระยะที่เหมาะสม
    2) เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการอ้อยเข้าหีบเพื่อลดค่าบริการรถตัดอ้อยและเพิ่มการใช้งานด้วยการจัดทำ platform บริหารจัดการอ้อยเข้าหีบโดยเชื่อมโยงคิวหีบอ้อย บริการรถตัดและขนส่ง
    3) เพิ่มปริมาณรถตัดอ้อยให้เพียงพอกับความต้องการด้วยการสนับสนุนสินเชื่อรถตัดอ้อยให้แก่โรงงานเพื่อให้โรงงานบริการตัดอ้อยสดแก่ลูกไร่
    4) เสริมสภาพคล่องให้แก่ชาวไร่ในฤดูกาลหีบอ้อยเพื่อให้สามารถรอคิวรถตัดอ้อยได้

(2) แม้ชาวไร่จะใช้บริการรถตัดอ้อย แต่สุดท้ายก็ต้องเผาใบอ้อยที่กองทิ้งไว้อยู่ดีเพราะไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ดังนั้น ต้องหาวิธีสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ใบอ้อยที่คุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ แนวทางหนึ่งซึ่งเป็นไปได้คือนำไปผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้เกิดตลาดรับซื้อใบอ้อย ชาวไร่จะได้นำใบอ้อยมาขายแทนที่จะเผาทิ้ง

(3) สำหรับพื้นที่ที่รถตัดอ้อยเข้าไม่ถึง หากไม่ดำเนินการใดๆ ชาวไร่ก็จะเผาอ้อยเพื่อลดต้นทุนการตัด ดังนั้น เพื่อลดแรงจูงใจในการเผาอ้อย ต้องเพิ่มค่าปรับอ้อยไฟไหม้เพื่อให้มีต้นทุนเท่ากับต้นทุนการตัดอ้อยสดโดยใช้แรงงาน ทั้งนี้ ควรให้ชาวไร่และโรงงานร่วมจ่ายค่าปรับในอัตรา 70 และ 30 (ตามส่วนแบ่งรายได้จากการขายน้ำตาล) เพื่อให้โรงงานมีส่วนร่วมแก้ปัญหา นอกจากนั้น การบังคับใช้ระเบียบในการกำหนดสัดส่วนอ้อยไฟไหม้อย่างจริงจังก็เป็นอีกแนวทางที่ช่วยลดแรงจูงใจในการเผาอ้อย

ทีมงานได้จัดทำชุด Infographic ตามแนบ โดยหวังว่าจะช่วยให้สาธารณชนเข้าใจและตระหนักถึงประเด็นที่ต้องบริหารจัดการเพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน และนำไปสู่การหารือของผู้เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้ข้อสรุปชุดมาตรการที่ยอมรับของทุกฝ่าย และสามารถใช้แนวทางดังกล่าวเป็นต้นแบบแก้ปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองที่เกิดจากการผลิตสินค้าเกษตรอื่น เช่น ข้าว และข้าวโพด เป็นต้น

รายงานโดย ภัทรียา นวลใย, เพชรลักษณ์ บุญญาคุณากร, สุเมธ พฤกษ์ฤดี, คมสันติ์ ศรีคงเพ็ชร และ สมบูรณ์ หวังวณิชพันธุ์ ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย