เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2563 ผศ.ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ครั้งที่ 3/2563 ณ ห้องประชุมตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล โดยมีรายละเอียดดังนี้
สถานการณ์ข้าวโลก พบว่าผลผลิตข้าวโลก คาดว่าจะมี 502.09 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.58 เนื่องจากผลผลิตข้าวของประเทศผู้ผลิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สต็อกข้าวโลก ปลายปี 63/64 คาดว่าจะอยู่ที่ 185.35 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.26 โดยจีนมีสต็อกข้าว 117.50 ล้านตัน รองลงมาคืออินเดีย 38 ล้านตัน ไทย 4.19 ล้านตัน
ขณะที่การส่งออกข้าวไทยเทียบกับประเทศผู้ส่งออกสำคัญ วันที่ 1 มกราคม – 8 กรกฎาคม 2563 อินเดียส่งออกอันดับ 1 ของโลก 4.65 ล้านตัน รองลงมาได้แก่ เวียดนาม 4.17 ล้านตัน ไทย 3.15 ล้านตัน ปากีสถาน 2.07 ล้านตัน สหรัฐฯ 1.61 ล้านตัน การค้าข้าว ในตลาดโลก ไทยส่งออกลดลงเนื่องจากข้าวไทยมีราคาสูง
ด้านราคาข้าวไทยเทียบกับประเทศผู้ส่งออกสำคัญในเดือนกรกฎาคม 2563 ราคาข้าวปรับตัวลดลงเนื่องจากอินเดียและเวียดนามกลับมาส่งออกข้าวได้ตามปกติความต้องการซื้อข้าวไทยจึงมีแนวโน้มลดลงเนื่องจากราคาข้าวไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่ง ขณะที่แนวโน้มสถานการณ์การส่งออกข้าวไทยเมื่อเดือนมกราคม 2563 สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย คาดการณ์เป้าหมายการส่งออกข้าวปี 63 ไว้ที่ 7.5 ล้านตัน
โดยมีปัจจัยสำคัญดังนี้
-
1) ปัจจัยสนับสนุนการส่งออกข้าวไทย ได้แก่ ไทยได้รับจัดสรรโควตาประมูลนำเข้าข้าวจากเกาหลีใต้ ขณะที่ญี่ปุ่นเปิดประมูลนำเข้าข้าวอย่างต่อเนื่องจึงเป็นโอกาสการส่งออกข้าวไทย มาเลเซียและอินโดนีเซียอาจนำเข้าข้าวในช่วงครึ่งปีหลังเพิ่มขึ้น
2) ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคในการส่งออกข้าวไทย ได้แก่ ข้าวไทยราคาสูงกว่าคู่แข่ง
ที่ประชุมมีมติเห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1 โดยกำหนดราคาเป้าหมายและปริมาณต่อครัวเรือนเท่ากับปีที่ผ่านมา ประกอบด้วยข้าว 5 ชนิดดังนี้
1.ข้าวหอมมะลิ 15,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน
2.ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ 14,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน
3.ข้าวเจ้า 10,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน
4.ข้าวหอมปทุมธานี 11,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน
5.ข้าวเหนียว 12,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน
ทั้งนี้ มอบหมายธนาคารเพื่อนการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และกระทรวงพาณิชย์ จัดทำรายละเอียดโครงการประกันรายได้ มาตรการคู่ขนาน และงบประมาณตาม พรบ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และให้กระทรวงพาณิชย์ในฐานะฝ่ายเลขานุการ นบข. นำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป