ThaiPublica > Native Ad > มูลนิธิ IMET ชู IMET MAX สร้าง “อุทยานผู้นำ” บ่มเพาะนักบริหารชั้นนำรุ่นใหม่ “เก่ง” และ “ดี”

มูลนิธิ IMET ชู IMET MAX สร้าง “อุทยานผู้นำ” บ่มเพาะนักบริหารชั้นนำรุ่นใหม่ “เก่ง” และ “ดี”

3 กรกฎาคม 2020


“สร้างคน สร้างชาติ” จะ “สร้างชาติ ต้องสร้างคน” เป็นคำกล่าวที่ใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย เพราะการพัฒนาคนให้เป็นนักบริหารชั้นนำ ถือเป็นการสร้างเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ ทรัพยากรมนุษย์ของชาติที่ “เก่ง” จะนำพาชาติไปสู่ความเจริญก้าวหน้า

การบ่มเพาะนักบริหารให้มีความสามารถในการบริหารจัดการเพื่อพัฒนาประเทศไม่ได้มีสูตรตายตัว ต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจและสังคมที่พัฒนา รวมทั้งสอดรับกับสถานการณ์และภาวะแวดล้อมของแต่ละยุค และที่สำคัญ นอกจากสร้างนักบริหารเพื่อให้ได้ผู้นำที่ “เก่ง” แล้ว ต้องสร้างให้เป็นผู้นำที่ “ดี” มีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย เพื่อสังคมที่เต็มไปด้วยการแบ่งปันและมีคุณค่า

IMET เสริมศักยภาพบริหารลบจุดอ่อนประเทศ

การสร้างและพัฒนานักบริหารชั้นนำของประเทศไทยเริ่มต้นจากการขับเคลื่อนของมูลนิธิเพื่อสถาบันการศึกษาวิชาการจัดการแห่งประเทศไทย (Institute for Management Education for Thailand Foundation) หรือ IMET บนความคาดหวังว่าจะมีผลให้ส่วนรวมสามารถก้าวผ่านยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

โดยคุณสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิ IMET เปิดเผยว่า IMET ดำเนินการยกระดับศักยภาพ ความสามารถในการบริหารจัดการ และการบริหารความเปลี่ยนแปลงของผู้นำทุกระดับทั้งในระดับสูง กลาง และล่าง ในส่วนกลางและท้องถิ่น ควบคู่กับการส่งเสริมให้ผู้นำเหล่านั้นมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศและรับผิดชอบต่อสังคม ผ่านโครงการเสริมสร้างความรู้กว่า 400 โครงการ และพัฒนาบุคคลกรคุณภาพให้กับประเทศไปแล้วกว่า 18,000 คนใน 76 จังหวัดทั่วประเทศตลอด 37 ปีที่ผ่านมานับจากการก่อตั้ง

คุณสนั่นเล่าว่า มูลนิธิ IMET ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2526 บนความร่วมมือของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา โดยมีเงินทุนเริ่มแรกจากองค์การให้ความช่วยเหลือระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (United States Agency for International Development) หรือ USAID จำนวน 1 ล้านดอลลาร์ และอีกส่วนหนึ่งมาจากการระดมเงินเพื่อสมทบเข้ากองทุนจากฝ่ายไทย

มูลนิธิ IMET มีผู้ร่วมก่อตั้ง คือ ฯพณฯ ดร. เชาวน์ ณ ศีลวันต์ และมีคุณพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา เป็นประธานมูลนิธิฯ ในช่วงปี 2536-2547 ปัจจุบันคุณชุมพล พรประภา เป็นประธานมูลนิธิฯ มาตั้งแต่ปี 2554 และได้ร่วมกันพัฒนามูลนิธิฯ ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร มีเจตนารมณ์มุ่งส่งเสริมความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการบุคลากรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงบทบาทของความเป็นผู้นําที่ดีในการพัฒนาสังคมและประเทศ

คุณพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา, คุณชุมพล พรประภา (แถวแรกที่ 3 และ 4 จากซ้าย) กับคณะกรรมการและเมนทอร์

“มูลนิธิฯ ก่อตั้งเมื่อ 37 ปีที่แล้ว มีเจตนารมณ์ให้ความรู้เพิ่มการพัฒนาด้านการบริหารการจัดการ เพราะประเทศไทยมีจุดอ่อนส่วนหนึ่งคือ การบริหารจัดการ โครงการนี้จึงมุ่งทำให้คนไทยรู้จักการบริหารจัดการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สิ่งสำคัญ คือ นอกจากต้องการให้ผู้นำเหล่านี้มีความสามารถในการบริหารแล้ว ต้องเป็นคนดี สามารถที่จะช่วยพัฒนาสังคมไทยของเรา ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับประเทศ”

นอกจากนี้ยังมีส่วนร่วมที่สำคัญจากมหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษา ทั้งสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (National Institute of Development Administration — NIDA) หรือนิด้า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยนำคณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเหล่านี้มาช่วยพัฒนาผู้นำในทุกภูมิภาคของประเทศ และขณะเดียวกันก็ได้นำคณะอาจารย์มาเข้ารับการพัฒนาศักยภาพผู้นำด้วย

การเพิ่มศักยภาพให้กับนักบริหารและผู้นำในช่วง 12 ปีแรก จึงอยู่ในรูปแบบโครงการร่วมกับสถาบันการศึกษา อาทิ โครงการจุฬา-IMET โครงการธรรมศาสตร์-IMET โครงการนิด้า-IMET โครงการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่-IMET

ที่ผ่านมา มูลนิธิฯ ร่วมกับเครือข่ายความร่วมมือที่เป็นสถาบันอุดมศึกษา องค์กรภาครัฐ และเอกชนอีก 80 แห่ง มีโครงการสำคัญหลากหลายด้าน เช่น การสร้างผู้นำส่วนภูมิภาคครอบคลุมทุกระดับ การสานต่องานภาครัฐในด้านการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจ วางแผนยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด ตลอดจนการสนับสนุนธุรกิจไทยไปลงทุนใน CLMV

มูลนิธิ IMET เน้นเรื่องการจัดการมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยความร่วมมือกับองค์กรส่วนท้องถิ่นในภูมิภาค รวมทั้งให้คำปรึกษาแก่ภาคเอกชน ด้านพัฒนาวิจัยเกี่ยวกับธุรกิจ ตลอดจนยังมีบทบาทในการยกระดับธุรกิจครอบครัว ทั้งการสร้างทายาทสืบทอดกิจการ การจัดการธุรกิจครอบครัว

“การดำเนินการของมูลนิธิ IMET ถือว่าประสบความสำเร็จ จะเห็นได้จากการที่ IMET สามารถพัฒนาคนทุกภาคส่วน ทุกระดับในภูมิภาค ให้เป็นผู้นำขึ้นมา เราสามารถดำเนินการโครงการเสริมสร้างการพัฒนาความสามารถผ่านหอการค้าต่างๆ ซึ่งยังทำให้เกิดการทำงานระหว่างเอกชนกับภาครัฐ มูลนิธิ IMET เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสะพานให้เอกชนกับรัฐคุยกันในเชิงสร้างสรรค์”

ดันโครงการ IMET MAX สร้าง “อุทยานผู้นำ”

โลกปัจจุบันเปลี่ยนแปลงเร็วมาก โดยเฉพาะในยุคที่โควิด-19 แพร่ระบาดทั่วโลก ก็เป็นตัวเร่งการพัฒนาในหลายด้าน ทั้งเศรษฐกิจดิจิทัลและด้านอื่นๆ ดังนั้นก้าวต่อไปของ IMET ต้องส่งมอบให้คนรุ่นใหม่มากขึ้น

มูลนิธิ IMET จึงกำหนดวิสัยทัศน์สร้าง “อุทยานผู้นำ” ผ่านโครงการ “IMET MAX” รองรับความจำเป็นของประเทศในการพัฒนานักบริหารชั้นนำรุ่นใหม่ที่ทั้ง “เก่ง”และ”ดี” หนุนการพัฒนาและสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประเทศ พร้อมร่วมส่งเสริมจิตสำนึกการสร้างคุณค่าเพื่อตอบแทนสังคม

มูลนิธิ IMET เล็งเห็นว่าการพัฒนาประเทศให้สำเร็จอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องสร้างผู้นำที่ทั้งดีและเก่ง จึงมีนโยบายในการมุ่งสร้าง และพัฒนาผู้นำระดับสูงรุ่นใหม่ ให้มีความพร้อมทั้งในด้านความสามารถและจิตสำนึกเพื่อเป็นรากฐานที่เข้มแข็งของสังคม โดยมูลนิธิ IMET ได้ริเริ่มโครงการ “IMET MAX” อย่างต่อเนื่องมาแล้ว 2 ปี

คุณธนพล ศิริธนชัย ประธานโครงการ IMET MAX (Mentorship Academy for Excellent Leaders) กล่าวว่า มูลนิธิฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างผู้นำมาตลอด 37 ปีผ่านโครงการต่างๆ ในช่วงนี้ได้มีการสานต่อเพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ของมูลนิธิฯ ในการที่จะสร้างผู้นำที่ทั้งเก่งและเป็นคนดี โครงการ IMET MAX จึงเกิดขึ้นและเป็นโครงการที่มีความแตกต่างจากโครงการอื่นๆ

“เราเชื่อว่าการเรียนรู้ไม่ได้เกิดจากห้องเรียน วันนี้มีโครงการสำหรับผู้นำมากมาย รูปแบบการเรียนการสอน มีทั้งข้อมูล วิชาการ มีการเรียน แต่ IMET MAX มีการเรียนการสอนการถ่ายทอดที่แตกต่างกัน การพัฒนาผู้นำมีวิธีการหลากหลายและมูลนิธิฯ เองมีความเชื่อว่า การพัฒนาผู้นำสิ่งที่สำคัญสุด คือ กระบวนการ ที่ต้องพัฒนาและฝึกฝนสะท้อนความคิดหรือช่วยในการชวนคิด เพราะฉะนั้นกระบวนการของ IMET ในการสร้างผู้นำ จึงเป็นการสร้างอุทยานขึ้นมา โดยใช้กระบวนการเมนเทอริง (mentoring process)”

กระบวนการเมนเทอริงประกอบด้วยการให้ข้อคิดและชี้แนะแนวทางทั้งในด้านการทำงานและการใช้ชีวิตอย่างครบถ้วนรอบด้าน พร้อมเสริมสร้างจิตสำนึกในคุณค่าเพื่อสังคม ตลอดจนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากผู้บริหารชั้นแนวหน้าของประเทศที่ได้รับการยอมรับนับถือของสังคมอย่างสูงจำนวน 12 ท่าน ที่ตอบรับคำเชิญจาก IMET MAX มาเป็นเมนเทอร์ (mentor)

“เมนเทอร์เป็นผู้มีประสบการณ์ในการทำงาน และประสบความสำเร็จในการสร้างธุรกิจ ขณะเดียวกันมีความเอื้อเฟื้อ มีจิตสาธารณะในการที่จะทำงานเพื่อสังคม เห็นประโยชน์ของการพัฒนาผู้นำรุ่นใหม่ เมนเทอร์ทุกท่านที่เราเชิญเข้าร่วมโครงการจึงตอบรับที่จะร่วมกับโครงการ”

สำหรับผู้ทรงคุณวุฒิในพันธกิจสร้าง “อุทยานผู้นำ” ให้กับประเทศ เช่น 1) คุณบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) 2) คุณสมประสงค์ บุญยะชัย รองประธานกรรมการ บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) 3) ศ. (พิเศษ) กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการบริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด 4) คุณประภาส ชลศรานนท์ รองประธาน บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) 5) คุณขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เป็นต้น

คุณขัตติยา อินทรวิชัย (ที่ 5 จากขวา) สมัยดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เข้าร่วมโครงการ IMET MAX ในฐานะเมนเทอร์รุ่น 1 และ 2

ทั้งนี้ เมนเทอร์ทุกท่านที่เข้าร่วมโครงการต่างเป็นอาสาสมัคร และเสียสละพร้อมทุ่มเททำหน้าที่โดยไม่มีค่าตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น เป็นตัวอย่างของบุคลากรคุณภาพของชาติในการทำงานเพื่อสังคมอย่างแท้จริง โดยมูลนิธิ IMET เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการดำเนินโครงการทั้งสิ้น และผู้เข้าร่วมโครงการทุกท่านไม่ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการเข้าร่วมโครงการ IMET MAX เพียงมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ

ทางด้านเมนที (mentee) แต่ละรุ่นมีจำนวนราว 36 คน ซึ่งต้องผ่านกระบวนการคัดเลือก และการเชิญ โดยมีหลักสำคัญคือ เป็นผู้นำในองค์กร ไม่ว่าจะภาครัฐหรือเอกชน และที่สำคัญต้องสามารถสร้างพลังความต่อเนื่องได้ รวมทั้งนอกจากเป็นคนเก่งของสังคมขององค์กรแล้ว ต้องเป็นคนดี ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สองที่สำคัญ เพื่อที่จะกระตุ้นและเสริมคุณค่าของเมนที

พัฒนาคนจากกระบวนการ “ช่วยคิด ชวนคิด”

โครงการ IMET MAX เป็นการพัฒนาผู้นำในรูปแบบที่เมนเทอร์จับคู่เมนทีในลักษณะใกล้ชิดในสัดส่วน 1 เมนเทอร์ ดูแล 3 เมนที เพื่อให้ได้ใช้เวลาตลอดของโครงการกว่า 8 เดือน ในการพูดคุยและแลกเปลี่ยนมุมมองกัน ในสิ่งที่เมนเทอร์ใช้จัดการกับปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ซึ่งเชื่อว่าประสบการณ์ของเมนเทอร์จะกระตุ้นให้เมนทีได้คิด

นอกจากนี้ IMET MAX ไม่มีคลาสรูม แต่เริ่มกระบวนการเมนเทอร์จากการปฐมนิเทศ แต่ละเซสชันนั้นเมนเทอร์กับเมนทีนัดหมายกันเอง ตามสถานที่ไหนก็ได้ เพื่อพูดคุยและแลกเปลี่ยนประเด็นที่อยู่ในความสนใจ

คณะกรรมการ และ Mentor เจอ เหล่า Mentee

กระบวนการเมนเทอริงจะมุ่งเน้นในเรื่องสติปัญญาที่สมบูรณ์พร้อม (wisdom for life and social values) ซึ่งเชื่อว่าเป็นการปลูกฝังแนวคิดในการทำเพื่อสังคมให้กับเมนทีได้ตระหนัก คิดถึง และเอื้อเฟื้อต่อสังคม เป็นการ pay it forward เมื่อเขาเหล่านั้นได้รับก็จะส่งต่อสิ่งดีๆ เหล่านี้ให้กับสังคม ซึ่งจะเป็นการปลูกฝังให้ผู้นำใหม่ๆ ที่เป็นทั้ง “คนดี” และ “คนเก่ง” เพื่อสร้างอุทยานผู้นำรุ่นใหม่ รับมือยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ต้องก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว และรับผิดชอบต่อสังคม

“เราเชื่อว่ารูปแบบการเรียนรู้ไม่ได้เกิดจากการอ่านหนังสือหรือการเล่าเรียนเพียงอย่างเดียว แต่สิ่งที่สำคัญเกิดจากการที่เราสามารถสะท้อนมุมมอง แนวคิด รวมทั้งการเรียนรู้จากประสบการณ์จากเมนเทอร์ ผู้นำองค์กรผู้มากประสบการณ์ได้ เพราะเมนเทอร์ไม่ได้พูดถึงการพัฒนาความเป็นผู้นำหรือเสริมสร้างประสิทธิภาพ แต่เป็นกระบวนการ สะท้อนแนวคิด wisdom for life and social value ซึ่งเป็นตัวที่บอกว่าเราจะสามารถสร้างเมล็ดพันธุ์ผู้นำที่นอกจากจะมีความเก่งแล้วยังเป็นผู้ที่ตระหนักและสามารถช่วยเหลือสังคมและประเทศชาติต่อไป”

กระบวนการการสร้างผู้นำของมูลนิธิ IMET ได้ปรับเปลี่ยนไป โดยคุณธนพลกล่าวว่า เนื่องจากเทคโนโลยีกับความรู้เปลี่ยนไป แต่หลักการของมูลนิธิฯ ยังเหมือนเดิม คือ การพัฒนา ในยุคแรกๆ ยังไม่มีการเรียนการสอนที่เป็นมาตรฐาน ยังไม่มีระบบอินเทอร์เน็ต คนรุ่นเก่าจึงหา ความรู้ผ่านความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา แต่ในยุคนี้มีอินเทอร์เน็ต มีเครื่องมือครบถ้วน ผู้นำยุคนี้เป็นลูกหลานคนรุ่นเก่า ความเก่งความรู้มีอยู่แล้ว

เหล่าเมนทีคุณภาพ

“เมนเทอร์จะช่วยคิดและชวนคิด ซึ่งไม่ได้มีคำตอบ แต่ชวนให้คิดว่าอะไรเป็นสาเหตุ มีปัจจัยอะไร สถานการณ์เป็นอย่างไร แต่ไม่มีคำตอบเพราะหลายครั้งเราลืมคิด จึงชวนคิดกลับไปมองว่าเกิดอะไรขึ้น ช่วยคิดมาเติมเต็ม เราอาจจะมีคำแนะนำ อาจจะไม่ใช่โซลูชันสำหรับทุกคำถาม แต่ช่วยหาคำตอบ มีความต่างกัน ชวนคิด ทำให้รู้สึกย้อนกลับไปคิด ช่วยคิด ร่วมกันหาคำตอบให้ปรับเข้ากับสถานการณ์ และการช่วยคิด ชวนคิด เมนเทอร์ก็ได้ประโยชน์”

คุณธนพลกล่าวว่า สิ่งที่จะถ่ายทอดผ่านเมนเทอร์ นอกจากจะช่วยคิดและฉุกคิด ช่วยคิดในการแชร์ประสบการณ์จากเมนเทอร์แล้ว ยังนำแนวคิดมาประยุกต์ต่อยอดได้ อีกทั้งเมนทีสามารถพูดและปรึกษากับเมนเทอร์ได้ ทั้งเรื่องงาน เรื่องส่วนตัว สังคม ความสัมพันธ์เมนเทอร์กับเมนทีจึงเป็นแบบตลอดชีพ แม้จบโครงการแล้ว เมนทีกลับไปหาเมนเทอร์ได้ตลอดเวลา นอกเหนือจากการร่วมโครงการตลอดระยะเวลา 8 เดือน อีกทั้งยังได้แลกเปลี่ยนกับคนต่างภาคธุรกิจ

ผู้นำรุ่นใหม่ต้องทั้ง “เก่ง” และ “ดี”

คุณสนั่นกล่าวว่า ประเทศไทยมีข้อได้เปรียบกว่าประเทศอื่นมากมาย ในอดีต คนของเราอาจจะไม่ใช่พลเมืองโลก global citizen แต่ผ่านมาสองทศวรรษ จำเป็นที่เราต้องสร้างคนของเราให้เป็น global citizen ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากระบบเศรษฐกิจปรับเปลี่ยนจากภาคเกษตรเป็นการท่องเที่ยว การส่งออกมากขึ้น

คุณสนั่นกล่าวว่า คนรุ่นใหม่มีความสามารถด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ จึงเป็นข้อได้เปรียบมากที่สุด รวมทั้งเป็นผู้ที่มีแนวคิดหรือ mindset ค่อนข้างที่จะเปิดกว้างมากในการรับรู้สิ่งใหม่และสิ่งดี เพียงแค่ทำให้เขามีความเชื่อว่า คนรุ่นใหม่ต้องไม่เห็นแก่ตัว ทำอะไรได้ดีก็ควรคืนคู่สังคม เพื่อสังคมที่ดี ซึ่งก็จะสะท้อนไปยังตัวเขาเองและสังคมว่า คนที่ดี มีครอบครัวที่ดี สังคมและประเทศชาติที่ดี และแข่งกับชาวโลกได้

“ผู้นำรุ่นใหม่ที่อยากจะเห็นคือ เป็นผู้นำที่ดี 4 ด้าน พูดดี คิดดี ทำดี และดูดี มีภาพลักษณ์ที่ดูดี”

คุณธนพลกล่าวว่า กระบวนการเมนเทอริงเป็นการชวนคิดของเมนเทอร์ ต่อการที่จะเป็นคนที่พูดดี คิดดี ทำดี ในความคิดของเขา มีมุมมองอื่นหรือสิ่งที่คนอื่นสะท้อน กระบวนการทั้งหมดเป็นการสะท้อนความคิดให้ผู้นำได้ฉุกคิด ผู้นำรุ่นใหม่ในสมัยที่มีเทคโนโลยี มีข้อมูล มีการเปลี่ยนแปลงมากมาย บางครั้งผู้นำไม่ได้หยุดคิด ว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นประโยชน์และสิ่งที่ต้องการจริงหรือไม่ เพราะฉะนั้นการชวนคิดของเมนเทอร์ เป็นการกล่อมเกลาให้การเป็นคนเก่งคนดีของเขาให้สมบูรณ์ขึ้นและพัฒนาต่อไป

“การสร้างอุทยานผู้นำเพาะเมล็ดพันธุ์ที่ดี ต้องมีการรดน้ำพรวนดิน ต้องมีการใส่ปุ๋ยที่ดี มีการสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อให้ต้นไม้แต่ละต้นเติบใหญ่มีความแข็งแกร่ง มีแกนที่ดีมีเปลือกที่ดีไม่หักโค่นในภาวะที่มีวิกฤติ และเชื่อว่าโครงการ IMET MAX จะเป็นโครงการที่จะเห็นและมองเข้ามาด้วยความชื่นชมและเป็นแรงกระตุ้นให้สังคม เป็นการส่งมอบสิ่งดีๆ”

ผลอีกด้านที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด คือ เป็นการสร้างเครือข่ายคนดีคนเก่ง มาอยู่ด้วยกันเป็นเครือข่ายที่สำคัญขึ้นมา มีความเชื่อมโยงในวงกว้าง ไม่เฉพาะผู้ที่เข้าโครงการ

เปิดรับคนเปิดใจรุ่น 3

คุณธนพลกล่าวว่า โครงการ IMET MAX ประสบผลสำเร็จอย่างต่อเนื่องมาแล้ว 2 ปี และภายในปีนี้จะเดินหน้าโครงการเป็นปีที่ 3 ต่อไป โดยในปีนี้ โครงการ IMET MAX กำหนดคุณสมบัติที่สำคัญของเมนทีไว้ 3 ประการ คือ เป็นนักบริหารที่มีศักยภาพระดับสูงหรือมีความมุ่งมั่นในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมหรือประเทศชาติ เป็นผู้ที่ไม่มีประวัติด่างพร้อย และเป็นผู้ที่มีความต้องการและเชื่อมั่นในการพัฒนาตนเองผ่านกระบวนการเมนเทอริง

คุณธนพลกล่าวเพิ่มเติมว่า “ไฮไลท์ของปีนี้ คือเป็นการคัดสรรและและเชิญผู้ประสบความสำเร็จอย่างสูงระดับชาติมาเป็นเมนเทอร์ และเปิดกว้างให้ผู้นำรุ่นใหม่ได้สมัครเข้าร่วมโครงการ พร้อมทั้งสนับสนุนให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้นำ “คุณค่าเพื่อสังคม” ไปสร้างให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กรหรือสังคมในโอกาสแรกด้วย”

“คุณสมบัติของเมนทีอีกข้อหนึ่ง คือต้องเป็นคนเปิดใจ และพร้อมที่จะได้รับการเมนเทอร์ ซึ่งหากผู้นำยังรู้สึกว่าต้องมีการพัฒนาและต้องการที่จะเรียนรู้ เมนเทอร์ทุกคนพร้อมที่จะเติมเต็ม ปีนี้เป็นปีแรกที่เราอยากจะนำเสนอโครงการสู่สาธารณะ เพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ของมูลนิธิฯ และอยากเปิดโอกาสให้สมัครเข้ามา ส่วนเมนเทอร์รุ่น 3 ได้ตอบรับมาแล้ว”

สำหรับการคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการ คุณธนพลกล่าวว่า จะกระจายไปหลายกลุ่มทั้ง ผู้นำที่สามารถสร้างพลัง และต้องการที่จะรับการเมนเทอร์ริง รวมทั้งให้มีสัดส่วนผสมระหว่างทายาทธุรกิจ ผู้บริหารมืออาชีพ ในภาคเอกชนและในองค์กรของรัฐที่มีศักยภาพสูง และอาจจะมีจากองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ตลอดจนผู้หญิงผู้ชายก็พยายามให้มีสัดส่วนใกลเคียงกัน

“เมนทีไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าโครงการ เพราะเราเชื่อว่าการให้ก่อนก็จะสามารถสร้างการให้ต่อแก่สังคมได้ โดยจะเปิดรับสมัครจากภาครัฐและภาคเอกชน ผู้นำเอกชนในวัย 30-45 ปี เป็นผู้นำรุ่นใหม่ ซึ่งโครงการจะเริ่มปลายเดือนสิงหาคม”