‘ธรรมศาสตร์’ ประกาศรับรองสิทธินักศึกษาแต่งกายตามเพศวิถีได้ทุกตารางนิ้ว พร้อมกำหนดบทลงโทษทางวินัยคน ‘เหยียดเพศ-บูลลี่’ในสถานศึกษา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ได้ออกประกาศมหาวิทยาลัยฯ เรื่อง แนวปฏิบัติการแต่งกายของนักศึกษาที่มีอัตลักษณ์ทางเพศหรือวิถีทางเพศไม่ตรงกับเพศกำเนิด พ.ศ. 2563 เมื่อวันที่ 2 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยให้สิทธินักศึกษาและบัณฑิตสามารถแต่งกายตามอัตลักษณ์ทางเพศหรือเพศวิถีได้ ทั้งการเข้าชั้นเรียน สอบวัดผล ฝึกปฏิบัติงาน ติดต่อราชการ รูปถ่าย ตลอดจนการสวมใส่ชุดครุยวิทยฐานะ แต่ทั้งหมดเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และถูกต้องตามระเบียบของมหาวิทยาลัย
นอกจากนี้ ยังได้กำหนดให้ผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยต้องปฏิบัติต่อนักศึกษาที่มีอัตลักษณ์หรือเพศวิถีไม่ตรงกับเพศกำเนิดด้วยการคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ และความเท่าเทียมกันทางเพศ ทั้งนี้หากพบการกลั่นแกล้ง การดูหมิ่น การเหยียดหยาม กดขี่ ข่มเหงผู้ร่วมงาน นักศึกษา หรือประชาชน จะถือว่าเป็นความผิดทางวินัย
รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี มธ. เปิดเผยว่า เพศวิถี (Gender) เป็นเรื่องที่มีความสำคัญในระดับโลก เป็นส่วนหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 3 4 และ 5 และยังเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดสุขภาพทางสังคม หรือ Social determinants of health ขณะที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และกำหนดนโยบายโดยคำนึงถึงสิทธิ เสรีภาพ และความศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มาโดยตลอด ล่าสุดผู้บริหารมหาวิทยาลัยจึงเห็นพ้องร่วมกันว่าควรมีการออกประกาศในประเด็น เพื่อให้เป็นแนวปฏิบัติที่ชัดเจน
“นอกจากการรับรองสิทธิเรื่องการแต่งกายแล้ว เรายังห้ามไม่ให้ส่วนงานหรือหน่วยงานภายในออกประกาศ ระเบียบ หรือกำหนดแนวทางปฏิบัติอื่นๆ ที่ขัดต่อการให้สิทธิในครั้งนี้ด้วย ดังนั้นมั่นใจได้ว่าประกาศฉบับนี้ จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติจากสาเหตุวิถีทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศในมหาวิทยาลัย และช่วยคุ้มครองบุคคลไม่ให้ถูกลบหลู่เกียรติ ชื่อเสียง และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” รศ.เกศินี กล่าว
ศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การให้สิทธินักศึกษาและบัณฑิตสามารถแต่งกายตามเพศวิถีได้นั้น ถือเป็นการให้ความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งอัตลักษณ์หรือตัวตน ผ่านทางการพูดจา ท่าทาง การแต่งกาย ลักษณะร่างกาย ซึ่งประเด็นนี้นับว่ามีความสำคัญมาก เพราะจะนำไปสู่สุขภาวะที่ดี ครอบคลุมทั้งร่างกาย จิตใจ สังคม และปัญญา ตลอดจนส่งเสริมให้นักศึกษามีความเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งจะมีผลต่อการพัฒนาศักยภาพตัวเองในอนาคต