ThaiPublica > คอลัมน์ > Da Vinci กับไวน์ที่สูญหายไป

Da Vinci กับไวน์ที่สูญหายไป

4 มกราคม 2020


วรากรณ์ สามโกเศศ

Villa da Vinci and its vineyards ที่มาภาพ : https://www.decanter.com/sponsored/metodo-leonardo-leonardo-da-vinci-spa-410732/

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของมนุษย์โดยตรง และสามารถทำให้สิ่งของแสนธรรมดาหรือมองไม่เห็นมาก่อนกลายเป็นสิ่งมีค่าอย่างมากของโลกไปได้ ดังเรื่องของ Leonardo da Vinci ที่จะเล่าถึงต่อไปนี้

เมื่อได้ยินชื่อ Da Vinci สิ่งแรกที่ทุกคนนึกถึงก็คือการเป็นจิตรกรเจ้าของภาพเขียนMona Lisa แต่แท้ที่จริงแล้ว Da Vinci ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ยิ่งใหญ่ของโลกในหลายด้าน

ผู้คนนับถือ Da Vinci ว่าเป็น polymath (“having learned much” หรือภาษาละตินว่า“homo universalis” หรือ “universal man”) ซึ่งหมายถึงบุคคลที่มีความรู้กว้างไกลในหลายสาขา Da Vinci มีความสนใจและผลงานในด้านการวาดภาพ ปฏิมากรรม สถาปัตยกรรม ดนตรี วิทยาศาสตร์ ประดิษฐกรรม ชีววิทยา วิศวกรรม วรรณกรรม คณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ แผนที่ ฯลฯ

เขาสเก็ตภาพเรือดำน้ำ เครื่องกล เฮลิคอปเตอร์ รถถัง ร่มชูชีพ ฯลฯ เมื่อกว่า 500 ปีมาแล้วรวมทั้งประดิษฐ์ต้นแบบของสิ่งที่ศึกษาค้นคว้าพร้อมกับบันทึกไว้นับเป็นพัน ๆ หน้าอย่างน่าทึ่ง (หนังสือล่าสุดเกี่ยวพันชีวประวัติของเขาที่มีคนพูดถึงกันมากคือ “Leonardo Da Vinci” โดย Walter Isaacson, 2017)

สามภาพเขียนที่ยิ่งใหญ่ซึ่งมีผู้คนรู้จักและชื่นชมที่สุดก็คือ Mona Lisa / The Last Supper และ The Vitruvian Man (เท่าที่ทราบกันอาจมีผลงานเพียง 15 ชิ้นที่หลุดรอดมาถึงปัจจุบัน)

Da Vinci เป็นคนอิตาลี มีชีวิตอยู่ระหว่าง ค.ศ. 1452-1519 (ไม่ต้องบวกลบหรอกครับ เขาตายตอนอายุ 67 ปี) เป็นทั้งคนร่วมสมัยและคู่แข่งของสุดยอดจิตรกร และปฏิมากรอีกคน นั่นก็คือ Michelangelo (ค.ศ. 1475-1564) ทั้งสองมีสิ่งที่เหมือนกันคือถนัดซ้ายและกระหายเรียนรู้อย่างไม่จบสิ้น

Michelangelo มีผลงานสำคัญคือรูปปั้นหินอ่อน David (ชายยืนเปลือยมีผ้าชิ้นเล็กพาดบนบ่า) รูปปั้น Pietà ภาพเขียนบนเพดาน Sistine Chapel ฯลฯ ประโยคดังของเขาก็คือ “Ancora Imparo” ซึ่งหมายถึง “I am still learning”
ผลงานของ Da Vinci ที่เราเห็นกันจนเจนตา ปรากฏแม้กระทั่งบนกระเป๋าแบรนด์เนมก็คือ “The Vitruvian Man” ซึ่งเป็นรูปผู้ชายเปลือยกายยืนกางแขนกางขาโดยมีภาพซ้อนของมือและแขนสองชุดในวงกลมและซ้อนด้วยสี่เหลี่ยมจตุรัส ภาพเขียนด้วยหมึกบนกระดาษชิ้นนี้แสดงให้เห็นถึงสัดส่วนร่างกายของมนุษย์อย่างชัดเจน

ที่มาภาพ : https://www.vinissimus.co.uk/en/wine/leonardo-da-vinci-chianti-leonardo-riserva-2014

ผลงานของ Da Vinci ซึ่งเป็นเรื่องราวในที่นี้ก็คือ The Last Supper อันเป็นรูปของพระเยซูกับสาวกร่วมกันรับประทานอาหารมื้อสุดท้ายก่อนที่ทหารโรมันจะจับพระเยซูไปตรึงบนไม้กางเขน

“The Last Supper” วาดขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1495-96 (เมื่อ 523-24 ปีก่อน) Da Vinci รับงานตามข้อเสนอของ Ludovico Sforza ซึ่งเป็น Duke of Milan เพื่อให้เป็นสมบัติของ Convent of Santa Maria delle Grazie ในเมือง Milan โดยแลกค่าจ้างกับไร่องุ่นเนื่องจาก Da Vinci เป็นผู้หลงใหลไวน์เป็นอย่างมาก

ไร่องุ่นของ Da Vinci มีการปลูกและผลิตไวน์อย่างต่อเนื่องมาเป็นร้อย ๆ ปี จนกระทั่งถูกเผาไหม้ไปหมดจากการบอมบ์ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองโดยฝ่ายพันธมิตร

ไร่องุ่นนี้จบสิ้นลงพร้อมกับความหวังที่จะได้ดื่มไวน์รสชาติที่ Da Vinci ดื่มเป็นประจำ มันถูกทอดทิ้งอยู่ 60 กว่าปี จนกระทั่งปี 2007 นักวิชาการไวน์ชื่อ Luca Macroni เกิดความคิดที่จะรื้อฟื้นมันขึ้นมาอีกครั้ง และไวน์จะต้องมีรสชาติเหมือนเดิมเป็นของแท้ที่ Da Vinci เคยดื่ม

Macroni ใช้วิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย โดยร่วมมือกับนักพันธุกรรมศาสตร์ เขาขุดไร่องุ่นเพื่อหารากของต้นองุ่นที่อาจรอดจากไฟไหม้ และก็พบจริง ๆ จากนั้นก็นำไปค้นหาพันธุ์ด้วยการพิสูจน์ DNA ที่ Università degli Studi ในเมือง Milan และในปี 2009 ก็พบว่าไวน์ Da Vinci มาจากองุ่นพันธุ์ Malvasia di Candia Aromatica ซึ่งเป็นพันธุ์หนึ่งที่ยังปลูกกันอยู่ในอิตาลี

Casa Degli Atellani ที่มาภาพ : https://www.forbes.com/sites/liviahengel/2019/02/11/step-inside-leonardo-da-vincis-secret-vineyard-in-milan/#1c61840b590c

เมื่อได้พบพันธุ์แล้วเขาก็วางผังไร่องุ่นขึ้นให้มีหน้าตาเหมือนผังที่ได้มีการบันทึกไว้เมื่อครั้ง Da Vinci ยังมีชีวิตอยู่ ไร่องุ่นนี้ตั้งอยู่ที่ Casa Degli Atellani ซึ่งเดินเพียง 2 นาทีก็ถึง Convent of Santa Maria Delie Grazie ใน Milan ซึ่งเป็นเจ้าของภาพ The Last Supper (ขนาด4.6 เมตร x 8.8 เมตร) มาแต่แรก และปัจจุบันเป็นสถานที่แสดงภาพนี้ให้นักท่องเที่ยวชม
ไร่องุ่นนี้เริ่มมีองุ่นออกมาตั้งแต่ปี 2018 และในอีกไม่ช้าไวน์ Da Vinci ซึ่งลักษณะขวดและตราออกแบบโดย Da Vinci เองในอดีตจำนวน 330 ขวดแรกก็จะออกสู่ตลาดผ่านการประมูล ลองจินตนาการดูว่าจะมีราคาสูงเพียงใดในโลกที่มีคนบ้าคลั่งไวน์ และมีตังค์จำนวนมาก (คนจีนจำนวนมากไปซื้อไร่องุ่นในฝรั่งเศส) อีกทั้ง Da Vinci เป็นคนที่โลกชื่นชมความเป็นอัจฉริยะทั้งในด้านศิลปะและวิทยาศาสตร์อย่างกว้างขวาง

สถานที่แห่งนี้จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญเชิงประวัติศาสตร์ที่มีเรื่องเล่าอันทรงพลังเกี่ยวกับศาสนา ประวัติศาสตร์ และการสร้างไวน์ที่มีรสชาติเดียวกับที่ Da Vinci จิบไปวาดภาพ Mona Lisa ไปคาดเดาได้ว่านักท่องเที่ยวจากทั่วโลกจะหลั่งไหลไปบริเวณนี้ยิ่งขึ้นพร้อมกับธุรกิจเกี่ยวข้องอีกมากมายที่ตามมา

ลองคิดเล่น ๆ ถ้าเมืองไทยสามารถใช้วิธีใกล้เคียงกันผลิตน้ำตาลเมาจากต้นตาลที่มี DNA เดียวกับต้นตาลสมัยที่สุนทรภู่เคยดื่มที่เพชรบุรี (นักวิชาการมีชื่ออาจารย์ล้อม เพ็งแก้วเชื่อว่าสุนทรภู่มีเชื้อสายพราหมณ์และเป็นคนเพชรบุรี ) มันจะรู้สึกขลังเพียงไหน และน้ำตาลเมานี้จะมีมูลค่าสูงขึ้นเพียงใด และถ้ามีกะลามะพร้าวฉลุรูปแฝดสยาม (อิน-จัน) ที่ทั่วโลกรู้จักจากต้นมะพร้าวที่มี DNA เหมือนต้นมะพร้าวที่แม่กลองครั้งที่ทั้งสองเคยพยายามป่ายปีนเล่นก่อนที่จะถูกซื้อไปอเมริกาเมื่อสมัยรัชกาลที่ 3 จะเป็นสินค้าขายดีเพียงใด

มูลค่าเพิ่มของสินค้ามาได้จากการค้นคว้าวิจัยสนับสนุนเท่านั้น ถ้าประเทศเราขาดงบวิจัยด้านวิทยาศาสตร์อย่างพอเพียงแล้วก็จงขายน้ำตาลเมาและกะลามะพร้าวในราคาเดิมกันต่อไป

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 10 ธ.ค. 2562