ThaiPublica > เกาะกระแส > รายงานประจำปีของกลุ่ม Eurasia Group 10 อันดับความเสี่ยงสำคัญสุดของโลกปี 2020

รายงานประจำปีของกลุ่ม Eurasia Group 10 อันดับความเสี่ยงสำคัญสุดของโลกปี 2020

10 มกราคม 2020


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https://www.eurasiagroup.net/issues/Top-Risks-2020

บริษัทที่ปรึกษาด้านความมั่นคง Eurasia Group ได้เผยแพร่รายงานประจำปี เรื่อง Top Risks 2020 หรือ 10 อันดับความเสี่ยงสำคัญสุดของโลกปี 2020 โดยกล่าวว่า เราอยู่กับความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มมากขึ้นมาเป็นเวลาเกือบ 1 ทศวรรษแล้ว โดยที่ไม่มีวิกฤติระหว่างประเทศจริงๆ เกิดขึ้นเลย หากตัดเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ออกไป แนวโน้มของโลกพัฒนาไปในทางที่ดี แต่สิ่งนี้กำลังจะเปลี่ยนไป

กุญแจสำคัญคือเรื่องโลกาภิวัตน์ โลกในยุคหลังสงครามเป็นต้นมา ประชาชน ความคิด สินค้า และเงินทุน เคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดความมั่งคั่งและโอกาสมหาศาล แต่เมื่อการเชื่อมโยงทางเทคโนโลยีระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกากำลังจะขาดสะบั้นลง จะทำให้เศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21 แยกเป็น 2 ส่วน ทำให้โลกาภิวัตน์เกิดบุคลิกลักษณะ 2 แบบขึ้นมา

แนวโน้มทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ มีทิศทางพัฒนาที่ตกต่ำลง นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากขึ้นเห็นว่า จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2020 และ 2021 ส่วนภาวะภูมิรัฐศาสตร์ก็ตกต่ำลง สหรัฐฯ หันไปยึดมั่นนโยบายที่ตัวเองเป็นฝ่ายตัดสินใจโดยไม่ฟังเสียงของประเทศอื่น ส่วนจีนก็กำลังเสนอทางเลือกเข้ามาแข่งขันในเวทีโลกมากขึ้น นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เริ่มจะมีผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ จากสภาพดังกล่าว ทำให้ 2020 เป็นปีที่จะเกิดความยุ่งยาก

1. ใครจะมีอำนาจในสหรัฐฯ

ที่มาภาพ : https://www.eurasiagroup.net/issues/Top-Risks-2020

Eurasia Group กล่าวว่า การเมืองภายในสหรัฐฯ ไม่เคยเป็นความเสี่ยงมาก่อน เพราะสถาบันการเมืองสหรัฐฯ มีความเข้มแข็งและยืดหยุ่นสูง แต่ปี 2020 สถาบันนี้จะถูกทดสอบ มีความเสี่ยงที่คนจำนวนมากจะมองว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีมีความไม่ชอบธรรม จะเกิดความไม่แน่นอนหลังการเลือกตั้ง และจะทำให้นโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ เกิดการไม่เสถียรตามมา

หากโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง ท่ามกลางข้อกล่าวหาเรื่องความไม่ชอบมาพากล ผลการเลือกตั้งจะถูกคัดค้านรุนแรง หากทรัมป์พ่ายแพ้แบบเฉียดฉิว ก็จะมีเสียงประท้วงเช่นเดียวกัน ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาแบบไหน ก็จะเกิดคดีฟ้องร้องตามมา และเกิดสุญญากาศทางการเมืองในสหรัฐฯ การเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพฤศจิกายน 2020 ขาดความชอบธรรม เป็นสภาพเบร็กซิตของสหรัฐฯ (US Brexit) ที่คนอเมริกันแตกแยกในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง และไม่ชัดเจนว่าเลือกใคร

2. การตัดขาดจากกันครั้งใหญ่

การตัดขาดการเชื่อมโยง (decoupling) ด้านเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ถือเป็นพัฒนาการด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลกระทบสำคัญสุด ซึ่งมีผลกระทบทำให้เกิดความชะงักงันต่อการติดต่อระหว่าง 2 ประเทศ ในด้านเทคโนโลยี ทักษะ และการลงทุน ปี 2020 ผลกระทบจะมีมากกว่าเรื่องเซมิคอนดักเตอร์ คลาวด์คอมพิวติง และ 5G แต่เป็นธุรกรรมทางเศรษฐกิจที่กว้างออกไป สิ่งนี้จะทำให้เกิดการแบ่งแยกที่ลึกมากขึ้นในด้านธุรกิจและเศรษฐกิจ ที่เสี่ยงจะกลายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแบบถาวร คำถามสำคัญมีอยู่ว่า หากเกิดกำแพงเบอร์ลินใหม่ขึ้นมา ประเทศต่างๆ จะเลือกฝ่ายไหน

3. ความสัมพันธ์สหรัฐฯ กับจีน

ที่มาภาพ : https://www.eurasiagroup.net/issues/Top-Risks-2020

เมื่อการเชื่อมโยงถูกตัดขาด ตวามตึงเครียดสหรัฐฯ กับจีนจะนำไปสู่ความขัดแย้งในเรื่องความมั่นคง การสร้างอิทธิพล และความคิด สองฝ่ายจะอาศัยเครื่องมือเศรษฐกิจในการต่อสู้กันและกัน เช่น การคว่ำบาตร การจำกัดการส่งออก และการต่อต้านสินค้าอีกฝ่าย บริษัทธุรกิจและรัฐบาลประเทศต่างๆ ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก

หัวใจความขัดแย้งของสองประเทศคือ การแข่งขันของมหาอำนาจ แต่เมื่อความตึงเครียดขยายเพิ่มมากขึ้น ระบบการเมืองที่แตกต่างกัน จะทำให้ความขัดแย้งของ 2 ฝ่ายยากที่จะลงเอยกันได้

4. แรงกดดันต่อบริษัทข้ามชาติ

นักวิเคราะห์หลายคนเห็นว่า ในภาวะที่โลกไร้ประเทศผู้นำหลัก บริษัทข้ามชาติจะเข้ามามีบทบาทแทนในการดูแลกฎระเบียบเสรีระหว่างประเทศ ภาคเอกชนจะเข้ามามีบทบาทในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ การบรรเทาปัญหาความยากจน และการส่งเสริมการค้าการลงทุนเสรี แต่ Eurasia Group เห็นว่า สิ่งนี้คงไม่เกิดขึ้น

ปัจจุบัน นโนบายของหลายประเทศ เช่น ประชานิยมและชาตินิยม กลายเป็นความเสี่ยงต่อเงินทุนและสินทรัพย์ของบริษัทเหล่านี้ การแข่งขันด้านเทคโนโลยีระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ทำให้การค้าโลกมีความเสี่ยงมากขึ้น การที่รัฐบาลมุ่งแสวงหาข้อตกลงการค้าแบบทวิภาคี ทำให้ระเบียบการค้าโลกและอัตราภาษีเกิดความไม่แน่นอน

5. นโยบายอื้อฉาวของโมที

ที่มาภาพ : https://www.eurasiagroup.net/issues/Top-Risks-2020

ปี 2019 รัฐบาลอินเดียของนายกรัฐมนตรี นเรนทระ โมที ใช้เวลาหมดไปกับนโยบายด้านสังคมที่อื้อฉาว ที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและเสถียรภาพความสงบของชุมชน เช่น ยกเลิกฐานะพิเศษของแคว้นจามูกับแคชเมียร์ ออกกฎหมายที่ใช้ศาสนาเป็นหลักเกณฑ์การได้ฐานะพลเมืองของอินเดีย ทำให้เกิดการประท้วงทั่วอินเดีย นโยบายชาตินิยมของรัฐบาลโมทีจะกระทบต่อการปฏิรูปเศรษฐกิจ ดังจะเห็นได้จากรัฐบาลโมทีถอนตัวจากการเข้าร่วมกับความตกลงการค้า RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) ของอาเซียนในปี 2019

6. ภูมิรัฐศาสตร์ยุโรป

ที่มาภาพ : https://www.eurasiagroup.net/issues/Top-Risks-2020

ที่ผ่านมา ยุโรปพยายามกำหนดนโยบายต่างประเทศและการค้าที่อิสระของตัวเอง แต่ก็ไม่สามารถที่จะขับเคลื่อนนโยบายที่แตกต่างจากสหรัฐฯ หรือจีน แต่สิ่งนี้กำลังจะเปลี่ยนไป ผู้นำใหม่ของกลุ่มอียูเห็นว่า ยุโรปจะต้องปกป้องตัวเองอย่างจริงจังจากประเทศคู่แข่งอื่นๆ เช่น การใช้กหมายต่อต้านการผูกขาดเล่นงานบริษัทไฮเทคของสหรัฐฯ ในเรื่องการค้า ใช้มาตรการตอบโต้ด้วยการเก็บภาษีนำเข้า นโยบายอิสระของกลุ่มอียูจะนำไปสู่ความขัดแย้งกับสหรัฐฯกับจีน

7. การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

ที่มาภาพ : https://www.eurasiagroup.net/issues/Top-Risks-2020

การเมืองที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเกิดความล้มเหลว ความตกลงปารีสจำกัดให้การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่จะร้อนขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเชียสภายในสิ้นศตวรรษนี้ แต่ประเทศที่ลงนามความตกลงปารีสกลับล้มเหลวในการดำเนินนโยบายที่จะบรรลุเป้าหมายนี้

สิ่งนี้ทำให้รัฐบาล นักลงทุน และสังคม หันมากดดันกับบริษัทยักษ์ใหญ่ทางธุรกิจ ที่ต้องตัดสินใจระหว่างการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกับผลกำไร บริษัทพลังงาน สายการบิน ผู้ผลิตรถยนต์ และผู้ผลิตเนื้อสัตว์ จะถูกกดดันอย่างมาก นักลงทุนจะลดการลงทุนในอุตสาหกรรมเกี่ยวข้องกับก๊าซคาร์บอน

8. กลุ่มประเทศนิกายชีอะห์

ที่มาภาพ : https://www.eurasiagroup.net/issues/Top-Risks-2020

นโยบายสหรัฐฯ ที่ล้มเหลวต่ออิหร่าน อิรัก และซีเรีย กลุ่มประเทศนิกายชีอะห์ในตะวันออกกลาง จะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพในภูมิภาคนี้ เช่น ปัญหาความขัดแย้งที่ร้ายแรงกับอิหร่าน น้ำมันถูกกดดันให้มีราคาสูงขึ้น อิรักกลายเป็นประเทศในเครืออิหร่านหรือประเทศที่ล้มเหลว และซีเรียหันเหไปทางรัสเซียและอิหร่าน การสังหารกาเซ็ม สุไลมานี ผู้บัญชาการกองกำลังคุดส์ของอิหร่าน ทำให้ความตึงเคลียดระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่าน ขยายตัว โดยความเสี่ยงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 8 แต่ไม่สูงกว่านี้ เพราะมีแรงกดดันต่างๆ มากมายที่จะไม่ให้เกิดสงคราม

9. การประท้วงในลาตินอเมริกา

ความไม่พอใจของประชาชน ทำให้เกิดความเสี่ยงทางการเมืองทั่วลาตินอเมริกา ประชาชนไม่พอใจต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะงักงัน ปัญหาคอร์รัปชัน และบริการสาธารณะที่มีคุณภาพต่ำ คนชั้นกลางต้องให้รัฐใช้จ่ายเงินด้านบริการสังคมมากขึ้น สิ่งนี้ทำให้รัฐบาลไม่สามารถดำเนินมาตรการเข้มงวดด้านงบประมาณ ที่จะเป็นไปตามการคาดหวังของ IMF และนักลงทุนต่างชาติ ในปี 2020 การประท้วงจะมีมากขึ้น นักการเมืองที่มีนโยบายประชานิยมจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น

10. ตุรกี

ที่มาภาพ : https://www.eurasiagroup.net/issues/Top-Risks-2020

ประธานาธิบดี เรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ของตุรกี กำลังอยู่ในช่วงตกต่ำทางการเมือง มาตรการคว่ำบาตรของรัฐสภาสหรัฐฯ คาดว่าจะมีผลในครึ่งแรกของปีนี้ จะกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนของตุรกี และสร้างแรงกดดันต่อค่าเงินลิรา (Lira) การใช้ท่าทีตอบโต้ของเออร์โดกัน จะทำให้เศรษฐกิจตุรกีเสียหายมากขึ้น

เอกสารประกอบ
Top risks2020, eurasiagroup.net