ThaiPublica > เกาะกระแส > แบบอย่างของเมืองอาคิตะ ต้นแบบเศรษฐกิจผู้สูงอายุญี่ปุ่น และโลกในอนาคต

แบบอย่างของเมืองอาคิตะ ต้นแบบเศรษฐกิจผู้สูงอายุญี่ปุ่น และโลกในอนาคต

19 ธันวาคม 2019


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

แบบอย่างของเมืองอาคิตะ ต้นแบบเศรษฐกิจผู้สูงอายุญี่ปุ่น และโลกในอนาคต สถานการณ์การสูงอายุของประชาชนกลายเป็นลู่ทางและโอกาส ทั้งในการดำเนินชีวิตและทางธุรกิจ ที่จะทำให้ชีวิตที่สูงวัยกลายเป็นเรื่องสนุกสนาน เกิดพลานามัยที่แข็งแรง และเกิดประโยชน์ในด้านต่างๆ

ที่มาภาพ : pewresearch.org

โลกเรากำลังเคลื่อนย้ายไปสู่สิ่งที่นักวิเคราะห์เรียกว่า “สังคมสูงอายุมาก” (hyper-aged society) ปัจจัยแรกที่ทำให้เกิดพัฒนาการนี้คือ ประชาชนมีอายุยืนมากขึ้น อย่างเช่น ในปี 1963 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ทำบันทึกเป็นครั้งแรกของจำนวนประชาชนที่มีอายุ 100 ปีขึ้นไป ปรากฏว่ามีอยู่ 153 คน ในปี 2016 จำนวนเพิ่มเป็น 65,000 คน และญี่ปุ่นคาดว่า ในปี 2040 จะมีเพิ่มขึ้นเป็น 300,000 คน

ปัจจัยที่ 2 คือ อัตราการเกิดของประชากรที่ลดน้อยลง ในปี 1900 ญี่ปุ่นมีประชากร 44 ล้านคน ครอบครัวหนึ่งมีลูก 5 คน ถือเป็นเรื่องปกติ และมีเด็กเกิดใหม่ 1.4 ล้านคน ในปี 2015 ญี่ปุ่นมีประชากร 127 ล้านคน เพิ่ม 3 เท่า แต่มีเด็กเกิดใหม่ 1 ล้านคน เพราะเหตุนี้ เมื่ออัตราการเกิดน้อยลง ประเทศก็จะมีผู้อายุสูงมากขึ้น

หลายประเทศกำลังเป็นแบบอาคิตะ

Richard Davies อดีต Economics Editor ของ The Economist เขียนไว้ในหนังสือชื่อ Extreme Economies (2019) ว่า คนญี่ปุ่นมองว่า เมืองอาคิตะ (Akita) ที่อยู่ทางตอนเหนือของญี่ปุ่น เป็นจังหวัดชายขอบที่อยู่โดดเดี่ยว แต่ก็เป็นท้องถิ่นที่มีคนสูงอายุมากที่สุดของญี่ปุ่น อายุเฉลี่ยของคนในเมืองนี้คือ 53 ปี และเป็นท้องถิ่นแรกของญี่ปุ่น ที่ประชากรกว่า 50% มีอายุมากกว่า 50 ปี และ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งจังหวัดมีอายุมากกว่า 65 ปี

สถิติข้อมูลดังกล่าวนี้ไม่ผิดพลาด คนที่ไปเยือนเมืองอาคิตะจะรู้สึกได้ทันทีว่าเป็นเมืองของคนสูงอายุ คนขับรถไฟ คนเก็บค่าโดยสารรถประจำทาง เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว คนขับแท็กซี่ คนงานก่อสร้าง คนมาทานอาหารที่ภัตตาคาร หรือพ่อครัว ล้วนเป็นคนสูงอายุทั้งสิ้น

แต่มองในแง่สถิติของประชากร อาคิตะไม่ใช่เมืองที่ล้าหลัง แต่กำลังกลายเป็นเมืองที่เป็นแบบอย่างในอนาคตสำหรับโลกเศรษฐกิจของผู้สูงวัย โลกเรากำลังสูงอายุมากขึ้นอย่างรวดเร็ว หลายประเทศกำลังเดินตามเส้นทางของเมืองอาคิตะ เกาหลีใต้กำลังเดินตามหลังญี่ปุ่น โดยจะกลายเป็นประเทศที่สูงอายุอย่างรวดเร็ว

ในปี 2050 ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้โดยรวมทั้งประเทศ จะมีสภาพคล้ายกับเมืองอาคิตะที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คือประชากรมีอายุเฉลี่ยมีที่ 53 ปี และประชากรมากกว่า 1 ใน 3 มีอายุมากกว่า 65 ปี ส่วนสเปน โปรตุเกส และอิตาลี จะมีสภาพเดียวกับอาคิตะในอีก 30 ปีข้างหน้า บราซิล ไทย และตุรกีก็กำลังเป็นประเทศที่สูงอายุอย่างรวดเร็วเช่นกัน

สภาพการณ์ที่ประเทศต่างๆ กำลังมุ่งหน้าไปสู่โลกแบบเมืองอาคิตะ ทำให้เกิดความวิตกกังวล ความต้องการของคนสูงอายุทำให้เกิดค่าใช้จ่ายส่วนรวมเพิ่มมากขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็นค่าใช้จ่ายด้านเงินบำนาญ และการรักษาพยาบาล จุดนี้ทำให้ IMF เคยกล่าวเตือนประเทศต่างๆ ในเรื่องนี้ไว้ว่า “ประเทศเสี่ยงที่จะแก่ ก่อนจะมั่งคั่ง”

จำนวนคนญี่ปุ่นอายุมากกว่า 100 ปีขึ้นไป ช่วง 1963-2016 ที่มาภาพ : หนังสือ Extreme Economies

ความแก่ที่มาเยือนฉับพลัน

ในการไปเยือนเมืองอาคิตะ Richard Davies ผู้เขียนได้พูดคุยกับสตรีสูงอายุชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งชื่อ Kiyoto Ishii ที่พาชม “ศูนย์ชุมชน” ของอาคิตะ ศูนย์นี้มีกิจกรรมการเรียนการสอนสำหรับคนสูงอายุ เช่น การเต้นรำ การอ่านบทกวี หรือการทำอาหาร เธอบอกว่า “ปัญหาใหญ่ของเรา คือเราไม่มีตัวอย่างสำหรับทำเลียนแบบ เราไม่ได้เตรียมตัวที่จะมีชีวิตยืนนานขึ้น เพราะพ่อแม่เราเสียชีวิตเมื่ออายุน้อยกว่านี้”

หนังสือ Extreme Economies กล่าวว่า คนญี่ปุ่นที่สูงอายุล้วนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า สิ่งที่ส่งผลกระทบฉับพลันแก่ตัวเอง คือการมีอายุยืนยาวกว่าที่คาดคิดไว้ ในปีทศวรรษ 1940 นักเศรษฐศาสตร์อิตาลีชื่อ Franco Modigliani เคยเสนอแนวคิดแนวโน้มการเก็บออมของคนเรา ที่เป็นไปตามวงจรชีวิตไว้ว่า ในช่วงการ “พึ่งพาทางเศรษฐกิจ” (dependency) ของวัยหนุ่มสาว ที่ยังศึกษา หรือเริ่มทำงานด้วยค่าแรงต่ำ ต้องการอาศัยเงินกู้มาสนองความต้องการ

ส่วนชีวิตในช่วงการทำงาน (maturity) รายได้จะสูงกว่ารายจ่าย จึงมีเงินเก็บออมในแต่ละเดือน ในช่วงการเกษียณ (retirement) รายได้ลดหายไปมาก แต่ยังสามารถรักษามาตรฐานชีวิตที่เป็นอยู่ได้ เพราะอาศัยเงินทุนที่เก็บสะสมไว้ แนวคิดนี้อาจดูเป็นความคิดแบบธรรมดาๆ แต่เมื่อมองว่าคนนับล้านๆ คนมีพฤติกรรมแบบนี้ ทำให้เป็นแนวคิดที่มีพลังในการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจ

อย่างเช่นประเทศที่ประชาชนวางแผนสำหรับการเกษียณ ที่คิดว่าเป็นเวลายาวนาน จะเป็นประเทศที่ร่ำรวย คือ มีอัตราการออมสูง เศรษฐกิจมีความมั่งคั่ง และประชากรมีการเตรียมตัวสำหรับช่วงสุดท้ายของชีวิต ส่วนประเทศที่การเกษียณของประชาชนยาวนานเกินกว่าที่คาดหมายไว้ จะมีความมั่งคั่งที่ต่ำเกินไป แนวคิดวงจรชีวิตนี้ช่วยให้เข้าใจว่า ทำไมชีวิตที่ยืนนานเกินการคาดหมายจึงส่งผลกระทบฉับพลัน (shock) ต่อประชาชนและต่อประเทศ

หนังสือ Extreme Economies กล่าวว่า คนญี่ปุ่นจำนวนมากเห็นว่า ช่วงเกษียณของตัวเองมีระยะเวลายาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทุกวันนี้ คนญี่ปุ่นเกษียณเมื่ออายุ 65 ปี ในทศวรรษ 1940 เมื่อญี่ปุ่นมีระบบบำนาญของรัฐ คนญี่ปุ่นจะเกษียณจากงานเมื่ออายุ 55 ปี ซึ่งสูงกว่าอายุเฉลี่ยของผู้ชายในเวลานั้น ดังนั้น คนทั่วไปจะเสียชีวิตก่อนเกษียณ แต่ทุกวันนี้ คนญี่ปุ่นจำนวนมากมีอายุถึง 90 หรือ 100 ปี ช่วงเกษียณจะนานเป็นเวลา 35-45 ปี เฉพาะฉะนั้น จึงมีคนญี่ปุ่นเพียงไม่กี่คนที่ได้วางแผนรับมือในเรื่องนี้

ที่มาภาพ : amazon.com

แรงกดดันจากสังคมสูงอายุ

คนญี่ปุ่นสูงอายุได้รับเงินบำนาญเฉลี่ยเดือนละ 1,700 ดอลลาร์ (51,000 บาท) แต่ที่ได้จริงๆ จะขึ้นกับเงินสมทบในช่วงการทำงาน ทำให้คนจำนวนมากได้เงินบำนาญที่ต่ำกว่าเดือนละ 1,000 ดอลลาร์ เนื่องจากค่าครองชีพสูง ทำให้คนรับบำนาญต้องไปพึ่งสวัสดิการรัฐ คนสูงอายุหลายล้านคนมีชีวิตอยู่อย่างยากจน คนญี่ปุ่นสูงอายุ 17% ไม่มีเงินเก็บ คนแก่หลายคนในเมืองอาคิตะต้องหันไปปลูกผักเพื่อให้มีรายได้พิเศษ

สังคมสูงอายุสร้างแรงกดดันต่อฐานะการคลังของรัฐบาลญี่ปุ่น ในปี 1975 ค่าใช้จ่ายประกันสังคมและสาธารณสุขมีสัดส่วน 22% ของรายได้จากการเก็บภาษี ในปี 2020 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 60% หมายความว่า ในปี 1975 บริการสาธารณะ เช่น การศึกษา การขนส่ง โครงสร้างพื้นฐาน สิ่งแวดล้อม ฯลฯ สามารถอาศัยเงิน 80% ของรายได้จากภาษี แต่ในปี 2020 มีสัดส่วนเพียงแค่ 40% ในแง่งบประมาณ สังคมสูงอายุกำลังกลืนกินญี่ปุ่น

ผลกระทบจากประชากรลดลง

ส่วนอัตราการเกิดของประชากรที่ลดลง ก็มีผลทำให้ทั้งประเทศหดตัวเล็กลง ญี่ปุ่นมีประชากรจำนวนสูงสุด 128 ล้านคนในปี 2010 แต่ในปี 2019 ลดลงเหลือ 126 ล้านคน เมืองอาคิตะเองมีประชากรลดลงตลอด 25 ปีที่ผ่านมา อาคิตะจึงเป็นภาพสะท้อนเป็นอย่างดีว่า ชุมชนที่ประชากรลดลง จะมีลักษณะอย่างไร

หนังสือ Extreme Economies เขียนถึงสภาพเมืองชื่อ ฟูจิซาโตะ (Fujisato) ที่อยู่ทางเหนือของอาคิตะขึ้นไป 90 กิโลเมตร ว่า เมื่อ 10 ปีที่แล้วมีประชากร 5,000 คน ปัจจุบันเหลืออยู่ 3,500 คน ทำให้ฟูจิซาโตะกลายเป็นเมืองเล็กๆ ในญี่ปุ่นที่กำลังสูญหายไปอย่างรวดเร็ว ร้านค้าแทบทุกร้านในเมืองปิดกิจการ เพราะมีลูกค้าเหลืออยู่ไม่กี่ราย มีรายงานศึกษาระบุว่า หากแนวโน้มประชากรที่ลดลงยังดำเนินต่อไป เทศบาล 869 แห่งของญี่ปุ่นอาจจะสูญหายไปใน 21 ปีข้างหน้า

การลดลงของประชากรในหมู่บ้านอย่างฟูจิซาโตะ ยังทำให้บริการสาธารณประโยชน์ของรัฐไม่อาจจะดำเนินการต่อไปได้ เช่น สถานพยาบาลและโรงเรียน ทำให้การรวมหมู่บ้านในชนบทญี่ปุ่นกลายเป็นประเด็นร้อนที่มีการถกเถียงกันอย่างมากขึ้นมา เพราะการรวมท้องถิ่นอาจเป็นโอกาสเดียวที่จะรักษาการบริการของรถประจำทาง โรงเรียน หรือห้องสมุด ให้ดำเนินการต่อไปได้

การสูญหายของหมู่บ้านคนสูงอายุในญี่ปุ่น ยังทำให้โครงสร้างการเมืองและเศรษฐกิจเกิดความล้มเหลว โดยเฉพาะระบบประชาธิปไตยในท้องถิ่น การเลือกตั้งท้องถิ่นในปี 2015 จำนวนตำแหน่ง 1 ใน 5 ไม่มีการแข่งขัน เพราะขาดผู้ลงสมัคร กลไกตลาดเรื่องราคาก็ไม่สามารถทำงานได้ในธุรกิจที่กำลังตาย เช่น บ้านพักอาศัยในชนบทจำนวนมากในญี่ปุ่น กลายเป็นบ้านร้าง เมื่อไม่มีคนอาศัยก็ขายไม่ได้ ไม่ว่าจะราคาต่ำอย่างไร ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของญี่ปุ่นบางส่วนจึงถูกแช่แข็ง

บทเรียนจากอาคิตะ

หนังสือ Extreme Economies กล่าวว่า บทเรียนข้อแรกจากอาคิตะ คือ เศรษฐกิจสูงอายุเป็นภาวะที่ย้อนแย้ง คนเราสามารถมองเห็นว่าสิ่งนี้กำลังเกิดขึ้น แต่ก็สร้างภาวะตกตะลึงแก่คนเรา เยอรมันมีเวลาเหลืออีก 1-2 ปี ก่อนที่จะประสบปัญหาแบบเมืองอาคิตะ

ประการต่อมา เศรษฐกิจสูงอายุเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นแบบช้าๆ แต่จะส่งกระทบต่อคนที่ไม่ได้มีการเตรียมตัว การสูงอายุที่ไม่มีการเตรียมตัว ทำให้ทรัพย์สินที่สร้างขึ้นมาในช่วงการทำงาน ไม่พอใช้สำหรับการเกษียณที่ยาวนานขึ้น นอกเหนือจากแรงกดดันของสังคมสูงอายุ ที่มีต่อคนต่างวัย คือ ระหว่างคนเกษียณกับคนวัยทำงาน ที่ต้องแบกรับภาระมากขึ้น

แต่สังคมสูงวัยก็สร้างเศรษฐกิจที่เป็นแบบแผนทางการใหม่ขึ้นมาเช่นเดียวกัน ทำให้เกิดการจ้างงานใหม่หลายล้านงาน การที่ประชากรญี่ปุ่นมีชีวิตยืนนานมากขึ้น หมายความว่าพลเมืองอาวุโสเหล่านี้ต้องการสมาร์ทโฟน หรือหน้าจอ ATM ที่ออกแบบสำหรับคนสูงอายุ เป็นต้น

ญี่ปุ่นยังเป็นแบบอย่างที่ว่า สถานการณ์การสูงอายุของประชาชนกลายเป็นลู่ทางและโอกาส ทั้งในการดำเนินชีวิตและทางธุรกิจ ที่จะทำให้ชีวิตที่สูงวัยกลายเป็นเรื่องสนุกสนาน เกิดพลานามัยที่แข็งแรง และเกิดประโยชน์ในด้านต่างๆ

เอกสารประกอบ
Extreme Economies, Richard Davies, Transworld Publishers, 2019.