ThaiPublica > คนในข่าว > “20 ปี BAM” กับบทบาท Bad Bank สร้างสมดุลระบบการเงินไทย ด้วยแนวคิด “รับดูแลสินทรัพย์ชั่วคราว รอเจ้าของตัวจริงมารับไป”

“20 ปี BAM” กับบทบาท Bad Bank สร้างสมดุลระบบการเงินไทย ด้วยแนวคิด “รับดูแลสินทรัพย์ชั่วคราว รอเจ้าของตัวจริงมารับไป”

4 ธันวาคม 2019


นายบรรยง วิเศษมงคลชัย ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM

เด็กรุ่นใหม่ๆ หรือเด็ก Gen Y อาจจะเกิดไม่ทันและไม่รู้จักวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 เป็นยุคฟองสบู่แตก สถาบันการเงินล้ม ระบบการเงินมีหนี้เสียจำนวนมาก จะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปท่ามกลางสินทรัพย์มากมายที่จะต้องใช้เวลาฟื้นฟู เยียวยาให้กลับมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ใหม่ จึงได้เกิดบริษัทบริหารสินทรัพย์ หรือ asset management company (AMC) ขึ้นมาเพื่อรับบริหารหนี้เสียหรือหนี้ด้อยคุณภาพของระบบการเงินในขณะนั้น

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าสัมภาษณ์นายบรรยง วิเศษมงคลชัย ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM ในฐานะเป็นผู้ที่คลุกคลีและเป็นมืออาชีพในวงการบริหารหนี้ด้อยคุณภาพหรือ bad bank มายาวนาน เล่าถึงความเป็นมาและความสำคัญของ “บริษัทบริหารสินทรัพย์” ที่มีต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจไทย

นายบรรยงเล่าย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีที่แล้วว่า “ไม่มีใครคิดว่าธุรกิจบริหารหนี้เสียจะมาถึงวันนี้ เพราะตอนนั้น AMC ไม่เหมือนธุรกิจอื่นที่ซื้อมาขายไป และ AMC ไม่เคยมีในประเทศไทยมาก่อน กฎหมายก็เพิ่งมีในปี 2541 ส่วน BAM เกิดจากธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชยการหรือบีบีซีล้ม มีทั้งหนี้ดีหนี้เสีย หนี้ดีโอนไปที่ธนาคารกรุงไทย ส่วนหนี้เสีย 150,000 ล้านบาท ตั้งเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ ตั้งคนมาบริหาร คำว่าบริหารในตอนนั้นคือทำอย่างไรก็ได้ให้ได้เงินคืนมาภายใต้กฎหมายบริหารสินทรัพย์ เพื่อส่งเงินคืนหลวงแล้วจะได้ปิดกิจการ ไม่คิดว่า AMC จะมาเป็นกลไกสำคัญในการจัดการเอ็นพีแอลในระบบเช่นตอนนี้ ตอนนั้นไม่มีแนวคิดนี้”

นายบรรยงกล่าวว่า ที่กล่าวเช่นนี้เพราะตอนนั้นมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้อยู่แค่ 5 ปี เมื่อบริหารเงินได้ คืนหลวงแล้วก็ปิดกิจการ พอทำไปทำมา เนื่องจากที่ BAM เป็น AMC ที่ต่างจากที่อื่นอยู่หลายจุด 1. พนักงานเข้าใจเรื่องการเงินเพราะเป็นคนแบงก์มาก่อน 2. มีสาขาหลายแห่ง ปัจจุบันรวมกรุงเทพฯ มี 26 แห่ง ผลการดำเนินงานอยู่ในเกณฑ์ดี แนวนโยบายของรัฐก็เริ่มเปลี่ยนเนื่องจากพอร์ตหนี้เสียยังมีอยู่พอสมควร ในช่วงปี 2541-2543 เงินบ้านเรายังไม่ค่อยมีเงิน เอ็นพีแอลในระบบยังเยอะอยู่เต็มประเทศ ในระดับ 30-40% แม้จะโอนให้ AMC แล้วก็ตาม ในปี 2545 จึงให้ขยายขอบเขตการทำธุรกิจได้

นายบรรยง วิเศษมงคลชัย

“ตอนนั้นได้คุยกับทางแบงก์ชาติว่าอย่าปิดเลย เพราะต้องเลย์ออฟคนออก เศรษฐกิจไทยเองยังไม่ค่อยฟื้นตัวได้ดีเท่าไหร่ ขณะนั้น BAM มีพนักงานประมาณ 2,000 คน ก่อนหน้านั้นเลย์ออฟจนเหลือประมาณ 800 คน ซึ่งถ้ายังเอาออกต่อไปรัฐบาลก็ต้องดูแลอยู่ดีไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม ทำให้แนวนโยบายของรัฐบาลเริ่มเปลี่ยนว่าจากที่จะปิด ก็ให้ขยายขอบเขตได้ เพื่อช่วยเหลือพนักงานให้มีงานทำต่อไป และเอ็นพีแอลในระบบมันยังเยอะอยู่ ช่วยเหลือการบริหารหนี้เสียในประเทศต่อไปด้วยดีกว่า กระทรวงการคลังกับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินจึงเห็นชอบด้วยกัน แต่มีเงื่อนไข 2 ข้อ 1. อย่าทำขาดทุน 2. หาเงินเองในการซื้อหนี้ด้อยคุณภาพมาบริหารเอง

นายบรรยงเล่าว่า เงินที่ทางการอุ้มช่วยบีบีซีก่อนหน้านี้วงเงิน 54,000 ล้านบาท เป็นเงินหลวงที่ต้องคืนหลวง หากคุณเพิ่มพอร์ตไปซื้อหนี้เข้ามาเพิ่ม ถ้าขาดทุนอีกก็จะเป็นภาระหนักกว่าเดิม จึงต้องหาเงินซื้อของมาบริหารเอง เพื่อให้พนักงานมีงานทำต่อไป พอร์ตแรกที่ซื้อมาคือพอร์ต AMC พญาไท ของแบงก์ทหารไทย ก็วิน-วิน นี่คือหน้าที่ของ AMC ทำให้แบงก์ทหารไทยอยู่ได้ สามารถจำหน่ายหนี้เสียให้ BAM ได้ หมายความว่าระบบการเงินมันต้องพึ่งพากัน ระหว่าง “good bank-bad bank” เป็นตัวอย่างแรกของ AMC ที่ได้ช่วยธนาคารพาณิชย์ในระบบให้คงอยู่ ช่วยให้ทหารไทยเพิ่มทุนได้ในช่วงปี 2546 นี่เป็นตัวอย่างของบทบาทและประโยชน์ของ AMC

“เราได้สินทรัพย์มาบริหาร คนก็ไม่ต้องเลย์ออฟ ทหารไทยก็ดีขึ้นเพิ่มทุนได้ สังคมก็ดีขึ้น เพราะหนี้ที่ซื้อมาจากทหารไทย เราจ่ายดอกเบี้ยปีที่ 6 จ่ายต้นเงินสุดท้ายปีที่ 12 เงินที่เราบริหารได้มา ทำให้ BAM ทำหน้าที่รับซื้อรับโอนหนี้จากระบบการเงินมาเรื่อยๆ จนถึงตอนนี้ซื้อมาเป็นร้อยๆ กอง”

จากนโยบายของผู้ถือหุ้นที่ย้ำว่า ต้องไม่ทำขาดทุน และต้องหาเงินเอง ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา BAM ก็ทำได้มาโดยตลอด

“เงินที่เคยใส่มา 54,000 ล้านบาท ได้แปลงเป็นหนี้ 41,000 ล้านบาท แปลงเป็นทุนจดทะเบียน 13,000 ล้านบาท ได้จ่ายคืนหนี้หลวงครบหมดแล้ว และทุน 13,000 ล้านบาทนี้ ได้จ่ายปันผลให้กับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ไปกว่า 1 แสนล้านแล้ว หากรวมหนี้ด้วย BAM จ่ายคืนหลวงไปแล้วประมาณ 200,000 ล้านบาท

AMC เติมเต็มระบบการเงินไทยให้สมดุล

ด้วยบทบาทของ BAM ที่รับซื้อพอร์ตหนี้ด้อยคุณภาพของระบบการเงินมาบริหาร นายบรรยงเล่าว่า ด้วยบทบาทนี้ทำให้ระบบการเงินมีความสมดุลขึ้น ซึ่งหนี้เสียในระบบมีหลาย AMC มารับซื้อไปบริหาร หรือแม้แต่แบงก์พาณิชย์เองก็ช่วยกำจัดหนี้ด้อยคุณภาพในระบบให้ลดลง ดังนั้น การมี AMC ทำให้หนี้เสียในระบบลดลง ปัจจุบันทั้งระบบมีหนี้เสียประมาณ 3% ถือว่าระบบการเงินของไทยแข็งแรง

“การที่มี AMC เป็นสิ่งที่ดี หากเทียบกับเมื่อตอนวิกฤติ หนี้เสียเพิ่มขึ้นจำนวนมาก เจ๊งทั้งประเทศ หนี้ดีหนี้เสียอยู่ในกองเดียวกัน ราคาก็ตก ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ตกวูบเลย ความเสียหายเกิด คนที่มีกำลังเงินก็มาชอปของถูกๆ ไป แต่ปัจจุบันไม่ใช่อย่างนั้น แบงก์พาณิชย์เลือกขายได้ คัดมาขายได้ราคาตลาด AMC ก็ได้ของตามกำลังที่ทำได้ และไม่มีใครกดราคา ปัจจุบันมี AMC หลาย 10 แห่ง ต่างคนต่างเข้าไปประมูล ทำให้กลไกตลาดเดินหน้าได้ ตลาดมันสมดุล นี่เป็นจุดที่ว่าทำไม BAM ต้องเข้าตลาดหลักทรัพย์”

นายบรรยงกล่าวต่อถึงสาเหตุว่าทำไม BAM ต้องเข้าตลาดหลักทรัพย์ โดยมีความตั้งใจคือต้องการให้มี bad bank ที่อยู่ในระบบการเงินที่ถาวร ฝังตัวอยู่ในระบบการเงินเลย ที่ทำงานแบบพึ่งพากันและเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน หากอยู่ในระบบแล้วเดินได้ก็ควรอยู่ในระบบเลย 20 ปี ที่ BAM เดินมา มันพิสูจน์ได้ มีการเติบโต ขยายสินทรัพย์ รับซื้อรับโอนหนี้ด้อยคุณภาพเพิ่มได้ โดยแหล่งเงินทุนมาจากการออกหุ้นกู้ กู้แบงก์ เป็นต้น ดังนั้น เงินที่ได้จากระดมทุนในการเข้าตลาดหุ้นครั้งนี้ก็จะไปชำระหนี้ ไปซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเพิ่มขยายพอร์ต

“ที่ผ่านมา เราขยายพอร์ตหนี้ด้อยคุณภาพ ทำให้สินทรัพย์รวมเติบโตเฉลี่ยปีละ 7% เมื่อบริหารได้เงินมาก็ไปซื้อของใหม่ ทำต่อมาเรื่อยๆ จากหนี้ด้อยคุณภาพที่เราเคยมี 150,000 ล้านบาท วันนี้มีหนี้ด้อยคุณภาพที่เป็นเอ็นพีแอลตามมูลค่าภาระหนี้เกณฑ์สิทธิ 400,000 กว่าล้าน (มูลค่าทางบัญชีประมาณ 80,000 ล้านบาท ซึ่งมีหลักประกันตามมูลค่าประเมินประมาณ 190,000 ล้านบาท) ส่วนเอ็นพีเอตามราคาประเมินประมาณ 55,000 ล้านบาท (มูลค่าทางบัญชีประมาณกว่า 20,000 ล้านบาท)

สินทรัพย์รอการขายของ BAM

“นั่นหมายถึงว่าอนาคตของ BAM ถ้ารู้จักพัฒนาเอ็นพีเอ ทำการขาย พอจะมีผลงานทำต่อไป มีผลตอบแทนที่ดี สำหรับเอ็นพีเอ ถ้าประเทศไทยยังมีการเติบโตอยู่ มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ราคาที่ดินก็เพิ่มขึ้นมาต่อเนื่อง มูลค่าสินทรัพย์ส่วนใหญ่ของประเทศมักจะมีแนวโน้มขาขึ้น”

แนวคิดหลักช่วยคนล้มให้ไปต่อได้ – รับดูแลสินทรัพย์ชั่วคราว

สำหรับแนวทางการพัฒนาเอ็นพีเอนั้น นายบรรยงเล่าต่อว่า “เรามีแนวคิดในการบริหารเอ็นพีเอว่า ไม่ใช่ของเรานะ เราถือแค่ชั่วคราว ถือรอเจ้าของจริง เรามีเอ็นพีเอกว่า 50,000 ล้านบาท เราไม่ต้องการกอดเอาไว้นานๆ แต่เรามองว่าเป็นการสูญเสียโอกาสของประเทศ หากมีเอ็นพีเอของประเทศเยอะ และหาก BAM ถือเอ็นพีเอไว้เยอะๆ มันเป็นการสูญเปล่าของระบบเศรษฐกิจ เราพยายามส่งต่อไปยังผู้ประกอบตัวจริง เรารอเจ้าของ เพราะที่นา โกดัง ฯลฯ หากอยู่กับเราก็ไม่มีประโยชน์ หากเราขายออกไปยังเจ้าของจริง ภาคการผลิต ภาคเศรษฐกิจจริงได้ทำงานของมัน เกิดประโยชน์กับระบบโดยรวม เรามีหน้าที่แค่พักของ ทำของให้มันดีขึ้น ทำให้มูลค่าไม่เสียหาย และบวกมูลค่าเพิ่มให้ลูกค้า ให้ผู้ถือหุ้น โดยการปรับปรุงทรัพย์ การดูแลทรัพย์ไม่ให้ถูกทำลาย หาวิธีการตลาดที่เปิดกว้างหลายช่องทางเพื่อส่งเสริมการขาย”

“จะเห็นว่าผลงานของ BAM ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีแต่ขึ้นทุกปี เงินหลวงจาก 54,000 ล้านบาท มันงอกเพิ่มขึ้นเป็นหลายแสนล้าน (จ่ายคืนกองทุนฟื้นฟูฯ ประมาณ 200,000 ล้านบาท รวมกับสินทรัพย์ในปัจจุบัน 400,000 กว่าล้านบาท) แสดงว่า BAM ได้ทำหน้าที่เชิงนโยบายที่ช่วยสร้างความสมดุลของระบบการเงิน และได้คืนเงินชดเชยความเสียหายของกองทุนฟื้นฟูฯ ในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งได้ทั้งหมดและมากกว่าเงินที่ใส่มา และในอนาคต BAM ยังทำหน้าที่ได้มากกว่าเดิม เพราะมีกำลังมากขึ้นหากได้เข้าตลาดหลักทรัพย์ ประกอบกับพนักงานของ BAM มีประสบการณ์บริหารสินทรัพย์/หนี้ด้อยคุณภาพมา 20 ปี มีเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศ นับเป็นข้อได้เปรียบ”

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการขึ้นลงของเศรษฐกิจไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เป็นโอกาสของ BAM ทุกปี ปีที่เศรษฐกิจดี สภาพคล่องดี BAM ขายของได้ดี ปีไหนที่เศรษฐกิจไม่ค่อยดี จีดีพีโตต่ำ หนี้เสียออกมาเยอะ ก็เป็นโอกาสในการรับซื้อรับโอนพอร์ตหนี้ด้อยคุณภาพในราคาที่ดี มีของมาขายให้เลือกเยอะ ส่วนใหญ่ BAM เลือกซื้อหนี้ที่มีหลักประกัน จึงเป็นข้อดีของ BAM ที่ปัจจุบันมีเอ็นพีเอและเอ็นพีแอลที่มีหลักประกัน รวมกันประมาณกว่า 200,000 ล้านบาท

“ที่ผ่านมาลูกค้าเอ็นพีแอลที่มาเป็นลูกหนี้ของ BAM สามารถฟื้นฟูจนหลุดจากภาระหนี้ได้กว่าแสนราย คิดเป็นเงินประมาณ 90,000 ล้านบาท และที่สำคัญลูกหนี้ด้อยคุณภาพที่มาอยู่กับ BAM เราไม่เน้นการทำกำไรเพียงอย่างเดียว นโยบายของ AMC ที่ยั่งยืนต้องมาจากการทำธุรกิจด้วยแนวคิด ESG เราเน้นเรื่องนี้มาตั้งแต่ยุคแรกๆ เช่น โครงการคืนทรัพย์ให้คุณ หรือโครงการสุขใจได้บ้านคืน บอกเจตนาว่าบ้านคุณ หลักทรัพย์คุณ เราไม่อยากได้ เพียงแค่เราทำหน้าที่ คุณมาเอาคืนไป ด้วยเงื่อนไขที่มาคุยกัน BAM ประกาศโดยบอกลูกค้าที่เราซื้อหนี้ด้อยคุณภาพมาว่า เราจะดูแลคุณเหมือนลูกค้าที่ดีของสถาบันการเงินเดิมที่เขาเคยกู้ ตามปกติเมื่อลูกค้าผิดนัดชำระหนี้ดอกเบี้ยจะปรับขึ้นทันที แต่มาที่ BAM ก็มาผ่อนต่อที่ MLR-3”

นายบรรยงกล่าวต่อไปว่า มาตรการแบบนี้ไม่ใช่แรงจูงใจให้คนตั้งใจเป็นหนี้เสีย เพราะว่าคนที่มาวันนี้ไม่เหมือนตอนวิกฤติปี 2540 ที่มีล้มบนฟูก แต่วันนี้คนที่กลายเป็นหนี้เสียเข้ามาคือคนที่มีปัญหาจริงๆ ไม่มีใครอยากจะทำตัวเองให้มีปัญหา คนที่มาที่เราเขาล้มคลุกฝุ่นมาเลย คือปรับแก้ไขจนมันไม่ไหวแล้วจริงๆ จนธนาคารไม่ไหวแล้ว บริษัทต้องพยายามช่วยเหลือพยุงเขากลับมา อย่าไปซ้ำเติมเขาอีก

“ผมไปนั่งฟังลูกค้าเวลามาเจรจา จะรู้ว่าเขาต้องการอะไร เวลาคนเป็นหนี้เขาก็อยากมาคุย เขาก็จะมาก่อนเวลาหลายชั่วโมง เขาไม่อยากมาสายลางานมาได้วันเดียว พอไปนั่งคุยก็เห็นปัญหา ผมถามว่าป้ามาทำอะไร ป้าบอกว่าอยากได้บ้านคืน สามีเขาไปมีภรรยาอีกคน ก็ไปผ่อนหลังนั้น บ้านที่ป้าอยู่ไม่ผ่อนแล้ว ป้าเขาอยู่กับลูก อยากได้บ้านคืน ถามผมว่าจะเอาคืนได้ไหม ผมก็ให้พนักงานที่นัดลูกหนี้มาคุย ก็บอกว่ามีวิธีแบบนี้นะ มีรายได้แค่ไหน ไม่มี มีลูกไหม กี่คน ป้าบอกมีสองคน เราก็เออเอามาช่วยผ่อนต่อเหมือนผ่อนธนาคารเลย เขาก็จากสีหน้าเหี่ยวมาเลยก็ดีขึ้น โล่งใจขึ้นมา แล้วเวลาคุยลูกค้าแต่ละคน ปัญหามันแตกต่างกันมาก ต้องลงไปนั่งคุยเป็นรายเคส”

นี่คือแนวคิดที่เราจะไปช่วยลูกค้า กำไรที่เราได้เกิดจากกำไรที่เราไปดูแลคน ไปช่วยลูกค้า หากเราต้องการกำไรดี ก็ไปบังคับขายทอดตลาด แบบนั้นเป็นการทำร้ายเขา แต่ BAM ไม่ทำเช่นนั้น เราดูแลความสมดุลกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของเราทุกกลุ่ม เอื้อต่อการเจริญเติบโตของระบบเศรษฐกิจ

นายบรรยงกล่าวเพิ่มเติมว่าอีกเหตุผลหนึ่งที่เข้าตลาดหลักทรัพย์คือต้องการเป็นเอกชน โดยลักษณะธุรกิจ AMC ต้องเป็นเอกชน การขายหรือพัฒนาอสังหาริมทรัพย์คงทำแบบรัฐไม่ได้ เพราะคู่แข่งคือเอกชน แม้ว่า BAM ตั้งมาจากเหตุบังเอิญที่มีวิกฤติและการเป็นรัฐวิสาหกิจก็เป็นเหตุบังเอิญที่รัฐบาลต้องเข้ามาอุ้ม เพราะตอนนั้นไม่มีใครทำ AMC ได้ ดังนั้นถ้าบริษัทมันเริ่มเดินไปได้ รัฐบาลควรปล่อยให้เดินไปตามระบบเศรษฐกิจเอง

“ตัวอย่างการบริหารจัดการ เช่น ที่ดินบนเขาใหญ่ ถ้าเราเป็นรัฐคงไปไม่ได้ คือถ้าเราขายแบบภาครัฐมันมีปัญหามาก เพราะของหลวงจะขายต่ำกว่าราคาประเมินไม่ได้ ตอนที่ผมทำที่ BAM มีคำถามว่าคุณไม่กลัวหรือ ไปขายที่ของหลวงต่ำกว่าราคาประเมิน ผมก็บอกว่าไม่ได้ขายต่ำกว่าทุกแปลง บางแปลงก็สูงกว่า บางแปลงก็ต่ำกว่า คือเราขายตามราคาตลาด ราคาประเมินคือราคาโดยประมาณ ผมต้องเปิดพจนานุกรมเลยนะ แต่ราคาตลาดขึ้นอยู่กับอุปสงค์อุปทานหรือความต้องการ ถ้าราคาประเมิน 100 ผมบอกว่าถ้าไม่ขายผมเจ๊งเลยนะถ้าจะเอา 100 บาททุกแปลง เพราะต่อให้ซื้อมาถูกแต่ขายไม่ได้มันก็ไม่รอด ต้นทุนการเงินมันมี พนักงานต้องมีเงินเดือนทุกเดือนอีก มันก็ต้องเป็นเอกชน”

นายบรรยง วิเศษมงคลชัย

เชื่อเทคโนโลยียังไม่กระทบ แต่ต้องเตรียมพร้อม

นายบรรยงกล่าวต่อไปถึงการเข้ามาของเทคโนโลยีการเงินต่างๆ ที่จะเข้ามา disrupt ระบบการเงินว่า บริษัทยังมีเวลาปรับตัวและเตรียมตัว เนื่องจากธุรกิจการบริหารหนี้ด้อยคุณภาพ ต้องอาศัยคนที่รู้ระบบกฎหมาย รู้วิธีการเจรจาที่เหมาะสม ซึ่งต้องใช้เวลาในการฝึกฝนตลอดเวลา นอกจากนี้ ลูกค้าแต่ละคนมีปัญหาไม่เหมือนกัน ต้องอาศัยการพูดคุยของคนที่มีความเห็นใจ ความเข้าใจ สร้างความเชื่อใจกับลูกค้าว่าจะไปช่วยเหลือจริงๆ ไม่ใช่มุ่งเน้นเอากำไร หรือการขายที่คนต้องเชื่อใจว่าคุณไม่ได้ตั้งใจไปหลอกเขา คุณตั้งใจขายของที่มีคุณภาพ แล้วมีความรับผิดชอบ ซึ่งเทคโนโลยียังไม่สามารถมาทดแทนได้ง่าย

“อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้อยู่นิ่ง เราทำแผนการทำงานที่จะเอาระบบเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้การทำงานเร็วขึ้น ไม่ซ้ำซ้อน อย่างเช่นสามารถดูสินทรัพย์เบื้องต้นได้ แต่ถามจริงๆ เวลาจะซื้อที่ดินหรือบ้าน คุณจะไม่ดูบ้านก่อนซื้อเลยสักครั้งหรือ แบบนี้ถ้าไม่เจอหน้ากันโอกาสขายสำเร็จมันยาก ผมเชื่อว่ามันจะเป็นแบบนี้อยู่อีกนาน แต่เราก็เสริมเครื่องมือใหม่ๆ เข้าไปด้วยได้”

นอกจากนี้ ธุรกิจการเงินที่กำลังถูก disrupt แต่ในมุมมองของบริษัทบริหารสินทรัพย์ ตราบใดที่ยังมีสินเชื่อ ยังมีหนี้เสีย บริษัทยังสามารถดำเนินต่อไปได้ แม้ว่าสัดส่วนจะไม่มากแต่มูลค่าก็ไม่น้อย ขณะที่ธนาคารก็เปิดช่องให้ขยายธุรกิจไปในทิศทางของเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่ ขณะเดียวกันยังสามารถขยายไปยังภูมิภาคอาเซียน ตามธนาคารของไทยที่ออกไปก่อนหน้านี้แล้ว หรือธุรกิจที่เกี่ยวโยงอย่างการประเมินราคา ซึ่ง BAM มีฐานข้อมูลอยู่แล้ว