ThaiPublica > เกาะกระแส > คลังจับมือ กสศ.บูรณาการ Big Data เด็กยากจน 1.7 ล้าน เคาะประตูบ้านถึงตัวเด็กได้จริง ไม่ให้ใครตกหล่น

คลังจับมือ กสศ.บูรณาการ Big Data เด็กยากจน 1.7 ล้าน เคาะประตูบ้านถึงตัวเด็กได้จริง ไม่ให้ใครตกหล่น

24 พฤศจิกายน 2019


นายพงศ์นคร โภชากรณ์ ผู้อำนวยการส่วนการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

คลังจับมือ กสศ.บูรณาการ Big Data เด็กยากจน 1.7 ล้าน ไม่ให้ใครตกหล่น เดินหน้านโยบายลดความเหลื่อมล้ำร่วมกัน มุ่งช่วยตรงปัญหาทั้งพ่อแม่ลูก ตัดวงจรยากจนข้ามชั่วคน

เมื่อวันที่ 22 พ.ย.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดสัมนาหัวข้อ “ก้าวต่อไปของการช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษ” นายพงศ์นคร โภชากรณ์ ผู้อำนวยการส่วนการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า ที่ผ่านมา กสศ.ได้เชิญกระทรวงการคลังไปให้ข้อเสนอแนะเรื่องการดำเนินการช่วยเหลือเด็กยากจนมาโดยตลอด และได้มีการหารือร่วมกัน โดยเฉพาะแนวทางการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลผู้มีรายได้น้อยจำนวน 14.6 ล้านคน ซึ่งในกลุ่มนี้ราว 10.8 ล้านคน เป็นกลุ่มที่มีรายได้อยู่ใต้เส้นความยากจนคือระหว่าง และในจำนวนนี้ ราว 1.2 ล้านคนได้มาลงทะเบียนระบุว่ามีบุตร โดยจำนวนประชากรอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่เป็นบุตรของพ่อแม่ที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนกลุ่มนี้ มีอยู่ประมาณ 1.7 ล้านคน กระจายตัวอยู่ในกลุ่มครอบครัว ดังนี้

    1.กลุ่ม A รายได้ครอบครัว 0 -10,000 บาทต่อปี มีจำนวน 888,000 คน
    2.กลุ่ม B รายได้ครอบครัว 10,001-20,000 บาทต่อปี มีจำนวน 360, 000 คน
    3.กลุ่ม C รายได้ครอบครัว 20,001-30,000 บาทต่อปี มีจำนวน 450,000 คน

“ทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง มีข้อมูลพ่อแม่ และชื่อ ที่อยู่ของเด็กทั้งหมด ในอนาคต เมื่อหารือกับท่านปลัดกระทรวงการคลัง และมีการ MOU ร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลังและกสศ. ก็สามารถนำข้อมูลกระทรวงการคลังไปศึกษาวิเคราะห์ ออกนโยบายลดความเหลื่อมล้ำร่วมกัน จะเป็นประโยชน์กับทั้งสองหน่วยงาน ทางกสศ. จะได้ชื่อของพ่อแม่ของเด็กๆที่ยากจนในทุกพื้นที่ กสศ.ที่ช่วยเหลือ ซึ่งอาจเกิดการตกหล่น ถ้าเอารายชื่อกระทรวงคลัง ไปเทียบตรวจสอบซ้ำอีกครั้ง กสศ.สามารถเดินเคาะประตูบ้านถึงตัวเด็กได้จริง เราอยากช่วยให้สวัสดิการที่รัฐบาลได้ดำเนินการผ่านหน่วยงานต่างๆ ไปถึงพ่อแม่ของเด็กยากจนจริงๆ เพื่ออานิสงค์จะไปถึงลูกของคนกลุ่มนี้ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เป็นเครื่องยืนยันว่ารัฐบาลไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง รวมถึงเป็นการขจัดความยากจนไม่ให้ส่งต่อไปถึงรุ่นลุกรุ่นหลานอีกด้วย” นายพงศ์นครกล่าว

นายพงศ์นคร กล่าวต่อว่า เด็กที่ยากจนก็เพราะพ่อแม่จน และมาจากสาเหตุมากกมาย เช่น ไม่ได้รับการศึกษา ไม่มีงานทำ บางคนพิการ รวมถึงความแตกต่างของพื้นที่ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลให้สาเหตุความยากจนต่างกันด้วย เช่น หากพ่อแม่อยู่ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน อาจเกิดจากไม่มีที่ดินทำกิน ขณะที่ พ่อแม่ที่อยู่จังหวัดปัตตานีอาจเป็นเพราะเหตุการณ์ความไม่สงบส่งผลให้ทำงานได้ไม่เต็มที่ ทั้งสองครอบครัวนี้ก็ต้องได้รับการช่วยเหลือที่แตกต่างกัน โครงการสวัสดิการของรัฐต่างๆ ก็มุ่งเน้นมาตรการที่เน้น Tailor-made มากขึ้น

ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

ด้านดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า เร็วๆนี้ ทางกสศ.จะเข้าพบ ปลัดกระทรวงศึกษาการคลังและผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจการคลัง เพื่อขยายผลความร่วมมือการทำงานด้านฐานข้อมูล ทั้งในส่วนฐานข้อมูลนักเรียนยากจนพิเศษกว่า 7 แสนคน จากระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางกาศึกษา ของกสศ. และฐานข้อมูลผู้มีรายได้น้อยของก.คลัง เมื่อข้อมูลของทั้งสองหน่วยงานเชื่อมต่อกันจะสามารถติดตามและตรวจสอบความถูกต้อง ได้ตลอดวงจรความช่วยเหลือ ทั้งครอบครัว พ่อแม่ลูก

“เช่น เราเคยพบกรณีที่ครูในโครงการทุนเสมอภาคของ กสศ. ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านและพบครัวเรือนยากจนที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนในโครงการสวัสดิการแห่งรัฐอันเนื่องมาจากไม่มีค่าเดินทางไปที่ธนาคารในตัวเมือง ทาง กสศ. ก็พร้อมที่จะส่งข้อมูลให้แก่กระทรวงการคลังเพื่อไม่ให้มีเด็กคนใดตกหล่นแม้แต่คนเดียว เรื่องนี้เป็นก้าวสำคัญของการจับมือระหว่างหน่วยงาน เพื่อช่วยกันหยุดความยากจนข้ามชั่วคน ไม่ให้ส่งต่อไปถึงรุ่นลูกหลาน นอกจากนั้น กสศ. ยังสนใจที่จะร่วมทำงานด้านข้อมูลกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โดยเฉพาะการใช้ Big Data ของทั้ง 2 หน่วยงานมาบูรณาการปรับปรุงมาตรการลดความเหลื่อมล้ำในมิติต่างๆให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากขึ้น”

ดร.ไกรยส กล่าวว่า กสศ. ตั้งใจจะทำงานคือร่วมมือกับภาคีให้มากขึ้น ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการทำงานวิจัยที่มีความลุ่มลึกมากขึ้น การจัดสรรความช่วยเหลือไปถึงมือเด็กไม่ใช่เป็นจุดสิ้นสุด แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งมีมิติหลายอย่างไม่ใช่แค่โจทย์เฉพาะทางเศรษฐศาสตร์ ยังจะต้องทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมถึงความร่วมมือ องค์การสหประชาชาติ องค์การยูเนสโก และ ศูนย์วิจัย J-PAL แห่งมหาวิทยาลัย MIT เพื่อสนับสนุนงานวิจัยด้านการประเมินผลโครงการด้วยกระบวนการที่มีมาตรฐานได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ เพื่อนำกลับมาปรับปรุงการทำงานของ กสศ. ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้นในอนาคต

ป้ายคำ :