ThaiPublica > เกาะกระแส > เจาะข้อมูลผู้ถือหุ้น 3.3 ล้านรายการ นักวิจัยชี้ ภาคธุรกิจไทยกระจุกตัวสูง แนะเพิ่มการแข่งขัน

เจาะข้อมูลผู้ถือหุ้น 3.3 ล้านรายการ นักวิจัยชี้ ภาคธุรกิจไทยกระจุกตัวสูง แนะเพิ่มการแข่งขัน

15 ตุลาคม 2019


ดร. กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ (ซ้าย)

เจาะข้อมูลผู้ถือหุ้น 3.3 ล้านรายการ นักวิจัยชี้ ภาคธุรกิจไทยกระจุกตัวสูง แนะเพิ่มการแข่งขัน

งานวิจัยของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ โดย ดร. กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ และ ดร. ชานนทร์ บรรเทิงหรรษา ซึ่งวิเคราะห์ข้อมูลผู้ถือหุ้นของบริษัทในประเทศไทยกว่า 3.3 ล้านรายการ ครอบคลุมธุรกิจที่จดทะเบียนกว่า 8.8 แสนราย และผู้ถือหุ้นกว่า 2.1 ล้านราย ได้ฉายภาพโครงสร้างความเป็นเจ้าของของภาคธุรกิจไทยหลายประการ

ผู้วิจัยพบว่า รายการการถือครองหุ้นโดยตรงในสัดส่วนที่น้อยกว่า 1% ของจำนวนหุ้นในแต่ละบริษัทมีจำนวนมากที่สุด รองลงมาเป็นการถือหุ้นระหว่าง 49-50% และการถือหุ้นมากกว่า 99% ตามลำดับ ซึ่งรายการการถือหุ้นต่ำกว่า 1% หรือสูงกว่า 99% ที่มีจำนวนมากนั้นเป็นการสะท้อนถึงข้อบังคับของการกำหนดจำนวนผู้ถือหุ้นขั้นต่ำของบริษัทจดทะเบียนที่ยังมีผลบังคับใช้ในปี 2560 ส่วนรายการการถือหุ้นในสัดส่วน 49-50% มีจำนวนค่อนข้างสูงสะท้อนถึงข้อจำกัดทางกฎหมายของการถือครองหุ้นในบางธุรกิจ หรือการประกอบการธุรกิจร่วมทุนที่ฝ่ายหนึ่งต้องการถือหุ้นเกินกึ่งหนึ่งเพื่อควบคุมการดำเนินกิจการของบริษัท

เมื่อนักวิจัยได้วิเคราะห์เครือข่ายการถือหุ้นระหว่างบริษัทในภาคธุรกิจไทยโดยนิยามว่าบริษัทสองแห่งมีความสัมพันธ์ผ่านการถือหุ้นเมื่อบริษัทหนึ่งถือหุ้นโดยตรงในอีกบริษัทหนึ่งอย่างน้อย 20% ผลการวิเคราะห์พบว่าภาคธุรกิจไทยมีกลุ่มทุนจำนวน 9,068 กลุ่ม โดยกลุ่มทุนมีความหลากหลายทั้งในมิติของจำนวนบริษัทในกลุ่ม มูลค่าสินทรัพย์ และประเภทของอุตสาหกรรม โดยกลุ่มทุนส่วนมากประกอบด้วยบริษัทเพียง 2-3 บริษัท มีเพียง 13 กลุ่มทุนเท่านั้นที่มีบริษัทในกลุ่มมากกว่า 100 บริษัท

ดร. กฤษฎ์เลิศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์นั้น การที่บริษัทแต่ละบริษัทในกลุ่มทุนมีสถานะเป็นนิติบุคคลโดยตัวเองแทนที่จะเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทใหญ่บริษัทเดียวมีข้อดีหลายประการต่อการทำธุรกิจ

ประการแรก การจดทะเบียนธุรกิจแยกเป็นหลายบริษัททำให้โครงสร้างการถือหุ้นของแต่ละบริษัทมีความยืดหยุ่น ทำให้กลุ่มธุรกิจสามารถระดมทุนจากผู้ถือหุ้นรายย่อยอื่น ๆ ที่มีความสนใจและมีความต้องการที่หลากหลายให้เข้ามาร่วมทุนในแต่ละบริษัทที่ดำเนินธุรกิจต่าง ๆ กันได้ ตามความต้องการของผู้เข้ามาร่วมลงทุน ในขณะเดียวกันกลุ่มทุนก็ยังสามารถควบคุมการบริหารงานของธุรกิจได้อยู่ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่

ประการที่สอง การระดมทุนจากผู้ถือหุ้นภายนอกกลุ่มยังรวมถึงการทำธุรกิจร่วมทุน (joint venture) กับพันธมิตรจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งทำให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีการผลิตและขยายตลาดสินค้าใหม่ๆ ที่ตนยังไม่มีความชำนาญได้มากขึ้น

ประการที่สาม การแบ่งธุรกิจออกเป็นบริษัทย่อยยังอาจช่วยเพิ่มกำไรให้กลุ่มธุรกิจโดยรวมในกรณีที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมวิสาหกิจขนาดเล็ก เช่น การเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำกว่าบริษัทขนาดใหญ่

ประการสุดท้าย บริษัทแต่ละบริษัทเป็นนิติบุคคลที่มีขอบเขตความรับผิดชอบต่อหนี้สินที่จำกัด (limited liability) ในกรณีที่บริษัทใดบริษัทหนึ่งประสบปัญหาทางการเงินและล้มละลาย พันธะผูกพันต่อหนี้สินจึงไม่ส่งต่อไปยังผู้ถือหุ้นและบริษัทอื่น ๆ ในกลุ่ม

อย่างไรก็ตาม โครงสร้างความเป็นเจ้าของในภาคธุรกิจที่กลุ่มทุนมีบทบาทสูงมีนัยต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมหลายประการ

ประการที่หนึ่ง คือ นัยต่อการวัดการกระจุกตัวของภาคธุรกิจ ซึ่งการที่บริษัทหลายแห่งมีเจ้าของร่วมกันและมีการตัดสินใจทางธุรกิจร่วมกันนั้นทำให้การวัดการกระจุกตัวของอุตสาหกรรมต้องพิจารณาความเป็นเจ้าของร่วมกันของบริษัทต่าง ๆ ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมที่มีบริษัทหลายรายในกลุ่มทุนเดียวกันประกอบกิจการนั้น ๆ สำหรับประเทศไทย อุตสาหกรรมที่กลุ่มทุนมีผลต่อการกระจุกตัวสูงสุด ได้แก่ การผลิตสุรา การผลิตเบียร์ การค้าส่งเครื่องดื่ม

ประการที่สอง คือ นัยต่อการวัดการกระจายตัวของรายได้และสินทรัพย์ธุรกิจของครัวเรือน เนื่องจากการถือครองหุ้นในบริษัทเป็นการถือครองสินทรัพย์ธุรกิจ (corporate wealth) ประเภทหนึ่งของครัวเรือน และในทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ ผลกำไรของบริษัทซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์ดังกล่าวอาจนับได้ว่าเป็นรายได้ส่วนหนึ่งของครัวเรือน ถึงแม้ว่ากำไรดังกล่าวอาจจะยังมิได้ถูกแจกจ่ายเป็นเงินปันผลให้ครัวเรือนก็ตาม ซึ่งผลการศึกษาพบว่า ในปี 2560 ผู้ถือหุ้น 500 คนมีสัดส่วน 30% ในกำไรรวมของภาคธุรกิจไทย โดยสัดส่วนนี้คิดเป็นกำไรเฉลี่ย 3,098 ล้านบาทต่อคน นอกจากนี้ มูลค่ารวม (ทางบัญชี) ของส่วนผู้ถือหุ้น (total equities) สูงสุด 500 คน มีสัดส่วนถึง 36% ของภาคธุรกิจทั้งหมด

ในตอนท้าย ดร. กฤษฎ์เลิศ ได้สรุปว่าการกระจุกตัวในมิติของความเป็นเจ้าของที่สูงมีนัยต่อความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่งและรายได้ของครัวเรือน แต่เนื่องจากความเหลื่อมล้ำในมิตินี้เกิดจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าของสินทรัพย์ที่ยังไม่ได้แจกจ่ายให้ครัวเรือน การลดความเหลื่อมล้ำในมิตินี้จึงต้องเป็นการลดความเหลื่อมล้ำในภาคธุรกิจ ซึ่งไม่สามารถทำได้โดยนโยบายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือเงินช่วยเหลือที่ให้แก่ครัวเรือน

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการกระจุกตัวของความเป็นเจ้าของมีความสัมพันธ์ต่อการกระจุกตัวของการผลิต การลดความเหลื่อมล้ำในภาคธุรกิจโดยนโยบายภาษีเงินได้นิติบุคคลอาจก่อให้เกิดผลกระทบทางลบต่อการจ้างงานและธุรกิจรายย่อยที่ต้องพึ่งพิงธุรกิจรายใหญ่ นโยบายที่เหมาะสมจึงควรเป็นการส่งเสริมการแข่งขันเพื่อลดกำไรอันเกิดจากการผูกขาด และเพิ่มการกระจายกำไรไปสู่ผู้ผลิตมากรายยิ่งขึ้น ทั้งนี้ นโยบายส่งเสริมผู้เล่นรายใหม่โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมต้องคำนึงถึงมิติด้านความเป็นเจ้าของด้วย โดยหลีกเลี่ยงการส่งเสริมธุรกิจรายใหม่ที่มีเจ้าของร่วมกับธุรกิจรายเดิม

ป้ายคำ :