ThaiPublica > เกาะกระแส > การบินไทยยืนยันแม้หนี้รวมกว่าสองแสนล้านแต่ไม่ได้อยู่ในสถานะใกล้ล้มละลาย-ผิดนัดชำระหนี้ ระบุ ASK สูงกว่าคู่แข่ง

การบินไทยยืนยันแม้หนี้รวมกว่าสองแสนล้านแต่ไม่ได้อยู่ในสถานะใกล้ล้มละลาย-ผิดนัดชำระหนี้ ระบุ ASK สูงกว่าคู่แข่ง

21 สิงหาคม 2019


บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน)ออกเอกสารข่าวระบุว่าตามที่มีข่าวเผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ว่าการบินไทยอยู่ในสถานะใกล้ล้มละลายนั้น บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ขอยืนยันไม่ได้อยู่ในสถานะใกล้ล้มละลาย

บริษัทฯ มีสถานะการเงิน โดยเฉพาะเรื่องหนี้สินลดลง คือ หนี้สินระยะยาวลดลงประมาณ 1,000 ล้านบาท และหนี้สินรวมของบริษัทฯไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่กลับลดลงประมาณ 3,000 ล้านบาท โดยมีหนี้สินรวม ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2561 จำนวน 248,264 ล้านบาท เปรียบเทียบกับ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2562 จำนวน 245,447 ล้านบาท อีกทั้ง การบินไทยมีทุนจดทะเบียนเพียง 26,989 ล้านบาท น้อยกว่าสายการบินชั้นนำ ในระดับเดียวกันมาก อาทิ เจแปนแอร์ไลน์มีทุนจดทะเบียน 52,443 ล้านบาท ออล นิปปอน แอร์เวย์ มีทุนจดทะเบียน 92,187 ล้านบาท และคาเธ่ย์แปซิฟิค มีทุนจดทะเบียน 68,032 ล้านบาท

เมื่อเทียบความสามารถกำลังการผลิตของทุนจดทะเบียนของการบินไทยที่มีน้อยกว่า การบินไทยสามารถผลิตภายใต้สัดส่วนผลผลิต (ASK) ต่อทุน ได้มากกว่าคาเธ่ย์แปซิฟิค 3 เท่า ออล นิปปอน แอร์เวย์ 6 เท่า และเจแปนแอร์ไลน์ 12 เท่า จึงเลี่ยงไม่ได้ที่บริษัทฯ ต้องใช้เครื่องมือ “เงินกู้” ในการขยายงาน ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการดำเนินงานของบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนต่ำ และบริษัทฯ ขอย้ำว่ายังไม่มีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ เพราะยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสถาบันการเงิน โดยบริษัทฯ มี TRIS Credit Rating = A Stable Outlookจึงมีความสามารถในการชำระหนี้ และ Roll Over ได้ ซึ่งใช้วิธี Roll Over หุ้นกู้และ มีเงินกู้ระยะสั้น ซึ่งเป็นเทคนิคของการบริหารจัดการทางการเงิน

ทั้งนี้ ท่ามกลางวิกฤตปัจจัยภายนอกตลอดครึ่งปีแรกของปี 2562 มีผลกระทบต่อการแข่งขันทางธุรกิจของบริษัทฯ อย่างสูง ทำให้รายได้ลดลงเมื่อเทียบกับเป้าหมาย อาทิ

  • ปริมาณการผลิต (ASK) ลดลง 4% รายได้ลดลง 2,592 ล้านบาท ซึ่งสาเหตุหลักมาจากความล่าช้าของการซ่อมเครื่องยนต์ของทางผู้ผลิต ทำให้ปริมาณการผลิตและจำนวนเครื่องบินที่ให้บริการลูกค้าลดลง
  • อัตราแลกเปลี่ยน (FX) 3.6% รายได้ลดลง 2,333 ล้านบาท
  • การปิดน่านฟ้าปากีสถานกระทบรายได้ 0.2% ทำให้รายได้ลดลง 153 ล้านบาท
  • จำนวนนักท่องเที่ยวจีนลดลง 1.2% รายได้ลดลง 795 ล้านบาท สาเหตุหลักจากเงินบาทแข็ง

นอกจากนี้ เงินบาทแข็งค่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน เศรษฐกิจโลกซบเซา ยังส่งผลให้ปริมาณนักท่องเที่ยวและกำลังซื้อของลูกค้าลดลง

อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ ไม่ได้เพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายคงที่ ที่จัดการไม่ได้ (Un-Management) แต่สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายส่วนนี้ให้อยู่ในงบประมาณได้ เช่น ค่าเสื่อมราคา ค่าเช่าเครื่องบิน อีกทั้ง ยังมีค่าใช้จ่ายอีกส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายในสกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐซึ่งเป็นผลดีจากเงินบาทแข็ง ประกอบกับราคาน้ำมันที่ลดลง จึงทำให้ต้นทุนลดลงได้บางส่วน

สำหรับโครงการจัดหาเครื่องบิน 38 ลำ รัฐบาลยังไม่อนุมัติในการจัดหา บริษัทฯ จึงยังไม่มี ความจำเป็นต้องกู้เงิน 156,000 ล้านบาท หากอนุมัติบริษัทฯ ยังต้องวางแผนในการจัดหาก่อน ดังนั้นการจัดหาเงินจะเป็นในส่วนของเงินมัดจำเท่านั้น อีกทั้งการได้มาของเครื่องบินใช้เวลาประมาณ 2 ปี กว่าจะมีการส่งมอบเครื่องบินใหม่คือ ปี 2563-2565 และบริษัทฯ ขอยืนยันว่าการจัดหาเครื่องบินดังกล่าว มีความจำเป็น

ในการดำเนินงานทางธุรกิจ โดยไม่ได้มีข้อตกลงไว้ก่อนกับผู้ขายหรือตัวแทนจำหน่ายใดๆ ทั้งสิ้น การดำเนินการจัดหาเน้นหลักธรรมาภิบาลและความโปร่งใส ทั้งนี้ เงินทุนในการจัดหาเครื่องบินที่ต้องใช้ในภาคหน้าบริษัทฯ จะดูตามความเหมาะสมกับสถานะการเงินของบริษัทฯ ในขณะนั้น หากมีสถานะการเงินที่ไม่ควรซื้ออาจจะใช้วิธี เช่าซื้อ เช่าดำเนินการ ซึ่งเปรียบเสมือนการแบ่งจ่าย ส่วนใหญ่ใช้ระยะเวลาการแบ่งจ่ายประมาณ 12 ปี ดังนั้น การได้มาซึ่งเครื่องบินจึงไม่เป็นภาระต่อสถานะการเงิน ทั้งนี้ บริษัทฯ มีเครื่องบินที่อยู่ในฝูงบิน จำนวน 103 ลำ ณ ปัจจุบัน และถ้าไม่ปลดระวางจะมีความจำเป็นต้องซ่อมใหญ่ ส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายการซ่อมบำรุงสูงมาก และไม่คุ้มค่า เมื่อเปรียบเทียบกับการไม่ซื้อเครื่องบินใหม่

นอกจากนี้ บริษัทฯ ขอชี้แจงเพิ่ม ตามที่มีการกล่าวถึงผลกระทบจากการเปิดน่านฟ้าเสรี บริษัทฯขอยืนยันว่าไม่ได้ต่อต้านนโยบายการเปิดน่านฟ้าเสรี หากแต่มีข้อพึงกังวลถึงความเท่าเทียมกันในเรื่องการแข่งขันในประเทศภายใต้ธุรกิจการบิน ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาไม่ว่าก่อนหรือหลังนโยบายการเปิดน่านฟ้าเสรีการบินไทยในฐานะสายการบินแห่งชาติไม่เคยได้รับการสงวนสิทธิ์ให้เป็นผู้ผูกขาดการบินหรือเอกสิทธิ์อื่นใด ในขณะที่สายการบินแห่งชาติของหลายๆ ประเทศ ได้รับการดูแลเป็นพิเศษในฐานะสายการบินแห่งชาติของอุตสาหกรรมการบินในประเทศนั้นๆ

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการและฝ่ายจัดการได้ร่วมกันบูรณาการกระบวนการทำงาน โดยฝ่ายจัดการอยู่ระหว่างดำเนินการปรับโครงสร้างอย่างเร่งด่วน เพื่อให้บริษัทฯ สามารถที่จะแข่งขันในอุตสาหกรรมได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการปรับกระบวนการ เรื่อง Digital Transformation โดยเฉพาะการปรับปรุง Mobile Application เป็นต้น