ThaiPublica > เกาะกระแส > ผลกระทบสงครามการค้ายังไม่จบ แม้สหรัฐฯ ชะลอการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนบางส่วน

ผลกระทบสงครามการค้ายังไม่จบ แม้สหรัฐฯ ชะลอการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนบางส่วน

15 สิงหาคม 2019


ที่มาภาพ : https://www.scbeic.com/th/detail/product/6210

EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ “ผลกระทบสงครามการค้ายังไม่จบ แม้สหรัฐฯ ชะลอการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนบางส่วน” โดยมองว่า สินค้าจีนที่ถูกชะลอการเก็บภาษีนำเข้า 10% จากเดิมวันที่ 1 กันยายน 2562 ไปเป็นวันที่ 15 ธันวาคม 2562 มูลค่า 1.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (จากทั้งหมด 2.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) ส่วนใหญ่เป็นสินค้าผู้บริโภคที่สหรัฐฯ พึ่งพาจีนสูงและสามารถหาแหล่งนำเข้าทดแทนได้ยาก

ข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ-จีนมีแนวโน้มบรรลุได้ยากในปี 2019 แม้จะมีการชะลอการขึ้นภาษี แต่ข้อพิทาททางการค้า เทคโนโลยี และล่าสุดคือสงครามค่าเงินยังเป็นประเด็นสำคัญที่ทั้งสองฝ่ายน่าจะต้องใช้เวลาในการเจรจาอีกค่อนข้างมาก

อีไอซีประเมินความเสี่ยงต่อภาคการส่งออกและการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2019 ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยนอกจากภาคการส่งออกที่มีโอกาสจะหดตัวมากกว่าคาดแล้ว สงครามการค้ายังเริ่มส่งผลกระทบกับภาคการท่องเที่ยว การลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมอีกด้วย

ทั้งนี้สินค้าจีนที่ถูกชะลอการเก็บภาษีนำเข้า 10% จากเดิมวันที่ 1 กันยายน ไปเป็นวันที่ 15 ธันวาคม มูลค่า 1.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (จากทั้งหมด 2.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) ส่วนใหญ่เป็นสินค้าผู้บริโภคที่สหรัฐฯ พึ่งพาจีนสูงและสามารถหาแหล่งนำเข้าทดแทนได้ยาก เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2019 สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ได้ประกาศรายการสินค้าจีนมูลค่า 2.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่จะถูกเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 10% ซึ่งปรับปรุงจากรายการสินค้าที่ประกาศไปช่วงก่อนหน้าเมื่อเดือนพฤษภาคม 2019 โดยรายการสินค้าที่จะถูกเก็บภาษีที่เหลือได้แบ่งออกเป็น 2 รอบ ได้แก่

1) รายการสินค้าที่จะถูกเก็บภาษีนำเข้า 10% ในวันที่ 1 กันยายน มีมูลค่าราว 1.04 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่สหรัฐฯ น่าจะหาตลาดทดแทนการนำเข้าจากจีนได้ไม่ยากนัก สินค้าในรายการนี้มีจำนวน 3,243 รายการ โดยสินค้าหมวดสำคัญในรอบนี้ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ เครื่องพิมพ์ รองเท้ากีฬา เครื่องแต่งกาย เป็นต้น ซึ่งเป็นสินค้าที่มีสัดส่วนการนำเข้าจากจีนค่อนข้างสูงแต่ไม่เกิน 70% ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าประเภทนั้นทั้งหมดและส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่หาตลาดนำเข้าทดแทนได้ไม่ยาก

2) รายการสินค้าที่จะถูกเก็บภาษีนำเข้า 10% ในวันที่ 15 ธันวาคม มีมูลค่าราว 1.56 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าผู้บริโภคที่สหรัฐฯ พึ่งพาการนำเข้าจากจีนค่อนข้างมาก สินค้าในรายการนี้มีจำนวน 555 รายการโดยสินค้าหมวดสำคัญ ได้แก่ สมาร์ตโฟน คอมพิวเตอร์พกพา เครื่องใช้ไฟฟ้า ของเล่น เป็นต้น ส่วนใหญ่เป็นสินค้าผู้บริโภคและเป็นสินค้าที่สหรัฐฯ นำเข้าจากจีนเป็นสัดส่วนราว 80-100% ของมูลค่าการนำเข้าทั่วโลก (รูปที่ 1) สะท้อนว่าสินค้าจีนในรายการนี้เป็นสินค้าที่สหรัฐฯ ยังต้องพึ่งพาจีนในระดับสูงและไม่สามารถหาตลาดอื่นทดแทนได้ในระยะเวลาอันใกล้ จึงขยายระยะเวลาเพื่อให้ผู้ประกอบการเตรียมความพร้อม นอกจากนั้นสินค้าเหล่านี้หากถูกเก็บภาษีจะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในช่วงที่เหลือของปีค่อนข้างมากเนื่องจากส่วนใหญ่เป็นสินค้าผู้บริโภคที่มักถูกใช้เป็นของขวัญในช่วงเทศกาลคริสต์มาสต์

นอกจากนั้นการประกาศของทางการสหรัฐฯ ในรอบนี้ได้มีการนำบางรายการสินค้าออกจากการเก็บภาษีนำเข้าด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ ความปลอดภัย ความมั่นคงของประเทศและปัจจัยอื่น ๆ มูลค่าราว 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เช่น อุปกรณ์ทางการแพทย์ เบาะรถยนต์ คอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้า คัมภีร์ไบเบิล เป็นต้น

เนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าผู้บริโภค การเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนในส่วนที่เหลือทั้งสองรอบนี้น่าจะส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อและการบริโภคของสหรัฐฯ มากกว่ารอบก่อนหน้า รายการสินค้าจีนรอบล่าสุดที่กำลังจะถูกเก็บภาษีนำเข้า 10% มูลค่า 2.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐครอบคลุมสินค้าผู้บริโภคสูงถึง 62% ของสินค้าผู้บริโภคทั้งหมด (รูปที่ 2) และรายการสินค้าจีนที่จะขึ้นภาษีนำเข้าในเดือนธันวาคมยังเป็นสินค้าหาตลาดทดแทนได้ยากในระยะเวลาอันใกล้ ทำให้ภาษีนำเข้าย่อมส่งผลต่อราคาสินค้าของผู้บริโภคสหรัฐฯ โดยตรง และน่าจะส่งผลต่อแนวโน้มการบริโภคภาคครัวเรือนของสหรัฐฯ ในระยะต่อไปได้

อีไอซีคาดประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะยังใช้มาตรการทางภาษีกดดันจีนต่อ หากมองในแง่ฐานเสียงของประธานาธิบดีทรัมป์จะพบว่า ยิ่งสงครามการค้ามีความรุนแรงมากขึ้นซึ่งสะท้อนจากดัชนีความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าสหรัฐฯ กลับยิ่งทำให้ความนิยมของประธานาธิบดีทรัมป์โดยเฉลี่ยสูงขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน (รูปที่ 3) จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประธานาธิบดีทรัมป์ยังเดินหน้าใช้มาตรการทางภาษีกดดันจีนให้ยอมรับข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ทั้งการนำเข้าสินค้าเกษตรสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นไปจนถึงข้อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของจีนระยะยาว เพื่อเตรียมความพร้อมในการเรียกคะแนนฐานเสียงในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในช่วงเดือนพฤศจิกายน ปี 2020

จากสงครามการค้าสู่สงครามค่าเงิน

จากสงครามการค้าสู่สงครามค่าเงิน ปฏิกิริยาของทางการจีนต่ออัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนเมื่อสงครามการค้าตึงเครียดมากขึ้นจะยังคงเป็นประเด็นที่ตลาดการเงินโลกจับตาใกล้ชิด เห็นได้จากก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศเมื่อวันที่ 1 สิงหาคมว่าจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนในส่วนที่เหลือในวันที่ 1 กันยายนหลังการเจรจาไม่คืบหน้า ต่อมาวันที่ 5 สิงหาคม ทางการจีนประกาศให้เงินหยวนอ่อนค่าลง 1.6% ไปอยู่ที่ 7.05 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับที่ทำให้เงินหยวนอ่อนค่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในรอบ 11 ปี (รูปที่ 4) ซึ่งเงินหยวนที่อ่อนค่านี้มีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบจากภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ได้บางส่วน

ภายหลังจาการอ่อนค่าของเงินหยวนที่หลุดระดับ 7 หยวนต่อดอลลาร์ กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ประกาศว่าจีนเป็นประเทศบิดเบือนค่าเงิน (currency manipulator) แม้ว่าการประกาศค่ากลางเงินหยวนที่ต่ำกว่า 7 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐจะทำภายใต้กรอบการเคลื่อนไหว +/- 2% ของการซื้อขายรายวัน รวมทั้งจีนยังไม่ได้เข้าเกณฑ์ประเทศผู้บิดเบือนค่าเงินของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ อย่างครบถ้วน

อีไอซีมองว่า มีโอกาสที่เงินหยวนจะอ่อนค่าลงได้อีกจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน อย่างไรก็ดี โอกาสที่เงินหยวนจะอ่อนค่าอย่างฉับพลันดังเช่นปี 2015 จะมีไม่มาก เนื่องจากจีนมีบทเรียนจากเหตุการณ์ในช่วงกลางเดือนสิงหาคมปี 2015 ที่ทางการจีนแทรกแซงค่าเงินหยวนส่งผลให้ค่าเงินอ่อนค่าลงราว 2-3% ภายในสัปดาห์เดียว จนทำให้ตลาดหลักทรัพย์จีนปรับฐานรุนแรง ความเชื่อมั่นของนักลงทุนลดลงและเงินทุนไหลออกจำนวนมาก เป็นผลให้ธนาคารกลางจีนต้องใช้เงินทุนสำรองกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อรักษาเสถียรภาพของเงินหยวน นอกจากนั้นถ้อยแถลงของนายอี้ กัง ผู้ว่าธนาคารกลางจีน (PBOC) คนปัจจุบันที่กล่าวว่า จีนจะไม่ใช้เงินหยวนเป็นเครื่องมือในการตอบโต้ทางการค้าในสงครามการค้าครั้งนี้และจะพยายามรักษาเสถียรภาพค่าเงินหยวนไม่ให้ผันผวนท่ามกลางความไม่แน่นอนจากภายนอก

อย่างไรก็ตามข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ-จีนมีแนวโน้มบรรลุได้ยากในปี 2019 แม้จะมีการเลื่อนการขึ้นภาษี สงครามการค้า สงครามเทคโนโลยีและสงครามค่าเงินยังเป็นประเด็นสำคัญที่จะมีผลต่อข้อสรุปการเจรจาทางการค้าในระยะต่อไป สืบเนื่องจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนที่ปะทุและดำเนินต่อเนื่องมาตั้งแต่กลางปี 2018 และพัฒนามาสู่สงครามเทคโนโลยีที่ปะทุขึ้นจากกรณีการแบนบริษัท Huawei ช่วงเดือนพฤษภาคมปี 2019 และทางการสหรัฐฯ เพิ่มบริษัท Huawei และอีกหลายบริษัทจีนเข้าในบัญชีรายชื่อบริษัทต้องห้าม (US entity list) ทำให้ภาคเอกชนสหรัฐฯ ไม่สามารถทำธุรกรรมและการค้ากับ Huawei และบริษัทในบัญชีรายชื่อได้เว้นแต่ได้รับการอนุญาต (รูปที่ 5) รวมถึงล่าสุดที่ความขัดแย้งทางการค้าเริ่มบานปลายสู่การทำสงครามค่าเงินจากการที่ธนาคารกลางจีนประกาศค่ากลางอัตราแลกเปลี่ยน (CNY fixing) ให้อ่อนค่าทะลุแนวต้านสำคัญที่ 7 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ

อีไอซีมองว่า โอกาสที่จะได้ข้อตกลงการเจรจาการค้าสหรัฐฯ-จีนที่เป็นรูปธรรมภายในปี 2019 มีค่อนข้างน้อย เนื่องจากต่างฝ่ายต่างแสดงท่าทีที่ชัดเจนในการตอบโต้และมาตรการที่เข้มงวดในระยะข้างหน้า ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

ฝั่งสหรัฐฯ

    1) การประกาศการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนส่วนที่เหลืออย่างเป็นทางการว่าจะมีกำหนดการขึ้นในวันที่ 1 กันยายน และ15 ธันวาคมนี้

    2) การที่ทางการสหรัฐฯ ยังคงแบน Huawei รวมถึงอีกหลายบริษัทจีนในรายชื่อบริษัทต้องห้าม (US entity list) ซึ่งเป็นการสั่งห้ามไม่ให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนสหรัฐฯ ทำธุรกรรมและการค้ากับ Huawei เว้นแต่จะได้รับอนุญาตและแนวโน้มที่ทางการสหรัฐฯ จะไม่ขยายเวลาต่อหรือปลดคำสั่งห้ามนี้หลังช่วงเวลาผ่อนผันวันที่ 19 สิงหาคมนี้

    3) การที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ประกาศอย่างเป็นทางการว่าจีนเป็นประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน (currency manipulator) เพื่อผลประโยชน์ในด้านการค้าตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม ซึ่งจะทำให้ทางการสหรัฐฯ สามารถตัดบริษัทจีนออกจากงานประมูลจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของสหรัฐฯ รวมถึงการส่งเรื่องถึงกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เพื่อแจ้งกรณีการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมของจีน ซึ่งอาจเป็นการปูทางสู่การทำมาตรการกีดกันทางการค้าอื่นที่ไม่ใช่ภาษี (non tariff measures) และการคว่ำบาตรจีนเพิ่มเติมในอนาคตได้

ฝั่งจีน

    1) ทางการจีนประกาศระงับการซื้อสินค้าเกษตรสหรัฐฯ เพื่อตอบโต้มาตรการภาษีสหรัฐฯ และมีโอกาสที่จะลดการส่งออกสินแร่หายาก (rare earth) ไปยังสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสินแร่ที่มีความจำเป็นในการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์เทคโนโลยี เช่น โทรศัพท์มือถือ โดยจีนเป็นผู้ครองสัดส่วนในการผลิตสินแร่นี้ราว 70% ของการผลิตโลกและสหรัฐฯ ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าจากจีนสูง

    2) ทางการจีนเตรียมประกาศรายชื่อบริษัทที่ไม่น่าไว้วางใจและเป็นภัยคุกคามต่อบริษัทจีน (unreliable entity list) ซึ่งคาดการณ์ว่าเป็นมาตรการเพื่อตอบโต้รายชื่อบัญชีต้องห้ามของสหรัฐฯ

    3) ทางการจีนยังปล่อยเงินหยวนอ่อนค่าต่อเนื่องเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับประธานาธิบดีทรัมป์และทางการสหรัฐฯ อย่างมาก

ผลต่อไทย

อีไอซีประเมินความเสี่ยงต่อภาคการส่งออกไทยในปี 2019 ยังคงสูง และมีโอกาสที่การส่งออกจะหดตัวมากกว่าคาดหากข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนในระยะข้างหน้ายังไม่มีความคืบหน้า อีไอซีคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ไทยในปี 2019 ที่ 3.1% และอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกไทยปี 2019 ในรูปดอลลาร์สหรัฐหดตัว 1.6% สะท้อนว่าภาคการส่งออกไทยทั้งการส่งออกสินค้ารายประเทศและรายสินค้าสำคัญในภาพรวมยังคงเผชิญความเสี่ยงจากปริมาณการค้าโลกที่มีแนวโน้มลดลงในปี 2019 (รูปที่ 6) ซึ่งภาคการส่งออกไทยมีความเสี่ยงสูงที่จะหดตัวมากกว่าที่คาดไว้

เนื่องจากการส่งออกไทยในช่วงครึ่งปีแรกยังได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากสงครามการค้าเนื่องจากไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าขั้นกลางและมีความเชื่อมโยงกับการค้าในภูมิภาคสูง จากความตึงเครียดทางการค้า, ความสัมพันธ์และการเจรจาทางการค้าของสหรัฐฯ-จีนที่แย่ลงในช่วงเดือนกรกฎาคมและต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ในระยะต่อไป ภาคการส่งออกไทยยังคงต้องจับตาใน 2 ประเด็นหลัก ได้แก่

    1) ภาษีในหมวดยานยนต์และชิ้นส่วนตามมาตรา 232 ของกฎหมายการค้าสหรัฐฯ ที่มีเส้นตายวันที่ 14 พฤศจิกายนนี้

    2) มาตรการกีดกันทางการค้าที่สหรัฐฯ สามารถเพ่งเล็งรายประเทศเป็นกรณีพิเศษ เช่น การตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP: Generalized System of Preferences) ดังเช่นกรณีที่อินเดียโดนถอด GSP ไปตั้งแต่เดือนมิถุนายน และกรณีที่เวียดนามถูกสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กกว่า 400% สำหรับเหล็กบางชนิดเกาหลีและไต้หวันและถูกที่นำมาแปรรูปในเวียดนามก่อนส่งไปยังสหรัฐฯ เป็นต้น ซึ่งทั้งภาษียานยนต์และการตัด GSP ของสหรัฐฯ นี้เป็นความเสี่ยงต่อแนวโน้มการส่งออกและสามารถส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกไทยได้ต่อเนื่องหากถูกนำมาใช้จริง ประกอบกับการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าและคู่แข่งหลักเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของภาคการส่งออกไทยในระยะข้างหน้า

ผลลบต่อห่วงโซ่อุปทาน 5 หมวดหลัก

อีไอซีมองผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจะส่งผ่าน 6 ช่องทางหลัก ได้แก่ 1) ด้านห่วงโซ่อุปทานกับจีน 2) ด้านเศรษฐกิจจีนชะลอตัว 3) ด้านประเทศคู่ค้าไทยที่พึ่งพาการส่งออกจีนสูง 4) ด้านการทุ่มตลาด 5) ด้านการท่องเที่ยวไทย และ 6) ด้านผลต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ไทย โดยเฉพาะภาษีรอบนี้อาจมีผลกระทบซ้ำเติมด้านการชะลอตัวของจีนและแนวโน้มการทุ่มตลาดในสินค้าผู้บริโภคที่จีนอาจส่งออกไปสหรัฐฯ ไม่ได้บางส่วน

ผลกระทบของสงครามการค้าสามารถส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจไทยผ่าน 6 ช่องทางทั้ง การค้า การทุ่มตลาด การท่องเที่ยว การลงทุนของนักลงทุนจีนในภาคอสังหาริมทรัพย์ (อ่านเพิ่มเติม 3Q19 In focus: Game of trade เตรียมพร้อมเศรษฐกิจไทย ในศึกชิงมหาอำนาจทางการค้าสหรัฐฯ-จีน)

อย่างไรก็ดี อีไอซีมองว่า ผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจไทยจะมีมากขึ้นโดยเฉพาะในช่องทางด้านห่วงโซ่อุปทานไทย-จีนในสินค้า 5 หมวดหลัก ได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน พลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก ยางและผลิตภัณฑ์ยาง ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และเคมีภัณฑ์ และช่องทางด้านเศรษฐกิจจีนชะลอซึ่งจะส่งผลต่อสินค้านำเข้าในหมวดอุปโภคบริโภคที่จีนนำเข้าจากไทยสูง เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าบางส่วน รถยนต์และส่วนประกอบ ข้าว และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เป็นต้น

นอกจากนี้ ผลกระทบทางลบด้านการถูกสินค้าจีนทุ่มตลาดอาจเกิดขึ้นได้เพิ่มขึ้นในหมวดสินค้าผู้บริโภค เช่น เสื้อผ้า รองเท้า และเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนบางส่วน (รูปที่ 7) ที่จีนไม่สามารถส่งไปยังสหรัฐฯ ได้และมีสินค้าคงเหลือ ซึ่งสังเกตได้จากผลของภาษีของสหรัฐฯ รอบก่อนหน้าที่ขึ้นกับสินค้าเหล็กจีนซึ่งส่งผลให้เหล็กจีน เช่น เหล็กท่อนและเส้น ท่อเหล็ก ผลิตภัณฑ์เหล็กแผ่นรีดแบน สปริงเหล็กและลวดเหล็ก ที่ทะลักเข้ามาในปริมาณที่มากขึ้นสะท้อนจากมูลค่าการนำเข้าในช่วง 6 เดือนแรกปี 2019 โดยผลกระทบจะยิ่งชัดเจนหากทางการสหรัฐฯ ตัดสินใจขึ้นภาษีจีนในรอบนี้จากอัตรา 10% เป็น 25% ในระยะข้างหน้า