รายงาน The European Elite 2019 Football Club Valuation ที่จัดทำโดย KPMG เผยแพร่เดือนพฤษภาคม 2562 จัดให้สโมสรฟุตบอล รีอัลมาดริด เป็นสโมสรฟุตบอลที่มีมูลค่าสูงสุดในยุโรป แซงหน้าสโมสรแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ที่รั้งตำแหน่งผู้นำมา 3 ปี หลังจากมูลค่ากิจการเพิ่มขึ้นเกิน 3 พันล้านยูโรเป็นครั้งแรก แต่ก็ยังต่ำกว่ามูลค่ากิจการของสโมสรแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดในการอันดับปีก่อน
การไต่อันดับของสโมสรรีอัลมาดริดเป็นการเขย่าการจัดอันดับของ KPMG เป็นครั้งแรก เพราะสโมสรบาร์เซโลนาจากสเปนตกมาอยู่ที่อันดับ 4 ขณะที่สโมสรบาเยิร์นมิวนิคของเยอรมนีไต่ขึ้นมาที่อันดับ 3 แต่มูลค่าของสโมสรบาเยิร์นมิวนิคก็ต่ำกว่ามูลค่าสโมสรบาร์เซโลนาในการจัดอันดับปี 2018
KPMG จัดอันดับสโมสรจากมูลค่ากิจการ (Enterprise Value-EV) จากจำนวนทั้งหมด 32 สโมสรในยุโรป โดยวัดจากความสามารถในการทำกำไร (profitability) ความนิยม (popularity) ศักยภาพในการทำเกม (sporting potential) สิทธิในการถ่ายทอดสดการแข่งขัน (broadcasting rights) และมูลค่าสนาม (stadium value)
ปีนี้มีสโมสรเซลติกจากสก็อตแลนด์ติดอันดับเข้ามาเป็นครั้งแรกในการสำรวจปีนี้ นอกเหนือจากสโมสรใน 8 ประเทศที่ได้ประเมินประจำปี นับตั้งแต่ KPMG ได้เริ่มจัดทำรายงานมูลค่าสโมสรฟุตบอลในปี 2016 รวมทั้งสโมสรบิยาร์เรอัล จากสเปน ขณะที่สโมสรบาเลนเซียและสโมสรเฟแนร์บาห์แช จากตุรกี หลุดออกจากการจัดอันดับ สโมสรเซลติกและสโมสรบิยาร์เรอัลติดอันดับในปีนี้ เพราะความสามารถในการทำกำไรและรายได้เพิ่มขึ้น
ในปีนี้ มูลค่าสโมสรรีอัลมาดริดเพิ่มขึ้น 10% มูลค่าสโมสรแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ติดลบ 1% ขณะที่มูลค่าสโมสรบาร์เยิร์นมิวนิคเพิ่มขึ้น 6% ในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา สโมสรรีอัลมาดริดคว้าเงินรางวัลจากการแข่งขันยูฟ่าแชมป์เปียนลีกมากกว่ามโมสรแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด โดยเป็นแชมป์ยูฟ่าถึง 3 ครั้ง และผลจากการแข่งขันในระดับระหว่างประเทศ ทำให้สโมสรรีอัลมาดริดยังทำรายได้ในเชิงพาณิชย์มากกว่าสโมสรแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดเกือบ 2 เท่า
ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา รายได้จากการดำเนินงานสะสมของสโมสรรีอัลมาดริดเติบโต 29% สูงกว่าคู่แข่งจากอังกฤษ ส่งผลให้เป็นสโมสรฟุตบอลที่มีรายได้จากการดำเนินงานสูงสุด
การเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจในปีนี้อยู่ที่อันดับ 3 ซึ่งมีสาเหตุหลักจากความยั่งยืนทางการเงิน เพราะในรอบ 3 ปีที่ผ่านมาสโมสรบาร์เยิร์นมิว นิคกับสโมสรบาร์เซโลนา มีฐานะการเงินที่ต่างกัน โดย มูลค่ารวมกิจการของสโมสรบาเยิร์นมิวนิคเพิ่มขึ้น 25% ในช่วง 3 ปี แต่มูลค่าสโมสรบาร์เซโลนาติดลบ 3% ขณะที่สโมสรบาร์เยิร์นมิวนิคสามารถคงอัตราส่วนค่าใช้จ่ายพนักงานเทียบรายได้ไว้ที่ 50% แต่สโมสรบาร์เซโลนามีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายพนักงานเทียบรายได้สูงถึง 81%
มูลค่า EV รวมโต 9% อังกฤษส่วนแบ่งสูงสุด
มูลค่าของทั้ง 32 สโมสรเพิ่มขึ้น 9% ติดต่อกันเป็นปีที่ 3 โดยมีมูลค่ากิจการรวมในปีที่ผ่านมา 35.6 พันล้านยูโร เป็นผลจากการเพิ่มขึ้น 5% ของรายได้จากการดำเนินงาน โดยสโมสรโรมา (A.S. Roma) มีรายได้จากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 43% จากปีก่อน สูงสุดในจำนวน 32 สโมสร เนื่องจากประสบความสำเร็จในยูฟ่าแชมป์เปี้ยนลีก เพราะนำทีมเข้าไปถึงรอบรองชนะเลิศ อย่างไรก็ตามค่าใช้จ่ายพนักงานต่อรายได้รวมก็เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 63%
มูลค่าของสโมสร 3 อันดับแรกรวมกันมีสัดส่วน 26% ของมูลค่ากิจการสโมสรทั้ง 32 แห่งรวมกัน ขณะที่มูลค่าของ 10 อันดับแรกรวมกันมีสัดส่วน 67% ของมูลค่าของทั้ง 32 สโมสร
สโมสรอังกฤษจากพรีเมียร์ลีกยังกินส่วนแบ่งสูงในการจัดอันดับสโมสรฟุตบอลในยุโรป เพราะ 9 สโมสรอังกฤษที่อยู่ในทำเนียบนี้มีสัดส่วนมูลค่ากิจการรวมถึง 43% ของมูลค่ากิจการทั้งหมดของสโมสรฟุตบอลยุโรป
มูลค่าสโมสรในลาลีกาลีกของสเปนมีส่วนแบ่งมูลค่ากิจการสูงเป็นอันดับสองรองจากสโมสรจากอังกฤษ โดยมีสัดส่วนมูลค่ารวม 22% ของมูลค่ากิจการทั้งหมดของสโมสรฟุตบอลยุโรป ขณะที่มูลค่ากิจการรวมของสโมสรฟุตบอลในเยอรมนีคิดเป็น 13% ของมูลค่ากิจการทั้งหมดของสโมสรฟุตบอลยุโรป ส่วนมูลค่ากิจการรวมของสโมสรฟุตบอลอิตาลีมีสัดส่วน 12% แต่มีการเติบโตของมูลค่า EV ถึง 19% เพิ่มขึ้นสูงสุดในปีนี้
มูลค่ากิจการของสโมสรฟุตบอลระดับต้นๆ เพิ่มขึ้นมากกว่า 1 ใน 3 ตั้งแต่ปี 2016 โดยในรอบ 3 ปีนี้สโมสรที่มีการเติบโตสูงสุดคือสโมสรออแล็งปิกลียอแน จากฝรั่งเศส ที่มูลค่า EV เพิ่มขึ้นถึง 150% ขณะที่มูลค่า EV ของสโมสรลิเวอร์พูลเพิ่มขึ้น 110%
มูลค่า EV ที่เพิ่มขึ้นของสโมสรส่วนใหญ่มาจากการขายตัวนักเตะ โดยที่สโมสรโมนาโคได้เงินจากการขายตัวนักเตะสูงสุด 350 ล้านดอลลาร์ รองลงมาคือสโมสรบาร์เซโลนาที่ได้เงินจากการขายตัวนักเตะ 230 ล้านดอลลาร์ แต่มูลค่ากิจการกลับติดลบ 4%
สโมสรทอตแนมฮอตสเปอร์ จากอังกฤษเป็นสโมสรที่ทำกำไรได้มากที่สุดในปีก่อน โดยกำไร (profit margin) เพิ่มขึ้นถึง 36% และยังทำเลื่อนขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 9 แซงหน้าสโมสรยูเวนตุส
สโมสรที่กำไรเพิ่มมากสุดรองลงมาคือสโมสรลาซิโอจากอิตาลี และสโมสรลิเวอร์พูลจากอังกฤษ ส่วนสโมสรที่ขาดทุนมากสุดคือสโมสรอินแตร์นาซีโอนาเลมีลาโน หรือ อินเตอร์มิลาน จากอิตาลี เพราะกำไรลดลง 50% ซึ่งเป็นผลจากการปรับโครงสร้างและเปลี่ยนเจ้าของ
สโมสรอาร์เซนอลตกลง 2 อันดับมาอยู่ที่อันดับ 8 เพราะสโมสรเชลซีกับสโมสรลิเวอร์พูลมีมูลค่า EV ที่สูงขึ้น โดยทั้งสองสโมสรนี้มีมูลค่า EV เกิน 2 พันล้านยูโรเป็นครั้งแรก
สโมสรลิเวอร์พูลมีมูลค่า EV เพิ่มขึ้น 33% สูงขึ้นเป็นอันดับ 2 รองจากสโมสรอินเตอร์มิลานที่มูลค่า EV เพิ่มขึ้นสูงสุดในปีนี้ถึง 41% เพราะมีรายได้เชิงพาณิชย์สูงขึ้นถึง 126% ใน 2 ฤดูกาลที่ผ่านมา และมูลค่าทางการตลาดของนักเตะในทีมที่เพิ่มขึ้น 57%
ส่วนสโมสรทอตแนมฮอตสเปอร์ มีมูลค่า EV เพิ่มขึ้นมาเป็นอันดับสามในอัตรา 39% และยังมีค่าใช้จ่ายพนักงานเทียบรายได้รวมต่ำสุดในทั้ง 32 สโมสร
ใน 10 อันดับแรกมีสโมสรแมนเชสเตอร์ซิตี้เท่านั้นที่สามารถรักษาอันดับ 5 ไว้ได้ โดยมูลค่า EV เพิ่มขึ้น 14% มีรายได้เพิ่มขึ้น 3% และมีค่าใช้จ่ายพนักงานลดลง 5%
ที่เหลือ 9 อันดับสลับตำแหน่งกันทั้งหมด โดยมีสโมสรฟุตบอลอังกฤษติดอันดับ 6 สโมสร จากสเปน 2 สโมสร ที่เหลือเป็นสโมสรจากเยอรมนีกับอิตาลีประเทศละ 1 สโมสร
สโมสร 8 อันดับแรกมีมูลค่า EV เกิน 2 พันล้านยูโร ขณะที่ปีก่อนมีเพียง 6 สโมสรเท่านั้นที่มีมูลค่า EV เกิน 2 พันล้านยูโร
สโมสรอาร์เซนอลจากอังกฤษเป็นสโมสรเดียวใน 10 อันดับแรกที่มีผลการดำเนินงานแย่สุด โดยมูลค่า EV ลดลง 4% เพราะรายได้ลดลง 10% แต่มีค่าใช้จ่ายพนักงาน เพิ่มขึ้น 17%
5 อันดับสโมสรทำกำไรจากการขายตัวนักเตะ
แม้นักเตะเป็นทรัพย์สินสำคัญของสโมสร และการเปลี่ยนตัวนักเตะออกไปเป็นเรื่องปกติของสโมสร แต่ในช่วงหลังสโมสรให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนตัวนักเตะมากขึ้น เพื่อธุรกิจและความยั่งยืนทางการเงิน เมื่อมีการขายตัวนักเตะออกไป ผลลัพธ์ของสโมสรก็มีโอกาสสูงถึง 2 เท่าเพราะค่าธรรมเนียมการโอนย้าย (transfer fee) หรือการขายสิทธิ์ในตัวนักเตะ ซึ่งเป็นเงินที่สโมสรผู้ซื้อต้องจ่ายให้กับสโมสรผู้ขายก่อนนั้น สูงกว่าค่าตัวทางบัญชีนักเตะในช่วงขาย แต่ก็อาจจะขาดทุนได้หากค่าธรรมเนียมการโอนย้ายต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี
กำไรหรือขาดทุนจากการเปลี่ยนตัวนักเตะเป็นหนึ่งในสามของรายการทางบัญชีที่สำคัญของสโมสร ดังเห็นได้จากกำไรจากการขายนักเตะที่มีสัดส่วน 33% ของรายได้รวมของทั้ง 32 สโมสร
สโมสรอาแอ็ส มอนาโกซึ่งติดอันดับ 29 ของการจัดอันดับจาก EV เป็นสโมสรที่มีกำไรจากการขายตัวนักแตะสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 316 ล้านยูโร ทั้งจากการขาย กีลียาน อึมบาเป ลอแต็ง หรือ เอ็มบัปเป้ ให้สโมสรปารีสแซ็ง-แฌร์แม็ง และขายเบนนาร์โด ซิลวา กับแบ็งฌาแม็ง เมนดี้ ให้สโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้
สโมสรที่มีกำไรจากการขายนักเตะสูงเป็นอันดับสองคือ สโมสรบาร์เซโลนาที่มีกำไร 208 ล้านยูโร อันดับสามคือสโมสรปารีสแซ็ง-แฌร์แม็ง มีกำไรจากการขายนักเตะ 145 ล้านยูโร อันดับสี่คือ สโมสรลิเวอร์พูล มีกำไร 139 ล้านยูโรและอันดับห้าคือ สโมสรอาร์เซนอลมีกำไร 135 ล้านยูโร
จากการประเมินอัตราผลตอบแทนจากการขายตัวนักเตะหรือ (Return on Sales-ROS) พบว่ากำไรก่อนภาษีโดยรวมของทั้ง 32 สโมสรมีจำนวน 641 ล้านยูโร หรือเฉลี่ย 20 ล้านยูโรต่อสโมสร เพิ่มขึ้น 2%
เมื่อวัดเป็นรายสโมสร พบว่าสโมสรทอตแนมฮอตสเปอร์ มี ROS เพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 36% สโมสรลาซิโอมี ROS เพิ่มขึ้น 32% สโมสรลิเวอร์พูล 26%
ทีมกับผู้เล่นมีผลต่อ EV
ศักยภาพในการทำเกม (sporting potential) เป็นหนึ่งในเกณฑ์วัดมูลค่ากิจการ KPMG จึงได้ใช้มูลค่าทีม (มูลค่าตลาดรวมของผู้เล่นแต่ละรายในทีม) และตัวผู้เล่นเป็นตัวแทนในการวิเคราะห์ และพบว่า ยิ่งผู้เล่นมีค่าตัวสูง สโมสรก็ยิ่งมีโอกาสที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจ
ตัวผู้เล่นเป็นทรัพย์สินที่มีค่าของสโมสร จึงจำเป็นต้องควานหา เมื่อได้มาแล้วต้องพัฒนา รักษา แต่ในขณะเดียวกันความต้องการของตลาดก็เพิ่มมากขึ้น ทำให้ค่าธรรมเนียมการโอนย้ายสูงขึ้นด้วย
จากการวิเคราะห์พบว่า ในกลุ่มแรก tier 1 สโมสรชั้นนำที่มีผู้เล่นดาวเด่นจำนวนมาก ก็จะมีรายได้สูง และติดคว้ารางวัลการแข่งขันทั้งระดับชาติและระหว่างประเทศ เช่น สโมสรรีอัลมาดริด สโมสรแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด และสโมสรบาร์เยิร์นมิวนิค
ในกลุ่มสอง tier 2 สโมสรชั้นนำที่มีผู้เล่นดาวเด่นในจำนวนไม่มากนัก มีรายได้ดีในระดับหนึ่งและได้ขึ้นเทียบชั้นคู่แข่งในการแข่งขันระดับประเทศและระหว่างประเทศ เช่น สโมสรปารีสแซ็ง-แฌร์แม็ง สโมสรยูเวนตุส สโมสรโบรุสเซียดอร์ทมุนด์ สโมสรทอตแนมฮอตสเปอร์
ในกลุ่มสาม tier 3 สโมสรขนาดกลางมีผู้เล่นดาวเด่นจำนวนน้อย จะมีสถานะที่ดีลีกระดับประเทศ มีแข่งในยุโรปเป็นหลัก และต้องพึ่งพาการซื้อขายตัวนักเตะค่อนข้างสูงเพื่อให้ฐานะการเงินยั่งยืน เช่น สโมสรนาโปลี สโมสรออแล็งปิกลียอแน
สำหรับตัวนักเตะนั้นจะมีค่าตัวแพงแค่ไหนขึ้นอยู่กับการทำเกมการแข่งขัน โดยเฉพาะการทำประตูและการช่วยเหลือผู้เล่นคนอื่นในทีม แม้ยังมีตัวแปรอื่นที่ต้องนำมาประกอบ แต่การทำประตูและการช่วยผู้เล่นรายอื่นจะเป็นชี้ถึงการตัดสินใจของผู้เล่นในกองหน้าและปีกที่ทำหน้าที่บุก ซึ่งเห็นได้ชัดจากกองหน้าชื่อดังๆ เช่น แฮร์รี เคน, อองตวน กรีแยซมาน, โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี้, หลุยส์ ซัวเรซ กระนั้นก็ยังมีความแตกต่างของค่าตัวในระดับ 100 ล้านยูโร
นอกจากนี้ อายุนักเตะและอายุสัญญาที่เหลือก็มีผลต่อค่าตัวนักเตะเช่นกัน เพราะนักเตะอายุน้อยยังมีโอกาสพัฒนาและเล่นได้อีกนาน ส่วนอายุสัญญานั้น ในกรณีสัญญาระยะยาว อายุสัญญาที่เหลือก็นาน หมายความว่าค่าธรรมเนียมการโอนย้ายก็สูงสำหรับนักเตะที่มีผลงานในสนามดี
ประเทศใหญ่คว้านักเตะค่าตัวแพง
ในจำนวน 32 สโมสร พบว่า 45% ของนักเตะมาจาก 5 ประเทศใหญ่ในยูโรป นำโดยสเปน ที่มีจำนวนนักเตะคาตัวแพง 106 คนหรือ 14% ของทั้งหมด รองลงมาคือ ฝรั่งเศสมีจำนวน 74 คนอันดับ 3 อังกฤษจำนวน 59 คน อันดับ 4 บราซิลเท่ากับอิตาลีจำนวน 53 คน
ในกลุ่มนักเตะที่มีค่าตัวเกิน 40 ล้านยูโรขึ้นไป อาจจัดเข้าในกลุ่มผู้เล่นดาวเด่นได้นั้น สัดส่วน 42% เล่นอยู่ในลีกอังกฤษ มากกว่าลาลีกาของสเปนและ เซเรีย อา ในอิตาลี ที่มีเพียง 25% และ 15% ตามลำดับ
KPMG สรุปว่า ศักยภาพในการทำเกมซึ่งต้องอาศัยทีมผู้เล่นค่าตัวแพง จึงเป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จของสโมสร และมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มมูลค่ากิจการ เพราะทำให้เกิดคุณค่าทางเศรษฐกิจและทางกีฬา